eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

แถลงการณ์สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)

 

ประนาฌปฏิบัติการณ์อันป่าเถื่อนทำร้ายประชาชน

รัฐบาลต้องดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำ

รัฐต้องเปิดประตูเขื่อนปากมูนตามผลการศึกษาของคณะกรรมการฯที่รัฐแต่งตั้งขึ้น

 

สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2545 เวลาประมาณ 3 นาฬิกา ได้มีชายฉกรรจ์จำนวน 33 คนพร้อมอาวุธครบมือ  ได้ปฏิบัติการอันป่าเถื่อน เข้าทำลายสิ่งของ รื้อเต้น ยึดแผ่นป้าย ของชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนปากมูลซึ่งชุมนุมกันอย่างสงบด้วยแนวทางสันติวิธีอยู่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดประตูเขื่อนปากมูลฟื้นฟูลุ่มน้ำมูลให้อุดมสมบูรณ์

 

สังคมไทยปกครองโดยระบบประชาธิปไตยมิใช่การปกครองโดยระบบเผด็จการอำนาจนิยม  ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมเรียกร้องเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนได้อย่างถูกต้องชอบธรรม   ซึ่งมีรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศยืนยันสิทธิการชุมนุม 

 

ดังนั้นปฏิบัติการณ์อันป่าเถื่อนที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ไม่ว่าเป็นการกระทำของใครหรือกลุ่มใดก็ตาม จึงเป็นการกระทำที่หลงยุคหลงสมัย การเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจาก การสร้างเขื่อนปากมูนมีมาหลายรัฐบาล ก็เนื่องมาจากการสร้างเขื่อนปากมูนนั้นไม่คุ้มค่าซึ่งเหมือนข้อเสนอของคณะกรรมการเขื่อนโลก แม้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะอ้างว่าเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าก็ตาม แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและด้านสังคมแล้วยังได้ไม่คุ้มเสีย เพราะผลิตกระแสไฟฟ้านั้นได้เพียง1ใน3เท่านั้นจากจำนวน 126 เมกะวัตต์  ขณะที่ประเทศไทยมีพลังงานไฟฟ้าเหลือใช้เพียงพอไม่ต่ำกว่า 5 ปี 

 

อย่างไรก็ตาม   ต่อมาสมัยรัฐบาลทักษิณได้แต่งตั้งคณะวิจัยผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล เพื่อนำความรู้จากผลงานวิจัยมาเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจของรัฐบาล  โดยให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นทีมหลักในการวิจัย   และนายปองพล อดิเรกสาร  รองนายรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบและได้นายปองพลกลับได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ปิดเขื่อนและเปิดเพียง 4 เดือนซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนที่ต้องเปิดอยู่แล้ว

 

ขณะเดียวกัน ชาวบ้านได้เสนอให้มีการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูนทั้ง 8 บาน ตลอดปีอย่างถาวร เป็นการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศแม่น้ำมูนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน อีกทั้งฟื้นฟูชีวิตชุมชนชาวบ้าน ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ต่อประเด็นการเปิดประตูระบายน้ำ 

 

ซึ่งผลการศึกษาพบว่า การเปิดประตูน้ำถาวรไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบการจ่ายกำลังไฟฟ้าในภาคตะวันตกเฉียงเหนือตอนล่าง และไม่ส่งผลกระทบด้านชลประทาน อีกทั้งมีการพบพันธุ์ปลา 184 ชนิด   ที่สำคัญการปิดประตูถาวร การเปิดประตูบางช่วงและการปิดบางช่วงเวลาจะส่งผลต่อระบบนิเวศ เศรษฐกิจและวิถีชิวิตของชุมชน  มีเพียงการเปิดประตูระบายน้ำตลอดปีเท่านั้นที่จะทำให้ฟื้นฟูระบบนิเวศ เศรษฐกิจและวิถีชีวิตของชุมชนได้ 

 

แต่รัฐบาลกลับไม่สนใจใยดีกับ องค์ความรู้ที่ได้จากผลการศึกษาจึงไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์เป็นพื้นฐานในการตัดสินใจเพื่อแก้ไขปัญหาของชาวบ้านแต่อย่างใด การเคลื่อนไหวของชาวบ้านปากมูลในครั้งนี้ รัฐบาลได้ละเมิดรัฐธรรมนูญไม่ยอมรับกระบวนการมีส่วนร่วม ไม่ฟังความรู้จากผลงานวิจัยที่รัฐบาลเป็นผู้เห็นว่าน่าจะเป็นทางออกต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมาแล้ว   รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีกลับมีท่าทีเมินเฉยและกล่าวบิดเบือนต่อสาธารณชนว่าเป็นการสร้างผลงานของ การเคลื่อนไหวเป็นท่าทีเก่าๆที่ทุกรัฐบาลหยิกยกมาอธิบายที่หยาบสามานต์เหมือนเคย โดยมิได้หยิบยกเนื้อหาองค์ความรู้ผลงานวิจัยที่รัฐบาลเสนอเองมาเป็นอำนาจในการตัดสินใจ  รัฐบาลก็ยังคิดเก่าทำเก่า เช่นเดิม ขณะเดียวกัน  ชาวบ้านเองในฐานะผู้ดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่และเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ก็ได้มีงาน “วิจัยไทบ้าน” ขึ้นเช่นกัน  ซึ่งผลการศึกษากล่าวอย่างสรุปรวบรัดได้ว่า

 

ด้านระบบนิเวศน์ ปลา และพรรณพืช  ก่อนสร้างเขื่อนปากมูน ซึ่งแม่น้ำมูนถือเป็นแม่น้ำที่ อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของประเทศไทยนั้น มีพันธุ์ปลามากถึง 265 ชนิด   แต่ภายหลังจากการสร้างเขื่อนเหลือปลาอยู่เพียง 43 ชนิด  มีสาเหตุมาจากปลาไม่สามารถอพยพผ่านบันไดปลาโจรได้  ส่วนหนึ่งเกิดจากการระบาดของศัตรูของปลา เช่น เห็บปลา  หอยคัน ผักตบชวา  นอกจากนี้แล้วการระเบิดแก่งทำให้ป่าและพรรณพืชซึ่งเป็นอาหาร ที่อยู่อาศัย และวางไข่ของปลาต้องสูญหายไป

 

ขณะที่การเปิดประตูเขื่อน กลับพบว่า มีพันธุ์ปลาถึง 156 ชนิด  ปลาที่พบยังเป็นปลาที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ เช่น  ปลาบึก ปลาตองกราย ปลาบู่หิน ปลาแข่หิน และปลาเอี่ยนหู    รวมทั้งแม่น้ำสะอาดขึ้น ผักตบชวา เห็บปลา  และหอยคัน หายหมดไป

 

ด้านสังคม เศรษฐกิจ  และวัฒนธรรม    ก่อนสร้างเขื่อนปากมูน  ชุมชนมีหลักประกันความมั่นคงในมิติต่างๆที่ทำให้ชุมชนสามาราถพึ่งตนเองได้จากฐานทรัพยากรแม่น้ำมูน เช่น ความมั่นคงด้านอาหาร ความมั่นคงทางสุขภาพ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ   แต่ภายหลังจากการสร้างเขื่อน ชุมชนกลับมีหนี้สินกันทุกคน   ร้อยละ 40 ต้องส่งลูกไปทำงานต่างประเทศ  จึงไร้ซึ่งหลักประกันความมั่นคงของชีวิต   แต่ภายหลังจากการเปิดประตูเขื่อนกลับพบว่า   ชาวบ้านจำนวนถึง 6,915 ครัวเรือนได้กับมาหาปลาอีกครั้งหนึ่งและเป็นอาชีพและแหล่งรายได้หลัก   ในช่วงที่ปลาใหญ่ขึ้นมีรายได้มากกว่า 400 บาทต่อวัน  และช่วงปกติประมาณ 200-300 บาทต่อวัน  ที่สำคัญยังทำให้แรงงานอพยพที่ไปทำงานต่างถิ่นตัดสินใจกลับบ้านเมื่อกลับมาแล้วมีความมั่นใจ ว่ามีหลักประกันความมั่นคง

 

 จากที่กล่าวมาทั้งหมด เราในนาม สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) ซึ่งเป็นองค์ของประชาชนภาคเหนือ ขอแถลงและเรียกร้องต่อรัฐบาลดังนี้

 

1.ขอประนาฌปฏิบัติการณ์อันป่าเถื่อนในครั้งนี้

 

2.รัฐบาลต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อการกระทำของกลุ่มบุคคลและผู้อยู่เบื้องหลังปฏิบัตการณ์อันป่าเถื่อน มาลงโทษตามกฎหมายโดยเร่งด่วน มิฉะนั้นทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดได้ว่าเป็นการกระทำของรัฐบาลหรือลิ่วล้อของรัฐบาลเสียเองก็ได้

 

           3.รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ต้องยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่ให้มีการปิดประตูเขื่อนปากมูน และให้มีการเปิดประตูเขื่อนปากมูนเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์  มิฉะนั้นถือได้ว่ารัฐบาลชุดนี้มิได้ใช้องค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหา เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณภาษีประชาชนจำนวนถึง 10 ล้านบาท ในการให้คณะวิจัย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ศึกษาผลกระทบการสร้างเขื่อนปากมูน เมื่อผลการวิจัยมีข้อเสนอที่สำคัญให้เปิดประตูเขื่อนปากมูน  แต่รัฐบาลกลับไม่ได้นำองค์ความรู้มาแก้ไขปัญหา แต่กลับบิดเบือนข้อเสนอเสียเอง และถ้ารัฐบาลยืนยันให้มีการปิดประตูเขื่อนปากมูนก็เท่ากับว่า รัฐบาลแก้ไขปัญหาประชาชนโดยมีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่ หรืออยู่ภายใต้การครอบงำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

 

ด้วยความเชื่อมั่นพลังประชาชน

 

สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา