eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

“เปิดเขื่อนปีนี้ดีนะ ชาวบ้านมีความสุข…”

สุภาพร นิภานนท์
เครือข่ายแม่น้ำเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

ข้อเรียกร้องของสมัชชาคนจนต่อกรณีเขื่อนปากมูลคือการให้เปิดประตูระบายน้ำเพื่อให้ปลาได้กลับคืนมา ภายหลังเมื่อพวกเขาได้รับชัยชนะเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บานถูกแขวนขึ้นเมื่อกลางเดือนสิงหาคม และปิดกลางเดือนตุลาคม 2543 แม้จะเป็นระยะเวลาเพียงไม่ถึง 2 เดือน ปลาเริ่มกลับคืนขึ้นมา และวิถีชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับแม่น้ำมูนคืน มาอีกครั้งหนึ่ง

ในวันนี้ ทันทีที่รู้ข่าวว่าปลากลับขึ้นมา หมู่บ้านที่เคยร้าง เงียบเหงา เพราะผู้คนไปหางานทำที่อื่น กลับคืนความคึกคักขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อคนหนุ่ม คนสาว กลับบ้านมาหาปลา ผู้เฒ่าผู้แก่ได้เห็นลูกหลานอยู่พร้อมหน้า รถวิ่งเข้า-ออกในหมู่บ้าน เพื่อรับซื้อและขายปลาสดจากแม่น้ำมูน เด็กๆว่ายน้ำ เล่นน้ำมูนได้อย่างสนุกสนาน และสบายใจ เพราะเมื่อก่อนแม้บ้านจะอยู่ติดริมน้ำ พวกเขาถูกห้ามไม่ให้เล่นน้ำมูน เพราะแม่น้ำมูนถูกกักขังไว้จนกลายเป็นพิษ เรือหลายสิบลำหาปลาเต็มลำน้ำมูน ที่ท่าเรือ-ท่าปลาประจำหมู่บ้าน คนเข้าออกขวักไขว่ และว่างจากการหาปลาชาวบ้านจะนั่งสานมอง ทำลาน และซ่อมเครื่องมือหาปลาอื่นๆไว้เพื่อเตรียมหาปลาคราวต่อไป

พ่อใหญ่ชนะ กิคำ ผู้เฒ่าอายุกว่า 60 ปี บ้าค้อใต้ อ.พิบูล จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากเขื่อนปากมูล เล่าให้ฟังว่า “พอรู้ว่าเขาเปิดประตูเขื่อนให้นะ ดีใจมาก พ่อไปอยู่กรุงเทพ ชุมนุมอยู่หน้าทำเนียบ ตอนลงมาบ้านก็ซื้ออวนซื้อมองมาจากกรุงเทพ”

ตั้งแต่เปิดประตูเขื่อนมา ชาวบ้านจับปลาได้เยอะสุดในช่วงแรกๆ ช่วงนั้นจับได้เยอะมาก “ปลากิโลละ 50 บาท พากันได้วันละ 700-800 บาท บางวันได้กันเยอะถึงขนาดต้องหามต้องหาบเอาก็มี อย่าพ่อนี้เคยได้สูงสุดวันละ 1,000 บ. แต่ก็ได้วันเดียวเท่านั้น แต่กว่าชาวบ้านจะตั้งหลักได้ รู้ตัวว่าปลาขึ้น ก็โน่นแล้ว ตอนปลามันล่องลงมานั่นแหละ”

เหตุที่ทำให้ชาวบ้านยังตั้งหลักจับปลาไม่ได้ ก็เพราะว่า 8 ปีที่มีเขื่อนปากมูล ปลาไม่ขึ้นมา จนทำให้ต้องขายเรือและเครื่องมือหาปลาทั้งหมดไป แล้วเปลี่ยนไปทำอาชีพใหม่ ดังนั้นเมื่อรู้ว่าปลาขึ้น ก็ต้องไปหาซื้อเครื่องมือหาปลา และต่อเรือกันใหม่ ในช่วงเปิดประตูเขื่อนนั้น ยังมีชาวบ้านไปถามขอซื้อเรือกันเป็นประจำในแต่ละหมู่บ้าน

“เมื่อวานยังมีคนมาถามซื้อเรือบ้านพี่เลย แต่พี่บอก ขายไม่ได้หรอก ถ้าขายแล้ว จะเอาที่ไหนหาปลา ปลาขึ้นเยอะอย่างนี้” มยุรี อ่อนกะตา (อายุ 32 ปี) ลูกสาวพ่อใหญ่นะเล่าเสริม มยุรีถือเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของคนบ้านนี้ที่เป็นแกนนำการต่อสู้ร่วมกับสมัชชาคนจน เธอบอกว่า เปิดประตูเขื่อนครั้งนี้ สิ่งที่ทำให้เธอหายกังวลใจมากที่สุดคือ “อย่างน้อยก็ไม่ต้องกังวลว่า เย็นนี้จะให้ลูกกินข้าวกับอะไร”

มยุรีเล่าว่า ที่ผ่านมา พอมีเขื่อนปากมูล แทบไม่มีข้าวให้ลูกกิน ต้องไปทำอย่างอื่น ปลาก็หาไม่ได้ นาก็ไม่มี รับจ้างไปเรื่อย ปีนี้เปิดประตูเขื่อนดีใจมาก ลูกมีข้าวมีปลากิน ไม่ต้องอดอยาก “ที่สำคัญนะ ปีนี้พี่ได้ซื้อเสื้อผ้าใหม่ให้ลูกเสียที สงสารเค้า ทุกปีไม่มีเงินซื้อเสื้อผ้าให้ลูกเลย”

มยุรีเล่าว่า ปีนี้หาปลาได้เยอะ ขายได้เงินมาก ก็แบ่งไว้ บางส่วนก็เอาไปใช้หนี้ บางส่วนก็เก็บเอาไว้ใช้จ่ายและเธอยังเจียดเงินส่วนหนึ่งมาซื้อของให้ลูกได้

“ตอนปิดเขื่อนปากมูล หนี้สินเยอะ ไม่นึกเลยว่ามีเขื่อนปากมูลแล้วจะทำให้เราหมดเนื้อหมดตัวขนาดนี้ น้องสาวพี่นะต้องไปหางานทำที่กรุงเทพ ทิ้งลูกชายคือเอกชัยไว้กับพ่อใหญ่แม่ใหญ่เพราะไม่รู้จะหากินอะไร พี่กับแฟนต้องไปรับจ้าง โอ้ย เดือดร้อนไปหมด เสียใจมาก เสียใจที่แม่น้ำถูกทำลายลงไปอย่างนี้ ครอบครัวเคยอยู่พร้อมพร้อมตาก็ไม่มี อดๆอยากๆ ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเขามา ไม่เคยเป็นหนี้ก็ต้องมาเป็น”

เพราะฉะนั้นทันทีที่ได้เงินจากการขายปลาได้ สำนึกแรกของคนที่ไม่เคยเป็นหนี้และไม่อยากเป็นอย่างมยุรี คือ “ต้องเอาเงินไปใช้หนี้ก่อน ไม่สบายใจ ก็ใช้ไม่หมดหรอก เก็บไว้ทำอย่างอื่นด้วย ซื้อของเข้าบ้าน ซื้อเสื้อผ้าของเล่นให้ลูกให้หลาน เอาไว้เป็นทุนให้ลูกเรียนก็มี”

บางครอบครัวพอรู้ว่าเปิดประตูเขื่อนแล้วปลาขึ้นก็พากันกลับมา อย่างคนที่บ้านท่าค้อใต้นี้ ก็มีหลายคน บางคนไปรับจ้างตัดมะพร้าวไกลถึงเกาะสมุยก็พากันกลับมา แต่มาได้ไม่นานก็ต้องกลับ เพราะปลาเริ่มจะหมดไปจากแม่น้ำแล้ว หลังปิดประตูเขื่อน

“แต่ก็ดีนะ ได้มาอยู่บ้านตั้ง 2-3 เดือน ทุกปีมาแต่ช่วงปีใหม่ไม่ถึง 10 วัน ลูกหลาน พ่อใหญ่แม่ใหญ่ก็ได้เห็นหน้าค่าตากัน มีความสุขกันขึ้นมาบ้าง เขาก็พากันมาเล่าให้ฟัง บอกว่ามันอดไม่ได้ เห็นข่าวว่าปลาขึ้น ก็อยากกลับบ้านมาหาปลาแล้ว เคยหาปลาเลี้ยงตัวเองมาตั้งแต่เด็กแล้ว” แม่ใหญ่ห่ม กิคำ (อายุ 58 ปี) คู่ทุกข์คู่ยากพ่อใหญ่ชนะเอ่ยขึ้น

การเปิดประตูเขื่อนปากมูลครั้งนี้ มีผลทำให้ปลาขึ้นมาให้จับได้ประมาณ 5 เดือนเท่านั้น เพราะเปิดประตูเขื่อนเพียงแค่ 2 เดือน แม้กระนั้นก็ตามที ชาวบ้านเห็นปลาขึ้นครั้งแรก คนที่ผูกพันกับแม่น้ำมูนมานานยังคาดการณ์กันผิดว่าปลาจะขึ้นทั้งปี

“ก็คิดว่าปีนี้คงจะหมดปีที่จะจับปลาที่ขึ้นมา คิดว่าคงจะหาได้ทั้งปี แต่มันหมดก่อน นี่พ่อใหญ่เขาก็ยังทำมอง (ตาข่ายดักปลา)ไม่เสร็จเลย มองยังอยู่ในกระสอบยังไม่ได้เอาลงแช่น้ำเลย แต่ก่อนตอนยังไม่สร้างเขื่อน ถ้าเราจับปลาตอนขึ้นไม่ทัน ก็รอจับตอนล่องลงมา เพราะมันไม่ได้ลงมาหมด แต่คราวนี้แปลกนะ ปลาพากันล่องลงมาหมดเลย”

“แล้วก็เป็นกันแบบนี้ทั้งหมู่บ้านเลยนะ ไปดูสิ แต่ละบ้านจะเห็นเค้านั่งทำงาน สานมอง ค้างๆกันไว้ทั้งนั้นแหละ ยังไม่ได้ลงน้ำเลย ก็คิดว่าแน่แล้ว ทั้งปีแน่มันขึ้นมาแล้ว บางคนก็ได้ทุน บางคนก็ยังไม่ขยับ ไม่ได้แม้กระทั่งทุนที่ลงไปซื้อมอง 4,000-5,000 บ. พ่อเองก็คิดว่ามันเลิศ คิดไปคิดมา ก็เปิดแค่ 2 เดือน ปลามันจะมีทั้งปีเหมือนเมื่อก่อนได้อย่างไร” พ่อใหญ่ชนะทบทวนสาเหตุที่คาดการณ์ผิดกันทั้งหมู่บ้านให้ฟัง

สาเหตุที่สำคัญที่ปลาไม่มีในแม่น้ำมูนคือ ตลอด 8 ปีที่เขื่อนปากมูลกักน้ำไว้นั้น โคลนตม ดินทรายทั้งหลายได้พากันมาอุดแก่งใต้น้ำที่เป็นที่อยู่อาศัยของปลาจนหมด ชาวบ้านปากมูนเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “แก่งอ้น” ดังนั้นเมื่อเปิดประตูเขื่อน แล้วปลาขึ้นมาได้ ก็ไม่มีที่ให้ปลาอยู่แล้ว

“เดี๋ยวนี้จะหาโพรงหาถ้ำให้ปลาอยู่ไม่มีแล้ว แก่งมันถูกสะสมตะกอนทับถมมาหลายปี ปลามันเข้าไปอยู่ไม่ได้ ขึ้นมามันก็ลง พอมันล่องลงมา มันหากินไม่ได้ ก่อนมีเขื่อนมันอยู่ได้ แต่เดี๋ยวนี้มันไม่มีถ้ำ พอมันมาเห็นบ้านร้างมันก็ไม่อยู่ มันก็หนีลงไปเลย ก็แก่งอ้นนี่นา”

มยุรีเสริมว่า เหตุที่ชาวบ้านอย่างเราๆรู้ละเอียดอย่างนี้ ก็เพราะอยู่กับแม่น้ำมาตั้งแต่เล็กจนโต 

”อย่างพ่อพี่ พ่อใหญ่ชนะนี่นะ ก็เกิดที่นี่ โตที่นี่ แก่ที่นี่ เราจะไม่รู้ได้อย่างไร พ่อเขารู้ว่าแก่งอ้น เขาก็พิสูจน์นะ โน่นดำน้ำลงไปดูเลย”

พ่อใหญ่ชนะบอกว่าชีวิตเมื่อก่อนชาวบ้านอย่างเราก็อยู่กับแม่น้ำมูนทั้งวันทั้งคืน รู้เห็นหมดว่าเพราะเหตุใดแม่น้ำมูนจึงเปลี่ยนแปลง “แต่ก่อนตอนที่เขายังไม่ได้สร้างเขื่อน พ่ออยู่ประจำกับน้ำทั้งวันทั้งคืน เฝ้าปลาเวลามันขึ้นมา กลางคืนตะโกนบอกกันได้ยินเป็นกิโล เพราะมันเงียบ รู้ว่าขึ้นถึงไหนก็ตามกันไปถึงนู้น บ้านหนองโพธิ์ บ้านนาหว้า สองบ้านนี้ห่างจากบ.ท่าค้อใต้ ตามแม่น้ำมูนประมาณ 15 กิโลเมตร”

“เปิดประตูเขื่อนกลางสิงหาใช่ไหม ช่วงแรกๆก็อย่างที่เล่านั่นแหละได้กันเยอะ ก็มาห่างๆในช่วงปลายๆธันวา มกรานี่แหละ ไม่ค่อยได้แล้ว พอไม่ค่อยได้พวกที่กลับบ้านมาหาปลาเขาก็กลับไปทำงานที่อื่นเหมือนเดิม แต่กลับหลังปีใหม่นะ เขาอยากฉลองปีใหม่กันก่อน”

มยุรีเล่าว่า ปีนี้ชาวบ้านฉลองปีใหม่มีความสุขกันมาก เพราะว่า “เปิดเขื่อนปีนี้ดีนะ ชาวบ้านมีความสุข คือยังไงดีหล่ะ ก็มันมีความสุขใช่ไหม ปลาก็จับได้เยอะ คนก็มาอยู่พร้อมหน้า ลูกหลานก็มีเสื้อผ้าใหม่มาใส่กัน หนี้ก็ได้ใช้ มันเหมือนมีชีวิตอยู่ตอนที่ยังไม่มีเขื่อน ไม่ต้องมานั่งวิตกกังวลว่าพรุ่งนี้จะเอาอะไรกิน จะหาเงินที่ไหนใช้ดี พอเราสบายใจ เราก็ฉลองปีใหม่แบบมีความสุขได้หน่อย ไม่เหมือนทุกปี ไม่มีเงินฉลองด้วยซ้ำ ปีนี้ยังดี จับปลามากินเลี้ยงกันได้ ประตูเขื่อนปากมูลเปิด ก็เหมือนชีวิตเดิมๆของพวกเรากลับคืนมา…”

พ่อใหญ่ชนะเล่าว่า เปิดประตูเขื่อนปีนี้ สิ่งที่ดีใจอีกอย่างคือ ได้สอนวิชาหาปลาให้หลานชาย เอกชัยหลานพ่อใหญ่นะอายุ 10 ขวบคนนี้ หาปลาเป็นก็เพราะปีนี้เปิดประตูเขื่อน

“สมัยนี้เด็กจับปลากันไม่เป็นแล้ว บ้านอยู่ติดแม่น้ำก็เถอะ ไม่อยากให้ลงน้ำ น้ำมูนมันเป็นพิษ ปลาก็ไม่มีให้จับด้วย แต่ปีนี้ดี เปิดประตู น้ำไหล มีปลาขึ้น อย่างเอกชัยหลานชายคนนี้ทำเป็น ใส่เป็ด พายเรือเป็น พ่อจะฝึกให้ ในช่วงมีปลาก็ไปวางเบ็ดแล้วได้ปลาเคิงมาตัวหนึ่ง ยังคุยโอ่เลยว่าเป็นเพราะเอกไปด้วยจึงมีโชค

ถ้าเขาได้ตัวใหญ่ก็จะถามว่าขายหรือเอาไว้กินดีล่ะพ่อตา เขาก็จะบอกเองว่า เอาให้แม่ใหญ่ไปทำจังหัน(อาหารไปถวายพระตอนเช้า) ที่เหลือจึงทำลาบกิน แต่ก่อนรุ่นพ่อนี้ม่วนเหลือเกิน พ่อแทบไม่อยากขึ้นจากน้ำเลย”

วิธีการฝึกเอกชัยให้หาปลา พ่อใหญ่ชนะจะทำเป็นตัวอย่างง่ายๆให้ดูก่อน แล้วค่อยให้ลองทำ วิธีการนี้เหมือนที่พ่อของพ่อใหญ่นะเคยสอนมาเช่นกัน “เอาลงเรือไปด้วย แล้วก็ทำง่ายๆให้ดูก่อน อย่างเช่น ให้ใส่เบ็ด ถ้าเขาได้ตัวหรือสองตัวก็ติดใจเองดอก คราวหน้าไม่ต้องชวนเลย เห็นเราจะลงเรือ โน่นวิ่งออกหน้าไปก่อน แล้วตอนแรกเราก็กางมอง วางเบ็ด เสียบเหยื่อหรือหาที่วางให้ก่อน แต่พอไปยามก็ให้เขาไปยาม เอาเหยื่อไปเสียบ ตรงนี้เขาจะทำได้ เราก็คอยดู คอยหาเหยื่อให้

เอกนี่ไปวันแรกได้ปลาเคิงตัวเท่าท่อนแขน วันที่สองได้ปลานาง มาถึงบ้านก็เอามาอวด ว่าโอ้ย วันนี้โชคหมานหลายพ่อตา ลาบไปจังหันน้อ เป็นอย่างนี้ พอเขาทำเองได้ เขาก็มั่นใจ ตื่นเต้นขึ้นเรื่อยๆมันก็เป็นไปเอง พัฒนาจนชำนาญโน่นแหละ แต่ก่อนพ่อก็เป็นอย่างนี้แหละ”

เอกชัย หลานพ่อใหญ่ชนะที่นั่งฟังข้างๆเล่าอวดอีกว่า วันนี้จะจับปลาปึ่งให้พ่อตา (คำที่เอกใช้เรียกตา) อีกตัวหนึ่งทีเดียว เอาไว้ลาบกินกัน ยามว่างของเอกชัย และเด็กบ้านนี้ จึงไม่ใช่การเล่นเกม ขี่จักรยานเที่ยวเล่นอย่างเด็กทั่วไป แต่พวกเขาจะช่วยผู้ใหญ่หาปลา และมีความสุขมากที่จะได้มาคุยอวดแข่งกันกับเพื่อนที่โรงเรียนว่า เมื่อวานใครจับปลาได้ตัวใหญ่สุด

“เอกชนะมาสองวันแล้ว เพราะเอกจับปลาได้ตัวละสี่โลกว่า มากกว่าใครในห้อง เพื่อนเอกจับได้ตัวละหกโลด้วยนะ แต่มันยกไม่ไหว ต้องให้พ่อมันช่วยมันเลยแพ้เอก เพราะเอกไม่ต้องให้พ่อตาช่วยยกให้”

………………………………..

แม้ว่าทุกวันนี้ปลาที่อพยพขึ้นมาวางไข่ยังต้นน้ำมูน ในคราวเปิดประตูเขื่อนเมื่อครั้งนั้นจะหมดไปจากลำน้ำมูนกว่า 2 เดือนแล้ว แต่ความสุขที่ชาวบ้านได้รับจากการเปิดประตูเขื่อนในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งกว่าจะได้มาพวกเขาต้องเดินขบวน ชุมนุม นอนกลางดินกินกลางทรายครั้งแล้วครั้งเล่าก็ยังทำให้ชาวบ้านเล่าเรื่องนี้ให้ฟังด้วยความรู้สึกสนุกสนานและ นึกถึงความสุขที่เคยมีกันได้อยู่ ถึงแม้ว่าญาติพี่น้องที่กลับมาหาปลา ยังจะต้องกลับไปหางานทำที่อื่นอีกครั้ง หรือพวกเขาต้องทิ้งเรือไปรับจ้างอีกรอบก็ตามที

ในวันนี้หมู่บ้านคลายความคึกคักลงไป และกลับมาเงียบเหงาอีกครั้งหนึ่ง ผู้เฒ่าผู้แก่ยังจับเจ่าเฝ้าอยู่กับบ้าน และเด็กๆอย่างเอกชัยและเพื่อนจะหาปลาให้จับไปอวดแข่งกันที่โรงเรียนไม่ได้อีกแล้ว

พวกเขาหวังกันแต่เพียงว่า อีกไม่นานชาวบ้านคงจะต่อสู้จนได้รับในสิ่งที่ต้องการสักวัน เหมือนที่ปีนี้พวกเขาได้รับชัยชนะไปแล้ว

“เงินไม่เอา ที่ดินก็ไม่เอา แต่อยากให้เปิดประตูน้ำอีก เงินได้มาไม่กี่ปีก็หมด แต่ถ้าเราได้ปลามีปลาให้จับกิน กินถึงชั่วลูกชั่วหลาน ร้อยปีพันปีเราก็หากินได้” พ่อใหญ่ชนะกล่าวทิ้งท้าย

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา