eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

วิจัยชาวบ้านสะเอียบ แนะปลูกป่า-กันโคลนถล่ม

มติชนรายวัน    29 พค. 2549 (กรอบบ่าย)

วิจัยชาวบ้านสะเอียบเสร็จสิ้น รวมข้อมูลวิถีชุมชนรอบด้าน เอ็นจีโอจี้รัฐสอบต้นตอซุงถล่มอุตรดิตถ์ ชาวสะเอียบชี้ใบไม้ช่วยป้องกันโคลนถล่ม แม้หมดเงื่อนไขเขื่อน ยังยืนยันเดินหน้าดูแลป่าสักทองต่อไป

ระหว่างวันที่ 27-28 พฤษภาคม ชาวบ้านสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้จัดงานเสนอผลการงาน "วิจัยจาวบ้าน แม่น้ำยม ป่าสักทอง วิถีชีวิตของคนสะเอียบ" ภายหลังจากเก็บข้อมูลมา 2-4 ปี เพื่อมุ่งเน้นอธิบายความสลับซับซ้อนของระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพในผืนป่าและแม่น้ำยม รวมถึงวิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมของชาวบ้าน ตลอดจนความรู้ของชุมชน พิธีกรรม และความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชาวบ้าน

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า ผลการวิจัยของชาวบ้านได้ยืนยันให้เห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งองค์ความรู้ที่ชาวบ้านนำเสนอต้องถ่ายทอดให้สังคมรับทราบ รวมทั้งผู้มีอำนาจควรนำไปศึกษา แม้ว่าขณะนี้เรื่องการสร้างอาจดูเงียบไป เพราะไม่มีใครกล้าพูดถึงเนื่องจากเหตุผลต่างๆ ถูกชาวบ้านตีตกหมด และวันนี้ชาวบ้านสะเอียบไม่ใช่ผู้ตั้งรับอีกต่อไป แต่ได้รุกคืบเพื่อเสนอทางเลือกในการจัดการทรัพยากรของชุมชน

นายหาญณรงค์กล่าวถึงสถานการณ์การจัดการน้ำยมว่า ในอดีตไม่ว่าจะน้ำท่วมหรือฝนแล้ง ระบบราชการมักใช้วิธีสร้างเขื่อนเป็นทางออก ทั้งๆ ที่มีทางเลือกอื่นอีกมาก แต่กลับไม่ยอมให้คนในพื้นที่แก้ไขปัญหาด้วยตัวเองก่อนแทนที่จะรอคอยเขื่อน ดังนั้น จึงเสนอว่าให้แต่ละจังหวัดนำปัญหาของตัวเองมาดูก่อน พร้อมกับการหาทางออก

ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าฯกล่าวถึงกรณีน้ำท่วมและโคลนถล่มที่ จ.อุตรดิตถ์ ว่าอาจเกิดจากภัยธรรมชาติที่เรียกว่าอานิญา ซึ่งกินเวลา 1-3 ปี และมีอีกหลายพื้นที่ที่เสี่ยงจึงต้องระมัดระวังให้ดี ส่วนต้นไม้ที่ไหลมากับน้ำนั้น หน่วยงานราชการต้องเข้าไปพิสูจน์ให้ชัดเจนว่าเป็นท่อนซุงหรือต้นไม้ที่โค่นล้มเพราะฝน ซึ่งทำได้ไม่ยากเพราะดูได้ว่ามีการตัดหรือมีราก

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว จากกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย กล่าวว่า ในอดีตคนรุ่นปู่ย่าตายาย อยู่กับดินน้ำป่ามาด้วยดี แต่เดี๋ยวนี้ทรัพยากรกลับกลายเป็นปัญหา เพราะการเข้ามาจัดการของภาครัฐ เช่น การให้สัมปทานป่า ทำให้ชาวบ้านต้องถูกกีดกันให้ห่างจากป่า และความสัมพันธ์แบบเก่าๆ ที่เคยไหว้ผีป่าผีเขาต้องหายไป

นายวาด เทือกฉิมพลี ตัวแทนชาวบ้านสะเอียบ กล่าวว่า การจัดการป่าแม่ยมของชาวบ้านพยายามทำให้ยั่งยืน ซึ่งในอดีตหลังจากรัฐบาลเลิกสัมปทานป่าไม้ แต่ยังมีคนลักลอบมาตัดไม้อยู่ โดยขนไม้วันละหลายคันรถสิบล้อ ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าหากปล่อยไปเช่นนี้คงไม่เหลือป่าแน่ จึงได้มีการรวมกลุ่มและประสานไปยังทหารให้มาช่วยตั้งด่านสกัด ซึ่งหลังจากนั้นทุกคนก็ร่วมกันปลูกป่า พร้อมกับตั้งกฎระเบียบของหมู่บ้าน

"เราเชื่อว่าการปลูกป่านอกจากช่วยให้อากาศเย็นแล้ว ใบไม้ยังช่วยทำให้เม็ดฝนแตกกระจายก่อนลงดิน แต่หากไม่มีต้นไม้เม็ดฝนที่ตกลงดินเลยจะรุนแรง ทำให้ดินพังทลาย แม้ว่าตอนนี้จะไม่มีการสร้างเขื่อนแล้ว แต่เราจะดูแลป่าไม้ต่อไป เราสู้มาหลายสิบปีแล้ว ตอนนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงสิ่งที่พวกเราทำมาว่ามันถูกต้อง" นายวาดกล่าว

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา