eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

แ ถ ล ง ก า ร ณ์

เขื่อนหัวนา ต้องศึกษา แก้ไขและชดเชยผลกระทบ ตามกฎหมาย

ก่อนการดำเนินการใด ๆ ต่อไป

เขื่อนหัวนา ซึ่งเป็นเขื่อนตัวใหญ่ที่สุดในโครงการโขง ชี มูล ใหญ่กว่าเขื่อนราษีไศล ๒ เท่า กำลังดำเนินการก่อสร้างเกือบแล้วเสร็จ ใน ขณะที่ยังไม่มีการจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนการก่อสร้าง ถือเป็นการละเมิดกฎหมาย-พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษา คุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๔๖-๕๑ ซึ่งบัญญัติให้โครงการขนาดใหญ่ของรัฐต้องศึกษาก่อนการก่อสร้าง

เขื่อนหัวนายังฝ่าฝืนระเบียบของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯซึ่งประกาศในวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๓๕ ที่กำหนดให้เขื่อนที่เก็บกักน้ำเกิน ๑๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร และพื้นที่ชลประทานเกิน ๘ หมื่นไร่ ต้องศึกษาผลกระทบก่อนสร้าง ซึ่งเขื่อนหัวนาเก็บกักน้ำทั้งสิ้น ๑๑๕.๖๒ ล้านลูกบาศก์เมตร  พื้นที่ชลประทาน  ๑๕๔,๐๐๐ ไร่

เขื่อนหัวนาก่อสร้างมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ โดยกระทำผิดกฎหมายมาตลอด

ที่สำคัญ จะก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าเขื่อนราษีไศลเสียอีก เช่น น้ำจะท่วมที่ดินทำกินของราษฎรไม่น้อยกว่า ๕๐,๐๐๐ ไร่   ท่วม ป่าทามและป่าดงดิบอันเป็นแหล่งยังชีพของคนจน  การสูญเสียพันธุ์ปลา  การสูญเสียแหล่งดินทำเครื่องปั้นดินเผา ดินและน้ำเค็มแพร่ กระจาย  และชาวบ้านคนยากคนจนต้องบ้านแตกสาแหรกขาดเช่นเดียวกับการสร้างเขื่อนอื่น ๆ หลายเขื่อนที่รัฐบาลยังแก้ปัญหาให้ ชาวบ้านไม่ได้

เกือบสองปีมาแล้ว  เราชาวบ้านในพื้นที่พากันวิตกกังวลว่าจะได้รับความเดือดร้อนจากเขื่อนหัวนา  ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วย งานราชการทุกระดับ  ตั้งแต่ อำเภอ จังหวัด  กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (เจ้าของโครงการ )  กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ฯลฯ เพื่อให้ ทางราชการดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบกฎหมาย  แต่เกือบสองปี ไม่มีการดำเนินการใด ๆ   หน่วยงานรัฐทำผิด กรมพัฒนาฯ ยังลอยนวลก่อสร้างเขื่อนหัวนาต่อไป โดยปิดบังและบิดเบือนข้อมูลข่าวสารตลอดเวลา  โดยไม่มีกลไกรัฐส่วนไหนจะคุ้มครองสิทธิ์ชาวบ้านได้เลย

วันนี้ เราผู้เดือดร้อนจึงไม่อาจทนเฉยให้หน่วยงานรัฐกระทำย่ำยีอีกต่อไป จึงใช้สิทธิ์ในการชุมนุมอย่างสงบตามรัฐธรรมนูญ มาตราที่ ๔๔ โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้

๑.ให้ชะลอการก่อสร้างเขื่อนหัวนาไว้ก่อน

๒.ให้ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ๒๕๓๕ และตามระเบียบกระทรวง   วิทยาศาสตร์ฯ วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๓๕

๓.ให้มีมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นทุกปัญหา ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นกับราษฎร  ต้องมีการชดเชยอย่างยุติธรรม  ก่อน การดำเนินการใด ๆ ต่อไป

ชาวลุ่มน้ำมูลเจ็บปวดมาเพียงพอแล้วจากเขื่อนราษีไศลซึ่งไม่มีการศึกษาใด ๆ ก่อนการสร้าง  การทำตามข้อเรียกร้องนี้จะไม่ทำให้ผิด พลาดซ้ำรอยราษีไศลอีก   เราถูกหลอกมาเพียงพอแล้ว  จะไม่ยอมอีกต่อไป  

แถลงมาด้วยความเคารพสิทธิ์ของทุกท่าน


จาก กลุ่มผู้เดือดร้อนจากเขื่อนหัวนา อำเภอราษีไศล ,อุทุมพรพิสัย ,เมือง ,ยางชุมน้อยและอำเภอกันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ

เ รี ย น    พี่ น้ อ ง ช า ว ลุ่ ม น้ำ มู ล ผู้ มี จิ ต ใ จ เ ป็ น ธ ร ร ม ทุ ก ท่ า น

                เราผู้ซึ่งมาชุมนุมที่บริเวณเขื่อนหัวนา ตำบลหนองแก้ว อำเภอกัณทรารมย์ ในขณะนี้ คือราษฎรสองฝั่งแม่น้ำมูล ใน ๕ อำเภอ คือกัณทรารมย์  ยางชุมน้อย เมือง อุทุมพรพิสัย และอำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ  ซึ่งเราวิตกกังวลว่าจะได้รับความ เสียหายจากการเก็บกักน้ำของเขื่อนหัวนา เช่นเดียวกับที่พี่น้องเขื่อนราษีไศลเคยโดนมาแล้ว

                การชุมนุม ถือเป็นสิทธิ์ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๔ ซึ่งประชาชนไทยสามารถชุมนุมอย่างสงบปราศจากอาวุธ  เรามาเพื่อนำเสนอปัญหาของเราเพื่อให้รัฐบาลมาช่วยแก้ปัญหา  และขอประกาศว่า เราจะดำเนินการด้วยเหตุด้วยผล  จะไม่ใช้ความรุนแรงและก่อความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ผู้ใดอย่างเด็ดขาด

                ความจำเป็นต้องชุมนุมในครั้งนี้ก็คือ เรากังวลว่าจะเกิดความเสียหาย เช่นน้ำท่วมที่ดินทำกินของราษฎรหลายหมื่นไร่ ท่วมป่าริมแม่น้ำมูลอันเป็นแหล่งหาอยู่หากินของพวกเราเช่นเดียวกับเขื่อนราษีไศล  ปัญหาพันธุ์ปลาสูญหายและเกิดโรคระบาด เหมือนเขื่อนปากมูล

                ตามกฎหมายระบุให้โครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ต้องศึกษาผลกระทบทุกด้านก่อนการก่อสร้าง เพื่อหาทางป้องกัน แก้ไขปัญหาทุกอย่างที่จะเกิดขึ้น  ให้ทางเขื่อนกำหนดเขตน้ำท่วมให้ชัดเจน ตรวจสอบที่ดินของราษฎรทุกแปลงที่จะถูกน้ำท่วม จ่ายค่า ทดแทนอย่างเป็นธรรมก่อนก่อสร้าง

                เขื่อนหัวนาสร้างมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ โดยไม่ได้ศึกษาผลกระทบใด ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด โดยไม่มีใครเอาผิดได้ เกือบ ๒ ปีที่ผ่านมาเราได้ร้องเรียนต่อทางราชการมาแล้วทุกระดับ  แต่ไม่ได้รับการเหลียวแลเลย ทั้งยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลใด ๆ แก่ราษฎร และ ต่อสังคมทั่วไป คนที่ยังไม่เคยเห็นยังเข้าใจกันว่าเป็นการก่อสร้าง  "ฝายยาง" ขนาดเล็ก ๆ เท่านั้น

                ในแผนการของโครงการ จะมีการอพยพราษฎร ๔ หมู่บ้าน คือ  บ้านเปือย ทั้งสองหมู่ ใน ต.หนองแก้ว บ้านหนองหวาย และบ้านหนองโอง  แต่กระทั่งวันนี้ กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน เจ้าของโครงการก็ยังปิดบังข้อมูลส่วนนี้อยู่ มิหนำซ้ำ ที่ดินทำกิน ของพวกเราสองฝั่งแม่น้ำมูลกว่า ๓ หมื่นไร่ ยังถูกทางราชการยึดไปเป็นที่หลวง เพื่อมอบให้เป็นอ่างเก็บน้ำของเขื่อนหัวนาอีกด้วย ซึ่งขาดความยุติธรรมเกินกว่าที่เราจะทนได้

                ความคิดที่ว่า "ราชการจะไม่ปล่อยปละละเลย" ได้รับการพิสูจน์แล้วที่ราษีไศลว่าไม่จริง พี่น้องชาวราษีไศลต้องบ้านแตก สาแหรกขาดอยู่ในขณะนี้  เพราะมีการสร้างเขื่อนโดยไม่ศึกษาผลกระทบก่อนสร้าง และมีการยับยั้ง ขู่ปรามไม่ให้ราษฎรแสดงความ คิดเห็นใด ๆ เราต้องสรุปมาเป็นบทเรียนให้ได้

                ดังนั้น แนวทางป้องกันมิให้ปัญหาเกิดซ้ำรอยอีกก็คือ ต้องชะลอการก่อสร้างเขื่อนหัวนาไว้ก่อน  แล้วให้มีการศึกษาผล กระทบทุกด้านที่จะเกิดขึ้น  ถ้าเกิดความเสียหายจากการก่อสร้าง ต้องมีมาตรการป้องกัน แก้ไข และชดเชยอย่างยุติธรรม  ก่อนจะ ดำเนินการใด ๆ ต่อไป

                เราขอเชิญชวน พี่น้องที่คิดว่าจะได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนา มาร่วมกันผลักดันในครั้งนี้ ไม่ต้องลังเลอีกต่อไป เพราะ เราสู้อยู่ในกรอบของกฎหมาย และเราเพียงแต่เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐ คือกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน เจ้าของเขื่อนหัวนาทำตาม กฎหมายเท่านั้น.

 จากพวกเรากลุ่มผู้เดือดร้อนอำเภอกัณทรารมย์ ยางชุมน้อย เมือง อุทุมพรพิสัย ราษีไศล

๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๒

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา