eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

 “ คณิตศาสตร์ปากมูล ” 

โดย เกษียร  เตชะพีระมติชนรายวัน 17 มิ.ย. 43

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้เริ่มโฆษณาปูกระแส “อัตราความเสียหายเฉลี่ยต่อวันอันเกิดจาก ม็อบสมัชชาคนจนยึดเขื่อนปากมูล ” มาตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม โดยผ่านปากผู้บริหาร กฟผ.  และนายตำรวจ ระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  ก่อนจะชงเรื่องส่งลูกต่อให้นายสาวิตต์ โพธิวิหค รมว. ประจำสำนักนายกฯ ผู้กำกับดูแล กฟผ. แถลงปาว ๆ ตามว่า :-

“ ตนได้รับรายงานว่าเราสูญเสียประมาณ ๕๐ ล้านบาทต่อเดือน หรือ ๑.๕ - ๒ ล้านบาทต่อวันเนื่องจาก ไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้  คิดว่าน่าเสียดายที่ต้องสูญเสียเงินไปเปล่า ๆ ” (มติชนรายวัน, ๙ มิ.ย. ๔๓,น.๒๗)

นับเป็นตัวเลขความเสียหายสูงมากน่าตกใจ ท่ามกลางอาการไม่ทรงก็ทรุดทางเศรษฐกิจและหนี้  สาธารณะท่วมหูท่วมหัวไทยทั้งชาติภายใต้ฝีมือบริหารของทีมเศรษฐกิจประชาธิปัตย์ในขณะนี้

แต่อย่าเพ่อตกใจตื่นตูมตามคุณสาวิตต์ จนพยักเพยิดให้เจ้าหน้าที่ กฟผ. ทั่วอีสานทั้ง ๕๐๐ ลุยเคลียร์ม็อบ หรือกดดันให้คณะกรรมการกลางแก้ไขปัญหาลงมติเปิดเครื่องปั่นไฟต่อ  โดยไม่ฟังให้รอบด้าน  ตรองให้ถ้วนถี่ และชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบตัวเลข “ความเสียหาย ” ข้างต้นกับตัวเลขอื่น ๆ ที่ กฟผ. ไม่ยักบอกให้ดีเสียก่อน

มิฉะนั้นประเทศชาติอาจขาดทุนเสียหายเพราะเขื่อนปากมูลมากกว่านี้หลายเท่า !

ก่อนอื่น ตัวเลขที่ กฟผ. ไม่ได้รายงานคุณสาวิตต์และไม่เคยบอกให้สาธารณชนทราบเลยก็คือ .....

เขื่อนปากมูลทำให้ กฟผ. ขาดทุนไปแล้วถึง ๑๗๗ ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือ ๖,๗๒๖ ล้านบาท ! (ตาม อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันที่ประมาณ ๓๘ บาท/ดอลล่าร์ฯ)

(ข้อมูลและการวิเคราะห์ข้างล่างนี้ประยุกต์ดัดแปลงจาก
Grainne Ryder and Wayne White, “Pak Mool cost more than it’s worth,”
The Nation, 10 June 2000, A5)

อหา !  มันขาดทุนบานตะไทขนาดนั้นเข้าไปได้ยังไงกัน ?

อย่างนี้ครับ  ผมจะพยายามแจกแจงคณิตศาสตร์ปากมูลที่ กฟผ. ไม่อยากให้เรารู้สู่กันฟัง

ต้นทุนการสร้างเขื่อนปากมูลเบ็ดเสร็จทั้งสิ้นตอนนี้อยู่ที่ ๒๓๓ ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือประมาณ ๘,๘๕๐ ล้านบาท

เพื่อให้คุ้มทุน  รายงานธนาคารโลกปี พ.ศ. ๒๕๓๙ คำนวณว่าเขื่อนปากมูลควรจะผลิตไฟฟ้าให้ได้เป็น มูลค่าปีละ ๒๘ ล้านดอลล่าร์ฯ  หรือราว ๑๒ % ของต้นทุนการสร้างเขื่อน ๒๓๓ ล้านดอลล่าร์ฯ

ถ้าทำได้ตามนี้  เขื่อนปากมูลก็จะคุ้มทุนใน ๘ ปี   กฟผ. ก็จะได้เฮ และชาติไทยก็จะได้ไชโย !

แต่อนิจจา รายงานการศึกษาวิจัยฉบับสมบูรณ์ของทีดีอาร์ไอที่ทำส่งคณะกรรมการเขื่อนโลกระบุว่า เอาเข้า จริงเขื่อนปากมูลผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ยเป็นมูลค่าปีละ ๗ ล้านดอลล่าร์ฯ เท่านั้นในสองปีหลังที่ผ่านมา

แปลว่าเมื่อครบกำหนดคุ้มทุน ๘ ปีในปี พ.ศ. ๒๕๔๕  เขื่อนปากมูลก็จะปั่นไฟได้เป็นมูลค่าเบ็ดเสร็จ ทั้งสิ้นเพียง  (๗ x ๘ =)  ๕๖ ล้านดอลล่าร์ฯ เท่านั้น

๕๖ ล้านดอลล่าร์ฯนี่แหละครับคือคุณค่าทางเศรษฐกิจของเขื่อนปากมูลในปัจจุบัน

ลงทุนสร้างไป ๒๓๓ ล้าน  กะว่าปั่นไฟ ๘ ปีก็คุ้ม  แต่พอปั่นไป ๘ ปีจริงได้คืนมาเพียง ๕๖ ล้าน  นั่น หมายความว่าขาดทุนไปถึง (๒๓๓ - ๕๖ =)  ๑๗๗ ล้านดอลล่าร์ฯ หรือ ๖,๗๒๖ ล้านบาทใน ๘ ปี หารเฉลี่ยแล้ว ตกวันละ (๖๗๒๖ หารด้วย  [๓๖๕ x ๘] + ๒ หรือ ๒๙๒๒ =)  ๒.๓ ล้านบาท

ทุกวันที่เดินเครื่องปั่นไฟที่เขื่อนปากมูล  กฟผ. จึงขาดทุนวันละ ๒ ล้าน ๓ แสนบาท  หรือเดือนละ ๖๙ ล้านบาท หรือปีละ ๘๔๐ ล้านบาทต่างหาก !

และ จุ๊ ๆ ... พ่อแม่พี่น้องไม่ต้องห่วงครับ  หน่วยงานฉลาด ๆ อย่าง กฟผ. เขาไม่ผูกขาดความขาดทุนนี้ ไว้คนเดียวให้โง่หรอก   เขาย่อมค่อย ๆ บรรจงผลักภาระขาดทุนวันละ ๒.๓ ล้านบาทนี้มาใส่ไหล่บ่าพวกเราประ ชาชนชาวไทยผู้ใช้ไฟฟ้าทั้ง ๖๑ ล้านคนให้ช่วยกันแบ่งเบาแบกรับไว้คนละนิดละหน่อยอย่างนุ่มนวลแนบเนียน ไม่กระโตกกระตาก

ตกแค่คนละ ๓ สตางค์กว่า ๆ ต่อวัน หรือบาทเศษ ๆ ต่อเดือนหรือ ๑๓ บาทสามสลึงต่อปีเท่านั้น

ไม่เท่าไหร่  ขี้ไก่ชัด ๆ  กะอีเศษเงินแค่นี้เพื่อเห็นแก่ชาติและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ กฟผ.  คนไทย จะทนไม่ไหวก็ให้มันรู้ไปสิ, ใช่ไหมครับ ?  แหะ ๆ

ฉะนั้น กฟผ. เจ้าของโครงการ, ธนาคารโลกผู้ปล่อยกู้โครงการ, รัฐบาลเปรมผู้ริเริ่มโครงการ,  รัฐบาลน้า ชาติผู้อนุมัติโครงการ, รัฐบาลอานันท์ผู้ไม่สั่งยกเลิกโครงการ,  รัฐบาลชวนผู้ก่อสร้างโครงการจนแล้วเสร็จ ล้วน ไม่ต้องรับผิดชอบแต่อย่างใดทั้งสิ้น  เราคนไทยผู้รักชาติและใจใหญ่เท่าแม่น้ำโขง-ชี-มูลรวมกันขอยืดอกจ่ายเอง 

กฟผ.ย่อมได้ เฮ !  ธนาคารโลกย่อมได้ฮา !  และรัฐบาลทุกชุดได้ไชโย !  ยกเว้นสมัชชาคนจนดื้อรั้น ไม่ รักชาติเท่านั้นที่โห่ประ ท้วงเขื่อนปากมูลไม่ยอมเลิก  เฮ้อออ..........

กฟผ. อาจแก้ตัวว่าเขื่อนปากมูลน่าจะใช้งานได้นาน ๒๕ ปีก่อนถึงอายุขัย .....

(ครับ  เขื่อนก็ตายเป็นเหมือนกันเนื่องจากการสะสมตัวของตะกอนหน้าเขื่อนจนมันเต็มตื้นขึ้นมากระ ทั่งผลิตไฟฟ้าหรือทำชลประทานไม่ได้อีกต่อไป   ความจริงเขื่อนในบ้านเราก็เท่งทึงกันไปบ้างแล้ว เพียงแต่ทาง ราชการท่านปิดไว้  เพราะกลัวพวกเราแตกตื่นตกใจเดี๋ยวจะเลยเลิกคิดสร้างเขื่อนหมด  ท่านจึงไม่รื้อเขื่อนทิ้งแต่ ปล่อยซากไว้ให้เราดูเล่นเฉย ๆ แบบพีระมิดหรือสุสานของ “การพัฒนา ” แบบไม่ยั่งยืนอะไรทำนองนั้น)

.....และใน ๒๕ ปีนั้นก็เดินเครื่องปั่นไฟไปเรื่อย ๆ ก็จะได้ไฟฟ้าเป็นมูลค่าตั้ง (๗ x ๒๕ =)  ๑๗๕ ล้าน ดอลล่าร์ฯนู่น  ไม่ใช่แค่ ๕๖ ล้านดอลล่าร์ฯ ใน ๘ ปีอย่างที่ว่าสักหน่อย

ถ้าจะเอาสีข้างเข้าถูแบบนั้นมันก็พูดได้  แต่มองข้ามอะไรที่สำคัญไปบางอย่าง  เช่น

๑)  ต้นทุนค่าสร้างเขื่อนปากมูล ๒๓๓ ล้านดอลล่าร์ฯ นั้นมันมีค่าเสียโอกาส (opportunity cost) ของมัน อยู่   ถ้าไม่เอามาสร้างเขื่อนประโยชน์ต่ำแบบนี้  เงินมหาศาลตั้งหลายพันล้านบาทดังกล่าวประเทศไทยเราก็เอาไป ใช้อย่างอื่นได้ เช่น ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซขนาดกำลังผลิตเต็มพิกัด ๑๕๐ เมกะวัตต์เปิดใช้ไป ๘ ปีก็คุ้ม ทุนแล้วเป็นต้น

แต่เขื่อนปากมูลนี่เปิดใช้ไป ๘ ปีแล้วก็ยังขาดทุน  ส่วนอีก ๑๗ ปีที่เหลือนั้นต่อให้เดินเครื่องปั่นไฟต่อ เรา ก็จะไม่ขาดทุนน้อยลงกว่า ๑๗๗ ล้านดอลล่าร์ฯ แม้สักแดงเดียวแต่อย่างใด   เพราะอย่าลืมว่าถ้าไม่สร้างเขื่อน  เรามี “โอกาส ” จะนำเงิน ๒๓๓ ล้านดอลล่าร์ฯไปฝากธนาคารกินดอกเบี้ย ๑๒ % ต่อปีแทนได้ปีละ ๒๘ ล้าน ดอลล่าร์ฯ สบายใจเฉิบ   อัตราความเสียหายใน ๑๗ ปีหลังจึงจะคิดจากต้นทุนแรกสร้างคงที่แค่ ๒๓๓ ล้านดอล- ล่ารฯ ไม่ได้ แต่ต้องคิดเปรียบเทียบกับประโยชน์ทั้งหมดที่ประเทศเราพึงมีพึงได้หากนำเงินก้อนนี้ไปใช้อย่างอื่น

ซึ่งรวมเบ็ดเสร็จแล้ว ค่าเสียโอกาสใน ๑๗ ปีหลังจะสูงถึง (๑๗ x ๒๘ ล้าน =) ๔๗๖ ล้านดอลล่าร์ฯ หรือ ๑๘,๐๘๘ ล้านบาท

๒)  ฉะนั้นต้นทุนของไฟฟ้าที่เขื่อนปากมูลจะผลิตได้ใน ๑๗ ปีหลังจึงเท่ากับค่าเสียโอกาสที่จะใช้เงิน ๒๓๓ ล้านดอลล่าร์ฯ ไปทำประโยชน์อย่างอื่นได้ใน ๑๗ ปี  คือ ๔๗๖ ล้านดอลล่ารฯ ด้วย

และต่อให้ใช้เขื่อนปากมูลเดินเครื่องปั่นไฟไปอีก ๑๗ ปี ก็จะได้ไฟฟ้ามาเป็นมูลค่าเพียง (๑๗ x ๗ ล้าน =)  ๑๑๙ ล้านดอลล่าร์ฯ เท่านั้น

แปลว่าขาดทุนค่าเสียโอกาสไปอีก ๔๗๖ - ๑๑๙ = ๓๕๗ ล้านดอลล่าร์ฯ

หรือนัยหนึ่งทุก ๆ ๔ ดอลล่าร์ฯ ที่ กฟผ. เสียไปเพราะเขื่อนปากมูล (๘ ปีแรกในรูปเงินค่าก่อสร้างจริง  ส่วน ๑๗ ปีหลังในรูปค่าเสียโอกาสที่จะใช้เงินก้อนเดียวกันไปทำอย่างอื่น)

กฟผ. ได้ไฟฟ้าคืนจากเขื่อนปากมูลมาเป็นมูลค่าเพียง ๑ ดอลล่าร์ฯ เท่านั้น

จ่าย ๔๗๖ ได้ ๑๑๙ หรือจ่าย ๔ ได้ ๑ นี่แหละครับพี่น้องคือสัดส่วน cost-efficiency หรือประสิทธิภาพ การลงทุนของเขื่อนปากมูลที่เจ้าหน้าที่ กฟผ. พร้อมจะรักษาไว้สุดชีวิต แม้ต้องลุยเลือดเนื้อเพื่อนคนไทยร่วมชาติ ชาวบ้านแม่มูลมั่นยืนเข้าไปก็ตาม

ลงทุนสูตรวิบัติแบบนี้  ถ้าบริษัทประเทศไทยไม่ขาดทุนฉิบหายวันนี้ก็ไม่รู้จะไปขาดทุนฉิบหายวันไหน แล้วล่ะครับ

                ทำใจเถิดครับว่าเงินค่าก่อสร้างเขื่อนปากมูลที่ขาดทุนไป ๑๗๗ ล้านดอลล่าร์ฯ นั้น ถึงไงชาวไทยเราก็ ไม่ได้คืน ไม่ว่าจะใช้เขื่อนผลิตไฟฟ้าต่อหรือไม่ก็ตาม

                แทงบัญชีรายได้ประชาชาติศูนย์ไปได้เลย แล้วหัวร่อสมน้ำหน้าตัวเองซะที่เชื่อ กฟผ.

                แต่เรายังมีทางฟื้นฟูบูรณะทะนุถนอมรักษ์ผลประโยชน์แห่งชาติของเราที่หลงเหลืออยู่ได้บ้าง หากคิด พิจารณาอย่างรอบคอบและตัดสินใจด้วยปัญญา มิใช่ด้วยโลภะ โทสะ โมหะ

                ข้อแรกสุด  อย่าลุยชาวบ้าน  กฟผ. ไม่ใช่หน่วยงานรับผิดชอบด้านความมั่นคงและปราบปรามของรัฐ  ไม่มีความชำนาญด้านนี้ มิหนำซ้ำยังเป็นคู่กรณี  จึงไม่ใช่ธุระกงการและไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ขืนลุย เข้าไปมีแต่เสียหาย  อาจถึงบาดเจ็บล้มตาย  พวกเราก็คนไทยด้วยกันทั้งนั้น  ธนาคารโลกและนานาอารยประเทศ เจ้าหนี้ก็จะประณาม   กฟผ. อาจได้หน้า  แต่ชาติไทยชาวไทยไม่ได้อะไรขึ้นมานอกจากบาดแผลซ้ำเติม

                ข้อสอง เปลี่ยนขาดทุนเป็นกำไร โดยเปลี่ยนเขื่อนปากมูลเป็นห้องทดลองเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความ สมานฉันท์และการฟื้นฟูเศรษฐกิจชาติ โดยหยุดผลิตไฟฟ้าและเปิดประตูเขื่อนให้น้ำมูลได้ไหลและปลานานา พันธุ์ได้อพยพเคลื่อนย้ายไปวางไข่ฟักตัวหากินตามธรรมชาติ 

ทั้งนี้ให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมาธิการพิเศษในสังกัดวุฒิสภาเพื่อศึกษาติดตามและเสนอ มาตรการฟื้นฟูบูรณะธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชนแม่น้ำมูลในระยะยาว  ที่มีวุฒิสมาชิก  ตัวแทนชาวบ้าน นักวิชา การ  กฟผ. หน่วยราชการอื่นที่เกี่ยวข้องเช่นกรมประมงเป็นสมาชิก 

ส่วนกรณีจะใช้เขื่อนเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าอีกโสตหนึ่งด้วยสลับบ้างหรือไม่ ในช่วงไหนของปี  นานเท่า ใด ในลักษณะเงื่อนไขอย่างไร ให้เป็นไปตามนโยบายและระเบียบหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมาธิการกำหนดโดย รัฐบาลและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่รับไปปฏิบัติ

ด้วยวิธีการดังกล่าวนี้  เราจะประหยัดค่าบำรุงรักษาและเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเขื่อนปากมูลลง และ ประหยัดค่าชดเชยความเสียหายซึ่งเหลือที่จะประมาณได้แก่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบนับพัน ๆ ครัวเรือน

ในทางกลับกัน ธรรมชาติของแม่น้ำและพันธุ์ปลาจะค่อย ๆ ได้รับการฟื้นฟู   ชาวบ้านจะเปลี่ยนสภาพ จากม็อบผู้ประท้วงและผู้คอยรับค่าชดเชยช่วยเหลือจากรัฐ  ไปเป็นชาวประมงรายย่อยผู้สามารถพึ่งตนเองอย่าง พอเพียง  สร้างผลผลิต  เพิ่มรายได้ให้ระบบเศรษฐกิจ  แทนที่จะเป็นภาระแก่ผู้อื่นเช่นปัจจุบัน

และคนไทยร่วมชาติก็จะได้ไม่ต้องตีกันฆ่ากัน ทำร้ายทำลายกันอย่างโฉดเขลา เพียงเพื่อเขื่อนที่สอบตก คณิตศาสตร์จนขาดทุนย่อยยับเหล่านี้

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา