eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

แถลงการณ์สมัชชาคนจน

ลอยกระทงเขื่อนปากมูล ขอขมาต่อแม่น้ำ

ลุ่มน้ำมูนนับเป็นลุ่มน้ำขนาดใหญ่ นับเป็นเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงชนชาวอีสานมาหลายพันปี แม่น้ำมูนเป็นเส้นทางอาหารปลาที่เข้ามาจากแม่น้ำโขง คนทั้งลุ่มน้ำนับแสนครอบครัวได้ใช้ประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำสายนี้

          การสร้างเขื่อนปากมูล นับเป็นการกระทำผิดอย่างรุนแรงต่อแม่น้ำและคนในลุ่มน้ำมูนเพราะการสร้างเขื่อนปากมูลคือการ ตัดเส้นทางอาหารปลาของคนอีสาน เนื่องจากปลาไม่สามารถข้ามเขื่อนเข้ามายังแม่น้ำมูนได้ นอกจากเขื่อนนี้ยังทำให้แม่น้ำที่เคยไหลกลับหยุดนิ่งทำให้น้ำเน่าเสีย  ตกตะกอน ระบบนิเวศของแม่น้ำเปลี่ยนไป เช่น แก่ง ขุม วัง เวิน ที่เป็นแหล่งอาศัย วางไข่ และแหล่งอาหารของปลา เกิดการอุดตัน ตื้นเขิน

          เมื่อรัฐบาลสั่งให้มีการทดลองเปิดเขื่อนปากมูล 1 ปี เมื่อปี 2544 ที่ผ่านมา นับเป็นการชุบชีวิตของคนลุ่มน้ำมูนอีกครั้งหนึ่ง หลายแสนครอบครัวมีโอกาสได้เข้าถึงความสมบูรณ์ของแม่น้ำ อย่างเท่าเทียมตามแต่ความสามารถของบุคคล การเปิดเขื่อนได้เป็นบทพิสูจน์ถึงความเสียหายอันเกิดจากการทำลายแม่น้ำนี้ตลอดเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา

          ต่อมารัฐบาลได้ มติครม.เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545 มีมติให้เปิดเขื่อนปากมูล เพียง 4 เดือน ใน 1ปี ซึ่งสมัชชาคนจนเห็นว่า เป็นการตัดสินใจให้กลับไปซ้ำรอยเดิมคือชาวบ้านต้องเดือดร้อน อดอยาก ทุกข์ยาก ไม่สามารถทำมาหากินได้ อีกครั้งหนึ่ง มติ ครม.1 ตุลาคม จะส่งผลถึงความเสียหายอย่างร้ายแรงในอนาคต ความสมบูรณ์ต่างๆ จะไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้เลย รวมทั้งชีวิตคนด้วย

          ในวันนี้ สมัชชาคนจนจะร่วมลอยกระทง เพื่อ เป็นการขอขมาต่อแม่น้ำ เพราะเชื่อว่า แม่น้ำมีบุญคุณอย่างยิ่งใหญ่ต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย เมื่อกระทำสิ่งใดที่เป็นการทำลายแม่น้ำก็คือการทำลายสิ่งมีชีวิตทั้งหลายในโลกนี้ด้วย นอกจากนี้สมัชชาคนจน จะได้การลอยความทุกข์เศร้าทั้งหลายในชีวิตนนี้ให้ไปกับสายน้ำด้วย

 

ด้วยจิตคารวะ

19 พฤศจิกายน 2545        

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา