eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

แถลงการณ์สมัชชาคนจน

รัฐบาลล้มเวทีสาธารณะคนจน ยืนกรานจัดเวทีเอาชนะทางห้องส่งของรัฐบาล

วันที่ 3 สิงหาคม 2543 ทำเนียบรัฐบาล

                กรณีการจัดเวทีสาธารณะที่รัฐบาลยืนกรานใช้ห้องส่งช่อง 11 สมัชชาคนจนขอย้ำว่า เวทีสาธารณะต้องโปร่งใส เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนทุกแขนงร่วมรับฟัง การออกอากาศทางห้องส่งที่มีเพียงผู้เข้าร่วมไม่กี่คนจึงไม่ใช่เวทีสาธารณะ ทั้งนี้ การออกอากาศเพียง 1-2 ชั่วโมง ถ้าเทียบเป็นรายกรณีจะได้ชี้แจงเพียงกรณีละ 7-8 นาที

                สมัชชาคนจนขอชี้แจงเรื่องที่มาของการเรียกร้องให้มีการจัดเวทีสาธารณะ ภายหลัง ครม.มีมติเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม และส่งมอบมติ ครม.ที่เป็นทางการเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ดังนี้

ประการที่หนึ่ง ขณะที่ยังไม่มีมติ ครม.ที่เป็นทางการ รัฐบาลกลับใช้โวหารทางการเมือง บิดเบือนข้อเรียกร้อง ทำลาย ความชอบธรรมสมัชชาคนจน โดยการให้สัมภาษณ์ว่า เป็นการเรียกร้องค่าชดเชยซ้ำซ้อน ทั้งที่ ไม่มีข้อเรียกร้องเรื่อง ค่าชดเชยซ้ำซ้อน และการเรียกร้องของสมัชชาคนจนเพื่อให้ทบทวนมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 เป็นการเรียกร้องที่คำนึง ถึงความยั่งยืนของป่าและทรัพยากร รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 76

ประการที่สอง รัฐบาลยกเมฆโกหกต่อสาธารณชนว่าแก้ไขปัญหาแล้ว 13 กรณี ทั้งที่ มีเพียงกรณีเดียวที่คณะรัฐมนตรี ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการกลาง ได้แก่ กรณีที่สาธารณประโยชน์บ้านวังใหม่ จ.อุบลราชธานี นั่นคือ ให้จังหวัดประสาน งานกับองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแสงใหญ่และตัวแทนชาวบ้าน สรุปการแก้ไขปัญหาจึงมีเพียง กรณีเดียวที่คณะ รัฐมนตรีปฏิบัติตามมติคณะกรรมการกลางที่รัฐบาลตั้งขึ้น

ประการที่สาม การสาดโคลนทางการเมืองโดยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ อาทิ การให้สัมภาษณ์ของพลตำรวจตรีโยธิน มัธยมนันท์ ที่ว่า มีการจ้างนักศึกษามาอดอาหาร เป็นการแสดงวุฒิภาวะทางการเมืองที่อ่อนด้อย หลงยุค เป็นบ่างช่างยุ หรือเด็กเลี้ยงแกะที่ไม่รู้จักโต ต้องการเลื่อนตำแหน่งด้วยการสอพลอ เราต้องการให้พลตำรวจตรีโยธิน แสดงหลักฐาน เรื่องการว่าจ้างนักศึกษามาอดอาหาร ถ้าไม่สามารถทำได้ควรรับผิดชอบต่อคำพูดที่สร้างความแตกแยกให้กับสังคม

สมัชชาคนจนขอย้ำว่า ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่รัฐบาลจะไม่จัดเวทีสาธารณะที่เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนทุกแขนง และผู้ สนใจเข้าร่วมรับฟัง การออกช่อง 11 ที่มีผู้เข้าร่วมเพียง 10-20 คน เป็นการไม่โปร่งใส ปิดกั้นสื่อมวลชน วิทยุ หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ทุกช่อง เข้าร่วมรับฟัง สวนทางกับสิ่งที่รัฐบาลพูดว่า รัฐบาลรู้อย่างไร ประชาชนรู้อย่างนั้น

สมัชชาคนจนขอย้ำว่า เราไม่ได้ดื้อดึงเรื่องเวทีสาธารณะ เนื่องจาก การออกอากาศทางห้องส่งเพียง 1-2 ชั่วโมง ไม่เพียง พอต่อการชี้แจงข้อเท็จจริงทั้ง 16 กรณีปัญหา ซึ่งหากเทียบกับเวลา 2 ชั่วโมง จะชี้แจงได้เพียงกรณีละ 7 นาทีเศษ เป็นการ สวนทางกับสิ่งที่รัฐบาลพูดเสมอว่า ปัญหาทั้ง 16 กรณี เป็นบรรทัดฐานในการแก้ไขปัญหาของประเทศ

ด้วยความเชื่อมั่นในพลังคนจน

***************************************************************

ลำดับเหตุการณ์ความไม่จริงใจของรัฐบาลชวน หลีกภัย

วันที่ 19 กรกฎาคม

       สมาชิกสมัชชาคนจน 225 คน ปฏิเสธข้อกล่าวหาบุกรุกทำเนียบรัฐบาล และปฏิเสธการประกันตัว เพื่อยืนยันความ บริสุทธิ์ โดย สคจ. ได้ร้องขอให้สภาทนายความเป็นที่ปรึกษาในการต่อสู้คดี แต่ในช่วงเย็น นายจำเริญ วราภรณ์ ซึ่งอ้างตัว ว่าเป็นนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้ใช้ตำแหน่งประกันตัวทั้ง 225 คน โดยที่สมาชิกสมัชชาคนจนไม่ยิน ยอม เรื่องนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสื่อมวลชน โดยเฉพาะนายจำเริญ มีความเกี่ยวพันอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์อย่างแยก ไม่ออก และการประกันตัวโดยมิได้รับความยินยอมจากผู้ต้องหาก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เรื่อง นี้ทุกฝ่ายลงความเห็นว่า จะต้องมีเบื้องหลัง เพื่อลดกระแสกดดันทางการเมือง เป็นความพยายามแทรกแซงกระบวนการ ยุติธรรมอย่างเห็นได้ชัด

นายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย พร้อมนายบัญญัติ บรรทัดฐาน รองนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เดินทางเข้าเยี่ยมผู้ชุมนุมในคืนเดียวกัน เวลาประมาณ 20.00 น. ทั้งที่ไม่เคยลงมาเยี่ยมเยียนผู้ชุมนุมเรียกร้องตลอดสมัย ของรัฐบาล และการเยี่ยมเยียนเป็นไปอย่างรวดเร็ว และแวะทักทายผู้ชุมนุมเพียง 2-3 คน

วันที่ 25 กรกฎาคม         

ภายหลังการพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการกลางฯ  นายบัญญัติ บรรทัดฐาน แถลงมติ ครม. ซึ่งมีเนื้อหาส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมการกลางฯ และกล่าวว่าผู้ชุมนุมควรเข้าใจว่า ไม่มีใครได้อะไรทั้งหมด  ที่ช่วยได้ รัฐบาลก็พยายามช่วยอย่างเต็มที่ เรื่องเรียกร้องที่กระทำผิดกฎหมาย รัฐบาลคงช่วยไม่ได้ โดยเฉพาะ เรื่องการจ่ายชดเชย ซ้ำซ้อนย้อนหลัง เรื่องการขอโฉนดที่ดินในเขตป่าอนุรักษ์

                ตั้งแต่วันที่ 25-31 กรกฎาคม รัฐบาลใช้สื่อในการโหมประเด็นโจมตี สคจ. ใน 3 ประเด็น คือ ไม่มีใครได้อะไร ทั้งหมด การจ่ายชดเชยซ้ำซ้อนย้อนหลัง และ การออกเอกสารสิทธิ์ในเขตป่าอนุรักษ์เป็นเรื่องผิดกฎหมาย รวมทั้งใช้ พล.ต.ต.โยธิน มัธยมนันท์ กล่าวหา การชุมนุมว่า เป็นม๊อบรับจ้าง เป็น ขตล. เป็นพวกที่ได้รับค่าชดเชยแล้วแต่ไม่รู้จักพอ รับเงินต่างชาติมาเคลื่อนไหว สอดรับกับนายอรรคพล สรสุชาติ โฆษกรัฐบาลที่กล่าวหาว่า สคจ. ร่วมมือกับองค์กรระดับ โลก IRN เพื่อทำลายเขื่อนทุกเขื่อนในประเทศไทย เขียนป้ายผ้าภาษาอังกฤษเพื่อสื่อสารผลงานไปถึงองค์การเหล่านั้น

วันที่ 26 กรกฎาคม

สมัชชาคนจนมีมติไม่เห็นด้วยกับมติ ครม. และเรียกร้องให้เปิดเวทีสาธารณะเพื่อให้ข้อมูลของผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งเหตุผลของคณะกรรมการกลางฯที่ไม่ได้รับการพิจารณาจาก ครม.           

สมัชชาคนจน ประกาศจะอดอาหาร  ถ้ารัฐบาลไม่ให้คำตอบภายในเที่ยงของวันที่ 27

วันที่ 27 กรกฎาคม

ช่วงเช้า นายอลงกรณ์ พลบุตร แถลง เห็นด้วยกับการเปิดเวทีสาธารณะ ช่วงบ่าย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ปฏิเสธการเปิด เวทีฯ ให้เหตุผลว่า รัฐบาลได้ชี้แจงไปหมดแล้ว ไม่จำเป็นต้องชี้แจงอีก

                เวลา 14.00 น. สมัชชาคนจนประกาศอดอาหาร เพื่อสื่อให้สังคมเห็นความทุกข์ของคนจนในสังคมไทย

วันที่ 29 กรกฎาคม

องค์กรประชาธิปไตยและองค์กรพัฒนาเอกชน 169 องค์กร ชุมนุม ณ ท้องสนามหลวง เพื่อเรียกร้องให้ ยุบสภา  สมัชชา คนจนเข้าร่วมในฐานะพันธมิตร และส่งคนเข้าร่วมชี้แจงปัญหา 16 กรณี พร้อมทั้งยืนยันในประเด็นการเรียกร้องให้ แก้ปัญหาทั้ง 16 กรณี  แต่หากรัฐบาลแก้ปัญหาไม่ได้ การยุบสภาก็เป็นทางออกตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตย

                นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่า ยินดีเปิดเวทีสาธารณะ

วันที่ 31 กรกฎาคม

                นายอรรคพล สรสุชาติ โฆษกรัฐบาล แถลงว่า พร้อมจัดเวทีชี้แจงได้ทุกที่ ทุกเวลา ขอให้ สคจ. แจ้งให้ทราบ ต่อมานายอำนวย ปะติเส แถลงว่า รัฐบาลยินดีจัดเวทีชี้แจง ที่ห้องส่งช่อง 11 ในรายการกรองสถานการณ์ หลังข่าวภาคค่ำ ทั้งที่ไม่ได้มีการประสานงาน หรือหารือใดๆ กับ สคจ. 

วันที่ 1 สิงหาคม

                 สคจ. ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับการจัดเวทีที่ช่อง 11 และใช้เวลาเพียง ๒ ชั่วโมง ถ้ารัฐบาลพร้อมชี้แจงใน ทุกสถานที่ และเวลา สคจ.เสนอให้ใช้สถานที่ที่เป็นกลาง ให้สื่อมวลชนและนักวิชาการจากทุกแขนงเข้าร่วมรับฟัง

วันที่ 2 สิงหาคม

                ตัวแทน สคจ. ร่วมหารือกับนายอำนวย ปะติเส เรื่องการจัดเวที นายอำนวย ตกลงในหลักการ คือ ระยะเวลา 1 วัน ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนสมัชชาคนจน และคณะกรรมการกลางฯ เท่านั้น ชี้แจงทีละ ประเด็น ฝ่ายละ 10  นาที  โดยมีผู้ดำเนินรายการที่เป็นกลาง  ส่วนสถานที่จัด  จะนำไปหารือและให้คำตอบอีกครั้ง

วันที่ 3 สิงหาคม

เวลา 8.45 น.  นายอำนวย ออกรายการสายตรง ITV ทางโทรศัพท์ ยืนยันว่าตกลงได้ทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่อง สถานที่จัด  โดย ให้เหตุผลเพียงว่า ถ้าเพื่อการชี้แจง ช่อง 11 เหมาะสมที่สุด  ทั้งที่พิธีกรพยายามสอบถามถึงเหตุผล และขอให้มีการอะลุ้ม อะล่วยเพื่อให้มีการแก้ปัญหา แต่นายอำนวยยังคงยืนยันด้วยเหตุผลที่ไม่ชัดเจน

                เวลา 10.00 น. ตัวแทน สคจ. เข้าพบนายอำนวย เพื่อขอฟังคำตอบ นายอำนวยยังยืนยันเรื่องการจัดที่ช่อง 11  และยังบอกด้วยว่า การชี้แจงต้องให้เวลาที่เหมาะสม ไม่ใช่ฝ่ายละ 10  นาที ตัวแทน สคจ. ชี้แจงว่าทุกเรื่องตกลงแล้วไม่ ควรย้อนกลับไปสู่เรื่องเก่า ควรหารือเรื่องสถานที่ นายอำนวยยืนยันว่าไม่ได้ตกลงเรื่องการใช้เวลาชี้แจง ระหว่างเจรจา นายอำนวยลุกเดินออกไปจากห้อง

                ทั้งหมดนี้เป็นลำดับเหตุการณ์วิธีการแก้ปัญหาของรัฐบาล นายชวน หลีกภัย  ซึ่งพยายามบอกกับสาธารณะ ตลอดเวลาว่า ใช้หลักการ กฎระเบียบ กฎหมายในการแก้ปัญหา  นอกจากจะละเมิดหลักการ แทรกแซงกระบวนการ ยุติธรรม ใช้สื่อกล่าวร้ายป้ายสี บิดเบือนข้อเท็จจริงมติคณะกรรมการกลางฯ ทำลายภาพลักษณ์ของขบวนการประชาชน คล้ายยุคเผด็จการทหารปราบคอมมิวนิสต์ เมื่อเห็นว่าจวนตัว ไม่สามารถควบคุมสื่อในที่สาธารณะ ก็ใช้วิธีล้มกระดานโดย อ้างเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น

                สมัชชาคนจนจึงไม่มีความเชื่อมั่นในความจริงใจในการแก้ปัญหาจากรัฐบาลฯพณฯชวน หลีกภัย ถ้าทุกอย่าง เป็นเพียงเรื่องที่รัฐบาลพยายามแก้เกมส์ในทางการเมืองเท่านั้น

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา