eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

หมักชูเขื่อนเสือเต้น วันสิ่งแวดล้อมโลก

ข่าวสด  6 มิถุนายน พ.ศ. 2551

"หมัก"ปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้นในวันสิ่งแวดล้อมโลก ขึ้นเวทีลดวิกฤตโลกร้อนแต่กลับประกาศหนุนสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยมอ้างไม้สักทองผืนใหญ่ถูกตัดไปปลูกบ้านหมดแล้ว นกยูงก็มีแค่ 3 ตัว ถ้าสร้างเขื่อนแล้วไม่หนีก็เป็นนกยูงโง่ ด่าเอ็นจีโอเป็นคุณพ่อคอยขัดขวางถ่วงความเจริญมาตลอด "อนงค์วรรณ"รับลูกทันที เอ็นจีโอท้านายกฯลงพื้นที่ไปดูด้วยตาตัวเองว่าป่าสักอุดมสมบุรณ์ขนาดไหน และนกยูงมีเป็นร้อยตัว ชี้ก่อนจะทำอะไรต้องดูกันที่ข้อมูลข้อเท็จจริงไม่ใช่อารมณ์คนๆเดียว

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 5 มิ.ย.ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานเปิดงานวันสิ่งแวดล้อมโลก โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า วันสิ่งแวดล้อมโลกปีนี้ ยูเอ็นอีพีกำหนดคำขวัญว่า CO 2 Kick the Habit Towards a Low Carbon Economy กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แปลภาษาไทยว่า ลดวิกฤตโลกร้อน เปลี่ยนพฤติกรรม ปรับแนวคิดสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ถ้าตนแปลจะใช้คำว่า "ลดวิกฤตโลกร้อน ลดใช้คาร์บอนดีกว่า"

นายกฯกล่าวอีกว่า ตนเห็นด้วยกับที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน นายสมิทธ ธรรมสโรช ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยธรรมชาติเตือนว่าอีก 3-4 เดือนข้างหน้า น้ำทะเลจะขึ้นสูงและทำให้เกิดน้ำท่วมได้ เรื่องนี้ตนคอยติดตามดูอยู่ ไม่ได้ละเลยเรื่องการเตือนภัย ที่ผ่านมามีการกล่าวหาว่าประเทศไทยสร้างก๊าซเรือนกระจกลำดับที่ 31 ของโลก ไม่ทราบว่าวัดกันอย่างไร คงดูจากจำนวนรถ โรงงานอุตสาหกรรม บ้านเรือนและอุปกรณ์ต่างๆ เท่ากับชี้วัดว่าประเทศไทยมีความเจริญค่อนข้างมากถึงได้เกิดปัญหาดังกล่าว แต่หัวโจกจริงๆประเทศสหรัฐ ที่เจริญมากแต่ไม่ยอมร่วมมือ ทั่วโลกประชุมและมีข้อตกลงร่วมกันแต่สหรัฐไม่ยอม

นายกฯกล่าวต่อว่า ญี่ปุ่นคิดปลูกต้นไม้โตเร็วเพื่อเอามาเผาเป็นถ่านในอุณหภูมิที่พอเหมาะแล้วจะได้น้ำมันดีเซลออกมา แต่ขัดกับหลักของสหประชาชาติไม่สามารถทำได้ ส่วนตัวเห็นว่าการสร้างเขื่อนเป็นหนทางที่ดีเพราะนอกจากจะลดการสร้างคาร์บอนแล้วยังเป็นประโยชน์ทั้งแก้ปัญหาน้ำท่วม ช่วยเหลือเกษตรกร เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ตนสนับสนุนการสร้างเขื่อนเต็มที่เพราะเห็นว่ามีประโยชน์มากกว่าโทษ อย่างเขื่อนภูมิพลก็มีประโยชน์และดีทุกอย่าง เมื่อก่อนฝนตกลงมาไม่มีเขื่อนกั้นถึงนครสวรรค์น้ำก็ท่วมจนถึงกทม. เกษตรกรปลูกข้าวได้ครั้งเดียว ซึ่งแต่เดิมประชากรมีไม่มากก็พอแต่ตอนนี้มี 63 ล้านคนปลูกข้าวครั้งเดียวแค่กินก็ไม่พอแล้ว จึงคิดเรื่องเขื่อนขึ้นมา ถือว่าเคราะห์ดีสร้างก่อนที่พวกปลุกระดม พวกเอ็นจีโอจะเกิดขึ้นมา จากนั้นก็สร้างเขื่อนสิริกิติ์ รองรับน้ำจากแม่น้ำปิง วัง

"แต่แม่น้ำยมตอนนี้ฝนตกลงมาน้ำก็ท่วมโดยเฉพาะที่สุโขทัย น้ำท่วมตลอด พอคิดจะสร้างเขื่อนก็มีการปลุกระดมว่าสร้างไม่ได้ โดยอ้างว่ามีไม้สักทอง 5 หมื่นต้นจะต้องไปอยู่ก้นอ่างถ้าสร้างเขื่อน ที่สำคัญก็มีนกยูงอยู่ 3 ตัวถ้าสร้างเขื่อนนกยูงจะตาย ซึ่งถ้ามันโง่อย่างนั้นก็ไม่สมควรเป็นนกยูงแล้ว ทำไมไม่ตรวจดูว่าทุกอย่างที่อ้างนั้นมันมีจริงหรือไม่ เพราะปัจจุบันไม้สักทองที่อ้างกันนั้นมันเอาไปปลูกบ้านกันหมดแล้ว" นายกฯกล่าว

นายกฯกล่าวอีกว่า "รณรงค์จะสร้างแล้วทะเลาะกัน กินเวลามา 17 ปี ถึงวันนี้ผ่านมา 30 ปีแล้วยังสร้างไม่ได้เพราะทุกคนต้องคารวะคุณพ่อเอ็นจีโอ คุณพ่อบอกสร้างไม่ได้ทุกคนก็กลัวคุณพ่อกันหมด แล้วเป็นอย่างไรวันนี้น้ำก็ยังท่วมอยู่ คอยนั่งดูว่าวันนี้น้ำจะท่วมถึงไหน คิดถึงกับจะไปขุดทะเลหลวงทำแก้มลิง ทั้งๆที่แค่สร้างเขื่อนกั้นลุ่มน้ำก็เก็บน้ำข้างบนไว้ได้ 1,200 ล้านลบ.ม. ใต้ลงมาอีก 800 ล้านก็ไม่ท่วม มันเป็นประโยชน์มากดูตัวอย่างได้จากเขื่อนภูมิพล ที่เมื่อสร้างขึ้นมาน้ำไม่ท่วมเพราะต้องปล่อยเพื่อทำไฟฟ้า ทำการเกษตร การสร้างเขื่อนทำให้น้ำมีตลอดปี แต่วันนี้แม่น้ำยมยังมีปัญหาเพราะยังสร้างเขื่อนไม่ได้ เพราะมีไอ้พวกบ้าโผล่เข้ามา เพื่อนบ้านอย่างประเทศลาวมีเขื่อนขนาดใหญ่ 3 เขื่อน คือเขื่อนน้ำงึม เขื่อนน้ำเทิน 1 และ 2 สามารถสร้างประโยชน์ได้มากมายลาวสร้างเขื่อนได้เพราะไม่มีคุณพ่อเอ็นจีโอเหมือนเรา แต่ไทยทำอะไรไม่ได้ และที่ผมพูดก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าเราสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องคาร์บอนได้จากการมีเขื่อน"

นายกฯกล่าวด้วยว่า ตอนนี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาหลายด้านทั้งเปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 26 องศา ส่งเสริมใช้รถยนต์ อี 85 ส่งเสริมขับรถความเร็ว 90 ก.ม.ต่อช.ม. ส่งเสริมหน่วยราชการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งการปฏิบัติจริงอาจมีปัญหาบ้าง เช่นเดียวกับการต่อต้านใช้ถุงพลาสติก ซึ่งในความเป็นจริงหากไปตลาดอยากซื้อแกงกลับไปกินบ้านก็ทำไม่ได้เพราะถุงผ้าใส่ไม่ได้ จะพกกล่องพลาสติกก็ผิด แล้วจะให้พกหม้อไปตลาดหรืออย่างไร เวลาออกจากบ้านต้องยกหม้อใส่รถไปด้วย อย่างนี้มันก็เกินไป

ด้านนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ กล่าวว่า จะเชิญผู้บริหารกระทรวงมาหารือตามแนวทางสร้างเขื่อนลุ่มน้ำยม ที่นายกฯเสนอแนวความคิดนี้ โดยถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ขณะนี้ยังยืนยันไม่ได้ว่าจะผลักดันให้สำเร็จในรัฐบาลนี้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นที่ลุ่มน้ำยมศึกษามาแล้ว 30 ปี และได้รับการต่อต้านจากกลุ่มเอ็นจีโอที่ไม่เห็นด้วยมาตลอด แต่สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันเชื่อว่ากระแสต่อต้านน่าจะน้อยลง เพราะเห็นความจำเป็นของเขื่อนมากขึ้น

วันเดียวกัน นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สป.) กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นเอ็นจีโอมาก่อน และทำงานศึกษาเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้นมาตลอด อยากเชิญนายสมัคร รวมถึงรมต.ลงไปดูพื้นที่ โดยเฉพาะป่าสักทองว่าเป็นอย่างไร พิสูจน์ไปเลยว่าเป็นป่าเสื่อมโทรมอย่างที่นายสมัครเข้าใจหรือไม่ ตอนนี้ชาวบ้านที่แก่งเสือเต้นต่างอยู่กันอย่างหวาดระแวงว่าเขื่อนจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ยิ่งช่วงหน้าฝนตอนนี้ป่าบริเวณนั้นเขียวมาก นกยูงออกหากินได้ยินเสียงร้องดังเป็นร้อยตัว ถ้านายสมัครอยากดูก็ไปพิสูจน์ได้ตลอดเวลา ไม่ได้มีแค่นกยูงโง่ๆแค่ 3 ตัวอาศัยอยู่อย่างที่พูดแน่

"การที่นายกฯบอกว่าสร้างเขื่อนแล้วช่วยลดก๊าซคาร์บอนนั้น เป็นการพูดเพื่อให้คนอื่นรู้ว่าเป็นคนมีภูมิปัญญา แต่ความจริงแล้วรู้ไม่หมดรู้แค่ครึ่งเดียว เพราะขณะนี้องค์การสหประชาชาติมีข้อมูลออกมาชัดเจนทั่วโลกรู้กันหมดแล้วว่า ช่วง 10 ปีแรกของการเกิดเขื่อน ตัวเขื่อนจะปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นตัวทำลายชั้นบรรยากาศ และเป็น 1 ในก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อน และที่บอกว่าลาวสร้างเขื่อนได้ เพราะไม่มีเอ็นจีโอนั้นเปรียบเทียบคนละมิติ ลาวเพิ่งจะเรียนรู้เรื่องผลกระทบจากเขื่อน แต่ไทยเรียนรู้เรื่องนี้มาแล้วกว่า 50 ปีว่าเขื่อนสร้างปัญหาอะไรให้ชาวบ้านบ้าง นายกฯไม่ระวังคำพูดเหมือนเช่นทุกครั้ง ที่เรียกเอ็นจีโอว่าคุณพ่อ ไม่มีใครบอกเลยหรือว่ามากกว่าครึ่งของจำนวน 2 พันกว่าคนที่นั่งฟังท่านอยู่ในห้องประชุมนั้นเป็นชาวบ้านและเอ็นจีโอทั้งหมด" นายหาญณรงค์กล่าว

นายหาญณรงค์กล่าวต่อว่า ส่วนนางอนงค์วรรณนั้นแสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นรมต.สิ่งแวดล้อม ที่ไม่ปกป้องทรัพยากรบ้านตัวเองเลย ขณะที่นายกฯในวันสิ่งแวดล้อมโลกแทนที่จะพูดเพื่อให้กำลังใจคนทำงาน คนทำหน้าที่ปกป้องทรัพยากร กลับเอื้อประโยชน์ให้คนในครม.เดียวกัน อย่างไรก็ตามสุดท้ายจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรต้องดูกันที่ข้อเท็จจริง ไม่ใช่ทำตามอารมณ์ของคนๆหนึ่งเท่านั้น

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา