eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

“ล่องแก่งแม่น้ำยม: จากแก่งขามถึงแก่งเสือเต้น”
สายัณน์ ข้ามหนึ่ง  โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต - SEARIN

ดวงอาทิตย์ยามเช้าค่อยๆ ทอแสงรับวันใหม่ การเริ่มต้นของทุกๆ ชีวิตกำลังทำหน้าที่อย่างที่เคยเป็นมา ยามเช้าเช่นนี้ชาวบ้าน ต่างก็ตื่นขึ้นมาทำภาระกิจของตนตามวิถีที่เป็นมา บางคนออกไปต้มเหล้า บางคนออกไปให้ข้าวหมู เด็กๆ ตื่นขึ้นมาช่วยงานบ้าน  แม่บ้านออกไปตลาดจับจ่ายซื้อหาของกิน เพื่อทำอาหารเช้า ในกลุ่มคนเหล่านั้นมีหลายคนเดินผ่านหน้าบ้านแม่เตียว ซึ่งเป็นร้านขายของชำร้านเล็กๆ แต่ละคนที่เดินผ่านหรือเข้ามาจับจ่ายซื้อของ หลายคนถามคำถามในทำนองเดียวกันว่า “พวกเราจะไปไหน” คนที่ถามคำถามคงสังเกตเห็นสิ่งของที่วางกองรวมๆ กันอยู่บนรถบรรทุกเรือ ซึ่งเป็นเรือที่ชาวบ้านไม่เคยเห็นกันมาก่อน

หลายคนที่ถามต่างได้รับคำตอบจากพวกเราเป็นเสียงเดียวกันว่า”จะไปล่องแก่งแม่น้ำยม” บางคนในคณะเดินทางของพวกเราที่เป็นคนท้องถิ่น ทั้งตอบคำถามทั้งเก็บสัมภาระ ทั้งเตรียมอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ดูวุ่นวายพอสมควร บางคนก็คอยตรวจเซ็คของใช้ส่วนตัวเพื่อไม่ให้เกิดการผิดพลาด ทุกคนในคณะเดินทางต้องเตรียมทุกอย่างให้พร้อมมากที่สุด เพราะการเดินทางครั้งนี้ พวกเราทั้งหมดต้องไปใช้ชีวิตอยู่ทามกลางป่าเขาและแม่น้ำนานเวลาหลายวัน

แดดสาย ๙ โมง หลังจากทุกคนขนของขึ้นรถเรียบร้อย และรถก็พร้อมแล้วที่จะออกเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางที่วางไว้คือที่แก่งขาม บ้านทุ่งต้นศรี อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา เพื่อเริ่มการล่องแก่งในครั้งนี้  

คณะเดินทางมีทั้งหมด ๙ คน นอกจากนั้นก็จะเป็นอุปกรณ์ในการเดินทาง เช่น เรือแคนนูขนาดสองที่นั่งทำมาจากไม้ไผ่เคลือบด้วยไฟเบอร์ ๕ ลำ และสัมภาระอย่างอื่น

รถมาถึงที่หมายประมาณ ๑๐ โมง พอรถจอดนิ่งลงทุกคนก็ช่วยกันขนของและแบกเรือลงสู่แม่น้ำเพื่อจัดสิ่งของสัมภาระใส่ลงในเรือ เรือแต่ละลำจะเฉลี่ยน้ำหนักสิ่งของอย่างละเท่ากันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเมื่อเรือพลิกคล่ำ หลังจากทุกคนใส่เสื้อชูชีพเรียบร้อยหมุดหมายแห่งการเดินทางก็เริ่มต้นขึ้น

เมื่อทุกอย่างพร้อมคณะเดินทางก็เริ่มพายเรือออกจากฝั่งสู่และกระโจนลงสู่ความท้าทายของแก่งหินและสายน้ำ ในการล่องเที่ยวนี้ลุงเม็ด คนหาปลาในแม่น้ำยม อาสาที่จะพายเรือคนเดียวเพื่อล่วงหน้าไปสำรวจเส้นทางให้ก่อน ทางคณะเดินทางดูไม่ขัดเขินกับเรื่องนี้ เพราะต่างเชื่อมั่นว่ในฐานะคนหาปลาในแม่น้ำสายนี้แก่ย่อมคุ้นเคยกับสายน้ำสายนี้เป็นอย่างดี

คณะเดินทางทั้งหมดค่อยๆ พายตามกันเป็นขบวนโดยมีลุงเม็ดเป็นผู้นำ เรือค่อยๆ ผ่านแก่งต่างๆ ตามลำน้ำไปได้อย่างสบาย เพราะในช่วงนี้ระดับน้ำค่อนข้างเยอะเหมาะแก่การลองแก่ง แต่ช่วงที่เป็นวังน้ำลึกหลายคนเริ่มบอกว่าหมดแรงและเริ่มอ่อนล้าลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะต้องใช้พละกำลังในการพายเรืออย่างมาก แต่ถ้าช่วงใหนเป็นแก่งทุกคนบอกว่าสบาย

พวกเราพายเรือกันอย่างช้าๆ เพื่อชื่นชมความงดงามของแม่น้ำยม ยามนี้ริมฝั่งน้ำเขียวขจีไปด้วยต้นไม้ที่กำลังจะเริ่มพลัดใบ บนสายน้ำตลอดระยะทางที่ล่องเรือผ่านมา หาดทราย หินผา และคนหาปลา รวมไปถึงสัตว์ป่า เช่น ไก่ป่า นกยูง ที่ลงมากินน้ำริมฝั่งก็ปรากฏให้เห็นในช่วงที่เราพายเรือผ่าน ความสัมพันธ์ของผู้คน แม่น้ำ และสรรพสิ่งล้วนเกี่ยวเนื่องเชื่อมร้อยซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี

หลังจากที่พายเรือไปได้สักพัก เรือทุกลำก็จอดเทียบตรงริมฝั่งปากห้วยสัก ซึ่งเป็นห้วยสาขาสายหนึ่งของแม่น้ำยม อากาศยามเที่ยงเย็นสบาย พวกเราจึงจอดเรือแวะพักเพื่อกินข้าวเที่ยงเติมพลัง หลังจากหายเหนื่อยแล้วก็เริ่มออกเดินทางกันต่อไปจนถึงช่วงเย็น

เวลา ๕ โมงเย็นอิทตย์ใกล้อัสดงเต็มที หลายคนในคณะเดินทางที่เป็นคนท้องถิ่นออกความเห็นว่า พวกเราน่าจะจอดเรือที่ปากสบห้วยผาลาด เพื่อกางเต็นท์และเตรียมที่พักในค่ำคืนนี้ คนที่ออกความเห็นในเรื่องนี้ให้เหตุผลว่าบริเวณนี้ตอนเย็นๆ จะได้ยินเสียงร้องของนกยูง เพราะนกยูงอาศัยอยู่ใกล้บริเวณนี้ พวกเราอยากได้ยินเสียงร้องของมัน จึงตัดสินใจหยุดตรงปากสบห้วยผาลาด หลังจากสาละวนขนของลงจากเรือขึ้นฝั่ง บางคนในคณะเดินทางก็เตรียมที่พัก บางคนก็ออกหาอาหารโดยเฉพาะลุงเม็ด ลุงนัน อาสาที่จะออกไปวางตาข่ายดักปลาทิ้งไว้ในแม่น้ำเผื่อเย็นนี้จะได้กินปลาสดๆ ซึ่งทั้งสองก็ไม่ได้ทำให้ผิดหวัง หลังจากวางตาข่ายไว้พอกลับไปดูก็ได้ปลาติดตาข่ายมา ๖ ตัว

เมนูเย็นนี้จึงเป็นลาบปลาและต้มปลา หลายคนช่วยกันทำอาหาร ระหว่างทำอาหารก็หยิบยื่นจอกไม้ไผ่เล็กๆ กระดกลงคอ ในจอกไม้ไผ่ชุ่มฉ่ำไปด้วยเหล้าต้มของชุมชนที่หลายคนพกติดตัวมาด้วย

หลังจากอิ่มหน่ำจากมื้อเย็นเสร็จวงพูดคุยถึงการมาล่องแก่งในครั้งนี้ก็ได้เริ่มขึ้น การล่องแก่งแม่น้ำยมในครั้งนี้มีเป้าหมายสำรวจระบบนิเวศแม่น้ำยม และเป็นส่วนหนึ่งในงานวิจัยจาวบ้าน ‘แม่น้ำยม: ป่าสักทอง วิถีชีวิตของคนสะเอียบ’ ที่ได้กล่าวถึงระบบนิเวศแม่น้ำที่ชาวบ้านรู้จักและใช้ประโยชน์ พื้นที่ล่องแก่งและสำรวจระบบนิเวศแม่น้ำ อยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งแม่ยม

แม่น้ำยมมีต้นกำเนิดจากบริเวณดอยขุนยวม เทือกเขาผีปันน้ำ ในเขตอำเภอปง และอำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ไหลผ่านหุบเขาที่ปกคลุมไปด้วยป่าที่มีความลาดชัน มีพื้นที่ราบริมแม่น้ำเป็นบางตอน ไหลผ่านจังหวัดแพร่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ รวมความยาว ๗๓๕ กิโลเมตร ลุ่มน้ำยมครอบคลุมพื้นที่รับน้ำ ๒๓,๖๑๖ ตร.กม หรือประมาณ ๑๔,๗๖๐,๐๐๐ ไร่ เป็นพื้นที่ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยมถึง ๒๘๔,๒๑๘ ไร่ ซึ่งเป็นผืนป่าที่มีความหลากหลายของพันธุ์ไม้และสัตว์ป่า

ลุงหนานสงวน หนึ่งในนักวิจัยเรื่องพันธุ์ปลา อาสาที่จะอธิบายระบบนิเวศแม่น้ำที่แกรู้จักและได้ใช้ประโยชน์ ผ่านจากประสบการณ์การหาปลาในแม่น้ำยมตั้งแต่สมัยเด็ก ซึ่งสืบทอดมาจากพ่อที่เป็นคนหาปลาที่เก่งคนหนึ่งในหมู่บ้าน  ลุงหนานสงวนเริ่มอธิบายถึงระบบนิเวศแม่น้ำยม
ชาวบ้านใช้ชื่อเรียกพื้นที่ต่างๆในแม่น้ำเป็นภาษาท้องถิ่น แบ่งออกได้เป็น ๖ อย่าง คือ

วัง วังเป็นแหล่งน้ำลึกและนิ่ง ช่วงน้ำลดจะมีความลึกประมาณ ๕–๘ เมตร โดยความลึกจะขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ของแต่ละวัง วังแต่ละแห่งทอดตัวยาวไปตามลำน้ำไม่น้อยกว่า ๕๐๐ เมตร วังบางแห่งมีความยาวถึง ๓-๔ กิโลเมตร เช่น วังผาอิง (วังยาว) วังหลวง และวังหวาย เป็นต้น

ใต้ท้องน้ำบริเวณวังเป็นดินปนทราย บางวังมีหินและผาขนาดใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งวางไข่ของปลาเช่น ปลากัง (ปลาคัง) ปลากด  แม่น้ำยมเริ่มตั้งแต่บริเวณแก่งขามไปจนถึงแก่งเสือเต้นมีวังน้ำลึกทั้งหมด ๔๑ แห่ง

หาด-หาดเป็นช่วงที่ลำน้ำจะแคบ กระแสน้ำไหลเชี่ยวและรุนแรงทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง ก้อนหินทั้งขนาดเล็กและใหญ่จำนวนมาก เป็นที่อาศัยของ ปลา กุ้ง หอย และปู ช่วงน้ำนองหรือน้ำหลาก น้ำบริเวณหาดจะมีความลึกประมาณ ๒ เมตร ส่วนช่วงน้ำลดน้ำจะลึกประมาณ ๕๐ เซนติเมตร แม่น้ำยมเริ่มตั้งแต่บริเวณแก่งขามไปจนถึงแก่งเสือเต้น พบหาดทั้งหมด ๔๒ แห่ง

แก่ง ระบบนิเวศแบบแก่งมีเพียง ๒ แห่ง คือ แก่งเสือเต้น และแก่งขาม เป็นช่วงที่ร่องน้ำแคบ มีหินผาก้อนขนาดใหญ่อยู่ติดกันกลางแม่น้ำเป็นกลุ่ม ท้องน้ำส่วนใหญ่จะเป็นหินผา น้ำไหลผ่านตามซอกผามีกระแสน้ำจะไหลเชี่ยวรุนแรงตลอดทั้งปีโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ช่วงฤดูแล้งน้ำจะไหลตามซอกผาแยกเป็นร่องน้ำหลายสาย ต่อจากท้ายแก่งลงไปจะเป็นวังน้ำขนาดใหญ่ น้ำจะลึกและไหลช้า ซึ่งแก่งจะโผล่พ้นน้ำให้เห็นในช่วงฤดูแล้ง

หลงมีลักษณะคล้ายกับอ่าวขนาดเล็ก เกิดจากการที่กระแสน้ำเปลี่ยนทางเดินในช่วงน้ำนองหรือน้ำหลาก เมื่อน้ำลดระดับลงทำให้กลายเป็นแอ่งน้ำนิ่งที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำ หลงมีความลึกประมาณ ๒-๓ เมตร หลงส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่างวังกับหาด หลงในแม่น้ำยมมีจำนวนไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับกระแสน้ำหลากในช่วงฤดูฝนของแต่ละปีเมื่อน้ำเปลี่ยนทางเดินหลายพื้นที่ก็จะทำให้เกิดหลงเพิ่มขึ้น 

หลงเป็นที่อยู่อาศัยและวางไข่ของปลาหลายชนิด เช่น ปลาก้วน ปลาก่อ ปลาตอง ปลาปีก เป็นต้น บริเวณริมหลงยังมีพืชผักที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติให้ชาวบ้านได้เก็บกิน เช่น ผักแส่ว ผักสลิด ผักกูด ผักหนอก และผักขี้ก๋วง เป็นต้น

ลั้ง มีลักษณะคล้ายหาด แต่กระแสน้ำไหลช้ากว่าและเชี่ยวน้อยกว่า ลั้งคือบริเวณที่อยู่ระหว่างหาดและวัง ท้องน้ำเป็นหินผาและก้อนหินขนาดกลาง ความลึกประมาณ ๑ เมตร เป็นช่วงที่แม่น้ำมีความกว้างประมาณ ๘-๑๐ เมตร ลั้งมีความยาวประมาณ ๕๐๐ เมตรขึ้นไป เป็นที่อาศัยของปลา เช่น ปลากังแดง ปลาปีก ปลาบอก เป็นต้น การศึกษาพบลั้งในแม่น้ำยมในพื้นที่ป่าแม่ยม ๖ แห่ง ได้แก่ ลั้งห้วยผักเสี้ยว ลั้งหาดก๋าว ลั้งวังจ้างต๋าย ลั้งห้วยจืน ลั้งเก้าแหน และลั้งห้วยก่าง

ลำห้วยสาขา ลำห้วยมีความกว้างประมาณ ๑๕-๒๐ เมตร ช่วงน้ำหลากมีความลึกประมาณ ๓ เมตร ท้องน้ำของลำห้วยเป็นหินปนทรายหรือดินปนทราย ในเขตป่าแม่ยมมีลำห้วยขนาดใหญ่ เช่น ห้วยแม่พร้าว ห้วยแม่ปั๋ง ห้วยแม่สะกึ๋น ห้วยแม่ปุง ซึ่งจะมีน้ำไหลตลอดทั้งปี ส่วนลำห้วยสาขาขนาดเล็กในฤดูแล้งน้ำจะแห้ง มีน้ำขังบ้างบางแห่ง ซึ่งจาวบ้านเรียกว่า บวก หรือจำ พอที่จะสามารถให้คนและสัตว์ป่าได้ใช้ดื่มกินในช่วงดูแล้ง ในช่วงฤดูฝนเมื่อน้ำนองหรือน้ำหลาก ปลาในแม่น้ำยมอพยพขึ้นไปวางไข่ตามลำห้วยสาขา แล้วกลับลงสู่แม่น้ำยมในช่วงน้ำลด

ข้างกองไฟ กองเล็กๆ หลายคนนั่งล้อมวงนั่งฟังอาจารย์ สั่งสอนความรู้ของแม่น้ำยม ซึ่งใช้หลักสูตรการสอนผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง โดยมีแม่น้ำยมเป็นห้องเรียนชีวิต การเรียนรู้แบบนี้จะไม่มีการจบหลักสูตร เพราะหลักสูตรเหล่านั้นจะติดตัวคุณไปตลอด วันหนึ่งคุณต้องได้เป็นผู้ถ่ายทอดวิชาให้คนรุ่นต่อไป

ค่ำคืนนี้ดวงดาวทอแสงเต็มท้องฟ้า อากาศสดใส วงพูดคุยดำเนินมาค่อนข้างดึกดื่นพอสมควร เมื่อความง่วงเริ่มกระจายสู่ทุกคน ด้วยความอ่อนเพลีย และเมื่อยล้าจากการเดินทาง วงสนทนาในค่ำคืนจึงจบลงตอนเสียงไก่ป่าขันมาเป็นครั้งแรก ไฟราฟืนแล้ว ต่างคนก็ต่างแยกย้ายเข้าที่นอนของตนเอง พักผ่อนเอาแรงเพื่อต่อสู้กับวันพรุ่งนี้ต่อไป

ชีวิตบนสายน้ำก็เป็นเหมือนอย่างที่เป็นมาในวันก่อน แก่งแล้วแก่งเล่าที่คณะของพวกเราพายเรือผ่านไปหลายวัน หลายค่ำคืน แม้บางวันจะผ่านไปด้วยความยากลำบากก็ตามที ท่ามกลางความยากลำบากนั้นก็มีเสียงหัวเราะ ความสนุกสนาน รวมทั้งได้เรียนรู้การใช้ชีวิตแบบใหม่ๆ ได้รับความเอื้ออาทรจากเพื่อนร่วมเดินทาง และเหนือยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดคือความเอื้ออารีของแม่น้ำยมที่ได้หล่อเลี้ยงมวลชีวิตมากมายอย่างหาที่สุดไม่ได้

คืนแล้วคืนเล่าที่เราได้ยินเสียง ค่าว จ้อย ซอ ของลุงเม็ด คนหาปลา ซึ่งชีวิตในวัยหนุ่มของแก เคยเป็นมือหนึ่งสะล้อ ประจำวงช่างซอของหมู่บ้าน ค่าว จ้อย ซอ ที่แกขับขานในแต่ละค่ำคืนล้วนบอกเล่าตำนานวิถีชีวิตชาวบ้านเมื่อครั้งอดีตที่ผ่านมา เสมือนหนึ่งเป็นบทเพลงพื้นบ้านที่กล่อมพวกเราให้นอนหลับสบายทุกค่ำคืน

วันที่ ๕ ของการเดินทาง นาฬิกาจากข้อมือบอกเวลา ๑๑ โมง  พวกเราล่องแก่งมาถึงจุดที่ทุกคนรอคอยและฝันถึงนั้นคือแก่งเสือเต้น ผาหินที่ปรากฎร้อยเท้าเสือที่ตั้งตระหง่านอยู่ข้างลำน้ำ สังเกตุเห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงยามแล้งที่ระดับลดลง เผยโฉมหินผาที่งดงามอวดสองดวงตา ร่องน้ำร่องเล็กๆ ที่สามารถโดดจากฝั่งหนึ่งถึงอีกฝั่งหนึ่งได้ ใครที่ได้กระโดดข้ามเสมือนหนึ่งข้ามแม่น้ำยม ด้วยความง่ายดาย ไม่มีที่แห่งใดเสมอเหมือนได้ ข้ามแม่น้ำจากอีกฝั่งถึงอีกฝั่งด้วยการก้าวข้าม เสมือนเสือที่โดดข้ามแม่น้ำแล้วฝากรอยเท้าเอาไว้ เหตุนี้จึงเป็นที่มาของชื่อแก่ง ณ.ที่แห่งนี้ ”แก่งเสือเต้น”

นับเริ่มตั้งแต่ล่องเรือเดินทางจากแก่งขามมาถึงที่นี้รวมความยาวตามลำน้ำได้ประมาณ ๘๐ กิโลเมตร และใช้เวลาล่องแก่ง ๔ คืน ๕ วัน กว่าจะมาถึงที่นี้

การเดินทางได้จบลงอย่างสมบูรณ์ สมกับความมุ่งหวังของทุกคนที่หวังอย่างยิ่งที่จะได้เห็นความงดงามของแม่น้ำยมยังคงอยู่เสมอไป และไหลล่องอย่างอิสระ เคียงคู่กับมวลชีวิตอิสระของผู้คนสองฝั่งแม่น้ำยมตลอดไป...

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา