eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

“นิเวศวัฒนธรรมและการจัดการทรัพยากรโดยท้องถิ่น”

โดย ศ. พิเศษ ศรีศักร  วัลลิโภดม

เวทีถอดบทเรียนงานวิจัยไทบ้าน: สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำ สู่ข้อเสนอจากภาคประชาชน
วันที่ 6-7 สิงหาคม 2553   ณ โรงเรียนบ้านหัวเวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย

           วิจัยไทบ้านเป็นงานวิจัยคนในล้วนๆ นักวิชาการเป็นพี่เลี้ยง สำเร็จไม่สำเร็จอยู่ที่ท่าน ผมเสริมให้ท่านมีความเข้มแข็ง มีพลังในการสร้างความรู้เพื่อต่อรอง นิเวศน์วัฒนธรรมเป็นเรื่องที่คนในมองพื้นที่ที่เขาอยู่ วัฒนธรรมเป็นเรื่องของคนในที่อยู่กันเป็นกลุ่ม ปรับตัวอย่างไร ใช้อย่างไร การใช้ชื่อโดยคนในเพื่อสื่อสาร เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน นิเวศน์วัฒนธรรมต่างกับนิเวศน์เศรษฐกิจของคนนอก อันหนึ่งเป็นคนนอก อันหนึ่งเป็นคนใน

          เรามองในแง่ตัวหนอน ว่าพื้นที่ตรงนี้มี คน สัตว์ สภาพแวดล้อม มองจากข้างล่างขึ้นข้างบน เห็นว่าตัวหนอน กิ้งกือ ไส้เดือนเป็นอย่างไร อยู่กันอย่างไร ขณะนี้มันเลวร้ายมาก เพราะมีเงินจากข้างนอกเข้ามาทำเราพัง จนเกิดกระแสต่อต้าน เขามองเห็นเขื่อน คุณเห็นปลา ภาพที่แสดงวันนี้เป็นวาทกรรม เรามารวมกันทำวิจัยไทบ้านเพื่อสร้างพลังต่อรองกับกระแสโลกาภิวัตน์ ที่มาทุกจุด ทำลายเราโดยใช้รัฐเป็นเครื่องมือ กิ้งกืออยู่ตามลำพังไม่ได้ ต้องเชื่อมโยงกัน ต่อรอง วิจัยไทบ้านต้องเชื่อมโยงกัน ทั้งภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ถึงจะต่อรองได้ โดยอาศัยวิจัยไทบ้าน ที่สร้างความรู้กันเองโดยคนใน ความรู้คือพลังในการต่อรอง ท้องถิ่นมีสิทธิในการใช้ทรัพยากร แต่เราต้องมีความรู้ในการอธิบายการใช้ คนข้างล่างถูกขับให้เป็นคนชายขอบ โดยถูกบอกว่าโง่ เราต้องต่อรองว่าเรามีสติปัญญา อยู่มาก่อน 40 ปี อย่างราบรื่น การสร้างพลังนี้ไม่ใช่เฉพาะ ไทย ลาว เขมร แต่ลุ่มน้ำโขงทั้งหมด

          ที่ผ่านมาการวิจัยจากส่วนกลาง ทำให้เกิดความแตกแยกทางชาติพันธุ์ ที่มาหลอกเอาข้อมูลของคุณไป งานวิจัยเป็นตันๆ ที่คนข้างล่างใช้ไม่ได้ คนนอกใช้ซัดเรา ไม่เป็นประโยชน์กับคนท้องถิ่นเลย

          ฉะนั้น งานวิจัยไทบ้านจึงมีความหมายอย่างมาก อย่าหยุดนิ่ง ต้องเชื่อมโยง เปรียบเทียบ หยุดนิ่งเมื่อไรคนตายเมื่อนั้น ต้องพบปะกันบ่อยๆ จัดทุนกันเอง ทุนที่เขาให้เป็นยาพิษ  ทำให้คุณเป็นเหยื่อ แตกแยก ต้องทำด้วยทุนสติปัญญา และความสามัคคี

          ลุ่มน้ำโขงตอนนี้อันตรายมาก การสร้างเขื่อนข้ามแม่น้ำโขงของจีน พวกคุณจะไม่เหลืออะไรเลย เราต้องสร้างพลังความรู้ ที่ประกอบด้วยหลายชาติพันธุ์

เราต้องมองว่าเมื่อก่อนนี้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นคิดอย่างไร เชื่อมความหลากหลายทางชาติพันธุ์อย่างไร การอยู่กับน้ำโขงใช้เขตเศรษฐกิจการเมืองจัดการไม่ได้ เขาอยู่กันอย่างพี่น้อง มีพื้นที่เศรษฐกิจสังคมร่วมกัน นี่คือระบบนิเวศน์วัฒนธรรม (รวง) ที่ใช้กันทั้ง 2 ฝั่งน้ำ (เป็นสัตว์ที่มีสิริมงคล) เป็นพื้นที่ที่เห็นความสัมพันธ์ 3 มิติ

  1. ระหว่างคนกับคน คนอยู่คนเดียวไม่ได้ 
  2. คนกับธรรมชาติ พื้นที่ที่เป็นส่วนรวม เขตเศรษฐกิจที่กำหนดร่วมกัน แชร์การจัดสรร ไม่มีใครเป็นเจ้าของ มีความหลากหลายทางชาติพันธ์
  3. พื้นที่นี้มีความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ผีรวง ผีป่า ผีหนองน้ำ

           เป็นอำนาจที่ทำให้คนอยู่ร่วมกัน ถ้าเป็นจากข้างนอก เขาจะไม่เห็นแบบนี้ เขาเห็นคนไม่เป็นกลุ่มเขาเห็นเป็นปัจเจก แยกคนออก แย่งชิงกัน ไม่รู้จักมิติของธรรมชาติ มองเป็นทรัพยากรที่ทำให้เกิดรายได้ ไม่มีมิติของสิ่งเหนือธรรมชาติ เป็นแนวคิดของสภาพัฒน์ฯ แนวคิดของนักวิชาการแบบตะวันตก

          การอยู่ในกระแสที่ให้การศึกษาแบบใหม่ๆ เราต้องทบทวน วิจัยไทบ้านจะปลุกสำนึกเรากลับมา งานนี้เป็นการเติบโตที่ดี เป็นการขยายจากจุดเล็กๆ มาสู่นิเวศน์วัฒนธรรม และขยายไปสู่ภูมิวัฒนธรรม ที่ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำกก ลุ่มน้ำอิง เราจะเห็นภาพการอยู่รวมกันของคนลุ่มน้ำโขง และลุ่มน้ำสาขาว่าอยู่กันอย่างไร พื้นที่จะเชื่อมโยงกัน มีการเดินทาง กำหนดหลายชุมชนในท้องถิ่นให้สร้างเครือข่ายที่มีสำนึกร่วมกัน คนสมัยก่อนไปถิ่นไหนต้องมีเพื่อนเป็นภาคีแลกเปลี่ยนกัน เชื่อมโยงกันด้วยการมองโลกสิ่งแวดล้อม มีการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน

          จากสิ่งเหล่านี้ นำเอาแต่ละภูมินิเวศน์มาแลกเปลี่ยนกัน การเชื่อมโยงของหลายท้องถิ่น  การเชื่อมโยงท้องที่จากหลายวัฒนธรรม พื้นที่น้ำกก น้ำอิง เป็นพื้นที่ที่สมบูรณ์ที่สุด มีที่ราบลุ่มที่สวยงาม จีนมองเป้าหมายนี้ในการพัฒนาต่อไป(ถล่มพื้นที่) พวกเราจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลจีน  ตายลูกเดียว  จะถูกเปลี่ยนโดยคนกลุ่มใหม่ คนท้องถิ่นตายหมด เราต้องเอาความเข้มแข็งต่อรองกับข้างนอก  เราต้องรู้ ต้องต้าน  คุณเอาลุ่มน้ำ มาพูดมาต่อต้านกับอำนาจรัฐ ต่อต้านกับโลกาภิวัฒน์ คนกับคนมาอยู่รวมกัน ร่วมใช้พื้นที่ นิเวศฯเดียวกัน นี่เป็นนิเวศน์วัฒนธรรม มองจากข้างในเข้าไป ท่านอยู่มาได้อย่างราบรื่นเพราะอะไร  ภูมิปัญญาที่มาจากคนใน มาจากการเรียน เป็นการสร้างความรู้จากข้างล่างเพื่อต่อรองกับข้างบน  ต้องเป็นการต่อรอง ถ้าจะมาจัดการต้องมาถามพวกเรา แต่พวกเราก็รักษาสิ่งที่ดีเพื่อให้เราอยู่รอดได้  ความรู้ชุดนี้จะบูรณาการคนอื่นๆที่เข้ามา  คนที่เข้ามาต้องรับจารีตประเพณีนี้ ถึงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างร่มเย็น  การอยู่ร่วมกัน  การเรียนรู้จากอดีต โดยผ่านการสังเกต สม่ำเสมอ เรียนรู้จนเกิดความรู้ เราเรียนรู้ภูมิปัญญาในอดีต เพื่อใช้ในต่อรองกับเทคโนโลยีที่มันเข้ามาจัดการเรา  ท่านต้องเจอกับรัฐที่มีอำนาจมากกว่าทุน เป็นท็อปดาวตลอด เราต้องเจอหลายอย่าง เรากำลังถูกรุก  โดยเรื่องเขื่อนนี้ไม่มีทางหยุด เลยไปที่หลวงพระบาง ไปเรื่อยๆ เราต้องร่วมมือกันเพื่อความอยู่รอด  ต้องสร้างพลังจากข้างล่าง ต้องเอาความรู้มาคุยกัน  ความรู้ที่เกิดจากการวิจัยนี้เป็นพลังมหาศาล

คำถามจากชาวบ้านสาละวิน: เรื่องไร่หมุนเวียน เจ้าหน้าที่ป่าไม้มาจับแต่ชาวบ้านไม่มีที่ทำกิน  ชาวบ้านไปรวมพลังเรียกเรื่องสิทธิ  ที่ป่าอุดมสมบูรณ์เพราะชาวบ้าน  คุณจะมาอยู่ที่นี่ต้องเข้าใจชาวบ้านด้วย

ศ.ศรีศักร  วัลลิโภดม: เราต้องมีความรู้ที่ชัดเจน  งานวิจัยไทบ้านเป็นสิ่งที่สู้ได้  เราต้องสื่อโดยการประชาพิจารณ์ในรูปของเครือข่ายด้วย โดยเฉพาะบรรดานักบริหารด้วยต้องทำให้เขารู้ด้วย
งานในครั้งนี้ ถูกต้องเพราะว่าเราใช้ภูมินิเวศน์วัฒนธรรมในการต่อสู้(แผนที่ภูมินิเวศน์) ถ้าเราทำได้ เป็นการเสริมสร้างสันติสุขได้  ทำไมภูเขานี้เรียกอย่างนี้เพราะรู้ว่าที่นี่มีทรัพยากรอะไรทุกคนรู้เพราะว่าเกิดการแลกเปลี่ยนกัน ตั้งแต่ชุมชนวัฒนธรรมไปจนถึงภูมินิเวศน์วัฒนธรรมเป็นการสร้างคลังข้อมูลที่มหาศาล

ผู้ดำเนินรายการ  สรุปคนในเท่านั้นที่จะมองเห็นภายในของพวกเรา  งานวิจัยไทบ้านนี้อย่าหยุดนิ่งถ้าหยุดเมื่อไหร่ตายเมื่อนั้น ต้องร่วมมือรวมกลุ่มเป็นลุ่มน้ำ

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา