eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

สารรักษ์แม่มูน หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน

แถลงการณ์    ข้อเสนอต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

ลำดับเหตุการณ์หลังมติค.ร.ม   ประวัติพื้นที่หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน

จัดทำโดย                สมัชชาคนจน หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 1 เขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี  โทร.01-9553706

แถลงการณ์

เจตนารมณ์หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 

หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๔๒ เกิดจากการวมตัวของผุ้ได้รับผลกระทบจากการ ก่อสร้างเขื่อนและกรณีป่าไม้ที่ดิน รวมทั้งหมด ๑๖ กรณีปัญหานับตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน ได้ผ่านเหตุการณ์ ร้อนหนาวต่างๆ ดังนี้

๑. ปี ๒๕๔๒ หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน เป็นตัวอย่างของการจัดระเบียบชุมชนของผู้ได้รับผลกระทบ รวมตัวกัน เรียกร้องแสดงปัญหาแต่เนื่องจากรัฐและสังคมไม่สนใจหรือไม่ได้รับข่าวสารที่ถูกต้อง จากชาวบ้าน ปัญหาและข้อเรียก ร้องต่างๆ  จึงไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้การชุมนุมยืดเยื้อ ชาวบ้านจึงต้อง ปรับตัวในการต่อสู้เรียกร้อง ด้วยการจัดกิจกรรม ต่างๆ ในที่ชุมนุมและเชื้อเชิญผู้รักความเป็นธรรมต่างๆ ทั้งในภาคเอกชน นักวิชาการ ข้าราชการมาเรียนรู้และเข้าใจ ปัญหาอย่างค่อยๆเป็นค่อยๆไป

            จุดที่ตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน คือสันเขื่อนปากมูล เพื่อให้ผู้ที่มาเยี่ยมเยือนหรือนักศึกษาปัญหาสังคมต่างๆ เห็นรูปธรรมของปัญหาที่ชัดเจน ซึ่งจะดีกว่าพูดออกจากปากอย่างเดียว จากจุดนี้ก็สามารถที่จะทำความเข้าใจกับเรื่องอื่นๆ ได้ง่ายเช่นเดียวกัน เพราะผลกระทบที่เกิดจากการพัฒนาเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง มีความละเอียดซับซ้อนเกินกว่า การจะอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆในเวลาอันจำกัด

๒. ปี ๒๕๔๓ หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน เริ่มเคลื่อนไหวต่อรองกับรัฐบาล เพื่อสร้างบรรทัดฐานในการแก้ไขปัญหาทั้ง ระยะสั้นและระยะยาวและยังมีจุดประสงค์เพื่อให้ ข้อมูลการเรียกร้องแพร่กระจายไปในวงกว้าง โดยอาศัยสื่อมวลชนและ สามารถทำได้สำเร็จระดับหนึ่ง โดยรัฐบาลยอมตั้งคณะกรรมการกลางแก้ไขปัญหาที่มีนักวิชาการจากสถาบันต่างๆ เข้าร่วมการพิจารณาและเสนอแนวทางแก้ไข แต่ก็ถูกเพิกเฉยจากรัฐบาล ชาวบ้านแม่มูนมั่นยืนจึงยินยอมให้ถูกจับกุม โดยไม่ยอมออกจากคุกจำนวน ๒๒๖ คน ในกรณีปีนทำเนียบเพื่อประท้วงรัฐบาลและเรียกร้องความเห็นใจจากสาธารณชน วันเวลาผ่านไปจนถึงรัฐบาลใหม่ที่นำโดยนายทักษิณ ชินวัตร ที่ยอมรับปากการแก้ไขปัญหาด้วยการนำแนวทางต่างๆ ที่ตกลงกันเข้าค.ร.ม.เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๔๔ ชาวแม่มูนมั่นยืนจึงยอมถอยกลับไปชุมนุมรอการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ที่สันเขื่อนปากมูล

๓.หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน เป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา ดังนั้นจึงเกิดหมู่บ้านแม่มูน มั่นยืนในที่ต่างๆ ดังนี้

ปี ๒๕๔๒-ปัจจุบัน           หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน ๑                เขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี

ปี ๒๕๔๒-๒๕๔๓            หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน ๒.๓             เขื่อนราษีไศล จ.ศรีสะเกษ

ปี ๒๕๔๒-ปัจจุบัน           หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน ๔                เขื่อนโป่งขุนเพชร  จ.ชัยภูมิ

ปี ๒๕๔๒-ปัจจุบัน           หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน ๕                เขื่อนลำคันฉู  จ.ชัยภูมิ

ปี ๒๕๔๒-ปัจจุบัน           หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน ๖                เขื่อนลำโดมใหญ่จ.อุบลราชธานี

ปี ๒๕๔๓-๒๕๔๓            หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน ๗                โรงปั่นไฟ เขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี

ปี ๒๕๔๓-๒๕๔๔            หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน ๘               หน้าทำเนียบรัฐบาล (ข้างพาณิชย์พระนคร ๙ เดือน)

ปี ๒๕๔๓-๒๕๔๓            หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน ๙               หน้าทำเนียบรัฐบาล (ข้าง กพ. ๔ เดือน)

ปี ๒๕๔๔-ปัจจุบัน           หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน ๑๐              เขื่อนห้วยทราย จ.ชัยภูมิ

๔.ปัจจุบัน ถึงจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ของสมัชชาคนจน ๒๐๕ กรณีปัญหาที่ได้รับการรับรองจาก ค.ร.ม เมื่อวันที่ ๓ และ ๑๗ เมษายน ๒๕๔๔ แล้วก็ตาม แต่รูปธรรมการแก้ไขปัญหาต่างๆยังมิได้มีการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม แม้แต่กรณีเดียว กลไกของรัฐในส่วนต่างๆ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคยังแสดงออกถึงการต่อต้านแนวทางการแก้ไขปัญหา ตามมติ ค.ร.ม ดังกล่าว ดังนั้นหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนจึงต้องยืนหยัดต่อไปในแนวทางสันติวิธี เพื่อพิสูจน์สัจจธรรม จนกว่าจะเกิดการยอมรับและการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ทุกขั้นตอน

ด้วยสมานฉันท์

หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน ๑ เขื่อนปากมูล

สมัชชาคนจน

๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๔

 

  ~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~  

 

ข้อเสนอเพื่อการฟื้นฟูธรรมชาติ ชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูน

เสนอต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร

วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ณ หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน เขื่อนปากมูล

.          เปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูลถาวร เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์แม่น้ำมูน

.        ชุมชนสองริมฝั่งแม่น้ำมูน เป็นผู้จัดการดูแลรักษาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม สองริมฝั่งแม่น้ำมูน ทั้งระยะสั้นและ ระยะ ยาวโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณและด้านต่างๆ ตามความเหมาะสมจากรัฐและภาคเอกชน

.        การศึกษาวิจัยใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบโครงการเขื่อนปากมูลต้องเป็นไปเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และ ชุมชนอย่างถาวร

.          ชุมชนสองริมฝั่งแม่น้ำมูนจะยึดถือในแนวทางการดำรงชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง หลักประกันในเรื่องปัจจัยสี่ การพัฒนาที่ยั่งยืน และการรักษาสิ่งแวดล้อม

.          ชุมชนสองฝั่งแม่น้ำมูนจะช่วยเหลือเกื้อกูลและพึ่งพาอาศัยกัน โดยดำรงรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ของแต่ละชุมชน การแลกเปลี่ยนทรัพยากรบนพื้นฐานของความเสมอภาค เป็นธรรม และความวัฒนาถาวรของสังคมโดยรวม

.          ชุมชนสองฝั่งแม่น้ำมูน จะจัดระบบสาธารณสุข บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง การรักษา ถ่ายทอด ปรับปรุง และพัฒนาภูมิปัญญาพื้นบ้านเพื่อสุขอนามัยของชุมชนอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม

รูปธรรม

.      ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยจุลินทรีย์ (EM,IMO) เพื่อให้เพียงพอต่อการผลิต และการฟื้นฟูคุณภาพดิน

.      จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ และกองทุนต่างๆ  เพื่อพัฒนาการตลาดระดับชุมชน การทำธุรกิจชุมชน การผลิตพลังงาน ระดับชุมชน

.      ตรากฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ของชุมชน เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สภาพแวดล้อม และการรักษา วัฒนธรรม จารีตประเพณีที่ดีงาม

.     ส่งเสริมการศึกษาทางเลือก ภูมิปัญญาท้องถิ่น และจัดทำพิพิธภัณฑ์ประจำชุมชนต่างๆ เพื่อการเรียนรู้ประวัติ ศาสตร์ชุมชนที่ถูกต้อง

~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

รายงานสถานการณ์

ภายหลังจากมีมติค.ร.ม เพื่อรับรองการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจนกรณีต่างๆ ๒๐๕ กรณีปัญหานั้น ในกรณีเขื่อนปากมูล ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้มีมติค.ร.ม ให้กฟผ.เปิดประตูระบายน้ำทั้ง ๘ บาน เพื่อศึกษาลุ่มน้ำธรรมชาติ ซึ่งจะมีคณะกรรมการได้ลงศึกษาวิจัยในรายละเอียด          

แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นบริเวณสันเขื่อน กฟผ.ได้จ้างชายฉกรรจ์เข้ามาที่เขื่อนมากขึ้นโดยอ้างว่าเพื่อ ความปลอดภัยของเขื่อน ซึ่งก่อนหน้านั้น นับตั้งปี ๒๕๔๓ ก็มีกลุ่มชายฉกรรจ์เหล่านี้อยู่ก่อนแล้ว ชายกลุ่มดังกล่าว ได้เข้ามาข่มขู่ และยั่วยุชาวบ้านแม่มูนมั่นยืน เพื่อให้เกิดความรุนแรง อยู่เป็นระยะๆ และถี่ขึ้นหลังมีมติ ค.ร.ม

            นอกจากนั้นยังได้มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่นำโดยนายสุพรรณ หวังผล อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านหัวเห่ว อ้างว่าหากเปิดเขื่อน ปากมูลจะทำให้ตนเองเดือดร้อน และได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการเปิดประตูน้ำตามมติค.ร.ม ดังกล่าว โดยได้นำชาวบ้านประมาณ ๓๐ คน เข้ายื่นหนังสือกับกฟผ.ที่หน้าประตูทางเข้าเขื่อนปากมูลเมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๔๔ ที่ผ่านมา และได้นำชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวเข้าตามหนังสือที่สถานที่ดังกล่าวอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๔ นายสุพรรณ และพวกกล่าวว่า กฟผ.จะต้องยืนหยัดอย่าทำตามคำสั่งรัฐบาลอย่างเด็ดขาด เป็นที่น่าสังเกตว่าการเข้ายื่น หนังสือแต่ละครั้งจะมีการเตรียมข้าวปลาอาหาร และรวมทั้งเครื่องมึนเมาชนิดต่างๆ ไว้อย่างดี

            มีความเคลื่อนไหวอื่นๆไม่ว่าจะเป็นการนำชาวบ้านสองริมฝั่งแม่น้ำมูนไปอบรมเกี่ยวกับผลเสียของการเปิดเขื่อน และได้มีเจ้าหน้าที่ กฟผ.ได้ออกปลุกระดมชาวบ้านตามหมู่บ้านต่างๆ และเรียกร้องให้ลุกขึ้นมาคัดค้านการเปิดเขื่อนในครั้งนี้ ความเคลื่อนไหวต่างๆ เหล่านี้ไม่รวมถึงการออกใบปลิวเพื่อโจมตีชาวบ้าน สมัชชาคนจนและกลุ่มองค์กรเอกชนที่เคลื่อนไหวเรื่องการเปิดประตูเขื่อน

            ในวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๔๔ กลุ่มผู้ที่อ้างว่าการเปิดประตูระบายน้ำได้เข้าไปตั้งเพิงพักกลางแก่งท้ายเขื่อนปากมูล เพื่อคัดค้านไม่ให้ กฟผ.เปิดประตูเขื่อน มีการประกาศให้ตีตราเรือเพื่อเรียกร้องผลกระทบหากเรือได้รับความเสีย หายหากเปิดประตูน้ำ นอกจากนั้นกลุ่มยังได้ประกาศห้ามคนข้างนอกลงหาปลาอย่างเด็ดขาด และในวันที่ ๘ พฤษภาคม รถสีเทาป้ายสัญลักษณ์ กฟผ.ได้ขนถึงน้ำมัน ๒๐๐ ลิตรประมาณ ๒๐ ลูก  ลงไปยังกลุ่มดังกล่าว และได้ต่อเป็นแพในเวลาต่อ

และขณะที่ชาวบ้านรอการเปิดประตูระบายน้ำ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม กฟผ.ระดมกลุ่มชายฉกรรจ์เข้ามาที่เขื่อน เป็นจำนวนมาก และในช่วงกลางคืนกลุ่มชายฉกรรจ์ดังกล่าวได้กระจายกำลังตามแนวรั้วและระดมยิงหนังสะติ๊กเข้าใส่ชาวบ้าน

แต่อย่างไรก็ตามชาวบ้านแม่มูนมั่นยืน ก็จะยังยืนหยัดการชุมนุมอย่างสันติ เพื่อรอการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อรอความอุดมสมบูรณ์ สงบสันติ จะกลับสู่ชีวิตและชุมชนในที่สุด

*****************************

ประวัติพื้นที่หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน

สันเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี

พื้นที่บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 1 ปัจจุบัน เดิมคือที่ดินของชาวบ้านบ้านหัวเห่ว หมู่ ๔  ซึ่งได้ใช้ประโยชน์ ในการดำรงชีพ เช่น  ทำนา ทำสวน ทำไร่ปอ เป็นที่ที่อุดมสมบูรณ์ เนื่องจากเป็นที่ดินริมแม่น้ำ เป็นที่ทาม แม้ว่าพื้นที่นี้จะเป็น ที่ส่วนบุคคลแต่ก็ที่ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันของหมู่บ้านนี้และหมู่บ้านอื่นๆ ในกิจกรรมการดำรงชีพ ซึ่งได้แก่ การเลี้ยงวัวควาย การเข้าหาเห็ดหาหน่อไม้ ขุดมันแซง และอาหารป่าอย่างอื่น รวมทั้งการใช้พื้นที่นี้ตั้งกระต๊อบริมน้ำเพื่อหาปลาของ ชาวบ้านจากหมู่บ้านอื่นที่เดินทางมาหาปลาในฤดูปลาขึ้น โดยที่เจ้าของพื้นที่ไม่ได้หวงห้ามแต่อย่างใด ซึ่งเมื่อชาวบ้านอื่นๆ มาหาปลาบริเวณนี้ก็จะนำเกวียนขนข้าวมาด้วยเพื่อแลกปลาร้า ปลาแห้ง ปลาร้า จากบ้านหัวเห่ว เกิดวัฒนธรรมที่ชาวบ้านเรียกว่า”ปลาแลกข้าว ข้าวแลกปลา”

บริเวณนี้ยังมีบ่อน้ำธรรมชาติของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำซับที่ชาวบ้านหัวเห่ว และชาวบ้านอื่นที่เข้ามาหากิน ได้ใช้สอย ดื่มกินตลอดทั้งปี ชาวบ้านถือว่าเป็นแหล่งน้ำที่หล่อเลี้ยงชีพหมู่บ้านมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย นอกจากน้ำในแม่น้ำมูน พื้นที่นี้ยังเป็นแหล่งของมีประเพณี วัฒนธรรมเก่าแก่ ความเชื่อต่างๆ โดยชาวบ้านยังได้สร้างศาลปู่ตาไว้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว จิตใจ เป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้านหัวเห่วและชาวบ้านใกล้เคียงที่เดินทางมาหากิน ซึ่งก่อนออกหากินชาวบ้านก็จะมา กราบไหว้ บูชาก่อนเสมอ นับเป็นสิ่งที่ชาวบ้านได้ร่วมกันรักษาเอาไว้ซึ่งเป็นความเชื่อทางวัฒนธรรมเก่าแก่ ของชาวบ้าน ให้ทำแต่คุณงามความดี

ปัจจุบันบริเวณดังกล่าว ได้ถูกทำลายลงโดยโครงการเขื่อนปากมูล การใช้ประโยชน์ต่างๆ ของชาวบ้านที่เคย ทำมาต้อง หยุดชะงัก ที่สำคัญศาลปู่ตาอันเป็นที่เคารพศักการะของชาวบ้านก็ถูกกฟผ.ใช้รถไถทิ้งอย่างไม่ใยดี แม้ว่าชาวบ้านจะได้ช่วยกันสร้างขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่าก็ตาม  พื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ทั้งหมดกลายเป็นที่ถมเศษซากหินจากการ ระเบิดแก่ง เพื่อสร้างตัวเขื่อนปากมูล

เมื่อโครงการเขื่อนปากมูลเข้ามาชาวบ้านเจ้าของที่ต้องหาที่อยู่และที่ทำมาหากินใหม่ นาที่เคยทำ ดินที่เคยใช้ประโยชน์จมอยู่ใต้เศษหิน  แม้ที่ดินเหล่านั้นจะได้รับค่าชดเชยแต่มันก็น้อยเกินกว่าที่จะทำให้ชีวิตของ เจ้าของที่ดินเหล่านั้น ดีขึ้นกว่าเดิมได้ เมื่อที่ดินหมด แม่น้ำถูกทำลาย ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นเลวร้ายลงเรื่อยๆ ชาวบ้านเหล่านั้นก็จำต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของชีวิต

ภายหลังการปิดเขื่อนปากมูล พ.ศ 2537 กฟผ.ได้ใช้พื้นที่ดังกล่าวทำเป็นสวนหย่อม กระทั่งปี  2542 สมัชชาคน จนซึ่งประกอบด้วยชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากหลายกรณีปัญหา ได้เข้าตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล แก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ชาวบ้านได้ช่วยกันจัดระบบหมู่บ้านให้เป็นชุมชนใหม่ มีการตั้งข้อตกลงที่เป็นระบบระเบียบ ของหมู่บ้านร่วมกัน  และอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติตลอดมา เป็นตัวอย่างของการตั้งชุมชน ได้พยายามสืบสานวัฒนธรรม ดั้งเดิม ของชาวอีสาน เช่น การลงแขกดำนา เกี่ยวข้าว การจัดงานบุญกุ้มข้าวใหญ่ รวมถึงพิธีกรรมอื่นๆ ที่ถือเป็นวัฒนธรรมของชาวอีสาน

กว่า 2 ปี ที่หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน ยืนหยัดการใช้แนวทางสันติวิธี แต่กระนั้น กฟผ.ก็พยายามใช้ความรุนแรงกับ ชาวบ้านด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้ชาวบ้ายจากพื้นที่ ซึ่งครั้งรุนแรงที่สุดคือการจ้างกลุ่มชายฉกรรจ์บุกเข้าเผาหมู่บ้าน และทำร้ายชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเฒ่าคนแก่ได้รับบาดเจ็บหลายคน เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๓ ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามแม้จะเกิดเหตุการณ์ใดๆ ก็ตาม ชาวบ้านแม่มูนมั่นยืนจะยังคงยืนหยัดอย่างสันติวิธีจนกว่าการ แก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม และยังคาดหวังถึงการรอคอยการแก้ไขปัญหอย่างสันติ และการร่วมมือกันทุกฝ่ายเพื่อ ประโยชน์สุขจะได้เกิดแก่คนทั้งลุ่มน้ำ

ด้วยสมานฉันท์

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา