eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

แถลงการณ์สมัชชาคนจน

ปิดเขื่อนปากมูลเพื่อประโยชน์ของใคร

วันอังคารที่ ๑๒ พฤศจิกายน  ๒๕๔๕ ณ ทำเนียบรัฐบาล

----------------------------------------

          ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ศึกษาผลการเปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูล โดยจัดทำเป็นโครงการศึกษาวิจัยแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศ วิถีชีวิต และชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลจำนวน ๑๐ .๒ ล้านบาท การศึกษาดังกล่าวมีข้อค้นพบและบทสรุปดังนี้

ด้านการชลประทาน จากการศึกษาพบว่า  สถานีสูบน้ำริมแม่น้ำมูล ๙ แห่ง ที่ทำการศึกษามีศักยภาพในการส่งน้ำได้ถึง ๑๔,๗๕๗ ไร่ แต่มีเกษตรกรขอใช้เพียง ๒๕๒๖ ไร่หรือประมาณ ๑๗ เปอร์เซ็นต์ ในช่วงก่อนการปิดประตูระบายน้ำ ( ๒๕๔๑ - ๒๕๔๒ ) ส่วนในช่วงหลังการเปิดประตูระบายน้ำ (๒๕๔๔ - ๒๕๔๕) มีเกษตรกรขอใช้น้ำจำนวน ๒,๐๕๒ ไร่ หรือประมาณ ๑๔ เปอร์เซ็นต์  โดยปัจจัยสำคัญที่เกษตรกรจะขอใช้น้ำอยู่ที่ราคาค่าสูบน้ำ และราคาผลผลิตทางการเกษตร มิใช่การปิดหรือเปิดประตูน้ำ

ด้านเศรษฐกิจพบว่าการเปิดประตูน้ำทำให้ชาวประมงประมาณ ๖,๑๗๖ ครอบครัว ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯยอมรับว่าสูญเสียอาชีพประมงมีรายได้เพิ่มขึ้น จากครัวเรือนละ ๓,๐๔๕ บาท/ปี ในช่วงที่เขื่อนปิดประตูน้ำปี ๒๕๔๓ เป็น ๑๐,๐๒๕ บาท/ปี  ในปี ๒๕๔๔ - ๒๕๔๕ หลังจากเขื่อนเปิดประตูน้ำ นอกจากนั้นผลการศึกษายังระบุอีกว่าเมื่อการประมงเป็นแหล่งอาหารและแหล่งรายได้สำคัญของครัวเรือนทั่วไปซึ่งคงไม่จำกัดอยู่เฉพาะ ๖,๑๗๖ ครอบครัวเท่านั้นแต่รวมถึงชาวบ้านตลอดลุ่มน้ำมูลตลอด ๔๐๐ กิโลเมตรจะมีแหล่งอาหารและรายได้เพิ่มขึ้น

ด้านความหลากหลายของพันธุ์ปลาพบว่าหลังการเปิดประตูน้ำมีพันธุ์ปลาในแม่น้ำมูล ๑๘๔ ชนิด และปลาจะอพยพตลอดทั้งปีโดยปลาแต่ละกลุ่มจะอพยพตามเงื่อนไขธรรมชาติที่แตกต่างกันไป เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงปิดประตูน้ำ คณะกรรมการเขื่อนโลก ได้ทำการศึกษาเมื่อปี ๒๕๔๐ พบพันธุ์ปลาในแม่น้ำมูลเพียง  ๙๖ ชนิด

ด้านพืชผักสมุนไพร พบว่าหากเปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูลถาวร จะทำให้พรรณไม้บริเวณแก่งเพิ่มมากขึ้นพรรณไม้น้ำในป่าทามบริเวณชายเกาะจะเพิ่มมากขึ้น และชาวบ้านจะได้ใช้ประโยชน์จากพรรณไม้ที่เป็นพืชผักกินได้ ขณะที่การปิดประตูน้ำถาวรพืชพรรณไม้ลดลงและหากมีการเปิดปิดเป็นบางช่วงเวลา นอกจากจะทำให้พืชพรรณไม้ลดลงแล้วจะเกิดการแพร่กระจายของไมยราพยักษ์

ด้านพลังงาน พบว่าระบบส่งจ่ายกำลังไฟฟ้าของประเทศไทยเชื่อมโยงกันเป็นโครงข่ายทั้งประเทศ

และเชื่อมโยงไปถึงโครงข่ายของประเทศข้างเคียง โดยเฉพาะของประเทศลาว ประกอบกับข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ สิ้นเดือนสิงหาคม ๒๕๔๔ ประเทศไทยมีกำลังผลิตติดตั้งรวมของระบบไฟฟ้าทั้งสิ้น ๒๑,๓๙๘ เมกะวัตต์ โดยกำลังไฟฟ้าสูงสุดรวมที่ผลิตได้ของประเทศไทยมีค่าประมาณ ๑๕,๘๓๖ เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือ ๕,๕๖๒ เมกะวัตต์คือกำลังไฟฟ้าสำรองของประเทศ ขณะที่เขื่อนปากมูลมีกำลังการผลิตติดตั้งเพียง ๑๓๖ เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ ๒.๔๔ ของกำลังไฟฟ้าสำรองของประเทศ นอกจากนั้นผลการศึกษายังระบุว่าแม้จะมีหรือไม่มีเขื่อนปากมูลระบบก็ยังคงอยู่ได้เนื่องจาก โครงข่ายเชื่อมถึงกันทุกจุดในประเทศไทยและโยงไปถึงโรงจักรในลาว

จากข้อค้นพบดังกล่าว คณะนักวิจัยมีข้อสรุป “ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะที่มาจากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพลังงานไฟฟ้ายังไม่ได้พัฒนาไป ตามที่คาดการณ์ไว้และเขื่อนก็ยังไม่ได้มีบทบาททางการชลประทานอย่างเต็มศักยภาพ สมควรมุ่งประโยชน์ของลำน้ำมูลเพื่อเศรษฐกิจพื้นฐานชุมชนด้วยการพักใช้เขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ก่อน การเปิดประตูน้ำตลอดปีในเบื้องต้นนี้ อาจจะอยู่ในช่วงเวลา ๕ ปีตามการพยากรณ์ทางเศรษฐกิจที่พอเล็งเห็นได้ว่าความต้องการพลังงานไฟฟ้าจะไม่สู้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก”

ผลการศึกษาของ ม.อุบล ฯ เป็นการยืนยันแล้วว่าการปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูล สร้างความเสียหายกับเศรษฐกิจของชุมชน ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ โดยไม่ก่อประโยชน์ทั้งในด้านการชลประทาน และไม่มีความจำเป็นในการผลิตกระแสไฟฟ้า ฯ ที่สำคัญการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูลในวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ ยังทำให้ทรัพย์สินของชาวบ้าน เช่น เรือ เครื่องมือประมง และสวนผักริมมูน ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ดังนั้น หากคณะรัฐมนตรีบรหารประเทศโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและ ประชาชนเป็นสำคัญแล้วจะต้องทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อคราวประชุมวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๕ และเปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูลโดยทันที

 

ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน

สมัชชาคนจน

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา