eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

คำถามสำคัญของเขื่อนปากมูล

1. ทำไมชาวบ้านต้องการให้เปิดเขื่อนปากมูลถาวร

        ก่อนการสร้างเขื่อนฯ ชุมชนที่นี่มีความเป็นอยู่สุขสบาย เนื่องจากบริเวณปากแม่น้ำมูล เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ระบบนิเวศปากแม่น้ำมูล มีลักษณะเฉพาะที่ดึงดูดให้ปลาจากแม่น้ำโขง อพยพขึ้นมีวางไข่ในแม่น้ำมูลตลอดทั้งปี   ชาวบ้านที่นี่จึงเป็นชาวประมงมานับตั้งแต่ก่อร่างสร้างชุมชนเมื่อหลายร้อยปีก่อน หรืออาจสืบย้อนไปได้นับหลายพันปี ตามหลักฐานทางโบราณคดีที่ผาแต้ม การเป็นชุมชนที่ต่อเนื่องมายาวนาน ทำให้ผู้คนที่นี่มีความรู้ในการดำรงชีวิต และสร้างสรรค์วัฒนธรรมที่หลากหลายที่เกี่ยวโยงกับการหาปลา เป็นชุมชนคนหาปลาที่มีชีวิตขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำมูล และแม่น้ำโขง
การสร้างเขื่อนปิดปากแม่น้ำมูล ขวางกั้นการอพยพขึ้นลงของปลา และทำลายวัฏจักรของธรรมชาติ ทำให้ชาวบ้านที่นี่กลายเป็นคนจนโดยทันที ปลาที่เคยจับได้ทั้งชนิดและปริมาณลดน้อยลงจนไม่เพียงพอต่อการยังชีพ การศึกษาฯพบว่า ก่อนการสร้างเขื่อนฯ มีปลา 265 ชนิด ภายหลังการสร้าง มีปลา 169 ชนิดที่ไม่มีรายงานการจับได้เลย

        การสร้างเขื่อนฯ ทำให้น้ำในแม่น้ำอยู่ในสภาพ “เต็มตลิ่งตลอดปี” แก่งหินที่เป็นแหล่งวางไข่ อนุบาลลูกปลาจมหายไป ระบบนิเวศของสองฟากฝั่งแม่น้ำที่เป็นแหล่งพืชพันธ์ สมุนไพร อาหารของท้องถิ่น ถูกทำลายอย่างถาวร   แต่กลับปรากฏวัชพืชที่เป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมาแทน คือการแพร่ระบาดของต้นไมยราพยักษ์ ผลกระทบที่เกิดขึ้นข้างต้น ทำให้ชาวบ้านต้องออกไปแสวงหางานทำนอกชุมชนเป็นจำนวนมาก คงเหลืออยู่แต่คนแก่และเด็ก กลายเป็นภาระของสังคมที่ต้องแบกรับ

      การสร้างเขื่อนฯ และการดำรงอยู่ของเขื่อน ยังได้สร้างความแตกแยกอย่างรุนแรงให้กับชุมชนที่นี่อันเนื่องมาจากความเห็นและผลประโยชน์ที่ได้รับจากเขื่อนแตกต่างกันไปในแต่ละชุมชน แต่ละครอบครัว การสำรวจความคิดเห็นล่าสุด เฉพาะชุมชนที่อยู่สองฝั่งแม่น้ำมูล (ไม่นับชุมชนที่อยู่ห่างไกลออกไป และไม่ได้มีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำมูล) พบว่าส่วนใหญ่ต้องการให้เลิกใช้ประโยชน์จากเขื่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เนื่องจากพวกเขามีอาชีพจับปลา และมีชีวิตที่ต้องพึ่งพิงปลาจากแม่น้ำมูล  หมายความว่า ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ที่มีการใช้เขื่อนฯ ผลประโยชน์ที่ได้จากเขื่อนส่วนใหญ่ถูกส่งออกจากพื้นที่บริเวณนี้ โดยที่ผู้คนที่นี่ต้องเป็นผู้ที่เสียสละและอดทนเพื่อประโยชน์ของการพัฒนาประเทศโดยรวม  งานวิจัยฯที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนปากมูลจำนวนมาก ตลอดเวลากว่า 20 ปี ล้วนมีข้อสรุปที่ตรงกันว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เขื่อนปากมูล การสร้างเขื่อนโดยไม่ศึกษาผลกระทบต่างๆ และไม่เห็นหัวชาวบ้านในอดีต ส่งผลเสียอย่างรุนแรงในทุกด้าน กระบวนการแก้ไขปัญหาที่ทำกันอย่างขอไปทีในทุกรัฐบาล ก็ยิ่งสร้างความแตกแยกอย่างลึกซึ้งยิ่งๆขึ้นในชุมชน
ชาวบ้านปากมูลได้สรุปบทเรียนแล้วว่า  ความยากจน คุณภาพชีวิต และธรรมชาติที่พังพินาศย่อยยับ จะถูกแก้ไขและถูกฟื้นฟูกลับมาได้ เมื่อประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลถูกยกขึ้นอย่างถาวร

2. ถ้าเลิกใช้เขื่อนปากมูลแล้ว จะมีปัญหาต่อการผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือไม่

         วัตถุประสงค์ของการสร้างเขื่อนฯที่สำคัญ คือ การรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าในภาคอีสานตอนล่าง ผลการวิเคราะห์ของ ม.อุบลฯ(2545) และ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลชุดปัจจุบัน ได้ผลสอดคล้องว่า “ในกรณีที่โรงไฟฟ้าเขื่อนปากมูลถูกตัดออกจากระบบเพียงโรงเดียว ระบบการส่งจ่ายไฟฟ้าในปัจจุบันจะยังมีความสามารถในการรักษาเสถียรภาพของระบบได้ดี แต่หากกรณีที่โรงไฟฟ้าเขื่อนปากมูล และโรงไฟฟ้าเขื่อนห้วยเฮาะ ถูกตัดออกจากระบบพร้อมกัน มีความเป็นไปได้ว่าระบบจะมีปัญหาด้านการรักษาเสถียรภาพของปริมาณไฟฟ้าในช่วงเวลาหกโมงเย็นถึงสองทุ่ม ของวันระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายนของปี ซึ่งอาจเกิดสภาพกระแสไฟตกในแถบพื้นที่ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีส่งจ่ายไฟฟ้า ในบางพื้นที่เพียงชั่วคราว”
(รายงานคณะอนุกรรมการรวบรวมงานวิจัยฯ 2553)

           งานวิจัยทั้งสองชิ้นได้ชี้ชัดว่า ศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าของเขื่อนปากมูลนับว่ายังน้อยมาก เมื่อเทียบกับศักยภาพของปริมาณไฟฟ้าจากเขื่องห้วยเฮาะ ปัญหาเขื่อนปากมูลจึงไม่ใช่ปัญหาปริมาณไฟฟ้า แต่เป็นปัญหาเรื่องเสถียรภาพ(ในบางวันและบางเวลา) โดย กฟผ.สามารถดำเนินการเร่งก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า เพื่อให้สามารถรองรับการส่งกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนน้ำเทิน 2 (ประเทศลาว) ได้ และยังสามารถปรับแก้สัญญาการซื้อไฟฟ้าจากขื่อนห้วยเฮาะ(ประเทศลาว) ให้สอดคล้องกับความต้องการการใช้ไฟฟ้าได้   นอกจากนั้น การศึกษาฯยังพบว่า การผลิตไฟฟ้าตลอดทั้งปีของเขื่อนฯ เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว กฟผ.มีกำไร 99 ล้านบาท ขณะที่รายได้รวมของครัวเรือนประมงลดลง 140 ล้านบาทต่อปี ยังไม่นับต้นทุนอื่นๆที่รัฐต้องใช้ในการจัดทำโครงการพัฒนาต่างๆจำนวนมาก ตลอดจนความเสียหายที่เกิดกับระบบนิเวศ และชุมชน ที่ไม่อาจประเมินเป็นตัวเลขได้

3. ถ้าเปิดประตูน้ำถาวร แล้วจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชลประทานหรือไม่

         การศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำนาในฤดูฝน การทำนาปรังในฤดูแล้ง ไม่ค่อยได้รับความนิยม เนื่องจากปัญหาของคุณภาพดิน และสภาพภูมิประเทศริมแม่น้ำ ทีมีลักษณะเป็นตลิ่งสูง มีผลาญหิน โขดหิน  ส่วนผืนดินบริเวณที่ดอน เป็นดินตื้น ชั้นล่างมีหินปน ไม่เหมาะสมกับการทำนา มีพื้นที่ส่วนน้อยที่ใช้ทำนาได้  การทุ่มงบประมาณกว่า ๑,๑๖๒ ล้านบาท สำหรับจัดสร้างสถานีสูบน้ำและคลองส่งน้ำจำนวนมาก จึงไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการทำนาของเกษตรกร นอกจากนั้น คลองส่งน้ำบางส่วน ยังสร้างรุกเข้าไปในที่สาธารณะของชุมชน เพื่อให้เจ้าของที่ดินที่มีฐานะและบุกรุกที่สาธารณะได้ใช้น้ำ
จากการศึกษาดังกล่าวยังพบว่า การปิดเปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูล ไม่มีผลต่อการสูบน้ำเพื่อใช้ในการชลประทาน เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสถานีสูบน้ำแบบแพลอย ซึ่งเหมาะสมกับสภาพการใช้ประโยชน์ ของชาวบ้าน ส่วนสถานีสูบน้ำแบบติดตั้งถาวร ที่มีอยู่จำนวน ๔ สถานีในจำนวน ๓๐ สถานี ก็มีการใช้ประโยชน์น้อย เนื่องจากชาวบ้านและ อบตุ มีต้นทุนในการจ่ายค่าสุบน้ำ ซึ่งเป็นภาระที่สูงเกินกว่าที่ชาวบ้านจะลงทุนได้

4. แต่ชาวบ้านได้รับค่าชดเชยและความช่วยเหลือต่างๆจากรัฐไปมากแล้ว ควรหยุดเรียกร้องสักที

           ในระหว่างการก่อสร้างเขื่อนปากมูล ในปี 2537 ชาวบ้านได้รับค่าชดเชยการสูญเสียที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย และอาชีพประมง สิ่งที่พวกเขาได้รับไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นค่าชดเชย เพราะเป็นจำนวนเงินที่น้อยมากเมื่อเทียบกับที่พวกเขาต้องสูญเสีย ตัวอย่างเช่น รัฐให้ค่าสูญเสียอาชีพประมงครัวเรือนละเก้าหมื่นบาท ถ้าคิดกลับกันว่า รัฐจ้างให้ใครก็ตามเป็น วิศวกร นักบัญชี แพทย์ ฯลฯ เลิกทำอาชีพดังกล่าวตลอดชีวิต แล้วให้ไปหาอาชีพใหม่ ห้ามทำอาชีพเดิม โดยให้เงินทุนในการเริ่มต้นเก้าหมื่นบาท ซึ่งเป็นไปไม่ได้และไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง ยังไม่นับว่าพวกเขาเป็นชาวบ้าน ทำอาชีพประมงมาตลอดชีวิต ไม่มีความรู้อื่นที่จะปรับตัวได้ นอกจากการขายแรงงาน   การคิดว่าการจ่ายค่าชดเชยดังกล่าวคุ้มค่ากับการสูญเสียของพวกเขา จึงเป็นความคิดที่อำมหิต ที่ขาดเมตตาธรรมและความยุติธรรมอย่างยิ่งถ้าเลือกได้ พวกเขาต้องการแม่น้ำของพวกเขากลับคืนมา มากกว่าเศษเงินเหล่านั้น สังคมชอบสอนให้ “หัดตกปลา” มากกว่า “ให้ปลา” ไม่ใช่หรือ

5. ก็ไหนๆเขื่อนก็ถูกสร้างไปแล้ว เพื่อความสมานฉันท์ และประโยชน์ของทุกฝ่าย เปิดบ้างปิดบ้างได้ไหม

         สังคมควรแก้ปัญหาด้วยความรู้ ไม่ใช่แก้ปัญหาด้วยการประนีประนอมโดยไม่มีเหตุผล การศึกษาทั้งในอดีตและปัจจุบัน ตอกย้ำให้เห็นถึงการได้ไม่คุ้มเสียในทุกด้านของการสร้างเขื่อน แล้วเราจะดันทุรังให้ใช้ประโยชน์ต่อไป เพื่อปกป้องเกียรติภูมิหรือศักดิ์ศรีของสถาบันใดสถาบันหนึ่ง โดยยอมแลกกับการสูญเสียวิถีชีวิตทั้งชีวิต ทั้งครัวเรือน ทั้งชุมชน ของชาวบ้านจำนวนมาก  สังคมที่อารยะแล้ว จะทนให้พฤติกรรมเหล่านี้เกิดกับเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายในสังคมเดียวกันได้หรือ นอกจากนั้น การเปิดๆปิดๆ จะไม่สามารถฟื้นฟูระบบนิเวค แบบเดิมกลับคืนมาได้ การทดลองเปิดเขื่อนตลอดปี ในปี 2545 ม.อุบลฯ พบว่ามีการฟื้นฟูทั้งวิถีชีวิต คุณภาพชีวิต และระบบนิเวศได้อย่างมีนัยสำคัญ

6. ถ้ายอมทำตามข้อเรียกร้องของชาวบ้าน ก็จะทำให้รัฐต้องทำแบบเดียวกันกับเขื่อนทั่วประเทศ แล้วนี่จะไม่ยุ่งไปกันใหญ่หรือ

          นี่ไม่ใช่ความผิดของใครคนใดคนหนึ่ง และไม่ใช่เรื่องที่จะโทษว่าเป็นความผิดของรัฐบาลปัจจุบันหรือแม้แต่รัฐบาลในอดีต ทั้งหมดนี้เป็นผลจากกระแสการพัฒนาที่เน้นเชิงปริมาณ และละเลยผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา ประวัติศาสตร์ของประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็เผชิญกับความขัดแย้งของการแย่งชิงทรัพยากร จนในท้ายที่สุดเมื่อสังคมเรียนรู้จักความขัดแย้งที่รุนแรงเหล่านั้น จึงมีข้อตกลงที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย สังคมจึงควรเรียนรู้และพัฒนาความรู้ในการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างพอดี และ เป็นธรรม  ยอมรับที่จะเปลี่ยนแปลงในเรื่องที่ผิดพลาดในอดีต คนเยอรมันและคนญี่ปุ่นปัจจุบัน สำนึกเสียใจกับการกระทำของบรรพบุรุษของตน ที่ก่อสงครามเมื่อกว่าหกสิบปีที่แล้ว กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ทั้งสองชาติประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ สังคมไทยจึงควรเรียนรู้จักความผิดพลาด และใช้ประโยชน์จากความผิดพลาด เพื่อความสุขของคนในสังคมทั้งปัจจุบันและอนาคต

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา