eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

9 ปี งานวิจัยไทบ้าน

ธีระพงศ์ โพธิ์มั่น โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต
พฤศจิกายน 2553

                หลังจากการเรียกร้องเป็นระยะเวลากว่า 10 ปีของชาวบ้านปากมูลและสมัชชาคนจน ในปี พ.ศ. 2544 รัฐบาลก็ได้มีมติให้มีการเปิดประตูเขื่อนปากมูลเพื่อศึกษาผลดีผลเสียของการเปิดประตูเขื่อน โดยการว่าจ้างนักวิชาการมาทำการศึกษา และนั่นเป็นที่มาของจุดเริ่มต้นของงานวิจัยไทบ้านเพราะจากการเรียนรู้ในการต่อสู้ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านเห็นว่าพวกเขาไม่สามารถที่จะเชื่อในความถูกต้องและเป็นธรรมของการศึกษาของนักวิชาการที่ว่าจ้างโดยรัฐอีกต่อไป ดังนั้นพวกเขาจึงได้รวมตัวกันคิดที่จะทำการวิจัยค้นหาความจริงด้วยตัวของไทบ้าน (ชาวบ้าน) เอง โดยการเข้าไปสนับสนุนของโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิตในฐานะผู้ช่วยนักวิจัย และกลุ่มนักวิชาการเพื่อคนจนที่เข้าไปในฐานะผู้ให้คำปรึกษา   นับถึงวันนี้เป็นเวลา 9 ปีแล้วงานวิจัยไทบ้านได้มีการยอมรับและถูกนำไปปฏิบัติใช้ในหลายพื้นที่รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านในลุ่มน้ำโขง   วันที่ 6 – 7 สิงหาคม 2553 โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิตและองค์กรที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกันจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการของเครือข่ายนักวิจัยไทบ้านขึ้นที่ อ. เชียงของ จ. เชียงราย โดยการสนับสนุนของ IUCN เพื่อถอดบทเรียนที่ผ่านมาของงานวิจัยไทบ้าน

1. ความหมายและคำจำกัดความของ “งานวิจัยไทบ้าน”

“ไทบ้าน” เป็นภาษาอีสานแปลว่าชาวบ้าน ดังนั้นความหมายโดยสรุปง่ายๆของงานวิจัยประเภทนี้คือ งานวิจัยที่มีชาวบ้านเป็นนักวิจัยเองโดยตั้งอยู่บนหลักภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยมีคนภายนอกเป็นผู้ช่วยนักวิจัย และหัวข้อการศึกษามีประเด็นครอบคลุมทั้งระบบนิเวศ เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม

การหาคำจำกัดความอาจจะทำได้จากการเปรียบเทียบงานวิจัยไทบ้านกับงานวิจัยตามจารีตของนักวิจัยทั่วไปหรืองานวิจัยท้องถิ่นของ สกว. ว่ามีความคล้ายคลึงหรือแตกต่างกันอย่างไร   ในด้านความแตกต่างอาจสรุปเกี่ยวกับงานวิจัยไทบ้านได้ว่าได้ว่า   1) เป็นงานที่จะต้องมุ่งหวังเรื่องการเสริมสร้างกระบวนการชุมชนด้วย   หัวใจสำคัญของการทำวิจัยไม่ใช่เพียงแต่การได้มาซึ่งความรู้ท้องถิ่นอย่างเป็นระบบเท่านั้นแต่หัวใจสำคัญประการหนึ่งคือการกระบวนการชุมชน   ดังนั้นแล้ว มันเป็นงานที่ต้องใช้ชาวบ้านเป็นคนทำเกือบทั้งหมด   ต้องใช้ระยะเวลานานเพราะมีความมุ่งหวังเรื่องกระบวนการทางชุมชนด้วย    เนื้อหางานวิจัยต้องเกี่ยวข้องกับคนหมู่มากในชุมชน   ผู้ร่วมศึกษาต้องมีจำนวนมากพอต่อการเกิดกระบวนการทางชุมชนไม่ใช่แอบทำกันอยู่ไม่กี่คน   2) งานวิจัยไทบ้านไม่ใช่การวิจัยอย่างมีส่วนร่วม (participatory action research) เพราะคำว่า “การมีส่วนร่วม” มีความหมายแฝงหรือวาทกรรมที่ว่า “ใครไปร่วมกับใคร” หรือจะพูดให้ชัดเจนก็คือชาวบ้านเป็นผู้ไปร่วมกับงานวิจัย “ของ” นักวิชาการหรือผู้ที่มีความรู้จากสถาบันการศึกษา ดังนั้นงานวิจัยไทบ้านยังมีความหมายแฝงถึง “การปลดปล่อย” ด้วยซึ่งถือเป็น “วาทกรรมของคนจน” และคำว่า “ไท” ในคำว่าไทบ้านนั้นนอกจากจะหมายถึงชนชาติไตอันเป็นต้นกำเนินของชนชาติต่างๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วยังมีความหมายถึงการ “เป็นไท” หรือการเป็นอิสระจากอำนาจที่มาในรูปของความรู้ด้วย     3) หัวข้อการศึกษาต้องมีหลากหลายเป็นองค์รวม  ครอบคลุมระบบต่างๆ ทางธรรมชาติและสังคมที่สัมพันธ์กันอยู่ตามระบบองค์ความรู้พื้นบ้าน  เพราะความรู้หรือการวิจัยของนักวิชาการหรือภาครัฐนั้นมักแบ่งแยกความจริงออกเป็นส่วนๆ เพื่อความง่ายต่อการจัดการ อันนำมาซึ่งการพัฒนาที่ก่อให้เกิดการคุกคามต่อความยั่งยืนของธรรมชาติและสังคม  

ในด้านความคล้ายคลึงกันกับงานวิจัยตามจารีตของนักวิจัยทั่วไปหรืองานวิจัยท้องถิ่นของ สกว. สามารถเห็นได้เช่น   1) เป็นกิจกรรมเพื่อค้นหาความจริง   2) กิจกรรมที่ตระหนักว่าความรู้คืออำนาจ   3) มีระเบียบวิธีวิจัยที่ชัดเจนสามารถตรวจสอบได้   4) สิ่งที่คล้ายกันกับงานวิจัยท้องถิ่นของ สกว.คือการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ในความหมายของสกว.อาจจะไม่มุ่งเน้นเรื่องกระบวนการชุมชนมากนัก    5) ในประเด็นเรื่องหัวข้อการวิจัยที่ต้องหลากหลายและครอบคลุม งานวิจัยไทบ้านจะมีความคล้ายคลึงกับงานวิจัยเชิงพื้นที่ของสกว. แต่ก็แตกต่างกับงานวิจัยอีกประเภทหนึ่งของสกว.คืองานวิจัยเชิงประเด็น

2. ที่มาและแนวคิดของงานวิจัยไทบ้าน

แนวคิดหลักของงานวิจัยไทบ้านคือแนวคิด “การเมืองเรื่องความรู้” หรือการต่อสู้ของภาคประชาชนโดยการใช้องค์ความรู้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับอำนาจรัฐหรือผู้มีอำนาจทางสังคมที่แฝงมาในรูปของความรู้ดังคำกล่าวที่ว่า “ความรู้คืออำนาจ และ อำนาจคือความรู้”   คำว่า “วิชาการ” เป็นวาทกรรมหรือคำพูดที่มีความหมายแฝงทางอำนาจทางสังคมอย่างมาก ความรู้หรือความจริงที่ถูกผลิตขึ้นแล้วถูก “ประทับตรา” ว่าถูกต้องตามหลักวิชาการนั้นถูกทำให้มีอำนาจและความชอบธรรมที่สามารถนำไปใช้ชี้ถูกชี้ผิดชี้เป็นชี้ตายหรือกำหนดทิศทางทางสังคมได้ ซึ่งมันเองก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางอำนาจของรัฐมาโดยตลอด จะเห็นว่าความรู้ที่มีความชอบธรรมทางอำนาจหรือถูกต้องเป็นที่ยอมรับตามหลักวิชาการนั้นจะผลิตขึ้นได้ก็เพียงแต่คนที่จบการศึกษาชั้นสูงเท่านั้น และคนเหล่านี้ก็กระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลาง ดังนั้นอำนาจจึงกระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลางอันก่อให้เกิดปัญหาทางโครงสร้างของสังคม   ที่สำคัญไปมากกว่านั้นอำนาจและความชอบธรรมของความรู้เหล่านี้ยังถูกสร้างขึ้นมาด้วยกระบวนการกดทับและกีดกั้นความรู้ประเภทอื่นๆออกไป ซึ่งก็คือความรู้ท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือความรู้อื่นๆที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ตามหลักวิชาการที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวิทยาศาสตร์

แนวคิดที่สำคัญอีกแนวคิดหนึ่งคือแนวคิดความรู้ท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งอาจารย์ยศ สันตสมบัติ ได้อธิบายไว้ว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆแต่มันเกิดและพัฒนาตัวขึ้นจากกระบวนการที่คนและชุมชนได้มีการเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับระบบนิเวศชุดหนึ่งหรือชุดของระบบนิเวศในแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ ดังนั้นภูมิปัญญาท้องถิ่นจึงมีลักษณะเฉพาะและตั้งอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ    อาจารย์ชยันต์ วรรธนะภูติ กล่าวว่าความรู้ท้องถิ่นเป็นความรู้แบบองค์รวมที่ได้สั่งสมมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ   หนึ่ง ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่มีความสัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตที่ทำให้สามารถดัดแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของตนเอง เช่นความรู้เกี่ยวกับน้ำ ปลา ป่า เพราะอยู่มานาน เรียนรู้จากการปฏิบัติ ถ่ายทอดจากพ่อแม่บรรพบุรุษ เป็นไปอย่างละเอียดอ่อน  สอง ความรู้เกี่ยวกับการจัดการสังคม ใครเป็นผู้ใช้ การเข้าถึง การแบ่งปัน เป็นการตกลงแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน การจัดความสัมพันธ์ มีการตั้งกฎเกณฑ์ระเบียบ ว่าใครมีสิทธิใช้อย่างไร มากน้อยเท่าไร   สาม ความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ ซึ่งท้องถิ่นแสดงออกมาผ่านพิธีกรรม ความเชื่อ ตำนาน เช่น ตำนานพระธาตุ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ พิธีเดปอถู่ของปกาเกอะญอ เป็นการแสดงความเคารพและความผูกพันกับธรรมชาติ    คนจะอยู่ได้เมื่อคนด้วยกันเองมีอาหารพอเพียงไม่เอารัดเอาเปรียบกัน และไม่เบียดเบียนธรรมชาติจนเกินไป    การพัฒนาในทิศทางปัจจุบันได้ทำลายความสำคัญความรู้ท้องถิ่นลงไป ท้องถิ่นมีความรู้ของตนเอง

“นิเวศวัฒนธรรม” เป็นแนวคิดของการมองคนและระบบนิเวศอย่างเป็นองค์รวม ไม่ได้มองสิ่งต่างๆแยกออกเป็นส่วนๆเพื่อการง่ายต่อการจัดการ อาจารย์ ศรีศักร วัลลิโภดมได้กล่าวถึงแนวคิดนี้ว่าเป็นการมองถึงความสัมพันธ์ทั้ง 3 มิติคือ ความสัมพันธ์ของคนกับธรรมชาติ ความสัมพันธ์ของคนกับคน และความสัมพันธ์ของคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ เช่น ผีรวง ผีป่า ผีหนองน้ำ

3. กระบวนการทำงานวิจัยไทบ้านโดยคร่าว

  1. ผู้ช่วยนักวิจัย (เอ็นจีโอ นักศึกษา หรือหน่วยงานอื่นๆ) จัดประชุมชาวบ้านที่ต้องการมีส่วนร่วมในการทำวิจัย เพื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นถึงงความหมายและกระบวนการทำวิจัยไทบ้าน
  2. การประชุมกลุ่มเพื่อระดมความรู้ ประเด็นที่จะทำการศึกษาวิจัย และระเบียบวิธีวิจัย เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการวิจัย
  3. การประชุมกลุ่มใหญ่เพื่อค้นหานักวิจัย โดยให้ชาวบ้านช่วยเสนอชื่อผู้รู้ตามหัวข้อวิจัย เช่น นักวิจัยเรื่องปลาก็คือคนหาปลาที่ชำนาณ นักวิจัยเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นก็คือผู้เฒ่าผู้แก่
  4. หลังจากได้นักวิจัยและประเด็นในการวิจัยแล้ว ก็เปิดโอกาสให้นักวิจัยได้พูดคุยกันถึงขั้นตอน วิธีการ และระยะเวลาในการเริ่มทำงานวิจัย
  5. นักวิจัยและผู้ช่วยนักวิจัย ลงพื้นที่เก็บรายละเอียดของข้อมูลร่วมกัน โดยมีผู้ช่วยนักวิจัยเป็นผู้ช่วยบันทึกข้อมูลทั้งการจดบันทึก การถ่ายภาพ การบันทึกเสียง
  6. จัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อระดมข้อมูลและตรวจสอบข้อมูล
  7. จัดประชุมกลุ่มใหญ่เพื่อนำเสนอรายงานความก้าวหน้าของการวิจัย ให้แต่ละกลุ่มรายงานผลการวิจัยของกลุ่มตัวเอง ระดมข้อมูลเพิ่มเติม และตรวจสอบข้อมูลระหว่างกลุ่ม
  8. ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนที่ยังขาด
  9. ผู้ช่วยนักวิจัยจัดทำร่างรายงานการวิจัย และนำเสนอประชุมกลุ่มใหญ่เพื่อตรวจสอบ
  10. จัดพิมพ์และเผยแพร่งานวิจัย

4. บทเรียนของแต่ละพื้นที่

บริบทหรือสภาพความแตกต่างของแต่ละพื้นที่มีผลต่อเนื้อหาประเด็นและวิธีการที่ต่างกันไป งานวิจัยประเภทนี้ไม่ใช่สูตรสำเร็จตายตัวอย่างวิธีการทางวิทยาศาสตร์   แต่คนในท้องถิ่นที่อยู่กับสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมของมาเองมาหลายชั่วอายุคนจะต้องช่วยกันสร้างสรรค์เนื้อหาและวิธีการของตนเองออกมา   ความแตกต่างของแต่ละพื้นที่มีหลักๆอยู่ 3 ประเด็นคือ   1) ความแตกต่างของบริบท (สภาพ) ของแต่ละพื้นที่   2) ความแตกต่างของวิธีการศึกษา ประเด็นการศึกษา รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคที่พบ และ   3) ผลกระทบที่เกิดขึ้นในละท้องถิ่น และการนำไปต่อยอดขยายผล

4.1 ปากมูน    มีปัญหาของการสร้างเขื่อน เป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งสูง ปลาเป็นเนื้อหาหลักของการศึกษา กรณีของปากมูลเป็นพื้นที่แรกที่ทำให้ยาก ที่สำคัญกรณีปากมูลสาธารณะให้ความสนใจสูงมากจากการความขัดแย้งของปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อมกับการเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจน ในช่วงเวลาดังกล่าวนักวิชาการและคนเมืองเกิดการตื่นตัวในเรื่องของคนจนเป็นอย่างมากประกอบกับกระแสการตื่นตัวของภูมิปัญญาพื้นบ้านในสังคมไทย เริ่มมีมาก่อนหน้านี้อยู่ระยะหนึ่งแล้วดังนั้นผลการศึกษาของปากมูลจึงก่อให้เกิดจุดกระเพื่อมที่สำคัญทางสังคม มันเป็นนวัตกรรมทางสังคมชิ้นใหม่ของไทย   การศึกษาของที่นี่กลายเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆที่เกิดขึ้นตามมา  ที่นี่กลายเป็นที่เรียนรู้ของพื้นที่อื่นๆรวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างดีโดยเฉพาะประเทศเขมร นักวิจัยที่นี่ยังได้ไปช่วยอบรมให้พื้นที่อื่นๆด้วย   อย่างไรก็ตามปัจจบันชุมชนมีความแตกแยกผลของงานวิจัยไม่ได้ทำให้เกิดความสามัคคีหรือเสริมสร้างความเป็นชุมชนมากขึ้นเพราะปากมูลเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนและขัดแย้งสูง เนื่องจากมันเป็นกรณีตัวอย่างในการค้านยันกับกฟผ. ที่กฟผ. ต้องลงทุนลงแรงในการยึดพื้นที่ให้ได้ด้วยประการทั้งปวง

4.2 ราศีไศล   จะคล้ายๆกันกับปากมูลทั้งในเรื่องประเด็นปัญหาในพื้นที่สภาพสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม  แต่ก็มีประเด็นในการศึกษาที่แตกต่างออกไป เช่น การทำบ่อเกลือ การเลี้ยงควาย  ระบบนิเวศป่าบุ่งป่าทาม

4.3 แก่งเสือเต้น   เกิดจากปัญหาเรื่องเขื่อนเช่นเดียวกันแต่ประเด็นการศึกษาหลักมุ่งไปที่เรื่องป่า มีประเด็นเฉพาะที่น่าสนใจคือเรื่องป่าสักทองและนกยูง ชาวบ้านมีความเข้มแข็งมาก อย่างไรก็ตามถึงแม้การศึกษาจะสำเร็จออกมาแต่ก็ไม่ได้ถูกนำไปกล่าวอ้างหรือใช้เป็นหลักฐานในการต่อสู้เพื่อคัดคานกับกระแสการสร้างเขื่อนที่มาเป็นระรอกๆ ส่วนมากแล้วจะอ้างข้อมูลจากการศึกษาของนักวิชาการหรือสถานวิชาการเป็นหลัก เช่น การกล่าวอ้างข้อมูลการศึกษาของจุฬาฯ การศึกษาขององค์การอาหารและการเกษตรโลก การศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผลการศึกษาของงานไทบ้านที่แม่ยมอาจจะไม่เป็นที่รับรู้มากนัก

4.4 สาละวิน   เป็นพื้นที่ชายแดนที่ห่างไกล ชาวบ้านพูดภาษาชนเผ่า การทำงานค่อนข้างลำบากกว่าที่อื่นมากจากปัญหาของการเดินทางไปยังพื้นที่ต้องใช้ทั้งรถ เรือและการเดินเท้า ปัญหาเรื่องการสื่อสารที่ต่างภาษาก็เป็นปัญหาสำคัญ   นอกจากเรื่องผลประโชยน์เหมือนกันที่อื่นๆแล้วกรณีสาละวินยังมีความหมายเรื่องของการสร้างความยอมรับต่อปัญหาชนเผ่าด้วย   ปัญหาที่เป็นจุดของการรวมตัวคือเป็นปัญหาข้ามพรมแดน ที่เกิดขึ้นจากรัฐไทยและรัฐบาลต่างประเทศ การทำงานเรื่องเขื่อนมีการทำร่วมกับองค์กรของชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่าด้วย   ปัญหาของสาละวินได้รับความสนใจระดับสากลเพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องข้ามพรมแดน และปัญหาชนกลุ่มน้อยของประเทศพม่า

4.5 เชียงของ   เป็นกรณีที่น่าสนใจเนื่องจากมีองค์กรท้องถิ่นที่เข้มแข็งทำให้มีการนำงานวิจัยไทบ้านไปใช้อย่างต่อเนื่องรวมทั้งขยายผลไปสู่งานอื่นๆและการนำไปใช้ข้ามประเทศ พื้นที่เป็นเขตชายแดนที่มีความเกี่ยวข้องกับประเทศเพื่อนบ้าน ปัญหาที่ก่อให้เกิดการรวมตัวเป็นปัญหาที่มาจากโครงการความร่วมมือของรัฐไทยและต่างชาติ และปัญหาข้ามพรมแดนจากรัฐต่างชาติโดยเฉพาะคือเขื่อนจีน

4.6 แม่น้ำสงคราม   มีความแตกต่างไปจากรณีอื่นๆ และน่าสนใจตรงที่ไม่มีปัญหาของผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่หรือเรื่องเขื่อนเป็นแรงผลักดันความร่วมมือของชาวบ้าน แต่ชาวบ้านก็สามารถรวมตัวกันให้สร้างงานวิจัยออกมาได้อย่างสมบูรณ์

โดยสรุป สิ่งที่มีความคล้ายกันของเกือบทุกพื้นที่คือ   1) การมีปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่มาจากภาครัฐของไทย จะต่างกันอยู่บ้างตรงที่บางพื้นที่เป็นปัญหาจากรัฐไทยและรัฐต่างชาติ หรือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากรัฐต่างชาติโดยเฉพาะ   2) พื้นที่ได้รับความสนใจและช่วยเหลือจากองค์กรภายนอกหลายองค์กร จะต่างกันอยู่บ้างตรงที่บางพื้นที่เป็นที่สนใจขององค์กรต่างประเทศด้วย   3) ทุกกรณีดังกล่าวข้างต้นมีโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิตหรือชื่อเดิม เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้าไปสนับสนุนหรือเป็นผู้ช่วยหลักของชาวบ้านในการวิจัย   4) พื้นที่งานวิจัยเป็นชุมชนลุ่มน้ำหัวข้อศึกษาจึงคล้ายกันในเรื่องพันธุ์ปลา เครื่องมือหาปลา ระบบนิเวศลำน้ำ   5) สิ่งที่ค้นพบของหลายๆพื้นที่ที่น่าสนใจคือระบบนิเวศตามหลักความรู้พื้นบ้าน เช่น เกาะ แก่ง ลวง แจ๋ม ฯลฯ มันได้เป็นการจุดประกายความคิดเรื่องแผนที่นิเวศวัฒนธรรมที่ได้มีการนำไปปฎิบัติแล้วและกำลังจะขยายตัวไปยังพื้นที่อื่นๆ

5. ผลดีและการยอมรับงานไทบ้านในระดับต่างๆและปัจจัยที่ช่วยให้เกิดผล

5.1 ผลดีต่อตัวชาวบ้านและชุมชน งานวิจัยไทบ้านมีผลสำคัญอย่างมากต่อการสร้างความเข้มแข็งในกับชาวบ้านและกระบวนการชุมชน   1) กระบวนการทำวิจัยช่วยสร้างความเป็นผู้นำและความมั่นใจให้กับชาวบ้าน เพราะชาวบ้านได้มีการฝึกคิดและนำเสนออย่างเป็นระบบ กว่าที่งานวิจัยไทบ้านในพื้นที่หนึ่งๆจะสำเร็จลงได้ชาวบ้านต้องผ่านการระดมความคิด การถกเถียง การวางแผน และการนำเสนออยู่เป็นปีๆ กระบวนการเหล่านี้เป็นเวทีฝึกทักษะเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี   2) เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนต่อท้องถิ่นตัวเอง ซึ่งความรู้ที่ได้ของชาวบ้านแต่ละคนผ่านกระบวนการตรวจสอบข้อมูลมาเป็นอย่างดี พวกเขาสามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนเป็นขั้นเป็นตอนและวิเคราะห์เชื่อมโยงถึงความสัมพันธ์กับส่วนอื่นๆได้ไม่เพียงแต่หัวข้อวิจัยที่ตัวเองรับผิดชอบ เพราะกระบวนการวิจัยจะมีการทำงานร่วมกันของแต่ละกลุ่มวิจัยเพื่อตรวจสอบและเสนอแนะข้อมูลระหว่างกัน   3) เกิดผลดีต่อการสร้างความเป็นชุมชนเนื่องจากต้องมีการทำงานร่วมกันอยู่เป็นระยะเวลานานและมีการแลกเปลี่ยนความคิดกันอยู่เสมอ   4) การเสริมสร้างความเป็นประชาธิปไตยในชุมชน เนื่องจากกระบวนการไม่ได้เป็นการทำงานโดยการมีหัวหน้า แต่เป็นการทำงานร่วมกันของทีมนักวิจัย   5) เกิดความหวงแหนและตระหนักถึงความสำคัญต่อทรัพยากรท้องถิ่นของตน ความรู้ที่ได้และกระบวนการในการได้มาซึ่งความรู้ทำให้ชาวบ้านตระหนักถึงความสำคัญและความผูกพันของทรัพยากรเหล่านั้นที่มีต่อตัวเขาและชุมชน   6) ชุมชนได้รับการยอมรับจากภายนอกมากขึ้นจากผลองค์ความรู้ของงานวิจัยที่ได้ และความสามารถในการอธิบายสื่อสารกับคนภายนอกของชาวบ้าน การที่ชาวบ้านสามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนเป็นระบบช่วยเสริมสร้างความเข้าใจและความน่าเชื่อถือของความรู้ที่ได้ต่อสาธารณะชน และญาติมิตรต่างพื้นที่

5.2 งานวิจัยมีผลดีต่อผู้ช่วยนักวิจัย คือช่วยให้ได้รับความรู้ต่างๆที่อาจจะไม่เคยรู้มาก่อน หรือที่รู้มาแล้วก้จะมีความชัดเจนมากขึ้นจากการลงไปทำงานและร่วมสำรวจในพื้นที่จริงกับชาวบ้าน

5.3 ผลดีต่อขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนจากการตื่นตัวเรื่องสิทธิและความภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง งานวิจัยไทบ้านเสริมให้กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆเกิดการตื่นตัวและเสริมสร้างความตระหนักในสิทธิของชุมชนต่อทรัพยากรต่างๆในชุมชน   งานวิจัยไทบ้านได้สร้างวาทกรรมและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ขึ้นมา เป็นการเปิดพื้นที่ของภาคประชาชนขึ้นมาอีกพื้นที่หนึ่ง การพูดและนำเสนอในรูปแบบต่างๆเกี่ยวกับเรื่องปลาและความสำคัญของปลา (ซึ่งสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับระบบต่างๆทั้งเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคม) อย่างต่อเนื่องพร้อมๆกันในหลายๆพื้นที่วิจัยทำให้ “ปลา” ได้กลายเป็นวาทกรรมของคนจนไปแล้ว

5.4 การยอมรับทางสังคมของคนในประเทศเรื่องเสียงและสิทธิของคนรากหญ้า   ซึ่งงานวิจัยไทบ้านช่วยเสริมการยอมรับดังกล่าวจากกระแสของคนจนจากขบวนการต่อสู้ของสมัชชาคนจนและการตื่นตัวเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น

5.5 การยอมรับและการตั้งคำถามทางโลกทัศน์ของความรู้ทางวิชาการและการวิจัย อย่างไรด็ตามก็ยังมีคำถามที่น่าสนใจคือ งานวิจัยไทบ้านก่อให้เกิดผลดังกล่าวด้วยตัวของมันเองหรือไม่ หรือว่ามีปัจจัยทางสังคมและวิชาการอื่นๆ เป็นตัวช่วย เช่น กระแสของภูมิปัญญาท้องถิ่น

5.6 การยอมรับจากภาครัฐ และเอกชนเจ้าของโครงการพัฒนา   งานวิจัยไทบ้านเกือบทั้งหมดมีรัฐและผู้สร้างเขื่อนเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่ต้องการให้เกิดการยอมรับ แต่การยอมรับจากคนเหล่านี้ก็เกิดขึ้นไม่มากนัก เพราะความรู้และความจริงที่ได้ขัดต่อการเดินหน้าของโครงการพัฒนาเหล่านี้

5.7 การยอมรับและนำไปใช้ของประเทศอื่นๆ ทั้งในวงเอ็นจีโอ ชาวบ้าน และนักวิชาการ  งานวิจัยไทบ้านได้ขยายวงออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านและกลายเป็นยุทธศาสตร์ร่วมที่สำคัญของเครือข่ายภาคประชาชนลุ่มแม่น้ำโขงเพราะมันเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับระบบนิเวศและวัฒนธรรม ตามหลักภูมิปัญญาซึ่งประเทศอื่นๆในลุ่มน้ำที่แม้จะมีความแตกต่างทางการเมืองอย่างมากก็สามารถทำงานร่วมกันได้   การยอมรับและการเผยแพร่ในต่างแดนดูแล้วเอ็นจีโอจะมีบทบาทสำคัญในการนำผลสำเร็จที่ได้ไปเผยแพร่ต่อยังประเทศอื่นๆ รวมทั้งประสานงานให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน 

5.8 การหลุดพ้นจากมายาคติและความคิดที่ตีบตันเรื่องการพัฒนา   ทุกครั้งเมื่อเกิดโครงการขนาดใหญ่คำถามสำคัญที่ตามเสมอก็คือ จะเลือกเอาการพัฒนาหรือการอนุรักษ์ จะเอาปลาหรือจะเอาไฟฟ้า และคนก็จะถูกผลักให้คิดหรือเลือกเอาแค่สองอย่างนี้อันถือเป็นความตีบตันทางปัญญาหรือกับดักทางความคิด    การเข้าใจในนิเวศวัฒนธรรมของตนจะทำให้ชาวบ้านไม่ต้องเลือกแค่สองตัวเลือกนั้น ความรู้และเข้าใจดังกล่าวจะช่วยสร้างปัญญาและการหาทางออกของปัญหาได้ดีกว่าเพราะจะไม่ติดอยู่กับมายาคติหรือการโฆษณาชวนเชื่อที่ผิดๆ ในการปกป้องแม่น้ำจากโครงการขนาดใหญ่ คนท้องถิ่นอาจไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องการค้านเขื่อนซึ่งสร้างความแตกแยกในชุมชน แต่พูดคุยกันเรื่องการที่จะมีปลากินอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับการรักษาวัฒนธรรมได้อย่างไร  

5.9 งานวิจัยไทบ้านในฐานะเครื่องมือของการประสานความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ เนื่องจากงานวิจัยนี้เป็นกิจกรรมในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่ได้ชี้ความผิดไปที่ใคร จึงสามารถสร้างความร่วมมือระหว่างชาวบ้านและหน่วยงานรัฐได้ รวมทั้งระหว่างคู่ขัดแย้งในชุมชน   นอกจากนี้งานวิจัยนี้ยังสามารถนำไปปฏิบัติใช้เหมือนๆกันในประเทศต่างๆในลุ่มแม่น้ำโขงได้ ถึงแม้ประเทศนั้นจะมีบริบททางการเมืองการปกครองและสังคมที่แตกต่างกันออกไป

6. ปัญหาและอุปสรรคโดยรวมของงานวิจัยไทบ้าน

แต่ละพื้นที่อาจจะมีปัญหาและอุปสรรคของตัวเองแตกต่างกันไปตามสภาพ แต่ปัญหาที่พบโดยรวมที่คล้ายกันและเป็นปัญหาต่อกระบวนการงานไทบ้านทั้งหมดคือ   1) การที่ต้องอาศัยความร่วมมือของคนหมู่มากในชุมชนและการที่ต้องระยะเวลานานเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งของการวิจัย ซึ่งที่ผ่านมาปัจจัยที่ช่วยลดอุปสรรคดังกล่าวก็คือการตกอยู่ในสภาวะที่กำลังจะได้รับความเดือดร้อนเหมือนๆกัน   2) ปัญหาการยอมรับจากรัฐและเอกชนเจ้าของโครงการเกิดเนื่องมาจากผลการศึกษางานวิจัยไทบ้านไปแย้งกับโครงการที่กำลังทำหรือต่อโครงการอื่นๆอีกที่จะตามมา   3) ขาดการทำงานอย่างต่อเนื่องขององค์กรที่ทำงานสนับสนุน เช่น การสนับสนุนให้เกิดการนำไปปฏิบัติในพื้นที่อื่นๆขยายออกไป    4) ไม่มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เช่น ไม่มีเอกสารคู่มือ   5) ขาดการรวมกันเป็นเครือข่ายที่ชัดเจนที่จะช่วยหนุนเสริมกันหรือทำงานร่วมกัน   6) ขาดการพัฒนาระเบียบวิธีวิจัย รูปแบบ และเทคนิคการทำวิจัยอย่างต่อเนื่อง

7. วิธีการหรือแนวคิดใหม่ๆ ที่จะต่อยอดหรือขยายผลงานวิจัยไทบ้าน

งานวิจัยไทบ้านควรจะมีการพัฒนาไปเรื่อยๆทั้งในเรื่องเทคนิควิธีการหรือการขยายผลไปสู่รูปแบบอื่นๆไม่ควรจะหยุดนิ่งเพราะสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอด การพัฒนายังช่วยให้พื้นที่อื่นๆเห็นตัวอย่างที่เหมาะสมสามารถนำไปใช้ได้กับสภาพของท้องถิ่นตัวเองได้ ทั้งยังช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงในวงวิชาการของนักวิชาการได้ด้วย

เทคนิคหรือวิธีการใหม่ๆ เช่น การปรับรูปแบบการศึกษามาเป็นการทำแผนที่นิเวศวัฒนธรรม

วิธีการนำเสนอผลงานวิจัยอาจจะออกมาในรูปอื่นๆที่ไม่ใช่เพียงแค่หนังสือ เช่น รูปของเพลง บทกลอนพื้นบ้าน ภาพวาด จิตรกรรมฝาผนัง แผนที่ การนำเสนองานวิจัยไทบ้านในแผนที่ Google Earth อย่างเป็นระบบ

ตัวอย่างการนำผลของงานวิจัยไปใช้ เช่น นำไปใช้รณรงค์เพื่อจัดทำเขตวังสงวนพันธุ์ปลา การทำหลักสูตรท้องถิ่น การสร้างศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญา การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น การจัดกิจกรรมรณรงค์ งานเวที นิทรรศการภาพ เช่น นิทรรศการภาพเครื่องมือหาปลาพื้นบ้าน นิทรรศการภาพวาด มหกรรมอาหารพื้นบ้าน จัดทำผลผลิตโอทอป หรือการสร้างเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายของการจัดการน้ำภาคประชาชนร่วมกันของเครือข่าย

ทั้งนี้พื้นที่เชียงของเป็นพื้นที่ที่มีการนำงานวิจัยไปต่อยอดได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องในขณะที่พื้นที่อื่นหยุดไป

8. ก้าวต่อไปของเครือข่าย

การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายร่วมกันของเครือข่าย   การจัดกิจกรรมร่วมกันในนามของเครือข่ายเป็นระยะๆ   การพัฒนาระเบียบวิธีวิจัยให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น   การเผยแพร่และอบรมงานวิจัย   การประสานงานกับหน่วยงานหรือองค์กรในระดับอื่นในขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม เช่น เครือข่ายภาคประชาชนลุ่มน้ำโขง   การขยายความร่วมมือกับต่างประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา