eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

แถลงการณ์ ลุ่มน้ำภาคเหนือ

ทบทวนแผนพัฒนา 25 ลุ่มน้ำ หยุดเขื่อนแก่งเสือเต้น

สิทธิชุมชน มาตรา 66 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บุคคลซึ่งรวมตัวกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์ หรือฟื้นฟู จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน มาตรา 67 สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อการดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติ และต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อม ที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม

พื้นที่ภาคเหนือ เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน และต้นน้ำสาขาแม่น้ำโขง-สาละวิน แม่น้ำนานาชาติสายสำคัญของโลก มีความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า มีผืนดินที่เป็นที่ราบระหว่างหุบเขา เนินเขา ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ เหมาะสำหรับการทำการเกษตร มีแหล่งน้ำสายหลักและลำน้ำสาขามากมายหลายสาย และพื้นที่ชุ่มน้ำในที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง เราจึงพบเห็นความหลากหลายของพันธุ์ปลา สัตว์น้ำ นกน้ำประจำถิ่นและนกอพยพ ป่าไม้อันหนาแน่น ทั้งป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ก่อให้เกิดความหลากหลายของพรรณพืชและสัตว์ป่า

การจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำภาคเหนือของประเทศไทย ได้ยึดตามยุทธศาสตร์การจัดการลุ่มน้ำ 25 ลุ่มน้ำ รวมทั้งนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำ โดยมีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นองค์กรสูงสุดในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ยังคงเน้นหนักการก่อสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ และการผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำ แม้นโยบายดังกล่าวคาดว่าจะเกิดผลดีต่อประชาชนในภาคเกษตร โดยจะให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มมากขึ้น เพื่อการอุปโภคและบริโภคและเพื่อการเพาะปลูกได้ตลอดปีในหลายล้านไร่ คาดว่าครัวเรือนเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีความเป็นอยู่ดีขึ้น และประเทศจะสามารถแข่งขันในการเป็นแหล่งผลิตอาหารโลกได้ตามนโยบายรัฐบาล แต่ผลกระทบเชิงลบที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นในหลายประเด็น คือ

หนี้สาธารณะที่เกิดจากการก่อสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ และโครงการผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำซึ่งต้องกู้เงินต่างประเทศผลกระทบของการก่อสร้างและการผันน้ำเหล่านั้นต่อระบบนิเวศในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาคอย่างกว้างขวาง ผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ผลกระทบต่อสิทธิการใช้น้ำของประชาชนและสิทธิการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและกำหนดนโยบายน้ำขององค์กรท้องถิ่น ผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนของแม่น้ำระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงถึงกัน นอกจากการก่อสร้างเขื่อนแล้ว คือ การผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำภายในและระหว่างประเทศ ซึ่งในภาคเหนือจะมีการจัดทำโครงการเช่น โครงการกก-อิง-น่าน โครงการผันน้ำแม่น้ำเมย-สาละวิน สู่เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก นอกจากนี้ยังได้มีโครงการจัดทำระบบชลประทานแบบท่อ เครือข่ายส่งน้ำทั่วประเทศ (National Water Grid System) เป็นต้น

เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ขอเสนอต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้

1 รัฐต้องทบทวนแผนการจัดการลุ่มน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำ และหันมาผลักดันแนวคิดการจัดการน้ำโดยชุมชน ซึ่งจะเป็นทางออกในการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน รวมทั้งสนับสนุนและผลักดันการจัดการน้ำชุมชน โดยใช้แนวคิดภูมิปัญญาชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่นวางแผนการจัดการน้ำชุมชน โดยคนในพื้นที่มีส่วนร่วมทุกขั้นตอน

2 รัฐต้องยุติการผลักดัน พรบ.น้ำ ที่จะเป็นการรวมศูนย์อำนาจการจัดการน้ำไว้ที่รัฐ และเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจในสิทธิของชาวบ้านและชุมชน ในการจัดการน้ำโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านร่วมกับภูมินิเวศน์ที่เหมาะสมสอดคล้องกับชุมชนท้องถิ่น

3 รัฐต้องกระจายอำนาจและงบประมาณให้กับชุมชนท้องถิ่น ในการวางแผนระบบการจัดการน้ำโดยชุมชน รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำและระบบการจัดการน้ำของชุมชนท้องถิ่น และให้สิทธิและอำนาจการจัดการน้ำแก่ชุมชนท้องถิ่น โดยมีกฎหมายรองรับ

4 รัฐต้องจัดตั้งกองทุนผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน และผลกระทบจากภัยเขื่อนแตก รวมทั้งภัยที่เกิดจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากรัฐภัย

5 รัฐต้องยุติการผลักดัน และยกเลิกโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศไทย เช่น โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โครงการเขื่อนแม่น้ำยม โครงการเขื่อนยมบน จ.แพร่, โครงการเขื่อนแม่วงศ์ จ.นครสวรรค์, โครงการเขื่อนโปร่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ, โครงการเขื่อนแม่น้ำสงคราม จ.สกลนคร, โครงการเขื่อนท่าแซะ โครงการเขื่อนรับร่อ จ.ชุมพร, โครงการเขื่อนลำโดมใหญ่ จ.อุบลราชธานี, โครงการเขื่อนเขื่อนคลองกราย จ.นครศรีธรรมราช, โครงการเขื่อนสายบุรี จ.ปัตตานี เป็นต้น

6 รัฐต้องยอมรับและส่งเสริมการจัดการน้ำโดยชุมชน เคารพต่อภูมิปัญญาชาวบ้านแต่ละท้องถิ่น ที่มีความแตกต่างในการจัดการน้ำของแต่ละชุมชนท้องถิ่น อาทิ ระบบเหมืองฝาย ระบบการเกษตรที่สอดคล้องกับน้ำต้นทุนทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นวิถีการผลิตที่ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศน์

7 รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ตามที่มีรายละเอียดในแผนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งจัดทำโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย รวมทั้งแผนการพัฒนาลุ่มน้ำของกรมทรัพยากรน้ำเฉพาะการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก แผนดังกล่าวสามารถแก้ปัญหา การขาดแคลนน้ำได้โดย ใช้งบประมาณ เฉลี่ยแล้วหมู่บ้านละประมาณ 3 ล้านบาทเท่านั้น

8 รัฐต้องส่งเสริมให้ชาวบ้านและชุมชนฟื้นฟูสภาพป่าอย่างเร่งด่วน รวมทั้งฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งจะทำหน้าที่ในการดูดซับและเก็บน้ำไว้ในฤดูน้ำหลาก อีกทั้งต้องยุติการส่งเสริมการเกษตรที่บุกรุกและทำลายป่า ทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำ และสนับสนุนให้ชุมชนได้มีสิทธิในการดูแลรักษาป่าชุมชน สนับสนุนให้ชุมชนปลูกต้นไม้เพิ่มตามศักยภาพและความเหมาะสมของแต่ละชุมชน

9 รัฐต้องแสดงความรับผิดชอบ รวมทั้งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนที่ผ่านมา อาทิ เขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี, เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา จ.ศรีษะเกษ, เป็นต้น รวมทั้งกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องทบทวนโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ และรับผิดชอบ ต่อกรณีที่เป็นผลพวงจากโครงการพัฒนาโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ เพราะมีชาวบ้านมากมายที่ต้องโยกย้ายและเกิดปัญหาตามมามากมายกับคนเหล่านั้น อันเนื่องมาจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ไม่ตอบโจทย์ตามคำที่กล่าวอ้างไว้และยังเป็นปัญหาตามมาจนถึงวันนี้

10 โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า แร่ ฯลฯ ต้องได้รับความเห็นชอบจากชุมชน รวมทั้งต้องมีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ และผ่านกระบวนการประชาวิจารณ์ที่เป็นธรรม

11 รัฐต้องยุติการผลักดันโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำสาละวิน รวมทั้งหยุดผลัดดันโครงการผันน้ำ กก อิง น่าน โครงการโขง ชี มูน เป็นต้น

12 รัฐต้องประสานการร่วมมือในการทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชน ผู้นำชาวบ้าน การกำหนดทิศทางการทำงานร่วมกัน โดยตระหนักถึงระบบนิเวศน์ และภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่นเป็นสำคัญ

13 รัฐต้องทบทวนนโยบายการพัฒนาลุ่มน้ำ ที่เน้นการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ โครงการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ เพื่อการจัดหาน้ำหรือการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ ถือเป็นแนวคิดที่หน่วยงานด้านการจัดการน้ำ ยึดเป็นแนวทางหลักของการบริหารจัดการน้ำตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ด้วยการวิเคราะห์ปัญหาการขาดแคลนน้ำและปัญหาน้ำท่วม เป็นผลสืบเนื่องจากการมีแหล่งเก็บกักน้ำที่ไม่เพียงพอสำหรับเก็บน้ำในช่วงหน้าฝน และไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงหน้าแล้ง

14 รัฐต้องทบทวนนโยบายการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ

ขอแสดงความนับถือ

เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ

20 สิงหาคม 2554

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา