eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

ปากมูลเราจะต้องเป็นขี้ข้าต่างชาติต่อไป (2)

โดย ยอดธง ทับทิวไม้
หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ 2 มค 46
http://www.manager.co.th/daily/dailyview.asp?newsid=4616048628091

การใช้เวลานานเป็นสิบปีเพื่อต่อสู้กับสิ่งใดที่มีอำนาจและกำลังที่เหนือกว่าอย่างคนปากมูลนั้น ถ้าหากมนุษย์คนไหนมันไม่เหลือเข็ญจริงๆ แล้ว มันจะไม่มีใครบ้าพอที่จะยอมเสียทุกอย่างยอมทุกข์ทรมานทำกันเป็นอันขาด

คนปากมูลและคนอุบลฯ ต้องมาชุมนุมคัดค้านที่เขื่อนปากมูล ต้องหอบเสื่อหอบหมอนมานอนทุกข์นอนยาก เพื่อคอยรับการกระทืบและต้องทนสู้แก๊สน้ำตาจากตำรวจไทยที่มีชีวิตอยู่ด้วยการทำตัวเป็นทาสของสัตว์นรกทาง การเมืองของพวกนักการเมืองบ้าอำนาจที่กำลังกินบ้านกินเมืองกันหูดับตับไหม้กันมาแต่ละชุด เป็นเรื่องที่ต้องพูดกันให้จบ
และนี่คือความจริงที่รัฐบาลสกปรกและหน้าโง่ของไทยหลายชุด ไม่ยอมรับรู้ความเป็นจริงว่าการเรียกร้องของประชาชนนั้น มันเป็นความถูกต้องที่ทั้งสวรรค?์ นรกหรือผู้มีสติปัญญาสามารถยืนยันได้ แต่รัฐบาลที่สกปรกและหน้าโง่ของไทยที่โง่ที่สุดในครั้งนั้น กลับกล่าวหาและป้ายสีชาวบ้านปากมูลที่ได้รับผลกระทบอันชั่วร้ายนี้ว่า ทำเพราะการได้รับการยุยงจากมือที่สาม นี่คือรัฐบาลไทยและนักการเมืองไทยกะโหลกกะลาของเราไม่เข้าใจและไม่ยอมรับความจริง
ไม่เพียงแต่ข้อเท็จจริงทั้งหมดที่นำมาแล้ว รายงานชิ้นนี้ยังสรุปถึงความสำนึกที่ดีงาม และปฏิกิริยาของรัฐบาลไทยและผู้รับผิดชอบปัญหาของบ้านเมืองทุกระดับไว้ว่า
“แทนที่จะยอมรับความผิดพลาดแล้วแก้ปัญหา รัฐบาลก็ยังหูทวนลม ใช้ท่าทีเดียวกันกับปัญหาที่แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยไม่เห็นความเดือดร้อนของผู้คนและทรัพยากรต่างๆ ที่จะร่อยหรอเป็นเครื่องสังเวย” (มติชน 28 พฤษภาคม 2543)
เรื่องของเขื่อนปากมูล เรื่องของความทุกข์ยากและการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลไทยกับธนาคารโลก ที่ลงทุนเอาแผ่นดินของคนยากคนจนไปทำมาหากินร่วมกัน โดยโกหกพกลมคนยากคนจนมาเป็นเวลานานปี ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องเก่าและมีรายละเอียดที่โลกและองค์การต่างๆ ครึ่งร้อยองค์กรของโลกที่มีความรู้ความเข้าใจปัญหาได้ร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์และมองเห็นความชั่วร้ายของมันมาทั่วกันแล้ว ยกเว้นแต่รัฐบาลไทย เฉพาะในบรรดาเศษขยะมูลฝอยทางการเมืองบางพรรคที่ออกมา “เห่าหอน” ว่าการประท้วงและการร้องเรียนของชาวปากมูลที่พากันเข้ามาประท้วงนั้น เป็นการยุยงส่งเสริมจากต่างประเทศคือกลุ่มโครงการเขื่อนโลกหรือ IRN : INTERNATIONAL NETWORK ซึ่งเป็นหน่วยงานเกี่ยวกับเขื่อนและน้ำแห่งหนึ่งในองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนโลกทั้ง 56 แห่งที่กล่าวมาแล้ว เป็นหน้าที่ของเขาที่จะต้องให้การสนับสนุนการกระทำของประชาชนผู้ทุกข์ยากที่ถูกบ่อนทำลายอย่างที่กำลังทำ กันอยู่ในเวเนซุเอลา ในปากีสถานหรือในอินเดียเวลานี้
IRN มีตัวแทนเครือข่ายอยู่ทั่วโลกในแต่ละภูมิภาค เพื่อดูแลตรวจสอบปัญหาเขื่อนกับการทำลายสิ่งแวดล้อมและการทำลายคนยากคนจนทุกหนทุกแห่ง ในเอเชียหน่วยงานนี้มีขุมข่ายของตนชื่อ ASIAN RIVER NETWORK ซึ่งในทันทีที่มีการชุมนุมของผู้ยากไร้จากเขื่อนปากมูลเริ่มประท้วง องค์การนี้ก็ยื่นจดหมายถึงนายนิตย์ พิบูลสงคราม เอกอัครราชทูตไทยประจำวอชิงตันให้ส่งถึงนายชวน หลีกภัย ในวันที่ 20 กรกฎาคม ทันที เพราะเขาถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมสำหรับเรื่องเหล่านี้ ซึ่งเขาได้ประกาศออกไปทั่วโลกและทุกเครือข่ายขององค์การที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนและน้ำ โดยการประท้วง การกระทืบ การใช้แก๊สน้ำตาและการจับกุมคุมขังประชาชนที่มาร้องทุกข์ต่อรัฐบาล
IRN พร้อมด้วยรูปถ่ายการใช้กำลังของตำรวจที่เข้ารุมขยี้ประชาชนที่ไม่มีอาวุธอีกหลายภาพในตอนนั้น
การประกาศของเขา ไม่ได้ปิดบัง ไม่ได้บิดเบือน ไม่ได้หลบซ่อน แต่ประกาศออกมาตรงๆ ว่า
“ขอให้พวกเขา (รัฐบาลไทย) รู้ว่าสมัชชาคนจนและชาวบ้านจำนวนหนึ่งจากปากมูล ไม่ได้โดดเดี่ยวในการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดและเพื่อศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของพวกเขา ขอให้พวกเขา (รัฐบาลไทย) รู้ว่าพวกเรากำลังเฝ้าจับตาดูตลอดเวลาที่ตำรวจจับเด็กและโยนแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้หญิง แต่เราจะไม่เพียงแต่ยืนดูอยู่เฉยๆ แต่เราขอร้องให้มีการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยการจัดประชุมร่วมระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องและเปิดประตูเขื่อนปากมูล”
องค์การและหน่วยงานขนาดนี้ และประชาชนคนยากคนจนในภาคอีสานที่พากันเสี่ยงตายมายืนยันขอความอยู่รอด และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขาทุกคน ไม่ได้กินแกลบ เมื่อเทียบกับพวกขยะที่พึ่งโผล่มาผุดมาเกิดไม่กี่วันนั้น มาเห่าหอนประณามและลงโทษเขาเป็นเรื่องไม่น่าจะเป็นไปได้
เอาอะไรมาพูด เอาอะไรมาว่าหาว่าองค์กรเหล่านั้นยั่วยุสนับสนุน และคนปากมูล คนอีสานทั้งหมดที่เดือดร้อนถึงขนาดหอบหิ้วกันมานอนกลั้นขี้กลั้นเยี่ยวกันอยู่บนถนนของกรุงเทพฯ นั้น มันสนุกสนานนักหรือที่จะต้องยอมให้ใครที่ไหนไม่รู้มายั่วยุ?
มันจะไม่อหังการกันไปหน่อยหรือ?
เช่นเดียวกับเขื่อนมหาวิบัติในเลโซโทในแอฟริกาใต้ เขื่อนซังกิในอัฟกานิสถานและนามาดาในแม่น้ำนัมทาในอุตรประเทศอินเดีย เขื่อนปากมูลเป็นเขื่อนที่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างขึ้นเพราะเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำที่ไหลผ่านอุบลราชธานี ธรรมชาติได้สร้างปากมูลนี้ขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งสำหรับเป็นที่วางไข่ของปลาที่มีคุณค่าที่สุด จากทะเลสาบเสียมราฐที่จะว่ายขึ้นมาสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณนี้ ซึ่งการขึ้นมาวางไข่ของปลาจากทะเลสาบอันอุดมสมบูรณ์ของเสียมราฐนี้ เป็นคุณูปการอันยิ่งใหญ่ที่ธรรมชาติและฟ้าดินร่วมกันสร้างให้แก่แม่น้ำมูนและคนอุบลราชธานีเป็นหมื่นๆ แสนๆ ปี
แต่เพราะความบัดซบและความโง่เขลาของรัฐบาลไทย และการยอมเป็นทาสของคนพวกนั้น ทำให้ไทยต้องเอาแผ่นดินปากมูลไปมอมเมาประเคนให้โจรานุโจรต่างชาติพวกนั้นเอาไปใช้ทำลายคนไทย ที่ยากจนบริเวณดินแดนอันทุกข์โศกแห่งนั้นอย่างไม่ปรานีปราศรัย
ไหนๆ เราก็พูดกันถึงเรื่องวิบัติหายนะเหล่านี้กันมาแล้ว ก็ควรจะพูดต่อไปเสียให้จบเพื่อให้เข้าใจเรื่องราวให้หมดไปด้วยกัน ในบรรดาพวกเราทุกคนที่สนใจในเรื่องเขื่อนปากมูล
เรื่องมันมีอยู่ว่า ตั้งแต่ปี 2493 อเมริกามุ่งหน้าเข้ามาแสวงหาอิทธิพลและครอบครองเอเชียไทยเป็นประเทศหนึ่งที่อเมริกา ถือโอกาสเข้ามาลากคอประเทศไทยเป็นอาณานิคม หลังจากมีการเซ็นข้อตกลงร่วมมือว่าด้วยทางทหารและวิชาการระหว่างอเมริกากับไทยในเดือนตุลาคมของปีนั้นแล้ว ทุกอย่างไทยก็กลายเป็นเหยื่อของอเมริกาไปทุกด้านตามที่อเมริกาจะบงการและชี้นิ้วสั่งการทุกสิ่งทุกอย่างได้ตามความพอใจ
เครื่องมือล่าเมืองขึ้นที่สำคัญที่สุดของอเมริกาในหลายชิ้น ธนาคารโลกเป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่จะทำหน้าที่เอาเชือกไปล่ามคอชาติต่างๆ ที่อเมริกาต้องการ
การมาของธนาคารโลกในครั้งนั้น ประชาชนคนไทยส่วนมากยังไม่เข้าใจและไม่ได้มีการศึกษาอะไรมากนัก ประชาชนยังไม่รู้และไม่เข้าใจว่าคำว่า “พัฒนา” ตามความหมายของระบบทุนนิยมและจักรวรรดินิยม โดยมีธนาคารโลกเป็นหัวหอกนั้น ทำกันอย่างไร คิดอย่างไรหรือมีเป้าหมายกันอย่างไร?
แต่ธนาคารโลกก็พุ่งเข้าใส่ประเทศไทยพร้อมกับโครงการล่าเมืองขึ้นอื่นๆ ในประเทศไทยในทันที เกือบจะเรียกว่าประเทศไทยในสมัยนั้น ถูกควบคุมและดำเนินการจัดการโดยธนาคารโลกและอเมริกาทั้งสิ้น เริ่มตั้งแต่พ.ศ. 2501 เป็นต้นมา 40 กว่าปีมาแล้ว กิจการไฟฟ้าและพลังงานมาจัดการทันที เรื่องสกปรกที่ธนาคารโลกได้กระทำก็คือ เสนอให้มีการรวมกิจการพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่เป็นของรัฐบาลรวมกิจการเป็นกิจการเดียวกัน และให้มีองค์กรอิสระสำหรับทำหน้าที่เกี่ยวกับกิจการไฟฟ้าอย่างเป็นเอกเทศ นั่นคือที่มาและเหตุผลของการเกิดขึ้นมาของแหล่งทำมาหากินของคนหลายกลุ่มที่ยึดประเทศไทยและผูกขาดประเทศไทย ทำมาหากินกันอย่างอิ่มหมีพีมันกันอยู่ทุกวันนี้ คือสิ่งที่เรียกว่า “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ” หรือ “กฟผ.” ในระยะนั้นก็ใช้อิทธิพลทางการเงินและอิทธิพลในฐานะประเทศมหาอำนาจของตนเข้ามาจัดตั้ง สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ The National Economic and Social Development Board เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในการติดตามดูแลและช่วยในการ ผ่อนเบาปัญหาสิ่งแวดล้อมในการสร้างเขื่อนปากมูลให้ลดน้อยลง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กฟผ.และสภาพัฒน์ก็ได้ทำหน้าที่เป็นองค์กรพัฒนาเศรษฐกิจที่วางแผน และกำหนดการทุกอย่างในการสร้างเขื่อนนี้ขึ้นมา หรือถ้าจะพูดกันตามความเป็นจริงก็คือ ฝรั่งพวกนี้จะมีหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างเขื่อนและการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และทำลายความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก และประเทศไทยในสมัยนั้น ได้มอบให้เป็นภาระหน้าที่ของฝรั่งพวกนี้กับนักขายชาติในกฟผ.ของเราเป็นผู้ดำเนินการและตัดสินใจหรือทำหน้าที่วาง แผนล่าเมืองขึ้นและปกครองเมืองไทยทางเศรษฐกิจและการเงิน โดยที่ไม่มีคนไทยคนใดรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในแผ่นดินและบ้านเมืองของตน
แต่มาถึงพ.ศ. 2534 ธนาคารโลกก็หมดความจำเป็นที่จะต้องใช้องค์กรสองแห่งนี้ทำหน้าที่เพราะทุกอย่างธนาคารโลกได้วาง แผนทำลายบ้านเมืองไทยหรือเขื่อนปากมูลและเขื่อนต่างๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว ธนาคารโลกหันมาทำนุบำรุงและประคบประหงมให้กฟผ.เป็นอิสระ โดยที่ไม่ต้องขึ้นกับคนไทย ในปี 2534 ธนาคารโลกได้ข้ามหัวรัฐบาลไทยไปให้การสนับสนุน กฟผ.ให้เป็นอิสระโดยทุ่มเงินให้กู้ยืมอย่างง่ายๆ ถึง 700 เหรียญดอลลาร์ เพื่อการสร้างเขื่อนและโรงงานไฟฟ้าและผู้ร่วมทุน ฝรั่งที่จะเข้ามาก่อสร้างตามการวางแผนของธนาคารโลก ซึ่งทำให้กฟผ.มีอำนาจล้นเหลือที่จะแสวงหาเงินลงทุน โดยการกู้ยืมจากธนาคารโลกได้ก่อนที่จะเสนอเรื่องต่อทางราชการไทยหรือต่อรัฐบาลไทย จากความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างกฟผ.กับธนาคารโลกดังกล่าวนี้เอง ทำให้ธนาคารโลกสามารถจะเป็นผู้ควบคุมและจัดการปัญหาทั้งหมดของโครงการเขื่อนปากมูลได้ โดยรัฐบาลไทยเป็นเพียงทาสที่มีหน้าที่ “หุบปาก” เงียบเท่านั้นเอง (ประวัติความเป็นมาของเขื่อนปากมูลหรือ The Struggle for The Mun River จากรายงานขององค์การเขื่อนโลก ธันวาคม 2542)
แต่ความจริงเหล่านี้รัฐบาลไทยและนักวิชาการไทย หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่เอาชาติบ้านเมืองไปทำมาหากินกับฝรั่งในฐานะทาสทั้งหมดจะไม่นำมาพูดถึง
และรัฐบาลไทยในขณะนี้ ก็ทำหน้าที่เป็นตัวแทนหรือเป็นเครื่องมือของธนาคารโลกเพื่อทำหน้าที่เป็นศัตรูของคนยากคนจนและ ชาวเขื่อนปากมูลในนามของรัฐบาลไทยอย่างสุนัขรับใช้ที่ว่านอนสอนง่าย
หรืออาจจะพูดได้อีกอย่างหนึ่งว่า โดยความจริงนี้คนยากจนเหล่านี้ก็ไม่ได้มารบกวนอะไรรัฐบาลเทพเจ้านั้นแต่อย่างใด การมาประท้วงของเขาเป็นการมาประท้วงของธนาคารโลกเช่นเดียวกับชาวอินเดียในอุตรประเทศ ในเซเนกัล ในเวเนซุเอลาหรือในเลโซโทในแอฟริกา หรือแม้แต่ในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งองค์การโลกที่ต้องการใช้ดินแดนเหล่านี้เป็นแหล่งการทำมาหากินทุกๆ ด้านของกลุ่มประเทศทุนนิยมตะวันตก แต่มาประท้วงธนาคารโลกที่มายืมประเทศชาติของเขาเป็นอาณานิคมที่หมดยุคหมดสมัยไปแล้ว
ธนาคารโลกได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับเขื่อนปากมูลตั้งแต่ปีพ.ศ. 2521 จากรายงานของธนาคารโลก ซึ่งได้เป็นเจ้ากี้เจ้าการฮุบเอาประเทศไทยสำหรับวางแผนการพัฒนาชนบทเพื่อหาทางทำมาหากินในปี 2524 ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ หรือ กฟผ.ก็ลงมือสำแดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของตนเองโดยการสนับสนุนของธนาคารโลก ก็ลงมือโมเมกำหนดเอาปากมูลขึ้นมาบริเวณนั้น เพื่อสนองความต้องการและวัตถุประสงค์ของกลุ่มนายทุนตะวันตกในทันที โดยมีกฟผ.หรือสิ่งที่เรียกกันว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่ธนาคารโลกตั้งขึ้นหรือให้การสนับสนุนอยู่ข้างหลัง โดยที่ทั้งกฟผ.และธนาคารโลกจะไม่เดินข้ามหัวประเทศไทยหรือรัฐบาลไทยไปโดยไม่ยี่หระ หรือไม่ถือว่ารัฐบาลไทยและประเทศไทยนั้น ไม่มีความหมายต่อกฟผ.และธนาคารโลกแม้แต่น้อย เขื่อนปากมูลที่สร้างขึ้นมามีปัญหากันเป็นเวลาสิบปีที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้เป็นเรื่องกฟผ.กับธนาคารโลกทั้งสิ้น จะต้องสร้างมันขึ้นมาให้ได้ในบริเวณนั้น จะไม่ยอมรับรู้ปัญหาสิ่งแวดล้อมว่าถ้าสร้างเขื่อนลงไปแล้ว มันจะมีอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ ไม่สนใจ รัฐบาลไทยหรือผู้มีความรู้ว่าในความเป็นความตายของบ้านเมืองที่เป็นเจ้าของประเทศ จะไม่ได้รับการปรึกษาหารือแต่อย่างใด
มนุษย์กลุ่มแรกที่กฟผ.และธนาคารโลกมอบกายถวายชีวิตให้นั้น เป็นบริษัทฝรั่งเศสแห่งหนึ่งชื่อ SOGREAH มาเป็นผู้วางแผนและออกแบบ ในปี 2524 ทางกฟผ.และบริษัท SOGREAH ก็ถือว่าเป็นธนาคารโลกเคยกำหนดไว้เมื่อปี 2511 นั้น เป็นเรื่องที่สามารถนำมาศึกษาเพิ่มเติมและสรุปเอาว่าเป็นการศึกษาที่ถูกต้องและสมบูรณ์ครบถ้วนแล้ว พอถึงปี 2534 กฟผ.ก็ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการก่อสร้างดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ทางด้านอื่นๆ ของโครงการ และกำหนดเอาว่าบริเวณที่จะสร้างตัวเขื่อนจะอยู่ห่างแม่น้ำโขงไป 4 กิโลเมตร คือไปเอาตรงแก่งตะนะเป็นที่ตั้ง ซึ่งการตกลงเอาตรงนั้นเป็นที่ตั้งของเขื่อน ผลการศึกษาก็เปิดเผยว่าจะต้องย้ายหรือขับไล่บ้านช่องของประชาชนออกไปเสียจากที่นั่น 40,000 ครอบครัว โดยจะมีการจ่ายค่าชดเชยให้
เอาเข้าแล้วไหมละ?
เขื่อนระยำนี้จะสร้างขึ้นมาเพื่ออะไรไม่มีใครรู้
และประชาชน 40,000 ครอบครัวนั้น ได้ทำผิดคิดชั่วอะไรต่อประเทศชาติประชาชนที่จะต้องถูกเฉดหัวออกไปจากที่อยู่ที่กินมาเป็นร้อยปีพันปีนั้น ก็ไม่มีใครรู้แม้แต่คนเดียว
แล้วผลประโยชน์อันแท้จริงที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อน “ฉิบหาย” แห่งนี้เป็นของใคร?
จะไม่มีใครพูดถึง
นั่นคือพฤติกรรมการเมืองระบบเมืองขึ้นของไทยและนายทาสยุคใหม่ที่รัฐบาลไทยยอมรับในฐานะ สุนัขรับใช้ที่ซื่อสัตย์ของทุนนิยมที่ทำมาตลอด
เช่นเดียวกับประชาชนผู้ยากจนอีก 40,000 ครอบครัว ในอุตรประเทศที่กำลังต่อสู้กันอย่างสุดชีวิตอยู่ในอินเดีย และมีสภาพไม่แตกต่างไปกว่ากัน เพราะโครงการเขื่อนแห่งนี้จะชั่วร้ายไม่น้อยไปกว่ากัน
“โครงการเขื่อนมเหศชวาร์ ซึ่งเป็นโครงการที่มีข้อโต้เถียงกันมานาน และเป็นโครงการที่ก่อแต่ความเสียหายให้แก่บ้านเมืองเป็นเขื่อนขนาดใหญ่บนแม่น้ำนัมทา ซึ่งจะมีผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนประมาณ 40,000 คน ตลอดหมู่บ้าน 61 แห่งในแคว้นมัธยมประเทศ ซึ่งจะทำให้ที่ดินที่ทำมาหากินและบ้านเรือนของพวกเขาจะต้องจมหายลงไปในบริเวณเขื่อน เขื่อนตามโครงการนี้ยังไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือทางด้านกรมชลประทานที่ได้มีการเสนอโครงการจะเป็นเขื่อนที่สามารถ สร้างไฟฟ้าได้ถึง 400 เมกะวัตต์ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว เขื่อนตามโครงการนี้จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียง 6 เมกะวัตต์เท่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้น เขื่อนมเหศชวาร์จะสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้เพียงวันละ 1-1.5 ชั่วโมงต่อวัน เป็นเวลานานถึง 8 เดือนในหนึ่งปี และไฟฟ้าแห่งนี้จะเป็นไฟฟ้าที่มีราคาสูงที่สุดภายในประเทศ”
เช่นเดียวกับเขื่อนที่กำลังมีปัญหาในเมืองจีนที่ธนาคารโลกหรือองค์การล่าเมืองขึ้นยุคใหม่แห่งนี้ไป สร้างปัญหาไว้ที่ยังมีการโต้เถียงกันอยู่ นั่นคือเขื่อนในแม่น้ำเหลือง
อย่างไรก็ตาม สำหรับเขื่อนปากมูลความเป็นมาของเขื่อนก็ยังมีรายละเอียดที่น่ารู้ต่อไปอีกเล็กน้อยคือ ในปลายปี 2525 บริษัท SOGREAH ก็ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสมาชิกสำคัญของธนาคารโลกรายหนึ่ง (ซึ่งบริษัทฝรั่งเศสจะต้องมีสิทธิในการมีส่วนได้ส่วนเสียในการดำเนินการทำมาหากินของธนาคารโลก ในฐานะเป็นประเทศทุนนิยมด้วยกัน) ให้ทำการศึกษารายละเอียดโครงการเขื่อนปากมูลเพิ่มขึ้น การศึกษานี้มีจุดมุ่งหมายว่าเพื่อจะทำให้ตัดสินใจได้ว่าเป็นโครงการสามารถจะยอมรับได้ว่า เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างไรหรือไม่?
ภายใต้จุดมุ่งหมายใหม่นี้ กฟผ.ก็ได้ตกลงทำสัญญาที่ปรึกษาทางวิศวกรรม เพื่อนำผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมทางนิเวศวิทยาที่ได้ทำการศึกษากันไว้แล้วเอามาดูกันใหม่อีก บริษัทที่ปรึกษาได้ทำการศึกษาเสร็จสิ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2527 ในขณะที่การศึกษาของบริษัท SOGREAH ก็ได้ทำการศึกษาอีก และเสร็จสิ้นเมื่อเดือนเมษายน 2528 แต่ผลการศึกษาก็ยังทำอะไรไม่ได้เนื่องจากจะต้องย้ายที่ตั้งตัวเขื่อนออกไปจากที่ตั้งแก่งตะนะ 1.5 กิโลเมตร ที่บ้านหัวเหว ในขณะที่แก่งตะนะในเวลานี้ได้จัดทำเป็นสวนสาธารณะ หลังจากนำเอาผลการสำรวจและปัญหาที่เกิดขึ้นกับที่ตั้งของตัวเขื่อนทั้งสองนี้ ทั้งฐานที่ตั้งตัวเขื่อนและระดับน้ำ ก็เป็นอันว่าจะต้องจัดสร้างตัวเขื่อนที่บ้านหัวเหว
กฟผ.ได้อาศัยการศึกษาของปี 2525-2528 เพื่อทำความเข้าใจทางด้านผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของโครงการ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงโครงการสร้างเขื่อนปากมูลใดๆ ขึ้นมา นอกจากจะตัองสร้างตามความต้องการของธนาคารโลกและกฟผ. โครงการเริ่มต้นในต้นปี 2534 ก่อนที่ธนาคารโลกจะทำตัวเป็นเจ้ากี้เจ้าการหรือรับผิดชอบต่อปัญหาใดๆ เกี่ยวกับเขื่อนแห่งนี้ นอกจากเป็นแต่เพียงว่าตัวรัฐบาลไทยที่ไม่มีภาระหน้าที่อะไรในการสร้างเขื่อนนี้มีมาแต่ต้น ก็ลงมือเป็นเจ้ากี้เจ้าการขึ้นมาเป็นเจ้าของเรื่องเจ้าของประเทศเหมือนฝัน
ในปีพ.ศ. 2523 หรือเมื่อ 20 ปีก่อน การคัดค้านเขื่อนปากมูลของประชาชนก็เริ่มขึ้น โดยพวกชาวบ้านเรียกร้องขอรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการเขื่อนปากมูล ชาวบ้าน ครู นักวิชาการ ผู้แทนขององค์กรเอกชนและนักศึกษาก็ได้ร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งชื่อว่าคณะกรรมการคัดค้านเขื่อนปากมูล ซึ่งได้มีการรณรงค์ต่อต้านโครงการที่เป็นอันตรายต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การประท้วงได้ขยายตัวออกไปในปี 2533 ซึ่งมีชาวบ้าน 2,000 คน จาก 5 หมู่บ้าน ได้ร่วมกันแสดงการคัดค้านโครงการเขื่อนปากมูลในตัวเมืองจังหวัดอุบลราชธานีเป็นเวลา 3 วัน ในตอนต้นปี 2534 ประชาชนชาวอุบลราชธานี 12,200 คน ได้ร่วมกันร้องเรียนไปยังธนาคารโลกและนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เลิกล้มโครงการนี้ไม่เพียงเท่านั้น ชาวบ้านและผู้แทนขององค์กรเอกชนได้ร้องเรียนไปยังธนาคารโลกแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงสร้างเบื้องต้นของ การสร้างเขื่อน ผลกระทบสำคัญต่อปลาในน้ำมูนและไม่มีการปรึกษาหารือกับประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย
แต่อย่างไรก็ตาม เราก็จะต้องขายชาติให้ต่างชาติกันต่อไปและที่สำคัญที่สุดก็คือ การสร้างเขื่อนนี้เราจะต้องเป็นหนี้ต่อไปอีก 7 ปี เป็นหมื่นๆ ล้านบาท แต่ก็ไม่มีใครพูดกัน
เราก็คงทำหน้าที่เป็นทาสฝรั่งกันต่อไปตามปกติ !
 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา