eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

แถลงการณ์สมัชชาคนจน

เวทีสาธารณะไม่ใช่เวทีเอาชนะทางห้องส่งของรัฐบาล เพื่อชี้แจงมติของรัฐบาล

เวทีสาธารณะต้องโปร่งใส เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนทุกแขนงร่วมรับฟัง

วันที่ 2 สิงหาคม 2543 ทำเนียบรัฐบาล

                กรณีการจัดเวทีสาธารณะที่รัฐบาลยืนยันแนวคิดในการใช้ห้องส่งช่อง 11 โดยจะให้คำตอบในวันพรุ่งนี้ เวลา 10.00 น. นั้น สมัชชาคนจนขอย้ำในหลักการที่นำเสนอว่า เวทีสาธารณะต้องโปร่งใส เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนทุกแขนงร่วมรับฟัง การออกอากาศทางห้องส่งที่มีเพียงผู้เข้าร่วมไม่กี่คนจึงไม่ใช่เวทีสาธารณะ ทั้งนี้ การออกอากาศทางห้องส่งน่าจะใช้เวลาได้ น้อยเพียง 1-2 ชั่วโมง ถ้าเทียบเป็นรายกรณีจะได้ชี้แจงเพียงกรณีละ 7-8 นาที

สมัชชาคนจนขอย้ำการหลักการการจัดเวทีสาธารณะ ดังนี้

ประการที่หนึ่ง เวทีสาธารณะมีองค์ประกอบ 3 ส่วน ได้แก่ รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการกลาง และตัวแทนสมัชชาคน จน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การให้คณะกรรมการกลางและสมัชชาคนจนชี้แจงข้อเท็จจริงต่อ ครม. ในประเด็น 16 กรณีปัญหา เพื่อให้ ครม. เข้าใจปัญหาและสามารถกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง มิใช่รับฟังจากทางราชการ แต่ฝ่ายเดียว จนมีมติ ครม. 25 กรกฎาคม ดังนั้นเวทีสาธารณะจึงไม่ใช่เวทีที่รัฐบาลชี้แจงมติ ครม.

ประการที่สอง การจัดเวทีสาธารณะควรใช้สถานที่ที่เปิดโอกาสให้นักวิชาการ สื่อมวลชนทุกแขนง และผู้สนใจเข้าร่วมรับฟัง ไม่ใช่การออกรายการช่อง 11 ที่มีผู้เข้าร่วมชี้แจงเพียง 10-20 คน เท่านั้น ข้อเสนอของรัฐบาลจึงไม่โปร่งใส ปิดกั้นสื่อมวลชน วิทยุ หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ทุกช่อง เข้าร่วมรับฟังเวทีสาธารณะ

ประการที่สาม การออกอากาศทางห้องส่งเพียง 1-2 ชั่วโมง ไม่เพียงพอต่อการชี้แจงรายละเอียดและข้อเท็จจริงทั้ง 16 กรณี ปัญหา  ซึ่งหากเทียบปัญหา 16 กรณี กับเวลา 2 ชั่วโมง จะชี้แจงได้เพียงกรณีปัญหาละ 7-8 นาที ขณะที่ สมัชชาคนจนจะมี โอกาสชี้แจงเพียง 2-3 นาที จึงเป็นการสวนทางกับสิ่งที่รัฐมนตรีพูดเสมอมาว่า กรณีปัญหา ทั้ง 16 กรณี จะเป็นบรรทัดฐานใน การแก้ไขปัญหาของประเทศ ดังนั้น ปัญหาของประเทศชาติจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยการใช้เวลาเพียง 1-2 ชั่วโมง

สมัชชาคนจนขอย้ำว่า ภายหลังการตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นลายลักษณ์อักษร วันที่ 25 กรกฎาคม ในเบื้องต้น มีเพียง กรณีเดียวที่คณะรัฐมนตรีปฏิบัติตามมติคณะกรรมการกลาง ได้แก่ กรณีที่สาธารณประโยชน์บ้านวังใหม่ จ.อุบลราชธานี นั่น คือ ให้จังหวัดประสานงานกับองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแสงใหญ่และตัวแทนชาวบ้าน ให้พิจารณาสภาพการใช้ประ โยชน์ที่ดินสาธารณประโยชน์แปลงนี้อีกครั้งให้เป็นที่ยุติ สรุปการแก้ไขปัญหาจึงมีเพียงกรณีเดียวที่คณะรัฐมนตรีปฏิบัติตาม มติคณะกรรมการกลางที่รัฐบาลตั้งขึ้น ไม่ใช่เหลือเพียง 3 กรณี ตามที่รัฐบาลกล่าวอ้าง

ด้วยความเชื่อมั่นในพลังคนจน

******************************************************************

เวทีสาธารณะ

“ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาสมัชชาคนจน”

หลักการและเหตุผล

สืบเนื่องมาจากกรณีปัญหา 16 กรณี ที่สมัชชาคนจนเรียกร้องต่อรัฐบาล และยังไม่มีข้อยุติในการแก้ปัญหาที่เป็นความเห็น ร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับสมัชชาคนจน  ทางสมัชชาคนจนเสนอให้มีการจัด “เวทีสาธารณะ”  เพื่อให้เป็นเวทีนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน นำไปสู่การแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ที่เป็นข้อยุติร่วมกัน ทางสมัชชาคนจน เห็นว่าจำเป็นจะต้องมีหลักเกณฑ์ในการดำเนินการจัดเวทีดังต่อไปนี้

เป็นเวทีซึ่งเปิดโอกาสให้รัฐบาลได้รับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านจากคณะกรรมการกลาง และกลุ่มผู้เดือดร้อน  มิใช่รับ ฟังจากข้าราชการแต่เพียงฝ่ายเดียวเช่นที่ผ่านมา พร้อมทั้งให้รัฐบาลได้ชี้แจงเหตุผลของมติ ครม.25 กรกฎาคม 2543 อย่าง ละเอียด

เวทีสาธารณะตามข้อเสนอของสมัชชาคนจน ต้องเป็นเวทีเปิดให้ผู้สนใจ และสื่อมวลชนทุกแขนง โทรทัศน์ทุกช่องได้เข้า รับฟัง และทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะอย่างกว้างขวาง และเป็นกลาง มิใช่ใช้เพียงช่องทางสื่อของรัฐ เช่น สถานี โทรทัศน์ช่อง 11 เท่านั้น

สถานที่ควรเป็นสถาบันทางวิชาการที่เป็นกลาง

เวทีดังกล่าวนี้คงไม่ใช่เวทีเอาแพ้ชนะ หรือเวทีโต้วาที กรณีปัญหาทั้ง 16 กรณีดังกล่าว มีข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่มีข้อ แตกต่างในแต่ละกรณี ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการนำเสนอข้อมูลอย่างคลุมเครือ ที่อาจสร้างความสับสนแก่สาธารณชน  จึงจำ เป็นที่ต้องกำหนดกรอบ วิธีการ และระยะเวลาในการนำเสนอที่เหมาะสม โดยให้มีการชี้แจงข้อเท็จจริง และเสนอความเห็น จากทั้งสามฝ่ายเป็นรายกรณีทั้ง 16 กรณี เริ่มต้นที่คณะกรรมการกลาง  รัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และสมัชชาคนจน ตาม ลำดับภายในระยะเวลาที่กำหนด (รายละเอียดท้ายเอกสาร)  

องค์ประกอบผู้นำเสนอ

รัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง 

คณะกรรมการกลาง

สมัชชาคนจน

ผู้เข้าร่วม

ผู้สนใจทั่วไป

นักวิชาการสถาบันวิชาการต่าง ๆ

สื่อมวลชนทุกแขนง

วันเวลา                    วันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม 2543

สถานที่                    ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  มหาวิทยาลัยศิลปากร

ผู้ดำเนินรายการ                ดร.เจิมศักดิ์  ปิ่นทอง  

วิธีการนำเสนอ

ลำดับการนำเสนอรายกรณี และกลุ่มกรณีที่ใกล้เคียงกัน

กรณีเขื่อนปากมูล

กรณีเขื่อนสิรินธร

กรณีฝายราษีไศล

กรณีเขื่อนห้วยละห้า และเขื่อนลำคันฉู

กรณีเขื่อนที่ยังไม่ได้สร้าง 3 เขื่อน (โปร่งขุนเพชร, ลำโดมใหญ่, ฝายหัวนา)

กรณีปัญหาป่าสงวน ฯ และป่าอนุรักษ์ทับที่ดินทำกิน 4 กรณี

กรณีที่ดินสาธารณประโยชน์ 2 กรณี

กรณีปัญหาโครงการพัฒนาของรัฐ 1 กรณี (ชุมชนตลาดชุมชนช่องเม็ก และชุมชนบ้านเหล่าอินทร์แปลง)

ลักษณะการนำเสนอแต่ละกรณี

ตัวแทนคณะกรรมการกลาง (ประธาน และเลขานุการ) ชี้แจงข้อเสนอ และเหตุผลประกอบข้อเสนอ เวลา 10 นาที

รัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงมติ ครม. 25 กค.2543 เวลา 10 นาที

ตัวแทนสมัชชาคนจน ชี้แจง 10 นาที

รัฐมนตรี และตัวแทนสมัชชาคนจนชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมอีกฝ่ายละ 5 นาทีตามลำดับ

ผู้ดำเนินรายการสรุปข้อมูลทั้งหมดของแต่ละกรณี

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา