eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

“เขื่อนขนาดใหญ่ไม่ได้ผล คนจกแบกรับภาระผลกระทบ” :

บทสรุปของคณะกรรมการเขื่อนโลก

ไชยณรงค์  เศรษฐเชื้อ  เครือข่ายแม่น้ำเอเซียตะวันออกเฉียงใต้  
ข่าวสด 10 ธค. 43

หลังจากใช้เวลา ๒ ปี ในการศึกษาทบทวนประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนโดยการเก็บข้อมูลจากเขื่อนขาดใหญ่ที่ถูกสร้างขึ้น ทั่วโลก ประมาณ ๑๒๕ แห่ง จาก ๗๙ ประเทศ ในที่สุดคณะกรรมการเขื่อนโลกที่สนับสนุนเงินทุนโดยธนาคารโลก และสหพันธ์เพื่อการอนุรักษ์ นานาชาติก็ได้สรุปการศึกษาออกมา เป็นรายงานที่ชื่อว่า “Dam and Development” หรือ “เขื่อนและการพัฒนา”

รายงานฉบับนี้ระบุชัดเจนว่า การสร้างเขื่อนเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการชลประทานนั้น พบว่าเป้าหมายดังกล่าวไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จ กล่าวคือ มีเขื่อนจำนวนน้อยมากที่สามารถบรรลุเป้าหมายที่จะตอบสนองปัญหาชลประทานได้ สำหรับการป้องกันน้ำนั้น การสร้างเขื่อน ในหลายกรณียิ่งกลับทำให้เกิดปัญหาถูกน้ำท่วมมากยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้รายงานของคณะกรรมการเขื่อนโลกจึงชี้ชัดว่า การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่นั้นไม่ได้บรรลุผลประโยชน์ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องใช้ งบมาก และใช้เวลาในการก่อสร้างเกิน  จนกระทั่งไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

คณะกรรมการเขื่อนโลกยังชี้ให้เห็นว่า มีเทคโนโลยีที่ดีกว่าการสร้างเขื่อนและได้ประโยชน์มากกว่าการสร้างเขื่อน

ขณะในที่ในด้านผลกระทบ การสร้างเขื่อนมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการแก้ไขปัญหาผลกระทบนั้นไม่ได้ผล ยิ่งไปกว่านั้น อ่างเก็บน้ำ ยังทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas) ที่เป็นสาเหตุของการทำให้โลกร้อนขึ้น

ในมิติทางสังคม รายงานระบุว่า คนจกต้องแบกรับภาระผลกระทบจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่  โดยที่ทั่วโลกมีประชาชนระหว่าง ๔๐-๘๐ ล้านคนที่ต้องอพยพจากการสร้างเขื่อน

ในส่วนของข้อเสนอนั้น คณะกรรมการเขื่อนโลกได้เสนอว่า จะต้องมีการประเมินความต้องการอย่างรอบด้านของเขื่อน สำหรับการสร้าง เขื่อนใหม่ในอนาคตนั้นจำเป็นที่จะต้องจัดการในเรื่องความต้องการ(Demand Side Management) ทั้งด้านพลังงานน้ำ ไฟฟ้า และที่สำคัญ ต้องใช้ประโยชน์จากเขื่อนที่มีอยู่แล้วให้มากที่สุดก่อนที่คิดจะสร้างเขื่อนใหม่

ตอนสุดท้ายของรายงานยังเสนอว่า จะสร้างเขื่อนไม่ได้หากว่าไม่ได้รับความเห็นชอบจากผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนนั้น โดยเฉพาะ ชนพื้นถิ่น และชนเผ่า และจะต้องคิดเรื่องพลังงานทางเลือก และจัดการทบทวนประเด็นต่างๆเกี่ยวกับเขื่อนที่มีอยู่แล้ว

สำหรับเขื่อนที่สร้างไปแล้วนั้น คณะกรรมการเขื่อนโลกเสนอว่า หากเป็นไปได้ เขื่อนใดที่มีการประเมินแล้วว่าสร้างความเสียหาย ก็ให้ ยกเลิกการใช้เขื่อนนั้น (Decommissioning) รายงานยังเสนอให้แก้ไขผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมกับเขื่อนที่สร้างไปแล้ว โดยการ สร้างกลไกเพื่อที่จะจัดการชดเชยทางสังคม(reparation) ให้แก่ผู้ที่ต้องประสบเคราะห์กรรมจากเขื่อน และการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ที่เสียหาย จากการสร้างเขื่อน

ผลการศึกษาดังกล่าวนี้ คณะกรรมการเขื่อนโลกได้แถลงและเปิดเผยไปเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ที่ผ่านมาที่กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ และเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะกรรมการเขื่อนโลกโดยตัวแทนคณะกรรมการและกองเลขาธิการก็ได้จัด แถลงผลการศึกษา ที่กรุงเทพ ฯ

ในการแถลงผลการศึกษาที่กรุงเทพ ฯ นางจูดี้ เอ็นเดอร์สัน หนึ่งในคณะกรรมการเขื่อนโลก กล่าวถึง กรณีเขื่อนปากมูลที่คณะกรรมการ เขื่อนโลกได้เลือกให้เป็น ๑ ใน ๘ เขื่อนทั่วโลกที่มีการศึกษาอย่างละเอียดทุกแง่มุม (Focal case study) โดยระบุว่า เขื่อนปากมูลล้มเหลวใน เรื่องผลประโยชน์และส่งผลกระทบถาวรในเรื่องของพันธุ์ปลา โดยประเมินได้ว่าปลาที่จับได้ในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนจะได้น้อย กว่าก่อน การก่อสร้างเขื่อนถึง ๖๐-๘๐ % และส่งผลกระทบให้ชาวบ้านจะต้องสูญเสียรายได้ถึง ๕๖ ล้านบาทต่อปี

“ถ้ามีการประเมินผลประโยชน์และต้นทุนของเขื่อนอย่างเป็นธรรม เขื่อนปากมูลก็จะไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้” นั่นคือบทสรุปที่ ชัดเจนสำหรับกรณีปากมูล

หากพิจารณาผลการศึกษาของคณะกรรมการเขื่อนโลกดังกล่าวข้างต้น แม้ว่าข้อเสนอของคณะกรรมการเขื่อนโลกจะระบุไว้กว้างเกินไป  และหากพิจารณาจากมุมมองของผู้ที่ทำงานกับชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนก็อาจรู้สึกได้ว่ารายงานยังมีข้อความที่ไม่แข็งพอ ที่จะสะท้อนปัญหาอย่างตรงไปตรงมา แต่ผลการศึกษานี้ก็ควรที่จะสนับสนุน  เนื่องจากไม่เคยมีรายงานใดที่ประเมินเขื่อน ในทุกแง่มุมโดย หน่วยงานที่เป็นอิสระและเป็นกลางดังเช่นรายงานของคณะกรรมการ เขื่อนโลกฉบับนี้  ด้วยเหตุนี้ ผลการศึกษาของคณะกรรมการ เขื่อนโลก จึงแทบจะไม่มีข้อบกพร่อง ยกเว้นข้อเสนอแนะที่กว้างเกินไปดังที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งจะต้องแก้ไขโดยการพัฒนากรอบ ของคณะกรรมการ เขื่อนโลกให้เป็นจริงได้

และแม้ว่ารายงานจะอ่อนไป แต่ผลการศึกษาและข้อเสนอของคณะกรรมการเขื่อนโลกนั้นก็คือคำตอบที่ชัดเจนแล้วว่า “ยุคสมัยของการ สร้างเขื่อนได้สิ้นสุดลงแล้ว”

คำถามที่สำคัญที่สุดเกี่ยวข้องกับรายงานของคณะกรรมการเขื่อนโลกในขณะนี้จึงไม่ใช่การตั้งข้อสงสัยเรื่องเนื้อหารายงาน แต่เป็นคำถาม ที่ว่า ทำอย่างไรข้อเสนอแนะที่ระบุในรายงานจะถูกนำไปปฏิบัติจริง เพราะคณะกรรมการเขื่อนโลกเป็นเพียงองค์กรอิสระ  ไม่มีอำนาจใน การบังคับใคร ให้ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารโลก องค์กรสร้างเขื่อน  หรือรัฐบาลใด ๆ

ในขณะนี้คณะกรรมการเขื่อนโลกเองซึ่งขณะนี้ถือว่าได้สิ้นภารกิจอย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่การแถลงรายงานครั้งแรกที่ลอนดอน จึงทำได้ ก็แต่เพียงการเดินสายแถลงผลการศึกษาไปตามภูมิภาคต่าง ๆ  ของโลก และการเสนอผลการศึกษาและข้อเสนอทั้งหมด ต่อหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องของประเทศทั้งหมด 79 ประเทศ ที่คณะกรรมการเขื่อนโลกได้ลงไปศึกษา และเสนอไปยังธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเซีย(เอดีบี) และหน่วยงานที่เคยสนับสนุนเงินทุนในการดำเนินการก่อสร้างเขื่อน

สำหรับรัฐบาลและหน่วยงานสร้างเขื่อนแล้ว ดูเหมือนว่า การตอบสนองต่อรายงานนั้นแตกต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิง นับตั้งแต่การยอมรับ รายงานและเริ่มดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการเขื่อนโลก  การเฉยเมย ไปจนถึงขั้นการต่อต้าน  ดังเช่น ในบราซิล ได้มีการก่อตั้งคณะกรรมการเขื่อนแห่งบราซิล(Brazil Commission on Dams) เช่นเดียวกับที่ปากีสถาน ที่เขื่อนในประเทศถูกเลือก เป็นกรณี ศึกษาอย่างละเอียดดังกรณีเขื่อนปากมูล  ขณะที่บางประเทศที่เป็นเผด็จการและรัฐบาลยังคงบ้าคลั่งสร้างเขื่อนถึงกับ ไม่ให้ความร่วมมือกับ คณะกรรมการเขื่อนโลก ดังเช่น จีน และ อินเดีย เป็นต้น

ในขณะที่ ธนาคารโลกเอง ซึ่งเป็นผู้ที่ให้ทุนสนับสนุนคณะกรรมการเขื่อนโลก นอกจากการกล่าวชื่นชมคณะกรรมการที่ ประสบกับความ สำเร็จในการทำรายงานแล้ว  ถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความเห็นที่เป็นรูปเป็นร่าง นอกจากการกล่าวของนายเจมส์  วูฟเฟนสัน ประธานธนาคาร โลกที่แถลงข่าวที่ลอนดอนว่า จะส่งรายงานไปให้รัฐบาลของประเทศผู้ถือหุ้น ๑๘๐ กว่าประเทศให้ศึกษารายงาน

ส่วนของไทยนั้น นักสร้างเขื่อนคงจะไม่มีความสุขกับรายงานนี้แม้แต่น้อย ดังจะเห็นได้ว่า  กฟผ. ไม่ยอมรับผลการศึกษากรณีเขื่อนปากมูล และบางส่วนเริ่มโจมตีคณะกรรมการเขื่อนโลกแล้ว เจ้าหน้าที่ กฟผ. บางคนถึงกับกล่าวหาว่า คณะกรรมการเขื่อนโลกเป็นองค์กรพัฒนา เอกชนที่ต่อต้านการสร้างเขื่อนในประเทศโลกที่สาม ทั้งนี้ก็เพราะรายงานกรณีเขื่อนปากมูลนั้น ได้ทำให้ข้อเท็จจริงปรากฏขึ้นอย่าง ชัดเจน แล้วว่า “เขื่อนปากมูลล้มเหลวในทุกด้าน” แม้ว่ากระบวนการศึกษากรณีเขื่อนปากมูลนั้น กฟผ.มีส่วนร่วมมาตั้งแต่ต้นการมีส่วนในการ เสนอผู้ศึกษา การร่างขอบเขตการศึกษา และการให้ความเห็นต่อผลการศึกษา แต่เมื่อผลการศึกษาไม่ออกมาตรงกับที่ กฟผ.ต้องการ หรือ ไม่เข้าข้าง กฟผ. กฟผ.จึงปฏิเสธไม่ยอมรับ

กล่าวสำหรับสังคมไทย การออกมาปฏิเสธรายงานของ กฟผ.จึงเป็นสัญญาณว่า กฟผ.คงไม่มีวันที่จะนั่งลงเผชิญกับความจริงได้ 

ดังนั้น สิ่งที่สังคมน่าจะทำในขณะนี้ก็คือ ภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม เช่น องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ ประชาสังคมต่าง ๆ ฯลฯ ควรที่จะเร่งศึกษารายงานฉบับนี้ และร่วมมือกันผลักดันข้อเสนอของคณะกรรมการเขื่อนโลกให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องนำเป็น แนวทางใน การปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาเขื่อนที่สร้างไปแล้ว และกระบวนการตัดสินใจในการสร้างเขื่อนใหม่  โดยเฉพาะการผลักดันต่อ องค์กรระหว่างประเทศที่ให้ทุนหรือสนับสนุนเขื่อน (เช่น ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเซียหรือ เอดีบี ฯลฯ ) องค์กรช่วยเหลือทวิภาคี (เช่น JICA ธนาคารเพื่อความร่วมมือการพัฒนาระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JBIC) ธนาคารของเอกชน บริษัทสร้างเขื่อน รวมทั้งรัฐบาลไทย และหน่วยงานสร้างเขื่อนของไทย (ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน  กรมชลประทาน) รวมทั้ง หน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการสร้างเขื่อนของรัฐ (เช่น สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม)

การร่วมกันผลักดันนี้ ประการหนึ่ง ก็เพื่อที่จะยุติปัญหาความขัดแย้งเรื่องเขื่อนที่กำลังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมในขณะนี้ 

ประการหนึ่งก็เพื่อแก้ปัญหาทั้งทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในเขื่อนที่สร้างไปแล้ว

ที่สำคัญก็คือ ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการเขื่อนโลกนั้น เป็นหนทางที่จะทำให้สังคมก้าวข้ามพ้นจากวังวนของความขัดแย้งเรื่องเขื่อน ที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยมานานกว่า ๔ ทศวรรษ

หมายเหตุ:   ดูผลรายงาน Dams and Development ได้ที่ www.dams.org

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา