eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

ทางเลือกการจัดการน้ำมีมากกว่าเขื่อน

โดย ดร. ชยันต์ วรรธนะภูติ  ศูนย์ภูมิภาคสังคมศาสตร์และการจัดการทรัพยากร  มหาวิทยาลัยเชียงใหม
จากเวทีระดมความคิด “แก้โครงสร้างอย่างไร จึงจะหายจน”
พ.ศ. 2544 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ภูมิปัญญาในการจัดการทรัพยากรน้ำของชาวบ้านเป็นความรู้ในการจัดความสัมพันธ์ มาจากปฏิบัติการทดลองในชีวิตประจำวันและสืบทอดความรู้เหล่านี้มานมนาน

แต่ในขณะเดียวกันก็เห็นได้ชัดว่าองค์ความรู้ที่เป็นฐานความคิดในการจัดการทรัพยากรน้ำในประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นองค์ความรู้ที่แคบและและมีมิติเดียว ไม่เพียงพอที่จะอธิบายความสลับซับซ้อนของระบบนิเวศในอีสาน ระบบความสัมพันธ์ทางสังคม และการจัดการที่หลากหลาย จึงไม่แปลกใจที่เราเห็นความล้มเหลวในการจัดการน้ำและความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรมาโดยตลอด

ผมมีข้อสรุป 4 ประเด็นหลักเกี่ยวกับปัญหาการจัดการน้ำในอีสานที่ผ่านมาดังนี้

1. มายาคติในการจัดการทรัพยากรน้ำภาคอีสาน และความคิดเชิงเดี่ยว

อีสารถูกบอกว่าเป็นพื้นที่แห้งแล้งที่สุดในประเทศไทย ถึงแม้ว่าจะเป็นบริเวณที่มีฝนตกเฉลี่ยไม่น้อยกว่าภาคอื่นๆ แต่ลักษณะของดินก็ไม่สามารถเก็บน้ำไว้ได้

คนอีสานจึงมีภาพลักษณ์ของที่อยู่ในดินแดนแห้งแล้ง ไม่ว่าจะเป็นการเสนอภาพยนตร์ นวนิยาย หรือรายงานของทางราชการต่างๆ  ซึ่งสอดคล้องับความคิดของการพัฒนาที่ผ่านมาที่บอกว่า โง่-จน-เจ็บ ชอบเล่นการพนัน ชอบไปงานบุญ แต่ของภาคอีสานต้องบอกว่า โง่-จน-เจ็บ และแห้งแล้งด้วย

ดังนั้นคำนิยามเหล่านี้ใช้เป็นฐานในการหาหลักคิดการจัดการที่เรียกว่า “หลักการเชิงเดี่ยว” หลักการดังกล่าวคือ การใช้เทคโนโลยีกักเก็บน้ำโดยการสร้างเขื่อน สร้างฝายขนาดใหญ่ อ่างเก็บน้ำ หรือว่าใช้การขุดลอก รวมทั้งวิธีการต่างๆ ที่ใช้เทคโนโลยีที่ต้องการควบคุมและปรับธรรมชาติ เป็นความอหังการ์ของมนุษย์โดยที่ไม่รู้เท่าทันว่า ความจริงแล้วธรรมชาติมีความสลับซับซ้อน โดยเฉพาะในภาคอีสานได้มีการสะสมภูมิปัญญามาหลายร้อยปี จนเป็นพันปีด้วยซ้ำไปในการปัญหาความแห้งแล้ง

มายาคติเท่าที่ผมฟังจากหลายๆท่าน โดยเฉพาะชาวบ้าน เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อให้รัฐมีความชอบธรรมในการเข้ามาจัดการน้ำ มีบทบาทในการช่วงชิงกรรมสิทธิ์ หรือการจัดการน้ำไปจากประชาชน

คำถามจากพ่อใหญ่วิรัชว่า “แม่น้ำมูนเป็นของใคร” ผมคิดว่าเป็นคำถามที่ลึกซึ้งมากและก็สะท้อนปัญหาของการจัดการน้ำในปัจจุบันที่อยู่ในมือของรัฐบาลโดยที่ชาวบ้านขาดการมีส่วนร่วมทำให้เราอดฉุกคิดไม่ได้ว่า สิทธิในการจัดการน้ำที่เคยมีอยู่นั้นปัจจบันไปอยู่ที่ไหนและจะมีทางออกไหนบ้าง

กรรมสิทธิ์หรือสิทธิในการจัดการน้ำในระดับต่างๆ ในระดับชุมชนไปจนถึงระดับภูมิภาค เราควรตั้งคำถามว่า สิทธิเหล่านี้จะอยู่ได้อย่างไรหรือจะกลับคืนมาได้อย่างไร อีสานถูกมองว่าตกอยู่ในสภาพของการเผชิญความแห้งแล้ง ภาวะความขาดแคลนน้ำ ดินเค็ม

แต่สภาพความเป็นจริงลักษณะธรรมชาติของอีสานนั้นมีหลายแบบมีทั้งน้ำมากและน้ำน้อย มีน้ำหลาก มีน้ำเค็ม มีอิ่มและมีอด ชุมชนอีสานเป็นชุมชนเฮ้ดอยู่เฮ็ดกิน เป็นชุมชนที่ต้องเผชิญกับความมีและไม่มีของสิ่งเหล่านี้

ดังนั้นประเด็นมันอยู่ที่ว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านได้มีภูมิปัญญาในการจัดการกับความมีและไม่มี คือ มีมากและไม่มีได้อย่างไร  ที่ผ่านมาชาวบ้านได้สั่งสมความรู้มาโดยตลอด รู้จักที่จะหาวิธีที่จะจัดการน้ำต่างๆ บทเรียนของการจัดการน้ำนำมาใช้ประโยชน์ อาศัยความรู้เฉพาะท้องที่เพื่อที่จะเข้าใจความหลากหลายไม่ว่าพื้นที่ชุมน้ำ พื้นที่ป่าบุ่งป่าทามต่างๆและความรู้ที่มีทางเลือกหลายหลายดดยสังเกตง่ายๆจากการใช้ภาษา   ในภาษาไทยมีห้วย หนอง คลอง บึง แต่ถ้าเป็นภาษาอีสานจะมี ห้วย กุด หนอง คลอง น้ำผุด น้ำซ่าง น้ำเที่ยง น้ำจั้น และอื่นๆอีก   แหล่งน้ำเหล่านี้มันมีลักษณะเฉพาะและมีน้ำมากน้ำน้อยไปตามฤดูกาล ไม่ใช่ว่ามีตลอดไป แต่สิ่งที่มหัศจรรย์น่าชื่นชมคือว่า ชาวบ้านได้เรียนรู้ที่จะเอาสิ่งนี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์กับส่วนรวมของชุมชน รู้ว่าพื้นที่แต่ละประเภทจะใช้ประโยชน์ทำอะไรได้บ้าง เป็นต้น

2. หลักการสำคัญของการจัดการทรัพยากรของคนอีสานไม่ใช่ “กักเก็บควบคุมน้ำ” แต่เป็นการ “ปรับตัวเข้ากับธรรมชาติ”

ที่ผ่านมาชาวบ้านเรียนรู้เพื่อปรับตัวเข้ากับธรรมชาติกับระบบนิเวศน์โดยการเฝ้าสังเกตธรรมชาติ ทดลอง ปฏิบัติ บางครั้งต้องไปเดินสังเกตดูว่าที่ไหนมีไออุ่นขึ้นมาตามพื้นดินถึงจะรู้ว่าเป็นบ่อน้ำ มีน้ำหรือไม่    แต่ละสิ่งเหล่านี้กลับไม่เป็นที่ยอมรับของราชการ ระบบการจัดการของราชการ เป็นระบบการรวมศูนย์การพัฒนา ทำให้ประชาชนขาดการมีส่วนร่วม   ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ไม่ได้ตั้งบนหลักการควบคุมและบังคับธรรมชาติ เคารพต่อธรรมชาติกลับไม่ได้ถูกนำมาใช้ ดังนั้นสิ่งที่เป็นปัญหาคือแนวคิดแบบชาวบ้านกับรัฐกำลังเผชิญหน้ากัน

อย่างไรก็ตามความรู้ของชาวบ้านนั้นไม่ใช่ไม่ควบคุมธรรมชาติเลย ชาวบ้านควบคุมธรรมชาติเหมือนกันแต่อาศัยความรู้ในการควบคุม ปรับตัวหรือปรับวิธีการผลิต เลือกพืช เลือกวิธีการใช้ทรัพยากรโดยที่ไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดการสูญเสีย นี่เป็นหลักการหรือปรัชญา ไม่ใช่แค่เพียงว่าจะทำเหมืองฝายอย่างไร จะเอาน้ำผุดมาใช้อย่างไรเท่านั้น แต่จะต้องรู้จักวิธีควบคุมด้วยเช่นกัน แต่ไม่ใช่การควบคุมธรรมชาติเหมือยวิธีของรัฐนั่นเอง

3. ทรัพยากรน้ำเกี่ยวโยงกับทรัพยากรอื่นๆด้วย

ชาวบ้านพูดถึงการใช้ประโยชน์ทรัพยากรหลายด้านตามความหลากหลายของพื้นที่ ตามความผันแปรของธรรมชาติ    ในช่วงที่มีน้ำหลากจะมีเครื่องมือหลากหลายในการจับปลา มีการขุดบ่อ สร้างแนวผนังกั้นน้ำและอะไรต่างๆนานา หรือว่าจะอาศัยตะกอนจากน้ำท่วมทำให้เกิดปุ๋ยธรรมชาติ เมื่อน้ำในพื้นที่ริมน้ำที่เคยเป็นพื้นที่น้ำชุ่มช่วงฤดูน้ำหลากแห้งลงก็ใช้เป็นพื้นที่การเกษตร เลี้ยงวัว แล้ววัวควายก็นำปุ๋ยนำความอุดมสมบูรณ์กลับมาให้พื้นที่อีก และในพื้นที่เหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นป่าบุ่งป่าทามหรือพื้นที่ริมตลิ่งก็จะประกอบด้วยพืชพันธุ์ต่างๆนานาชนิดที่ใช้เป็นทั้งพืชสมุนไพร เป็นผักที่กินได้ เป็นหน่อไม้ หรือว่าไขมดแดง
มีทรัพยากรหลากหลายที่เลือกใช้ได้ตลอดตามฤดูกาลที่หมุนเวียนเปลี่ยนผ่านแต่ความเข้าใจในความหลากหลายของทรัพยากรที่มีอยู่แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่มีความรู้แค่ว่าจะใช้น้ำอย่างไร แต่จะรู้ว่าในแต่ละพื้นที่มีความหลากหลายของดิน ของไม้ ของปลา และพืชต่างๆที่สามารถนำมาใช้ได้ เป็นต้น

4. แต่ละลุ่มน้ำมีความหลากหลายของแหล่งน้ำ

แหล่งน้ำในอีสานมีความหลากหลาย เรียกว่า ลำน้ำ ลำห้วย กุด น้ำผุด น้ำซ่าง ชาวอีสานรู้จักพัฒนารูปแบบของการใช้ทรัพยากรที่แตกต่างกันมีการจัดองค์กรเพื่อใช้น้ำและดูแลรักษาเพื่อให้เกิดความยุติธรรมและทำให้ทรัพยากรมีความยั่งยืน   มีกฏเกณฑ์ที่ไม่ได้เขียนไว้แต่เป็นที่ยึดถือปฏิบัติเพื่อควบคุม จึงถือเป็นกติกาการใช้น้ำ ถือเป็นจริยธรรมหรือเป้นระบบศีลธรรมในการใช้ทรัพยากรน้ำของชาวอีสานซึ่งรวมถึงทรัพยากรด้านอื่นด้วยไม่ว่าจะเป็นที่ดิน หรือป่าไม้

จะเห็นได้ว่าหลักการจัดการทรัพยากรที่ตั้งอยู่บนองค์ความรู้และความเข้าใจลักษณะภูมิประเทสที่หลากหลาย การจัดการองค์กรที่มีฐานจากการเอื้อเฟื้อ แบ่งปัน อุดหนุนเจือจาน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามที่ไม่มีกิน เป็นระบบศีลธรรมที่เกื้อหนุนให้ชุมชนชาวอีสานเผชิญและแก้ปัญหาด้วยตัวของเขาเองได้โดยที่ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ   ชาวบ้านหลายคนบอกว่า ความคิดแบบพออยู่พอกินไม่ได้หมายความว่าไม่เข้าไปสู่สังคมตลาด แต่ไม่ต้องการเป็นหนี้สินเท่านั้นเอง ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ

ดังนั้นระบบศีลธรรมของชุมชนที่ไม่ต้องการเป็นหนี้เป็นศีล เฮ็ดอยู่พอกินเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน แต่ไม่ได่ปฏิเสธระบบตลาด เมื่อมีเหลือก็เอาไปขาย เช่น พี่น้องที่ปากมูล แม่น้ำสงคราม ก็ขายปลา แต่ไม่ได้มุ่งแสวงหากำไรสูงสุด แต่ต้องการเอาทรัพยากรที่หาได้ในน้ำมาแบ่งปันกัน

ประเด็นที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างและนำมาสู่ความขัดแย้งที่ผ่านมาและทำให้เราต้องมานั่งคุยกันเป็นเพราะภูมิปัญญาและ หลักการอันเป็นระบบศีลธรรมชุมชนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวิธีคิดในการพัฒนาของชาติ ไม่ว่าจะเป็นระบบของราชการในระดับปฏิบัติหรือระดับนโยบาย หรือนักการเมือง

ระบบารพัฒนาที่เน้นการแก้ไขปัญหาเชิงเดี่ยวและเน้นการสร้างที่อาศัยงบประมาณก้อนโตอาจจะทำให้เกิดมายาคติโดยการมองว่าอะไรก็ตามที่มาจากชาวบ้านในพื้นที่ไม่ทันสมัย ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ทุกอย่างต้องนำมาจากต่างประเทศ ทุกอย่างต้องมาจากเทคโนโลยี ต้องมาจากราชการ เป็นต้น

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา