eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

ศูนย์ประสานงานองค์กรชุมชนตำบลสะเอียบ บ้านดอนชัย หมู่ 1 ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ 54120

วันที่ 15 กรกฎาคม 2553 

เรื่อง     ขอให้ยุติการผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยการยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นอย่างเด็ดขาด

เรียน     ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ผ่าน ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่

 

ตามที่รองนายกรัฐมนตรี พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ ได้มีแนวคิดในการรื้อฟื้นโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้งนั้น ขณะที่เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเขื่อนทุกเขื่อนกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตไม่สามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้ อีกทั้งนโยบายของจังหวัดแพร่กำลังเร่งสร้างฝายทดน้ำหนึ่งล้านฝายเท่ากับเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเป็นนโยบายที่ทดแทนการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม ที่ได้ประโยชน์จริงในพื้นที่ อีกทั้งไม่ทำลายป่าและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

คณะกรรมการกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ เห็นว่าการใช้สถานการณ์น้ำแล้งมาเป็นข้ออ้างและเร่งผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้น เป็นแนวความคิดที่ผิดพลาดและควรจะสรุปบทเรียนจากการสร้างเขื่อนต่างๆ ที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตต่อไป คณะกรรมการกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยย่อ ดังนี้

  1. การจัดการโดยใช้แนวทางทางภูมินิเวศวิทยา เน้นแนวทางการจัดการน้ำที่ยั่งยืนทั้งระบบ
  2. การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การฟื้นฟูป่าไม้ การอนุรักษ์ป่า การปลูกป่าเสริม การปกป้อง พิทักษ์ รักษา และการจัดการป่า โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม
  3. การขุดลอกตะกอนแม่น้ำ อันจะสามารถฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาทำหน้าที่แม่น้ำตามธรรมชาติได้ การทำทางเบี่ยงน้ำ การทำแก้มลิง
  4. การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยม สามารถทำได้โดย ขุดลอกคูคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำกับหนองบึง  การยกถนนให้สูงขึ้น หรือเจาะถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ
  5. การปรับปรุงประสิทธิภาพ ในปัจจุบันลุ่มแม่น้ำยมมีระบบชลประทานขนาดใหญ่ และขนาดกลาง 24 แห่ง ระบบชลประทานขนาดเล็ก 220 แห่ง บ่อน้ำตื้น 240 บ่อ และระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน 26 แห่ง ให้มีประสิทธิภาพตามที่โครงการกล่าวอ้างไว้
  6. การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ตามแผนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งจัดทำโดย กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยแผนดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้โดยใช้งบประมาณเฉลี่ยแล้วหมู่บ้านละประมาณ 3 ล้านบาทเท่านั้น
  7. การพัฒนาระบบประปา ซึ่งมีความสามารถในการผลิตน้ำประปาเพียง 60 % ของความต้องการน้ำประปาสูงสุดในฤดูแล้ง อย่างไรก็ตามการรณรงค์ให้มีการประหยัดน้ำในฤดูแล้งก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น
  8. ผลัดดันนโยบายจังหวัดแพร่ในการสร้างฝายทดน้ำหนึ่งล้านฝายเท่ากับเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งจะทำให้สภาพป่าเกิดความชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์มากขึ้น อีกทั้งยังไม่กระทบกับป่าและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษา การวิจัยของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ออกมามีความชัดเจนแล้วว่าไม่สมควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น อาทิ

  1. จากการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ได้ชี้ชักว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก คือ รอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา เป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของตัวเอง
  2. จากการศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO.) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม กรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น
  3. จากการศึกษาของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI.) ด้วยเหตุผลทาง เศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน
  4. จากการศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์ และชุมชนอย่างมาก
  5. จากการศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทย และมวลมนุษยชาติ
  6. จากการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออก และทางเลือกอื่น ๆ อีกหลายวิธีการ ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
  7. จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เสนอ 19 แผนงานการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

ดังนั้นคณะกรรมการกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ขอเรียกร้อง ดังนี้

  1. ให้ยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น อย่างเด็ดขาด เพื่อความผาสุกของชุมชนและคนทั้งชาติ
  2. การดำเนินการ โครงการพัฒนาใดๆ ในลุ่มน้ำยม จะต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการการพัฒนา บนทิศทางความยั่งยืนของทรัพยากรและความมั่นคงในวิถีชีวิตของประชาชน
  3. ให้รัฐบาลสนับสนุน และส่งเสริมให้มีการดูแลรักษาป่า เพื่อให้เป็นป่าชุมชนของชาวบ้าน และให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการดูแลรักษาป่า

เพี่อความสงบสุขของชุมชนและประเทศชาติ เราขอยืนยันเรียกร้องให้ ฯพณฯ ยุติการผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยการยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เพื่อรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และชุมชน

            จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณายกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นอย่างเด็ดขาด

ขอแสดงความนับถือ 

(นายอุดม ศรีคำภา)

ประธานคณะกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ 

 

(นายชุม สะเอียบคง)                                    (นายเส็ง ขวัญยืน)

นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ตำบลสะเอียบ             กำนันตำบลสะเอียบ

(นายอำนวย  สะเอียบคง)                                (นายอ้วน ขันทะบุตร)

ผู้ใหญ่บ้านบ้านดอนแก้ว                                   ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่เต้น

(นางสุดารัตน์ ไชยมงคล)                                (น.ส.พจนีย์  ขวัญยืน)

 ผู้ใหญ่บ้านบ้านดอนชัย                              ประธานกลุ่มเยาวชนตะกอนยม

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา