eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

โยน ปชช.รับเคราะห์ตลิ่งพัง อดีตอธิบดีกรมชล ปัดรับผิดชอบอนุสาวรีย์เขื่อน

กรุงเทพธุรกิจ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๔  

อดีตอธิบดีกรมชลประทาน โยนชาวบ้านรับผิดชอบ ความเสียหายของตลิ่ง ท้ายเขื่อนบางปะกง ที่เกิดจากการทดลองใช้เขื่อน
อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ยืนยันก่อนสร้างเขื่องบางปะกง ได้ศึกษาทางวิศวกรรม อย่างรอบคอบแล้ว ชี้ตลิ่งพังเหนือความคาดหมาย โยนปัญหาตลิ่งพังให้ชาวบ้านแก้กันเอง พร้อมสวดเอ็นจีโอต้านเขื่อน ด้าน "ชูชีพ" ปฏิเสธผลักดันโครงการ เพราะเข้ามารับตำแหน่งภายหลัง ด้าน "ปราโมทย์" ตอกย้ำกรมชล ผิดพลาด

ราษฎรบริเวณท้ายเขื่อนทดน้ำบางปะกงกลายเป็นฝ่ายผิด ที่ไปอาศัยบริเวณที่แนวตลิ่งพังอันเนื่องมาจากการทดลองใช้เขื่อนบางปะกง

นายรุ่งเรือง จุลชาติ ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ อดีตอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากกรณีที่นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย ได้ออกมากล่าวหาเรื่องเขื่อนบางปะกง ว่า ส่งผลให้เกิดตลิ่งพังนั้น ในเรื่องนี้ขอชี้แจงว่า ที่ผ่านมา นายหาญณรงค์ ได้ต่อต้านการสร้างเขื่อนมาตลอด ตั้งแต่การก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นแล้ว จนเขื่อนต่างๆ ได้ก่อสร้างเสร็จไป นายหาญณรงค์ ก็ไม่เคยพูดถึงเช่นเดียวกัน

ในกรณีของเขื่อนบางปะกงก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนขึ้นมานั้น เพราะที่ผ่านมา มีปัญหาน้ำทะเลหนุนน้ำในแม่น้ำบางปะกงจนเกือบถึง จ.ปราจีนบุรี ซึ่งส่งผลกระทบถึงการเพาะปลูก และการทำการเกษตรอื่นๆ ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง ทางกรมชลประทาน จึงจำเป็นต้องสร้างเขื่อนนี้ขึ้นมา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของน้ำทะเลหนุนดังกล่าว ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นทั้งการศึกษาและออกแบบก่อสร้าง

"ทางวิศวกรรมมีการศึกษาอย่างรอบคอบเป็นอย่างดี และทุกโครงการของกรมชลประทานถือว่าเป็นหัวใจหลักที่ต้องทำการศึกษาด้านวิศวกรรมก่อน อย่างไรก็ตาม ทุกโครงการไม่ว่าเรื่องเขื่อนหรือสิ่งอื่นๆ จะต้องมีสิ่งที่เกิดขึ้นนอกเหนือความคาดหมาย" นายรุ่งเรือง กล่าว

เขากล่าวว่า เรื่องตลิ่งพัง ถือเป็นเรื่องปกติที่จะต้องเกิดขึ้น เช่นเดียวกับที่แม่น้ำเจ้าพระยา น้ำจะเซาะตลิ่งที่ตั้งชัน เป็น 90 องศาก่อน กรณีแม่น้ำบางปะกง คงจะเกิดจากการกัดเซาะตลิ่งมากขึ้น ในกรณีที่น้ำลดลง

"ปัญหาเหล่านี้ชาวบ้านก็ต้องแก้ไขกันเอง เช่นเดียวกับที่ผู้ที่อยู่ฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็ต้องมีการก่อสร้างตลิ่งเพื่อกันน้ำเซาะ" อดีตอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวและว่า เขื่อนบางปะกงไม่ได้ส่งผลโดยตรงที่จะทำให้ตลิ่งพัง

เขากล่าวว่า หากทุกคนจะยอมเสียสละที่ดินหน้าบ้านเพื่อทำตลิ่งพัง ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้ แต่ในวันนี้ขอถามว่า หากไม่มีเขื่อนเกิดขึ้น สิ่งที่จะตามมา คือ ปัญหาต่างๆ มากมาย หากจะทุบเขื่อนทิ้งแต่ตอนนี้ก็ควรจะทุบเขื่อนสียัดด้วย เพราะเป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาการหนุนของน้ำทะเลเช่นเดียวกัน

สำหรับปัญหาน้ำเน่าเสียนั้น นายรุ่งเรือง กล่าวว่า ไม่ได้เป็นเพราะการสร้างเขื่อน แต่เกิดจากการที่ฟาร์มในบริเวณใกล้เคียงปล่อยน้ำเสียออกมา ซึ่งในขณะนี้ทุกฝ่ายก็ได้แก้ไขปัญหาโดยคาดว่าจะมีการก่อสร้างบ่อชีวภาพขึ้น ก็น่าจะช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้ แต่หากมีการทุบเขื่อนบางปะกงทิ้งแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นจะตามมาเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องการเลี้ยงกุ้ง และการปลูกต้นไม้ในบริเวณเหล่านี้จะไม่สามารถทำได้

"อยากฝากถามถึงนายหาญณรงค์ ว่า ชั่วชีวิตนี้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองบ้าง นอกจากการต่อต้านการสร้างเขื่อน ที่นำไปพูดกับคนที่ไม่รู้ทางด้านวิศวกรรมเท่านั้นที่จะเข้าใจ แต่พอมาหารือกันบนเวทีการพัฒนาแหล่งน้ำแล้ว เคยพูดอะไรออกบ้างหรือไม่ว่าการสร้างเขื่อนไม่มีประโยชน์ เช่นเดียวกับการที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ที่มีการตีข่าวเรื่องนี้ไปก่อนแล้วค่อยมาถามผม เพื่อนั่งตอบคำถามนั้นเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะควรจะถามตั้งแต่ก่อนจะเขียนเรื่องเขื่อนนี้ และการที่ลงลำดับขั้นตอนการขออนุมัติการสร้างเขื่อนรวมถึงผลการศึกษาต่างๆ ก็น่าจะรู้แล้วว่ากรมชลประทานทำถูกต้องตามขั้นตอนมาโดยตลอด" นายรุ่งเรือง ระบุ

ชูชีพโต้ไม่ได้เป็นคนอนุมัติให้ก่อสร้าง

ทางด้าน นายชูชีพ หาญสวัสดิ์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ยืนยันว่า เขาไม่ได้เป็นผู้ลงนามเซ็นสัญญาก่อสร้างเขื่อนบางปะกง ที่ก่อสร้างในปี 2539 โดยรัฐมนตรีเกษตรฯในขณะนั้น คือ นายสุวิทย์ คุณกิตติ ซึ่งเขาเข้ามารับตำแหน่ง รมว.เกษตรฯ ในช่วงดังกล่าว

สำหรับนายชูชีพ เคยดำรงตำแหน่ง รมว.เกษตรฯ ครั้งแรก เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2539 ถึงวันที่ 14 พ.ย.2540 โดยก่อนหน้านั้น นายสุวิทย์ คุณกิตติ ดำรงตำแหน่ง รมว.เกษตรฯ ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2538 ถึงวันที่ 28 พ.ย.2539

"ผมไม่พอใจมากที่มีการลงข่าวเช่นนี้ ทั้งที่ในช่วงที่มีการอนุมัติตนยังไม่ได้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ แต่อย่างใด แต่เป็นการอนุมัติในรัฐมนตรีชุดก่อนหน้าที่ผมจะเข้ามารับตำแหน่ง" นายชูชีพ กล่าวและว่า เขาอาจจะดำเนินการฟ้องร้องในเรื่องนี้ เพราะเป็นการกล่าวหา

อย่างไรก็ตาม นายชูชีพ กล่าวว่า สำหรับเขาคงไม่ทำอะไร รวมทั้งคงไม่เรียก นายกิจจา ผลภาษี อธิบดีกรมชลประทาน คนปัจจุบันมาชี้แจง เพราะไม่เกี่ยวข้องกับเขาแม้แต่น้อย

"การสร้างเขื่อน และมีปัญหาดินพังเป็นเรื่องปกติ เพราะเมื่อมีการเปิด-ปิดประตูเขื่อนกั้นน้ำ พอน้ำมากก็อาจส่งกระทบทำให้เกิดปัญหาดินพังทลายได้ ทำไมจึงไปมองว่า เกี่ยวกับการทุจริต สำหรับการเปิด-ปิดประตูเขื่อนแต่ละเขื่อนก็ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการในเรื่องนี้ ซึ่งจะทำทุกเขื่อนเพื่อให้การเปิด-ปิดเป็นระบบ"

นายชูชีพ กล่าวว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาของเขื่อนบางปะกงนี้ เนื่องจากแต่เดิมต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องมูลสุกรที่ไหลออกมาจากฟาร์มเลี้ยงสุกร ที่บริเวณฉะเชิงเทรา มีการเลี้ยงกันมาก ทำให้มีปัญหาด้านมลพิษ ซึ่งไม่ต้องการให้ค้างคาในแม่น้ำ จึงต้องมีการระบายเปิด-ปิดเขื่อน เพื่อให้น้ำไหลเวียน

ปราโมทย์ชี้ตลิ่งพังเพราะระบบปิด-เปิด

นายปราโมทย์ ไม้กลัด กรรมาธิการการเกษตร วุฒิสภา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ กล่าวว่า ปัญหาเขื่อนบางปะกงเกิดขึ้นเพราะน้ำด้านท้ายเขื่อนลดระดับลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ตลิ่งที่เคยอุ้มน้ำไว้เกิดการเลื่อนตัวกะทันหัน ประเด็นปัญหาจริงๆ ไม่ได้เกิดขึ้นที่ตัวเขื่อน แต่เกิดจากระบบการปิด-เปิดเขื่อน

ซึ่งวิธีแก้ไขปัญหาขณะนี้ มีอยู่ 2 วิธี คือ1.ทำอย่างไรให้การเปิดและปิดบานประตูเขื่อนไม่ส่งผลกระทบต่อระบบการไหลเวียนของน้ำ และ 2.สร้างเขื่อนคอนกรีตป้องกันตลิ่งพัง เชื่อว่า อาจจะแก้ปัญหาได้ เรื่องนี้เป็นปัญหาทางด้านเทคนิค และเท่าที่ทราบทางรัฐบาลญี่ปุ่น ในฐานะผู้ให้ทุน ก็กำลังพยายามเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว ร่วมกับกรมชลประทานอยู่

นายปราโมทย์ ยังกล่าวอีกว่า การทุบเขื่อนทิ้งไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหา เพราะวัตถุประสงค์ในการสร้างเขื่อนนี้ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำเค็มในช่วงฤดูแล้ง กรมชลต้องศึกษาระบบการจัดการว่า จะปิด-เปิดเขื่อนอย่างไร จึงจะไม่ทำให้ตลิ่งพัง ไม่เกิดปัญหาน้ำนิ่ง น้ำเน่าเสีย ซึ่งที่ผ่านมากรมชลเอง ก็ออกมายอมรับแล้วว่า เป็นความผิดพลาดที่คาดไม่ถึง การตัดสินใจสร้างเขื่อนเกิดขึ้นในปี 2536-2537

"จะถามว่า ก่อสร้างแล้วใช้ประโยชน์ไม่ได้ คุ้มหรือไม่คุ้ม เป็นเรื่องที่ยังพูดไม่ได้ เพราะต้องรอผลการศึกษาของหลายฝ่ายที่รับผิดชอบร่วมกันว่า ศึกษาแล้วผลออกมาเป็นอย่างไร จะสามารถแก้ปัญหาในภาพรวมทั้งหมดได้หรือไม่ และจะต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ ตรงนี้จะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วนำมาประมวลวิเคราะห์ แล้วจึงจะบอกได้" นายปราโมทย์ กล่าว

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา