eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

พลังงานอื่นที่ไม่ใช่เขื่อน-ไม่มีเขื่อนไม่ได้แปลว่าไม่มีไฟฟ้า

เพียรพร ดีเทศน์

เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ข่าวสด 17 เมย  

            เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าไฟฟ้าสร้างประโยชน์มากมาย แต่การผลิตไฟฟ้าก็ได้สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมมหาศาลเช่นกัน ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่เราต้องปฏิวัติการผลิตและการใช้พลังงานเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น และผลิตไฟฟ้าให้กับคนจำนวนมากที่ไม่มีไฟฟ้าใช้หรือไม่พอใช้

            การปฏิวัติพลังงานนี้ต้องเปลี่ยนระบบผลิตแบบเดิมที่เคยใช้กัน คือ โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จากน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน เขื่อนพลังน้ำ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มาเป็นระบบพลังงานแบบใหม่ที่ใช้ทรัพยากรที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การขนส่ง การเก็บ และการใช้พลังงาน

          ในปี ๒๕๔๓ คณะกรรมการเขื่อนโลกได้เสนอรายงานการศึกษาประสิทธิภาพของเขื่อนต่างๆ ทั่วโลก และมีข้อเสนอแนะซึ่งปฏิวัติกระบวนการตัดสินใจในประเด็นพลังงาน โดยส่งเสริมให้มีส่วนร่วมของประชาชนในการวางแผนพลังงาน ลดอิทธิพลจากกลุ่มผลประโยชน์ และเปิดโปงต้นทุนที่แท้จริงทั้งต้นทุนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของการผลิตพลังงานต่างๆ  

พลังงานจากเขื่อน-พลังงานสกปรก

            คณะกรรมการเขื่อนโลกซึ่งก่อตั้งโดยธนาคารโลกและสหพันธ์สากลเพื่อการอนุรักษ์ พบว่าต้นทุนในการสร้างเขื่อนเป็นสิ่งที่ “ยอมรับไม่ได้” โดยเฉพาะผลกระทบต่อผู้คนที่ต้องอพยพ ผลกระทบต่อชุมชนท้ายน้ำ และผลกระทบสิ่งแวดล้อม

            คณะกรรมการเขื่อนโลกรายงานว่ามีผู้คนทั่วโลกกว่า ๔๐-๘๐ ล้านคนต้องถูกบังคับให้อพยพออกจากพื้นที่ที่เคยอยู่อาศัยเพื่อเปิดทางให้เขื่อน หลายล้านคนต้องสูญเสียที่ดินทำกิน วิถีชีวิต และการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติที่เคยพึ่งพิง นอกจากนี้วัฒนธรรมและชุมชนก็ถูกคุกคาม

            เขื่อนได้ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและที่ดินทำกินที่อุดมสมบูรณ์ ปิดกั้นวงจรการอพยพของปลา ปลาน้ำจืดกว่าหนึ่งในสามต้องสูญพันธุ์หรือใกล้สูญพันธุ์ เขื่อนยังทำลายการไหลของสายน้ำ และการลดผลกระทบเหล่านี้ประสบความสำเร็จน้อยมาก

            ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าอ่างเก็บน้ำปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะจากเขื่อนในแถบเส้นศูนย์สูตร เขื่อนบางแห่งปล่อยก๊าซดังกล่าวมากกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซที่มีขนาดเท่ากันเสียอีก

เขื่อน-พลังงานราคาแพง และพึ่งไม่ได้

            เราถูกทำให้เชื่อว่าเขื่อนผลิตไฟฟ้าในราคาถูก และพึ่งพิงได้ ค่าผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนอาจมีราคาต่ำกว่าถ่านหินและน้ำมัน แต่ต้นทุนการก่อสร้างเขื่อนนั้นแพงมหาศาล และงบการก่อสร้างจริงมักบานปลาย คณะกรรมการเขื่อนโลกพบว่าเฉลี่ยแล้วเขื่อนใช้งบประมาณก่อสร้างจริงสูงกว่าที่วางแผนไว้ประมาณ ๕๖ % และก็ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เท่าที่อ้างไว้

            เขื่อนไม่ใช่ใช่แหล่งพลังงานที่พึ่งพิงได้เนื่องจากวงจรของน้ำเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด หลายประเทศที่พึ่งพาพลังงานจากเขื่อนเป็นหลัก เช่น บราซิล และนอร์เว ต้องประสบกับปัญหาไฟดับในช่วงหน้าแล้ง นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกที่ทำให้ฝนตกไม่แน่นอน ยิ่งทำให้พลังงานจากเขื่อนเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถพึ่งพิงได้ และฝนที่ตกหนักก่อให้เกิดน้ำท่วม และทำให้เขื่อนเป็นสิ่งที่ไม่ปลอดภัย

แนวทางปฏิรูปพลังงาน

            วิธีที่เร็ว สร้างผลกระทบน้อย และประหยัดต้นทุนกว่าการสร้างโครงการใหม่เพื่อผลิตพลังงาน คือ ลดการสูญเสียและปรับปรุงประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน วิธีที่สำคัญ คือ ปรับปรุงโรงไฟฟ้าที่มีอยู่และระบบสายส่ง  ในบางประเทศระบบส่งไฟทำให้เสียพลังงานที่ผลิตได้ไปถึง ๔๐ เปอร์เซ็นต์

            อีกทางที่เป็นไปได้สูง มีค่าใช้จ่ายต่ำ และเป็นการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน คือการจัดการด้านความต้องการ (demand-side management) โดยส่งเสริมให้ผู้บริโภครวมทั้งภาคอุตสาหกรรมลดการใช้ไฟฟ้าลง และใช้อย่างมีประสิทธิภาพ การส่งเสริมให้ผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าแบบประหยัดไฟ ซึ่งรัฐเป็นผู้ลงทุนส่งเสริมอย่างจริงจัง หากใช้วิธีการนี้ประเทศไทยจะสามารถลดพลังงานไฟฟ้าลงได้ ๓๐๐ เมกะวัตต์ ต่อปี เทียบได้กับลดการใช้เขื่อนปากมูลถึง ๙ เขื่อน (เขื่อนปากมูลมีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าจริง ๔๐ เมกกะวัตต์) เป็นวิธีที่ถูกกว่าการสร้างเขื่อนใหม่ และไม่ต้องตามแก้ปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สังคม และไม่มีความขัดแย้งในสังคม

            ผู้คนกว่าสองพันล้านคนทั่วโลกที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ล้วนแต่อยู่ในเขตชนบทในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งการขยายระบบสายส่งไปสู่คนเหล่านี้ใช้งบประมาณสูง และไม่มีใครอยากทำ ดังนั้นคำตอบที่ดีที่สุดคือโครงการขนาดเล็กที่ไม่รวมศูนย์ เพื่อขยายโอกาสให้คนในชนบทได้ใช้ไฟฟ้า ตัวอย่างโครงการเหล่านี้ เช่น พลังงานชีวภาพ แก๊สชีวภาพ โรงไฟฟ้าขนาดเล็กจากพลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์

            พลังงานลมเป็นแหล่งพลังงานไม่สิ้นเปลืองที่เติบโตเร็วที่สุด และมีค่าใช้จ่ายไม่แพงเมื่อเทียบกับพลังงานถ่านหินและน้ำมันหรือพลังงานจากเขื่อนขนาดใหญ่ สมาคมพลังงานลมยุโรปประเมินว่าภายในปี ๒๕๖๓ กำลังผลิตติดตั้งของพลังงานลมจะสูงถึง ๑.๒ ล้านเมกะวัตต์ หรือเกือบ ๒ เท่าของกำลังผลิตจากเขื่อนในปัจจุบัน

            พลังงานแสงอาทิตย์แม้จะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังเป็นปริมาณที่ต่ำ ต้นทุนของพลังงานแสงอาทิตย์ ลดลงกว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาและต้องลดอีก ๕๐-๗๕ เปอร์เซ็นต์เพื่อให้สามารถแข่งขันกับพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินได้ แม้ว่าเทคโนโลยีนี้จะไม่สามารถป้อนกระแสไฟเข้าสู่วงจรพลังงานได้ในระยะสั้น แต่ศักยภาพในระยะยาวจะมีอยู่ค่อนข้างสูง

            ทางเลือกอื่นในการผลิตพลังงานสะอาด เช่น พลังงานความร้อนใต้พิภพ เครื่องปั่นไฟพลังงานชีวภาพ ระบบพลังงานมหาสมุทร เช่น พลังงานจากคลื่นทะเล และจากกระแสน้ำขึ้นน้ำลง

            สำหรับประเทศกำลังพัฒนา โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก (กำลังผลิตติดตั้งต่ำกว่า ๑๐ เมกกะวัตต์) ก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่ง เพราะสร้างโดยผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่น ใช้ทุนและอุปกรณ์ในท้องถิ่น และมีผลกระทบทางสังคมสิ่งแวดล้อมน้อยมาก

            การปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการเขื่อนโลก จะทำให้แน่ใจว่าเขื่อนขนาดใหญ่แห่งใหม่จะสร้างได้ก็ต่อเมื่อได้รับการยอมรับจากสาธารณะว่า เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดโดยพิจารณาผลกระทบ ต้นทุนที่แท้จริง และพิจารณาทางเลือกอื่นๆ อย่างรอบด้านแล้วเท่านั้น

            การปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการเขื่อนโลก เราก็จะก้าวไปสู่พลังงานที่ยั่งยืนและเป็นธรรม ซึ่งจะทำให้สังคมไทยหลุดพ้นไปจากข้อขัดแย้งเรื่องเขื่อน รวมไปถึงโรงไฟฟ้าถ่านหิน และท่อก๊าซที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา