eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

นักวิชาการสรุปรัฐยัดเยียดเขื่อน การเมือง-ราชการไม่ฟังเสียงประชาชน

กรุงเทพธุรกิจ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๔  

บทสรุปเขื่อนบางปะกง สะท้อนทัศนคติรัฐ ที่พยายามยัดเยียด โครงการขนาดใหญ่ ให้แก่ประชาชน โดยขาดการศึกษา-ขาดความรับผิดชอบ
นักวิชาการจุฬาฯ ให้บทสรุป โครงการเขื่อนบางปะกง เกิดจากอำนาจการตัดสินใจแบบเบ็ดเสร็จของการเมืองและราชการ โดยไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และความเห็นของชาวบ้าน ชี้กรมชลฯ ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบได้ เพราะปัญหาภายหลังก่อสร้างเขื่อน เป็นข้อมูลที่ภาครัฐรู้อยู่แล้วก่อนดำเนินการ กมธ.วุฒิ ถกแก้ปัญหาวันนี้

ผศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงโครงการก่อสร้างเขื่อนทดน้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ว่า ปัญหาของโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ลักษณะนี้ เกิดมาจากการเมือง และข้าราชการผูกขาดอำนาจการตัดสินใจ โดยจะคิดวิธีแก้ปัญหาเรื่องน้ำให้ชาวบ้านแบบเบ็ดเสร็จ

โดยเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาด้วยการสร้างเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำ และพยายามทำตัวเลขต่างๆ ออกมาให้ดู เหมือนว่า โครงการนี้จะได้ประโยชน์มากมาย เพื่อผลักดันให้โครงการเกิดขึ้น โดยที่ชาวบ้านไม่ได้ต้องการทางเลือกนี้ เพียงแต่ถูกใส่ข้อมูลจนกลายเป็นเรื่องอัตโนมัติ เมื่อพื้นที่ใดมีปัญหาเรื่องน้ำ ก็จะต้องสร้างเขื่อน เห็นได้จากในโครงการนี้ เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่าที่ควร อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องตลิ่งฟังและดินเค็ม

ผศ.ดร.นวลน้อย กล่าวว่า ประเด็นเหล่านี้ เป็นจุดสำคัญที่รัฐรู้อยู่ก่อนแล้วว่า อะไรจะเกิดขึ้นหลังจากสร้างเขื่อนนี้ แสดงให้เห็นว่า รัฐไม่ได้มีการศึกษา หรือวิเคราะห์รายละเอียดของโครงการอย่างจริงจัง ดังนั้น การที่กรมชลประทานออกมาแก้ตัวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลังการก่อสร้างเขื่อนนั้น เป็นเรื่องสุดวิสัย ถือว่าเป็นการปัดความรับผิดชอบ

ครม.อนุมัติให้มีการสร้างเขื่อนทดน้ำบางปะกง เมื่อกลางปี 2539 โดย รมว.เกษตรฯในขณะนั้น คือ นายสุวิทย์ คุณกิตติ (ปัจจุบันเป็น รมว.ศึกษาธิการ) โดยแล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2542 และมีการเปิดทดลองใช้เพียง 4 วัน ก่อนที่จะยกเลิกปิดกั้นล้ำน้ำบางปะกง เนื่องจากพบว่า แนวตลิ่งด้านท้ายเขื่อนยาวกว่า 10 กิโลเมตร ได้ทรุดตัวลงอย่างรุนแรง ส่วนน้ำเหนือเขื่อน ก็ได้เน่าเสีย เนื่องจากมีการทำฟาร์มเลี้ยงหมู และนากุ้งอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว ทำให้กรมชลประทานตัดสินใจเปิดเขื่อนเพื่อให้น้ำได้ระบายออกไปตามธรรมชาติ ส่งผลให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเขื่อนที่มีมูลค่ากว่า 4 พันล้านบาทแห่งนี้

"รัฐจะมาอ้างว่า โครงการนี้ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายสิ่งแวดล้อม จึงไม่จำเป็นต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างละเอียดเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ทุกโครงการ มีผลกระทบทั้งสิ้น แสดงให้เห็นว่า รัฐไม่ได้ให้ความสำคัญว่า เมื่อสร้างแล้ว ผลประโยชน์จะคุ้มค่าเพียงใด และต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมจะสูญเสียไปอย่างไร" ผศ.ดร.นวลน้อย กล่าว

ส่วนโครงการนี้มีการทุจริตคอรัปชั่นหรือไม่นั้น ผศ.ดร.นวลน้อย กล่าวว่า คงพูดไม่ได้เต็มที่ เพราะไม่มีหลักฐาน แต่สิ่งที่จะมองได้ คือ หากโครงการใดเกิดขึ้นโดยไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความจำเป็นและขาดการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบอย่างละเอียดก่อน จะตัดสินใจก่อสร้าง ถือว่าโครงการนั้นมีแนวโน้มว่าจะมีการคอรัปชั่นเกิดขึ้น

"ปัจจุบันคนที่จะเข้ามาทุจริตคอรัปชั่นเป็นคนฉลาด ไม่ใช่อยู่ๆ จะมาตั้งโครงการลอยๆ แต่จะใช้วิธีการไปหยิบยกเอาความเดือดร้อนของชาวบ้านเข้ามาจับประเด็น และทำตัวเลขต่างๆ ขึ้น เพื่อขยายประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้ให้มากเกินความเป็นจริง โดยที่ตัวเลขดังกล่าวอาจเป็นตัวเลขที่ไม่มีตัวตนเลยก็ได้ และเมื่อโครงการนี้เกิดขึ้น การคอรัปชั่นก็จะเข้าไปแฝงอยู่ในจุดต่างๆ"

อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.นวลน้อย ยังเชื่อว่า โครงการก่อสร้างส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนความเดือดร้อนของชาวบ้านจริงๆ แต่ขบวนการที่จะทำให้โครงการเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น อยู่ที่มีการไปจับเอาประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาผลักดันจากกลุ่มบุคคลต่างๆ หรือไม่นั้น อย่างเช่น โครงการเขื่อนบางปะกง ก็เชื่อว่า ชาวบ้านมีปัญหาเรื่องการจัดการน้ำจริง เพราะเห็นได้จากเมื่อเริ่มดำเนินโครงการ ไม่มีการคัดค้านจากชาวบ้าน แต่ที่ต้องดูลึกลงไปคือ ชาวบ้านต้องการเขื่อนจริงหรือไม่

"ที่ผ่านมา รัฐมักจะไปใส่ความต้องการให้ชาวบ้าน ทั้งที่อาจมีทางเลือกอื่นในการจัดการปัญหาเรื่องน้ำ แต่รัฐไม่ได้เสนอทางเลือกอื่นๆ ให้ชาวบ้านคิด หรือเลือกได้ด้วยตัวเอง แต่กลับไปเลือกให้ชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านก็รู้ว่า เมื่อก่อสร้างเขื่อนแล้วอะไรจะเกิดขึ้น แต่ไม่มีทางเลือก เพราะถ้าไม่เอาเขื่อนก็จะไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากภาครัฐเลย"

ผศ.ดร.นวลน้อย กล่าวฝากรัฐบาลว่า สิ่งที่ภาครัฐต้องตอบคำถาม คือ การที่ไม่มีการศึกษารายละเอียดของโครงการ และไม่มีการวิเคราะห์ผลกระทบของโครงการอย่างจริงจังนั้น เกิดจากความตั้งใจหรือจงใจที่จะทำให้ออกมาอย่างนี้หรือไม่ และทำแล้วในที่สุดใครได้ประโยชน์

ส.ว.ย้ำกรมชลฯปัดรับผิดชอบไม่ได้

ทางด้าน นายอนันต์ ดาโลดม ประธานกรรมาธิการการเกษตร วุฒิสภา กล่าวว่า ในส่วนของกรรมาธิการได้รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทดลองปิดเขื่อนบางปะกงแล้ว ตั้งแต่ช่วงที่เกิดภาวะน้ำในแม่น้ำบางปะกงน้ำเน่าเสีย โดยทาง จ.ฉะเชิงเทรา ได้ยื่นเรื่องผ่าน นายบุญเลิศ ไพรินทร์ ส.ว.ฉะเชิงเทรา ให้เข้าไปช่วยเหลือ และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

ประธานกรรมาธิการการเกษตร กล่าวอีกว่า ประเด็นการสร้างเขื่อนแล้วไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ เป็นคนละกรณีกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เพราะปัญหาน้ำเน่าเสียนั้น แม้ไม่มีเขื่อนบางปะกง น้ำก็เสีย เพราะมีการแอบปล่อยน้ำเสีย โดยไม่ผ่านการบำบัดลงแม่น้ำบางปะกงอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า หลังจากมีการปิด-เปิดเขื่อนเพื่อทดลองใช้งานจะเห็นปัญหาเร็วขึ้น เพราะว่าพื้นที่ด้านเหนือเขื่อน มีการเลี้ยงหมูจำนวนมาก

"ผมว่าตัวเขื่อนคงไม่มีปัญหา แต่ปัญหาที่ชัดเจนอย่างตลิ่งพัง หรือว่า น้ำเน่าเสียมันเกิดจากระบบการปิด-เปิดเขื่อน การแก้ปัญหาในส่วนนี้จะต้องแก้ไขกันทั้งระบบ เราได้ศึกษาปัญหาแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องจ้างบริษัทที่ปรึกษา แต่ว่าจะต้องมีการทำโซนนิ่งเขตเลี้ยงหมูให้ย้ายมาอยู่บริเวณใต้เขื่อน อาจจะต้องลงทุนในเรื่องพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ ในเรื่องพื้นที่เลี้ยงหมู และติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียรวม โดยใช้เงินกู้ปลอดภาษี ซึ่งอาจจะต้องใช้เป็นพันล้านบาท แต่จะใช้งบประมาณจากส่วนใดนั้น คงต้องดูรายละเอียดอีกครั้ง" นายอนันต์ กล่าว

สำหรับการใช้ประโยชน์น้ำจากการสร้างเขื่อนตามลุ่มน้ำต่างๆ นั้น กรรมาธิการการเกษตร กล่าวว่า เขื่อนที่สร้างแล้วคุ้มค่ากับการลงทุน เกษตรกรได้ประโยชน์อย่างเต็มนี้นั้น ขณะนี้มีเพียง 2 ลุ่มน้ำ คือ เขื่อนในลุ่มน้ำแม่กลอง และเจ้าพระยา

ซึ่งแตกต่างจากเขื่อนบางปะกงมาก ตรงที่สร้างเสร็จแล้วยังต้องมีการแก้ไขปัญหาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ ตามมาอีก เรื่องนี้กรมชลฯ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะทำให้เกิดความผิดพลาดโดยเฉพาะใช้พื้นที่ไม่เหมาะสมในการสร้างเขื่อน

"การแก้ปัญหาในโครงการเขื่อนบางปะกงจะต้องทำอย่างโปร่งใส เพราะว่ามีผลประโยชน์และมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง การลงทุนการก่อสร้างก็ใช้งบจำนวนมาก แม้จะเป็นงบความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่น ส่วนการแก้ปัญหาเท่าที่ดู ต้องแก้เป็นภาพรวมทั้งระบบ ซึ่งดูแล้วก็ต้องใช้งบจำนวนมากเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ในวันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคมนี้ ทางกรรมาธิการการเกษตรจะนำเรื่องนี้เข้าหารือในวาระการประชุมด้วย" นายอนันต์ กล่าว

เกษตรฯแจงเหตุน้ำเน่า

ทางด้าน นายชูวิทย์ กุ่ย พิทักษ์พรพัลลภ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงถึงการก่อสร้างเขื่อนทดน้ำบางปะกง ว่า กรมชลประทานได้ทำการก่อสร้างเขื่อนทดน้ำบางปะกง ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 1,955.18 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างวันที่ 15 ต.ค.2539 ก่อสร้างแล้วเสร็จวันที่ 3 ธ.ค.2542 และได้ทดสอบการปิด-เปิดบานระบายน้ำเขื่อนทดน้ำบางปะกง เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2543 ถึงวันที่ 30 เม.ย.2543

ผลการทดสอบการปิด-เปิดบานระบายน้ำเขื่อนทดน้ำบางปะกง พบว่า สภาพเขื่อนทดน้ำบางปะกงพร้อมอาคารประกอบ มีสภาพสมบูรณ์มั่นคงแข็งแรง เกิดการพังของตลิ่งด้านท้ายเขื่อนทดน้ำบางปะกงเป็นบางช่วง และมีน้ำเสียในแม่น้ำบางปะกง

นายชูวิทย์ กล่าวต่อว่า การพังของตลิ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนมีการสร้างเขื่อนทดน้ำบางปะกง การทดสอบการปิด-เปิดบานระบายเขื่อนทดน้ำบางปะกง อาจมีผลทำให้เกิดตลิ่งพังได้บ้าง ปัจจุบันไม่มีการปิดบานระบายน้ำเขื่อนทดน้ำบางปะกง ตลิ่งด้านท้ายเขื่อนทดน้ำบางปะกงก็มีการพังเป็นช่วง ตามสภาพธรรมชาติ เช่น ช่วงน้ำลง

กรมชลประทานอยู่ระหว่างเร่งศึกษาการแก้ไขปัญหา โดยทำการสำรวจสภาพภูมิประเทศ ปฐพีและธรณีวิทยา ของตลิ่งจุดที่เกิดผลกระทบ และได้ทำหนังสือถึง JICA เพื่อทบทวนข้อมูลออกแบบและช่วยศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และเชิญผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์มหาวิทยาลัย ระดมข้อคิดเห็นเพื่อเป็นแนวทางแก้ไข

ส่วนปัญหาน้ำเสียในแม่น้ำบางปะกง เกิดจากน้ำเสียจากฟาร์มสุกร ชุมชน และโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ ที่ไม่ผ่านการบำบัดน้ำเสีย ไหลลงสู่แม่น้ำบางปะกงเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี กรมชลประทานได้ทำการศึกษาวิเคราะห์และสำรวจออกแบบระบบการจัดการรักษาคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำบางปะกง และได้ส่งผลการศึกษาให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กรมปศุสัตว์ กรมควบคุมมลพิษ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา และผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เพื่อดำเนินการแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

โฆษกกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า เขื่อนทดน้ำบางปะกงมีประโยชน์ในการป้องกันน้ำเค็มไม่ให้รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งเดิมในช่วงน้ำทะเลหนุนน้ำเค็ม จะขึ้นไปถึงจังหวัดปราจีนบุรี ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกพืช ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นจะต้องหาทางแก้ไข โดยใช้ระบบบริหารการจัดการน้ำและด้านวิศวกรรม เพื่อให้เขื่อนทดน้ำบางปะกงก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกร

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา