eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

คนจน ในสังคมไทย

เรื่องจากปก
นิธิ เอียวศรีวงศ์ 

นิตยสารศิลปวัฒนธรรม   1 กย. 43

ความรู้เกี่ยวกับคนจนหรือความยากจนในสังคมไทย เป็นความรู้ที่ขาดแคลน เป็นศาสตร์ที่ขาดแคลนยิ่งกว่าวิศวกรรมศาสตร์ คอมพิวเตอร์ ยิ่งกว่าอะไรทุกๆ อย่าง แต่ก็ไม่มีใครคิดจะไปลงทุนในการที่จะสร้างความรู้เหล่านี้ขึ้นมา หรือจะไปดึงดูดให้คนที่ทำงาน ด้านอื่นเข้ามาศึกษาและให้ความสำคัญเกี่ยวกับความรู้เรื่องความจนกับคนจนในสังคมไทย

อันนี้คงไม่ประหลาดอะไร เพราะการสร้างความรู้นั้นไม่ว่าจะสร้างโดยการอาศัยการตั้งทุนวิจัยหรือการตั้งสถาบัน โดยอาศัยการตั้งหลัก สูตร นั้นคือการใช้ทรัพยากรอย่างหนึ่ง

เราทราบอยู่อย่างหนึ่งว่า คนจนในเมืองไทยไม่มีพลังอะไรเลยในการจะไปแบ่งสัดส่วนทรัพยากรของชาติมาใช้เพื่อตัวเองได้เท่าไรนัก ฉะ นั้นก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่ระบบการศึกษาของเราไม่ให้ความสนใจแก่คนจนแก่ความยากจนโดยสิ้นเชิง หันไปมองไม่ว่าจะเป็นทรัพยากร ด้านใดก็แล้วแต่ เขาก็ไม่ได้สร้างให้คนจนทั้งนั้น และไม่มีการแบ่งทรัพยากรเหล่านี้มาให้คนจนตามสัดส่วนซักเท่าไร

ผมขอเริ่มต้นสิ่งที่รู้กันอยู่แล้วว่า ความจนมีอยู่สองอย่าง

อันหนึ่งคือความจนสัมบูรณ์

ผมแกล้งใช้คำว่าสัมบูรณ์ให้เป็นศัพท์ทางวิชาการ เพื่อให้ไม่มีความหมาย เพื่อให้มันไม่ได้แปลว่าจนจริงๆ จนจริงหรือไม่จริงมันยากมากที่ จะบอก แต่มันมีวิธีการวัดความจนอย่างหนึ่งซึ่งนักวิชาการใช้กัน โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์ใช้กันซึ่งผมคิดว่าบางทีก็ไม่มีความหมาย เท่าไร นั่นก็คือ คุณลากเส้นขึ้นมาเส้นหนึ่งเป็นเส้นรายได้ที่สมมติกันว่าใครที่รายได้ต่ำกว่าเส้นนั้นก็ยากจน ใครที่รายได้เหนือเส้น นั้นขึ้น ไปก็ไม่ถูกจัดว่ายากจน และก็สร้างนโยบายสาธารณะแบ่งสันทรัพยากรสำหรับคนที่อยู่ข้างบนข้างล่าง เส้นนี้แตกต่างกันออกไป แล้วแต่ จะอ้างเส้นนี้ขึ้นมาใช้

เฉพาะในเมืองไทยคนที่อยู่ต่ำกว่าเส้นนี้ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจมีอยู่ ๑๑% หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจก็ขึ้น ๑๓% ถ้ากระ จายออกมาเป็นหัวคนก่อนวิกฤตเศรษฐกิจว่ากันว่าประมาณ ๖ ล้านกว่าคน หลังวิกฤตมี ๗-๘ ล้านคน เทียบกับประชากร ๖๐ กว่าล้าน คนก็มีเพียงนิดเดียว แต่ถ้าเทียบกับความรู้สึกความทุกข์ยากของคนมโหฬารมาก

แต่ที่น่าสังเกตว่าความใส่ใจของสังคมโดยรวมที่มีต่อคนจน โดยอาศัยความรู้สึกไม่ได้มาจากการศึกษา ผมรู้สึกว่าสังคมไทยมีความ ใส่ใจ ต่อคนจนลดน้อยลงในช่วงที่มีวิกฤตเศรษฐกิจ ไม่ใช่เพิ่มขึ้นทั้งๆ ที่มีคนจนสัมบูรณ์เพิ่มขึ้น จะดูได้จากปริมาณของสื่อต่างๆ ดูได้จาก รัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ผมไม่ได้ตั้งใจโจมตีพรรคใดพรรคหนึ่งโดยเฉพาะ แต่มันช่วยไม่ได้

ตามความเห็นของผมแม้แต่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ก็สามารถเมินเฉยต่อการประท้วงของคนจน จริงๆ แล้วรัฐบาลไม่ว่าพรรคอะไรก็ แล้วแต่ต่างก็เมินเฉยการเรียกร้องของคนจนทั้งนั้น เป็นแต่เพียงว่าในบางช่วงบางขณะเมื่อเวลาคนจนประท้วง กระแสสังคมให้ความ เห็นใจและไปกดบีบทำให้รัฐจำเป็นตอบสนองต่อสิ่งที่คนจนเรียกร้อง แต่ที่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจมันมีการประท้วงคนจนไม่ได้น้อยไปกว่าเก่า แต่ว่าสังคมไทยไม่ได้ใส่ใจเพียงพอ ทำให้รัฐบาลสามารถที่จะเมินเฉยต่อการเรียกร้องเหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องที่เป็นธรรม หรือ ไม่เป็นธรรม เพราะว่ายังไม่มีการเจรจากันเลย บางครั้งก็ใช้กำลังเข้าไปปราบปรามได้โดยสังคมอาจจะมีโวยวายกันสองสามวันก็จบกันไป

ผมรู้สึกว่าบรรยากาศความรู้สึกของคนในสังคมในช่วงระยะที่เกิดวิกฤต ยิ่งละเลยยิ่งเพิกเฉยต่อคนจนมากขึ้น เพราะอะไรผมยังไม่ทราบ แน่ แต่ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ก่อน

ความจนอย่างที่สองคือความจนเปรียบเทียบ

ความจนเปรียบเทียบยิ่งมีมากกว่า ความจนเปรียบเทียบไม่ได้หมายความว่าคนไหนรู้สึกตัวว่าจน คนนั้นจน ไม่ใช่อย่างนั้น คือเมื่อเปรียบ เทียบกันแล้วกับคนอื่นๆ ที่อยู่ในเครือข่ายความสัมพันธ์รอบข้างเขา เขาเป็นคนจน ทำอะไรไม่ได้หลายอย่าง

คนที่มีความจนเปรียบเทียบอาจจะมีรายได้สูงกว่าเส้นความยากจนมากน้อยพอสมควรทีเดียวก็ได้ แต่ว่าเขาอยู่ในเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคมที่ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายสูงก็ได้ เป็นต้นว่า

คนจนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ยิ่งจนมากยิ่งถูกไล่ออกไปให้ไกลตัวเมือง ในขณะที่งานที่อยู่ในเมืองก็ยิ่งเดินทางไกลออกไปอีก ก็เสียค่าเดิน ทาง มากขึ้น ถึงแม้รายได้สูงกว่าเส้นความยากจน แต่ว่าค่าใช้จ่ายที่จ่ายออกไปก็แยะ ทั้งค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและที่ถูกเรียกว่าไม่จำเป็น

ต้องมีโทรทัศน์ซึ่งก็ไม่แปลกประหลาดอะไร โทรทัศน์ผมคิดว่ามันไม่ฟุ่มเฟือย คุณกระจุกข้อมูลข่าวสาร คุณกระจุกความบันเทิงราคาที่ถูก แล้วบอกว่าไม่ควรดูโทรทัศน์ ผมว่ามันก็เกินไปสำหรับคนที่อยู่ในเมือง คนที่ต้องการใช้ข่าวสารให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตตนเอง อันนี้จะถือ เป็นความจำเป็นจริงหรือเทียมก็แล้วแต่ กลับบ้านดึกก็ถูกจี้ อันนี้ก็เป็นค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่ง ไม่กลับบ้านดึกก็ไม่ได้ ต้องทำงานในกะที่สอง

ซื้อน้ำซื้อไฟในราคาที่แพง เพราะว่าคนจนในเมืองเขาไม่ได้ต่อไฟให้ใช้ เพราะเขาไม่มีทะเบียนบ้าน ก็ต้องไปต่อจากเอกชนอีกทีหนึ่ง คิดใน ราคาที่แพงกว่า กฟน. กับ กปน. อาจเป็นหนึ่งเท่าตัว ทุกอย่างยิ่งจนยิ่งใช้เงินมากขึ้น เพราะงั้นตัวเลขรายได้จึงไม่มีความหมายเท่าไร

ความจนเชิงเปรียบเทียบผมคิดว่ามันเพิ่มเยอะแยะไปหมด เพิ่มมานานด้วย และเราไม่มีตัวเลขที่แน่นอนว่าความจนเปรียบเทียบแบบนี้ มันมีปริมาณเท่าไร ผมก็หยั่งด้วยความรู้สึก ผมว่ามันมากชิบเป๋ง แต่ว่าเท่าไรก็ไม่รู้

อย่าดูถูกความจนเปรียบเทียบ มันทำร้ายคนได้เยอะ ไม่ได้ทำร้ายเพราะโลภหรือฟุ้งเฟ้อทะเยอทะยาน ไม่ใช่อย่างนั้น

เคยมีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างคนจนในฮาเร็มที่นิวยอร์ก โดยศึกษาสุขภาพและอายุขัย กับคนจนในบังกลาเทศ เขาพบว่าที่ฮาเร็ม นั้นมีอายุขัยต่ำกว่าและสุขภาพอ่อนแอกว่าคนจนที่อยู่ในบังกลาเทศ เหตุผลที่ให้คือเครียดมากกว่า จะจริงหรือไม่จริงผมก็ไม่ทราบ

แต่ความเครียดนี่มันสำคัญ คุณอยู่ในท่ามกลางสังคมที่ใช้เงินมากกว่าแล้วคุณต้องปรับตัว ดูเผินๆ แล้ว โทรทัศน์อาจจะไม่จำเป็น แต่ คุณลองฝังตัวเองเข้าในสภาพเป็นจริงของสังคม มันจำเป็นต้องมี และคุณไม่มีปัญญาจะมี คุณก็เครียดจัด ตัวอย่างที่ยกมานี้เพื่อจะบอก ว่ามันไม่ใช่ความฟุ้งเฟ้อทะเยอทะยาน แต่ความเป็นจริงของมนุษย์มันทำร้ายเขา

ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ คนจนเปรียบเทียบเกิดมากขึ้นเท่าไร เอาตัวเลขเฉพาะคนที่ตกงานนั้น ๒ ล้านกว่าคน ยังไม่นับคนจนเปรียบ เทียบซึ่งมันมีสะสมตลอดเวลาในประเทศไทยเป็นเวลานานหลายทศวรรษ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ชาวไร่ชาวนาที่ไม่ประสบความ สำเร็จในการทำเกษตรเชิงพาณิชย์ ข้าราชการชั้นผู้น้อย

คนจนเหล่านี้ไม่ว่าจะจนเปรียบเทียบหรือจนสัมบูรณ์ ความช่วยเหลือของรัฐจะเข้าไปไม่ค่อยถึง แต่ถ้าเข้าถึงก็ไม่มีประสิทธิภาพ ยิ่งจน มากยิ่งห่างรัฐ

เล่ากันว่า สมัยหนึ่งรัฐจะช่วยคนจนในการคุมกำเนิดโดยการแจกถุงยาง พอเข้าไปในหมู่บ้านก็แจก นึกว่าคนในหมู่บ้านจน ปรากฏว่าคน ที่จนในหมู่บ้านที่สุดคือคนที่ไม่มีที่ดินแล้วไปรับจ้างทำไร่ทำนา ก็ไม่สามารถรับแจกถุงยางได้ คนที่มารับแจกนั้นคือคนที่เป็นเจ้าของที่ดิน กว่าพวกที่ทำนาเสร็จจะกลับ พวกข้าราชการก็กลับไปแล้ว ถ้าอยากได้ถุงยางก็ต้องไปรับซื้อถุงยางจากคนที่รับแจกอีกทีหนึ่ง ดังนั้นแม้รัฐ ตั้งใจจะช่วยคนจนก็ไม่ใช่ง่าย

ถ้าเรามองให้มากกว่าถุงยาง แม้แต่สิ่งที่จะไปให้ถึงคนจน การจะทำให้ถึงมือคนจนก็ค่อนข้างยาก และไม่มีประสิทธิภาพ เช่นกรณีที่โวย วายกันอยู่ รัฐพยายามให้เงินกู้ทางการศึกษา ได้แต่ตัวกระดาษเงินกู้ แต่ตัวเงินจริงๆ ยังไม่ได้ ครั้งแรกโรงเรียนเอกชนก็บอกว่าไม่เป็นไร ก็ยอมให้อยู่ แต่รัฐยังไม่จ่าย โรงเรียนก็ต้องให้นักเรียนออก เพราะไม่แน่ว่าจะได้หรือเปล่า ประสิทธิภาพของการจะให้ความช่วยเหลือของ รัฐเองก็แย่มาก โดยยังไม่พูดถึงจิตใจจริงๆ ว่าอยากช่วยหรือเปล่า แม้แต่อยากช่วย แต่ประสิทธิภาพในการช่วยนั้นก็ไม่มี

มีการศึกษาพบว่าในวิกฤตเศรษฐกิจ มีตัวเลขจาก UNDP และสภาพัฒน์ตรงกันหมดว่า คนระดับล่างได้รับผลกระทบมากกว่าคนระดับ กลางและระดับบน ผมจำตัวเลขไม่ได้ คนอีกจำนวนหนึ่งในคนระดับล่างยังมีอีก เช่น คนตกงาน คนจนจำนวนไม่น้อยไม่มีหมอนกัน กระทบ คือบางแห่งสามารถกลับไปหมู่บ้านและไปทำนาได้ มีกรณีหนึ่งที่หมู่บ้านทุ่งยาว ปริมาณที่นาถูกใช้มากขึ้น แต่เดิมสูญเสีย แรง งานไปให้กับนิคมอุตสาหกรรม คนเหล่านี้มีหมอนกันกระทบ แต่เป็นหมอนที่ผุๆ พังๆ สภาพเศรษฐกิจที่เกิดวิกฤตในหลายประเทศอย่าง นี้บ้าง ผมคิดว่ามันเกิดจลาจลแล้ว แต่ว่าการเกษตรของไทยยังเป็นหมอนให้ได้ปริมาณหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้ดีหนักหนา มีคนที่ไม่มีหมอนแบบ นี้มาก ทำให้มีคนตกค้างในเมืองหรือในชนบทได้รับความเดือดร้อน

คนจนเกิดขึ้นได้อย่างไรในเมืองไทย ในสมัยโบราณเราไม่อาจพูดถึงความจนสัมบูรณ์ได้ เพราะเราไม่สามารถเอามาตรฐาน ไม่รู้ว่าจะเอา ตัวเลขอะไรมาขีดวัดเป็นเส้นความยากจน จะเอาเส้นปัจจุบันไปวัดอดีตไม่ได้ เพราะว่ารายได้จำนวนไม่น้อยของเขาจะอยู่ในรูปอื่นๆ มากกว่าตัวเงิน รายได้เป็นตัวเงินต่ำมาก

เท่าที่เรามีหลักฐานประวัติศาสตร์ที่พูดถึงหรือดูจากเสื้อผ้า มีรายงานการศึกษาเรื่องเสื้อผ้าของคนในภาคเหนือ พูดถึงการใช้เสื้อผ้า พบว่า มันปุปะมาก หลักฐานในสมัยโบราณบอกว่าผ้าแต่ละชิ้นมันทิ้งไม่ได้ง่ายๆ มันปะแล้วปะอีกกว่าจะทิ้ง เพราะผ้าเป็นของที่มีราคา แพง ถ้า เราดูจากผ้าและเครื่องประดับดูจากสิ่งต่างๆ เหล่านี้เราก็จะรู้สึกว่าเขาเป็นคนจน มีใช้น้อยมาก แต่ในทางตรงกันข้ามมันมี รายงานของ คนต่างชาติหลายยุคตรงกันว่า คนไทยนั้นไม่อด นอกจากนั้นมีกำลังพอที่จะแบ่งแรงงานไปใช้ในสิ่งที่เป็นอุดมคติของเขา เช่น ไปบวชเรียน ไปทำงานฉลอง ถูกแบ่งแรงงานไปใช้กับหลวงก็อีกไม่น้อย แสดงว่าในทัศนะผมคิดว่ามันก็ไม่จนเท่าไรนัก

ฐานการผลิตของเขาผมขอเรียกว่าเป็นเกษตรกรรมพอยังชีพ แต่ขออธิบายเพิ่มเติมว่า ไม่ได้หมายความว่าทุกคนเพาะปลูกสิ่งที่ต้องการ บริโภคอุปโภคของตัวเองได้หมด ยิ่งนับวันมีการศึกษาในท้องที่ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น แล้วพบว่าจริงๆ แล้วมันมีการแลกเปลี่ยนในเศรษฐกิจ ยังชีพสูงมาก เพราะมันมีจุดที่ซึ่งเขาไม่สามารถผลิตอะไรได้ครบตามความต้องการ หรือผลิตอะไรบางอย่างมันก็ต้องมีการแลกเปลี่ยนกัน มันมีเครือข่ายแลกเปลี่ยนกันในภูมิภาคต่างๆ ในไทยเยอะมาก เพราะงั้นเศรษฐกิจแบบยังชีพไม่ได้แปลว่ากลับไปอยู่บ้านและทำทุกอย่าง เองหมด แต่มันอยู่ในลักษณะที่เอามาแลกเปลี่ยนกันในเครือข่ายบริเวณอันหนึ่งได้พอสมควร

ผมคิดว่าคนพอใจในชีวิตแบบนั้น เพราะเป็นชีวิตที่ให้ความมั่นคง ผ่านการปรับเปลี่ยน ผ่านการทดสอบมาเป็นเวลาพันๆ ปี ทุกคนก็ สร้างวัฒนธรรม เครือข่ายความสัมพันธ์อะไรขึ้นมาที่อยู่แบบนั้นได้อย่างแข็งแกร่ง เขาก็พอใจในการอยู่แบบนั้น

คนไทยหรือเกษตรกรไทยอาศัยระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพเป็นฐานในการเผชิญการเปลี่ยนแปลงมาก

ในอีสานผมคิดว่าเขาใช้ฐานนี้นานมากถึงทศวรรษ ๒๕๒๐ คือทิ้งเมียทิ้งพ่อไว้ที่บ้านและไปขับแท็กซี่ที่กรุงเทพฯ และส่งเงินมาให้ที่บ้าน เดือนละ ๖๐๐ บาท ถ้าเรามีเงินจำนวนนี้เราก็เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเรามีที่ดินหรือไปเช่าที่ดินแล้วปลูกผักเลี้ยงปลาเราก็อยู่ได้ ตรงนี้เป็นฐาน บางแห่งถูกทำลายเร็ว บางแห่งก็อยู่มานาน ในภาคเหนือ ยาสูบ ถั่วเหลือง มันจะไม่เข้าไปแทนที่ข้าว แต่จะถูกไปใช้ในที่นา เมื่อหมดฤดูข้าวไปแล้ว เขาจะใช้ตัวเศรษฐกิจยังชีพเป็นฐานในการรองรับในการเปลี่ยนแปลง จะปรับตัวเองได้เท่าไหนก็แค่นั้น จะไม่ทิ้งใน ส่วนที่เป็นเศรษฐกิจยังชีพของเขาสืบต่อมาอีกนาน และตลอดเวลาที่ผ่านมาถึงทศวรรษ ๒๕๒๐ ความผันผวนทางเศรษฐกิจทั้งหลาย คนไทยก็รับได้พอสมควร ผมคิดว่ามันมีฐานเศรษฐกิจยังชีพอยู่

นอกจากนั้นในช่วงที่ประเทศไทยต้องการแรงงานมากๆ ในระยะแรกๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมป่าไม้ เหมืองแร่ที่พวกจีน ฝรั่ง เข้ามาทำ ในระยะแรก จะพบว่าไม่สามารถหาแรงงานไทยได้เลย เพราะว่ามันอย่ในฐานการผลิตที่ยังสบายใจได้มากกว่า

ในช่วงโบราณแบบนี้มันมีคนจนหรือไม่ ผมเดาว่ามี แต่มันเป็นคนที่เกิดขึ้นจากปัจจัยทางปัจเจก เช่น สูบฝิ่นกินกัญชาอะไรก็แล้วแต่ คือ เป็นเรื่องของปัจเจก ไม่ใช่อยู่ในระบบ ความจนเชิงเปรียบเทียบก็มี แต่ความต่างมันน้อย คนจนคนรวยในวรรณคดีมีพูดถึง แต่ความต่าง มันห่างไม่มากนัก ที่สำคัญกว่าเรื่องห่างมันมีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติและเครือชุมชนกำกับอยู่ ขุนช้างไม่ว่าจะรวยขนาด ไหนขุนช้าง ก็ยังอยู่ในหมู่บ้าน มันก็อยู่ในสภาพเครือข่ายเชิงเครือญาติบ้าง เชิงชุมชนบ้าง มันกำกับความจนเชิงเปรียบเทียบ

ในช่วงปลายสมัยโบราณ เมื่อเรามีการส่งออกข้าวได้มากขึ้น มันมีการสะสมทุนโดยชาวนาซึ่งอยู่ในเกษตรยังชีพได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้ชาว นารวยในหมู่บ้าน และจะเริ่มแตกต่าง ความจนเชิงเปรียบเทียบมันจะเริ่มเกิดขึ้น

ลองนึกย้อนกลับไป คนรุ่นผมที่เพื่อนมีพ่อแม่เป็นชาวนาอยู่ต่างจังหวัด แต่เขาสามารถใช้เครือข่ายส่งลูกมาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ได้ ตอนนี้เริ่มตูดศักดิ์สิทธิ์ เตะกันไม่ได้ เพราะไม่ได้อยู่ในหมู่บ้าน และความจนเชิงเปรียบเทียบมันเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

ผมคิดว่าหลังจากยุคนั้น คนจนจำนวนมากในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นสัมบูรณ์หรือเชิงเปรียบเทียบ เกิดขึ้นกว้างขวางมากในสังคมไทย เพราะทรัพยากรหลุดมือเขาไป ทรัพยากรผมหมายถึงสองอย่างคือ

อย่างแรกคือทรัพยากรที่เป็นวัตถุ ปัจจัยการผลิต สูญเสียสิทธิที่เคยใช้ที่สาธารณะไปก็ตาม สูญเสียตัวที่ดินซึ่งครั้งหนึ่งเคย เป็นของตัวไปก็ ตาม ที่ดินของตัวที่จริงชาวนาไทยสมัยก่อนมีอยู่ไม่ได้มากนักเท่าไร ที่ดินเป็นของบุคคลมีน้อยมาก แต่เป็นที่ดินของครอบครัว เพราะ ฉะนั้นมันก็ยุ่งเหยิง เมื่อบางคนได้สิทธิที่ดินของครอบครัวเป็นสิทธิบุคคลก็ต้องมีบางคนสูญเสียไป และสิทธิครอบครัวนั้นก็หายไป สิทธิ ชุมชนเคยมีก็หายไป เฉพาะการเปลี่ยนสิทธิที่ดินมาเปลี่ยนเป็นสิทธิบุคคลตามกฎหมายฝรั่งมันก็วุ่นวายปั่นป่วน มีการสูญเสีย

เพราะฉะนั้นมันมีการสูญเสียปัจจัยการผลิตหรือทรัพยากรในส่วนที่เราจับต้องได้ก็มี

ทรัพยากรอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือทรัพยากรส่วนวัฒนธรรม ได้แก่ ความรู้ในการผลิต ความรู้ในการจัดการ คุณออกกฎหมายที่ดินแบบ ให้แก่เอกบุคคลเป็นผู้ถือชนิดที่ที่ดินสาธารณะที่เป็นชุมชนหายไป รัฐเข้ามาจัดการ ความรู้ทั้งหมดที่เคยจัดการมันก็หายไปหมด ตรงนี้ เป็นสิ่งสำคัญ ความรู้เทคโนโลยีต่างๆ ที่ตนเองเคยใช้ก็หายไปพันธุ์ข้าวที่เพาะในห้องแล็บและขยายพันธุ์มาให้เราก็ตาม ระบบกำนันเข้า มาแทนที่ระบบอาวุโสซึ่งเคยใช้ในหลายท้องที่ คลองชลประทานไม่สามารถใช้ความรู้เดิมในการจัดการ เช่น การจัดการองค์กรเหมือง ฝายไปใช้กับคลองส่งน้ำ ทั้งหมดเหล่านี้ได้หลุดมือไปจากพวกเขา มีความสำคัญมากทีเดียวในการที่เขาจะไม่จนได้ เขาสูญเสียอำนาจ ไปด้วย รวมทั้งอำนาจในการนิยามตนเอง

ผมพยายามไปดูชาวนาในวรรณคดีไทยมันต่ำต้อยหรือเปล่า ปรากฏว่าไม่พบ ในวรรณคดีแน่นอนมีการจัดลำดับคนตั้งแต่สูงไปหาต่ำ ละเอียดยิบไปหมด ผมก็หาไม่พบ ชาวนาไม่ได้รู้สึกว่าดูถูกตนเองอย่างนั้น เมื่อทรัพยากรสองส่วนหลุดจากมือไป อำนาจหลุดมือไป ความ รู้ก็หายไป

คนมีความรู้เวลานี้ไม่ได้นับชาวนารวมไปด้วย ทั้งๆ ที่ชาวนามีความรู้มาก แต่ความรู้เขาหลุดไปจากมือ มันก็สูญเสียอำนาจในการนิยาม ตนเอง เกิดความต่ำต้อยในตนเอง

ทำไมทรัพยากรเหล่านี้ถึงหลุดมือไป มันเกิดจากการเปลี่ยนวิถีการผลิตไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์มากขึ้น ผมคิดว่าในช่วงก่อนนโยบายแผน พัฒนามันยังสามารถใช้ฐานเดิมในการที่จะเผชิญความเปลี่ยนแปลง หลังนโยบายแผนพัฒนามันเริ่มลดลงไปเรื่อยๆ ยิ่งในช่วงการพัฒนา ระยะหลังประมาณทศวรรษ ๒๕๒๐ ลงมา การผลิตเชิงพาณิชย์ยิ่งขยายตัว ทรัพยากรทั้งสองส่วนก็หลุดมือเร็วมากขึ้น ถ้าเราไปดูตัวเลข สภาพัฒน์ ตั้งแต่ ๒๕๐๔ มาจำนวนประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนนั้นลดลงคือนับหัวคน แต่ความจนโดยเปรียบเทียบมันเพิ่มขึ้น

ส่วนใหญ่ของการหลุดมือของทรัพยากร เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ทรัพยากร เช่น เปลี่ยนจากการเอาน้ำมาทำนามาใช้ปั่นไฟ เมื่อมีการเปลี่ยนรูปแบบไปสู่จุดที่เขาใช้ไม่ได้ เพราะเข้าไม่ถึง ไม่มีความรู้ เมื่อคุณใช้มันไม่ได้มันก็จน

ตลาด ตอนที่เขาเปลี่ยนตลาดเป็นที่แลกเปลี่ยนสินค้าล้วนๆ ผมว่าคนจำนวนหนึ่งก็สูญเสียเหมือนกัน เพราะเดิมทีเดียวมันไม่ใช่เป็นที่ แลกเปลี่ยนสินค้าล้วนๆ แต่มันแลกเปลี่ยนข่าวสาร การลงโทษทางสังคม คุณทำให้ตลาดเป็นที่ไปซื้อของกลับมาอย่างเดียว การเปลี่ยน แบบนี้แยะ ทรัพยากรหลุดมือ เปลี่ยนการใช้มัน ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรส่วนที่จับต้องได้หรือส่วนที่เป็นวัฒนธรรม พอคุณเปลี่ยน คนที่เคย ใช้ก็หลุดมือจากคุณไป มันอาจจะอยู่ที่เก่า แต่จะใช้เหมือนเมื่อก่อนไม่ได้

คนที่ประสบความสำเร็จก็มี คนชั้นกลางส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากผู้ดี ส่วนใหญ่มาจากเกษตรกร ประสบความสำเร็จในการ ที่จะรับทรัพยา กรเหมาะกับวิถีการผลิตแบบใหม่ สามารถใช้ทรัพยากรที่ถูกแปลงแล้วได้ดี คนเหล่านี้จะประสบความสำเร็จแล้วกลายเป็นคนชั้นกลาง ผม จึงไม่ปฏิเสธว่าความสำเร็จก็มีที่หันมาใช้ทรัพยากรได้ ตัวอย่างเช่นไฟฟ้า ลูกแม่ค้าบางคนอาจจะใช้ไฟฟ้ามาใช้อ่านหนังสือ คนชั้นกลาง ไทยไม่ได้งอกจากวิถีการผลิตแบบเก่าและค่อยปรับตัวชาวนารวย ไม่ใช่แบบนั้น แต่เป็นคนที่หลุดออกมา แล้วเข้ามาใช้กับวิถีการใช้ ทรัพยากรแบบใหม่มาใช้กับเศรษฐกิจแบบใหม่ มันไม่สัมพันธ์เลย

ผมคิดว่าชนชั้นกลางไทยเข้าใจคนจนน้อยมาก เพราะเขาไม่ได้เชื่อมโยงกัน ค่อนข้างที่จะดูถูกคนจน แต่ว่ามันไม่เข้าใจ ลึกๆ อาจจะรู้สึก ว่าพวกนี้เอาแต่ได้ พวกนี้โง่ เป็นต้น คนชั้นกลางไทยจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จนั้นเป็นแม่ค้า ยิ่งประสบสูงๆ เป็นรัฐมนตรี ยิ่งไม่เข้า ใจใหญ่ เพราะกูก็จน แล้วทำไมกูถึงมาตรงนี้ได้ แล้วทำไมมึงมาตรงนี้ไม่ได้ มึงมันขี้เกียจมั้ง ผมรู้สึกว่ามันมีปัญหามาก ลึกๆ ลงไปอาจ จะอธิบายไม่ได้

ยิ่งตัวนโยบายพัฒนาก็ยิ่งอธิบายคนจนลำบาก ไม่รู้ว่าจะเอาความจนใส่ตรงไหน ใส่ได้สองอย่าง ความยากจนคงเป็นอุบัติเหตุมั้ง นโยบายพัฒนามันอธิบายคนจนไม่ได้ แล้วยิ่งคุณสำเร็จในนโยบายแบบนี้ หรือความจนคือความใจร้อน เดี๋ยวเอ็งก็รวยบ้าง ผมคิดว่าตัว นโยบายพัฒนาอธิบายถึงความจนไม่ได้ นอกจาก ๒ อย่าง คือ อุบัติเหตุและใจร้อนไป ฉะนั้นชนชั้นกลางที่พัวพันอยู่กับนโยบายพัฒนา ของประเทศจึงไม่เข้าใจคนจน จึงเป็นอุปสรรคอย่างมาก

ในช่วงนี้ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ก็คือยุคที่มหาอำนาจอยากเปิดการค้าเสรีมานาน ได้โอกาสบังคับให้เปิดเสรีขึ้นมา ด้วยเหตุผลของการบีบ บังคับของกระแสโลกมันจะทำให้เกิดคนจนมากขึ้น โดยที่กำไรสินค้าทางการเกษตรลดลง เพราะต้นทุนสูงขึ้น จนการผลิตแบบล้าสมัย อาจจะอยู่ไม่รอด ถ้าอยู่ได้ต้องใช้การผลิตที่พึ่งเทคโนโลยี เพราะถ้าคุณไปแข่งกับเกษตรข้างนอกคุณก็ต้องปรับของตัวเองทำให้ต้นทุนสูง ทรัพยากรยิ่งจะหลุดมือ มีนักเศรษฐศาสตร์ศึกษาว่าที่จริงเมืองไทยมีที่ดินเหลือเฟือในการทำเกษตรกรรมส่งออก เลี้ยงประชากร คุณอย่า ไปห่วง เมื่อคุณพัฒนาการเกษตรให้ทันสมัยคุณจะได้ผลผลิตมากขึ้น ทำให้ที่ดินเหลือเฟือ ผมว่าอาจเป็นไปได้ ถ้ามีแรงผลักดันจากภาย นอกเข้ามาสู่การแข่งขันมากขึ้น แต่ที่ดินที่เหลืออาจจะเป็นที่ดินรกร้าง ไม่มีคนใช้ ไม่มีปัญญาใช้มัน เพราะไม่มีเงิน ไม่มีเทคโนโลยี ถ้าเป็น อย่างนั้นสินค้าการเกษตรจะได้กำไรน้อยลง

ทุนที่ไหลเข้าจะเน้นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับกลางเท่านั้น ซึ่งใช้แรงงานลดลงความยากจนจะเข้ามา ภาคบริการแข่งกับใครไม่ได้ มีอันหนึ่งที่แข่งได้คือการท่องเที่ยวซึ่งมันมีลักษณะเฉพาะที่เป็นของไทยเอง อาจผสม เซ็กซ์มากขึ้น ซึ่งใช้ต้นทุนทางเศรษฐกิจสังคมสูงมาก

ดูจากทั้งหมดแล้วคิดว่าคนจนในเมืองไทยนั้นมันน่ากลัว จะมีมากขึ้น

ทางเลือกและนโยบาย

หลักๆ ต้องพยายามรักษาทรัพยากรทั้งสองอย่างในมือของตนเอง เพื่อที่จะสามารถมีทางเลือกในการหันกลับไปผลิตอะไรบางอย่างที่ตัวมี ความมั่นคงในชีวิต นอกจากนั้นก็สามารถทำให้มีพลังต่อรองในตลาด ตลาดการเมืองได้ดีขึ้น

ข้อเสนอ ดูจากสองปีที่ผ่านมารัฐไม่ได้ค่อยช่วยอะไรเท่าไรนัก เพราะว่ารัฐจะไปอ้างข้อตกลงทางการค้า ระหว่างประเทศ อ้างประสิทธิ ภาพทางการแข่งขัน ยากมากที่คนจนจะเข้าไปทำอะไรให้รัฐปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างเป็นล่ำเป็นสัน แต่ขณะเดียวกันผมก็ปฏิเสธรัฐไม่ได้ เพราะรัฐเป็นพลังที่มีความสำคัญมากๆ

ฉะนั้นที่ทำได้ คือ

นิยามตัวเองของคนจนโดยคนจนใหม่ เป็นการนิยามที่มีพลัง โดยทำให้ตัวเองหลุดพ้นจากพวกหางแถว พวกที่เป็นภาระ โดยการที่คนจน จะทำกิจกรรมให้เห็นว่าเขามีประโยชน์ต่อส่วนรวม ขุดคลอง ลอกคลอง อันนี้เป็นกระบวนการที่จะนิยามตนเองใหม่ เป็นการนิยามให้ พลังแก่ตัวเอง ต้องนิยามตัวเองให้ดีๆ อย่ายอมให้คนอื่นมานิยาม คือพวกไส้ติ่งและเป็นภาระของสังคม และสังคมต้องมาช่วยเราเพราะ ความเมตตา อันนั้นไม่ใช่ เราต้องนิยามตนเองว่าเรามีประโยชน์ต่อสังคม

ต้องสร้างพันธมิตรทางด้านการเมืองกับคนชั้นกลาง ต้องเข้าไปยึดพื้นที่ในสื่อและการศึกษา ต้องช่วยกันคิด ถ้ายึดพื้นที่ในสื่อไม่ได้เลย เราไม่มีทางจะสื่อกับชนชั้นกลางได้ รวมถึงการศึกษาด้วย

ต้องสร้างประเด็นในการรณรงค์ที่สามารถจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่สอดคล้องกับคนชั้นกลางได้ด้วย เช่นการปฏิรูปที่ดิน เพราะคนชั้น กลางก็เบื่อระบบถือครองที่ดินในประเทศไทย คนจนก็มีปัญหาเรื่องที่ดิน ต้องพยายามรณรงค์จุดที่คนชั้นกลางร่วมกันได้ ผมไม่ได้หมาย ความว่าพวกราษีไศลกลับบ้าน อันนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งสำหรับช่วยตัวเอง แต่ต้องหาทางร่วมมือกันหาประเด็นให้คนชั้นกลางเข้ามาร่วม เป็นพันธมิตรกับคนจนได้ด้วย

ต้องเล่นการเมืองหีบบัตร เราปฏิเสธหีบบัตรไม่ได้ เราต้องคิดอย่างไรให้หีบบัตรมีความหมายต่อเรามากขึ้น เราจะทำอย่างไรจัดองค์กร เพื่อมีอำนาจในการต่อรองการเมืองในระบบ ผมรู้สึกว่าคนจนไม่ศรัทธากับการเมืองในระบบ ผมก็ไม่ศรัทธา แต่เราปฏิเสธไม่ได้ เพราะมัน เป็นสิทธิธรรมอย่างหนึ่งในการต่อรองกับเขา เพราะงั้นต้องเล่นการเมืองแบบหีบบัตร

ต้องช่วงชิงการศึกษากลับมา เพราะต้นเหง้าทรัพยากรวัฒนธรรมมาจากการศึกษา การเรียนรู้ จะแย่งกลับมาได้ ผมคิดว่ามันขึ้นอยู่กับ การร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ ผมคิดว่าคนร่าง พ.ร.บ.จะคิดอย่างไรก็แล้วแต่ ผมคิดว่าไม่น่าสนใจ แต่เราต้องพยายามอ่านเพื่อที่จะ หาเสรีภาพในการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อเรา ไม่ใช่อ่านกฎหมายตามเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมาย ถ้าอ่านแบบนี้ใน พ.ร.บ.การศึกษา จะมีช่องให้เราทำได้ตั้งเยอะ และต้องแย่งการศึกษากลับคืนมาโดยวิธีศึกษาแบบนี้

สร้างเครือข่ายพันธมิตรคนจนมากขึ้น เวลานี้มีการเคลื่อนไหวในแต่ละภูมิภาค แต่เครือข่ายยังไม่ดีพอ ต้องกลับมาคิดใหม่ ในเรื่องการ สร้างพันธมิตรเป็นเรื่องที่ยาก NGO ก็แตกกัน นักวิชาการก็แตกกัน มันไม่ใช่ง่าย หลักก็คือถ้าไม่มีเครือข่าย ยากมากในการคิดประเด็น ยากมากในการที่เราจะสร้างพันธมิตรกับคนอื่นๆ

ต้องสร้างงานวิชาการมาช่วยเพิ่มพลังคนจน ผมคิดว่างานทางวิชาการมีพลังมาก แต่ที่คนจนหรือคนอื่นๆ ที่ไม่ค่อยมีพลังต่อรองกับ การเมืองและระบบราชการ นักธุรกิจ จริงๆ แล้วงานวิชาการของเราอ่อนมาก เรารู้สึกแก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบนี้เราคิดชิบเป๋ง ยิ่งไปไม่รอด ผมคิดว่าพลังทางวิชาการในการศึกษาวิจัยในการสร้างข้อเสนอที่มีพื้นฐานการศึกษาที่ดีเยี่ยมมันไม่พอ ไม่พอที่จะต่อสู้กับเขาได้ ตัวอย่าง หนึ่งลองคิดย้อนหลังไปยี่สิบปี ใครพูดเรื่องป่าชุมชน ไม่มีใครฟัง เวลานี้พูดถึงป่าชุมชนกรมป่าไม้ก็เห็นด้วย แต่คุณเขียนกฎหมายทำอะไร ไม่ได้ก็แล้วแต่ แต่การที่คุณเบี้ยวในการเขียนกฎหมายแสดงว่าคุณชนะไปครึ่งหนึ่งแล้ว คืออย่างน้อยคุณรับหลักการไปแล้ว ชัยชนะของ ป่าชุมชนมาจากไหน ก็มาจากฐานพลังทางวิชาการ และทำต่อเนื่องมา เราหนีเรื่องนี้ไม่ได้ ตรงนี้สำคัญ

ถ้าเราคิดยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนได้ เราจะกำหนดยุทธวิธีว่าเราจะรุกตอนไหนหรือเราจะถอยตอนไหน เวลานี้ผมคิดว่าเราไม่มียุทธศาสตร์ ไม่ว่าเราจะไปทำอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเรามียุทธศาสตร์ใหญ่ ถ้าถอยแล้วบางทีก็อาจจะชนะก็ได้ ความจำเป็นรีบด่วนตอนนี้คือต้องพยายาม ช่วยกันคิดในเรื่องยุทธศาสตร์

(ถอดเทปจากการปาฐกถานำของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในงานสัมมนาทางวิชาการเรื่อง สถานการณ์คนจนในสังคมไทย ทางเลือกและนโยบาย ณ มหาวิทยาลัยเกริก เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๒)

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา