eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

                                                        บันทึกข้อความ  

ส่วนราชการ    คณะกรรมการกลางฯ              โทร.    ๓๒๘-๑๒๔๒

ที่  มท ๐๓๑๔(คชช.๗)/พิเศษ                        วันที่          กรกฎาคม    ๒๕๔๓

เรื่อง    รายงานสรุปมติคณะกรรมการกลางเพื่อแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน

เรียน   ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย/ประธานคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชน (คชช.)

๑.   เรื่องเดิม

ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายบัญญัติ บรรทัดฐาน) ในฐานะประธานคณะกรรมการช่วยเหลือประ ชาชน(คชช.) ได้มีคำสั่งคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชน ที่ ๗/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๔๓ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกลาง เพื่อแก้ไข ปัญหาของสมัชชาคนจน 

คณะกรรมการกลางฯ มีอำนาจหน้าที่สรุปสาเหตุความเป็นมาของปัญหา กรณีเขื่อนปากมูล เขื่อนสิรินธร เขื่อนลำคันฉู เขื่อนห้วยละห้า ฝายราษีไศล ฝายหัวนา โครงการอ่างเก็บน้ำโปร่งขุนเพชร เขื่อนลำโดมใหญ่ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ ป่าสงวน แห่งชาติป่าดงภู โหล่น ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูลังกา ที่สาธารณประโยชน์บ้านวังใหม่ ที่สาธารณประโยชน์บ้านตุงลุง โครงการป่ากุดชมภู ทับที่ดินทำกิน โครงการ พัฒนาด่านช่องเม็ก  รวมทั้งวินิจฉัยและเสนอความเห็นในการแก้ไขปัญหาต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรม การช่วยเหลือประชาชน หรือในฐานะที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเพื่อให้มีการสั่งการในการแก้ไขปัญหา (ตาม เอกสารหมายเลข ๑)  

๒.ข้อมูลและข้อเท็จจริง  

คณะกรรมการกลางฯ ได้กำหนดกรอบการทำงาน โดยตั้งคณะทำงานเพื่อสรุปสาเหตุความเป็นมาของปัญหา วินิจฉัยและเสนอความเห็น การแก้ปัญหาขึ้น ๓ ชุด คือ คณะทำงานกรณีเขื่อนปากมูล คณะทำงานกรณี ๑๖ กรณีปัญหาสมัชชาคนจน และคณะทำงานเพื่อเสนอแนว ทางแก้ไขปัญหาระยะยาว คณะทำงานฯ ทั้ง ๓ ชุด ได้รวบรวมข้อมูลโดยการดูพื้นที่ปัญหา รับฟังการชี้แจงจากฝ่ายต่างๆ  เอกสารที่เกี่ยว ข้องจากหน่วยงานต่างๆ  ตลอดจนความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ  และแยกพิจารณาปัญหาและแนวทางแก้ไขเป็น ๓ ระยะคือ ปัญหาเร่งด่วนที่ ควรเร่งสั่งการ ปัญหาระยะสั้น และมาตรการระยะยาว

คณะกรรมการกลางฯ ได้เริ่มทำงานโดยประชุมครั้งแรกในวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๔๓ และขอขยายเวลาทำงานจาก ๑๕ วัน เป็นเวลา ๓๐ วัน สิ้นสุดอายุการทำงานในวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๓ คณะกรรมการกลางได้สรุปประเด็นปัญหาและข้อเรียกร้องของสมัชชาคนจนดังนี้

กรณีปัญหาทั้งหมดมีจำนวน ๑๖ กรณี แบ่งได้เป็น ๒ กลุ่มคือ กลุ่มปัญหาเขื่อน และกลุ่มปัญหาป่าไม้-ที่ดิน

๑.กลุ่มปัญหาเขื่อน  แบ่งเป็น ๒ ประเภทคือ

๑.๑ กรณีเขื่อนที่สร้างแล้ว   มีจำนวน ๕ เขื่อน ข้อเรียกร้องโดยรวม คือ  ค่าชดเชยพื้นที่น้ำท่วมซึ่งได้เคยมีการอนุมัติในหลักการ โดยมติ ครม. ที่ผ่านมาแล้ว และค่าชดเชยจากการสูญเสียฐานทรัพยากรของชุมชน ป่าบุ่ง-ป่าทาม การทำประมงลุ่มน้ำ  ข้อเรียกร้องให้เปิดประตูระ บายน้ำเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน และข้อเรียกร้องระงับการใช้เขื่อนพร้อมกับให้มีการศึกษาผลกระ ทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและทางสังคมหลังโครงการ (Post Project EIA, SIA) เพื่อประเมินความคุ้มค่าในการเปิดใช้เขื่อนต่อไป

๑.๒ กรณีเขื่อนที่ยังไม่สร้าง มีจำนวน ๓ เขื่อน ข้อเรียกร้องโดยรวมคือ ให้ระงับการดำเนินการโครงการทั้งหมดและศึกษาผลกระทบด้าน สิ่งแวดล้อมและสังคม(EIA,SIA) เพื่อประเมินความคุ้มค่าของโครงการโดยรวมต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ได้จากการศึกษาด้วย มีข้อเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร  และยุติการโฆษณาชวนเชื่อ

 

๒.กลุ่มปัญหาป่าไม้-ที่ดิน      กลุ่มปัญหาป่าไม้-ที่ดิน มีจำนวนทั้งหมด ๘ กรณี แบ่งได้เป็น ๓ ประเภทคือ

๒.๑ กรณีปัญหาป่าสงวนฯ และป่าอนุรักษ์ทับที่ทำกิน     มีจำนวน ๔ กรณี  เป็นปัญหาที่ ชาวบ้านร้องเรียนว่า การประกาศป่าสงวนแห่ง ชาติและอุทยานแห่งชาติทับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีความสืบเนื่องยาวนานมาหลายรัฐบาล เคยมีมติ ครม. เดิมที่ให้มี กระบวนการพิสูจน์สิทธิ การครอบครองและการใช้ประโยชน์ โดยมีคณะกรรมการร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตัวแทนชาวบ้าน นักวิชา การ/องค์กรพัฒนาเอกชน  แต่กระบวนการดังกล่าวได้ยุติลงเมื่อมี มติ ครม. ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑

 ๒.๒ กรณีที่สาธารณประโยชน์ มีจำนวน ๒ กรณี ปัญหาและข้อเรียกร้องคือ ชาวบ้านเข้าไปอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินสาธารณประโยชน์ และต้องการให้ดำเนินการเพิกถอนสภาพ

๒.๓ กรณีปัญหาโครงการพัฒนาของรัฐ มีจำนวน ๑ กรณี คือ ปัญหาโครงการพัฒนาด่านช่องเม็ก  ปัญหาและข้อเรียกร้องคือ ชาวบ้านขอ อาศัยและทำกินอยู่ในที่เดิม และกันพื้นที่การครอบครองใช้ประโยชน์ออกจากพื้นที่โครงการ

๓. ความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการกลางฯ

                ๓.๑ ปัญหาเร่งด่วนที่ควรเร่งสั่งการ

                                ๓.๑.๑ กรณีปัญหาเร่งด่วน รัฐบาลควรสั่งการให้ยุติการจับกุมชาวบ้าน หรือผู้นำในการชุมนุม และให้ยุติการกระทำ ใดๆ ของทั้ง ๒ ฝ่ายอันเป็นการยั่วยุให้เกิดบรรยากาศไม่สร้างสรรค์ กลุ่มเขื่อน ๔  กรณี และกรณีกลุ่มปัญหาป่าไม้-ที่ดิน ๔ กรณี (ตามรายละเอียดแต่ละกรณีในเอกสารหมายเลข ๒)

                                ๓.๑.๒ กรณีปัญหาเขื่อนปากมูล  ให้รัฐบาลสั่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ทดลองเปิดประตูระบายน้ำทั้ง ๘ บานเป็นระยะเวลา ๔ เดือน ประมาณช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงการอพยพและแพร่พันธุ์วางไข่ของปลา และตั้งคณะกรรมการทดลองเปิดประตูระบายน้ำกรณีเขื่อนปากมูลเพื่อประเมินผลกระทบในภาพรวมของการเปิดเขื่อน และนำเสนอให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป

                                ๓.๑.๓ กรณีฝายราษีไศล ให้รัฐบาลสั่งการเปิดประตูระบายน้ำทั้ง ๗ บานไปก่อน เพื่อบรรเทาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสังคมเฉพาะหน้า และดำเนินการพิสูจน์สิทธิการครอบครองและการใช้ประโยชน์ที่ดิน

 

                ๓.๒ ปัญหาระยะสั้น : กรณีปัญหา  ๑๖ กรณีปัญหาสมัชชาคนจน

                                ๓.๒.๑ กรณีเขื่อนสร้างแล้ว

                                ๓.๒.๑.๑ เขื่อนปากมูล  ให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการคณะทำงานแบบพหุภาคีขึ้นมาศึกษาและจัดทำแผนฟื้นฟู สภาพ ความเป็นอยู่และฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนตามแนวทางที่เสนอในมาตรการระยะยาว  และตั้งคณะทำงานเพื่อสื่อสารกับสังคมระหว่างที่ดำเนิน การตามมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว

                                ๓.๒.๑.๒ ฝายราษีไศล  การตัดสินใจในการดำเนินการใดๆ ของฝายราษีไศลในอนาคต ให้รอผลการศึกษาผลกระ ทบทางสิ่งแวดล้อมและทางสังคมของสถาบันการศึกษาที่กำลังดำเนินการอยู่เพื่อประกอบการพิจารณาการ ใช้ประโยชน์ของฝายราษีไศล ในระยะยาว โดยให้มีการคิดรวมมูลค่าสิ่งแวดล้อมและสังคมเข้าเป็นต้นทุนของโครงการ และกระบวนการพิจารณาต้องตั้งคณะกรรมการ พหุภาคีที่มีฝ่ายต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม

                                ๓.๒.๑.๓ เขื่อนสิรินธร   - เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน รัฐบาลควรจ่ายค่าชดเชยให้แก่ชาว บ้านเป็นการเฉพาะกรณี โดยไม่ให้มีผลผูกพันกรณีอื่นๆ

-กรณีบ้านโนนจันทร์เก่า ให้สั่งการเพื่อดำเนินการตรวจสอบการใช้ประโยชน์จากพื้นที่หากไม่ได้ใช้ประโยชน์ในกิจการของกฟผ. ควรพิจารณาคืนแก่ชาวบ้านตามข้อเรียกร้อง โดยจังหวัดอุบลราชธานีเป็นผู้ประสานงาน

                                ๓.๒.๑.๔ เขื่อนลำคันฉู

                -ให้รัฐบาลสั่งการเพื่อให้ดำเนินการจัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม หลังโครงการ(Post Project EIA) หากพบว่ามีผลกระทบเกิดขึ้นจริง ต้องมีมาตรการ ในการฟื้นฟูสภาพวิถีชีวิตและชุมชนให้ชาวบ้านสามารถดำรงชีพได้ใกล้เคียงกับสภาพ    เดิมหรือใช้แนวทางตามมติครม. ๒๒ เมษายน ๒๕๔๐

                -ให้รัฐบาลพิจารณาจัดทำระบบชลประทานให้กับประชาชนตามข้อเรียกร้อง

                -กรณีเขื่อนร้าวให้ตั้งคณะกรรมการกลางที่เป็นที่ยอมรับของทั้ง ๒ ฝ่ายเพื่อตรวจสอบ ความมั่นคงของเขื่อน และให้ประกัน ความเสียหายหากเกิดเขื่อนพัง

                -กรณีปัญหาค่าชดเชยให้รัฐบาลดำเนินการชดเชยผลกระทบแก่ชาวบ้าน ๒ รายให้แล้ว เสร็จ

                                ๓.๒.๑.๕ เขื่อนห้วยละห้า 

                -เพื่อให้เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย ให้สั่งการเพื่อดำเนินการพิสูจน์สิทธิและความเสียหาย โดยคณะกรรมการระดับจังหวัด และ ให้ตั้งตัวแทนสมัชชาคนจนมีส่วนร่วมในการพิสูจน์ข้อเท็จจริง หากพบว่า พื้นที่เสียหายก็ให้ดำเนินการจ่ายค่าชดเชยตามสภาพที่เป็นจริง

                              ๓.๒.๒ กรณีเขื่อนยังไม่ได้สร้าง

                            ๓.๒.๒.๑ เขื่อนโปร่งขุนเพชร  -ให้รัฐบาลสั่งการกรมชลประทาน ระงับการดำเนินการใดๆ ไว้ก่อน แล้วให้รัฐบาล จัดงบประมาณให้คณะกรรมการติดตามมติคณะรัฐมนตรี ๒๙ เมษายน ๒๕๔๐ กรณีเขื่อนยังไม่ได้สร้าง(รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ เป็นประธาน) เพื่อให้มีการศึกษาด้านความเหมาะสมของโครงการ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม (EIA,SIA) และจัดรับฟังความ คิดเห็น

                                 ๓.๒.๒.๒ เขื่อนลำโดมใหญ่    -ให้รัฐบาลสั่งการกรมชลประทานระงับการดำเนินการใดๆ ไว้ก่อน โดยเฉพาะให้ ระงับการใช้งบประมาณเพื่อการออกแบบเชิงวิศวกรรมโครงการฯ ฯลฯ และให้รัฐบาลจัดหางบประมาณให้คณะกรรมการติดตามมติคณะ รัฐมนตรี ๒๙ เมษายน ๒๕๔๐ กรณีเขื่อนยังไม่ได้สร้าง (รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ เป็นประธาน) เพื่อให้มีการศึกษาด้านความเหมาะสมของ โครงการ ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม(EIA,SIA) และจัดรับฟังความคิดเห็น

                                   ๓.๒.๒.๓ ฝายหัวนา   -ให้รัฐบาลสั่งการให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน(พพ.) ระงับการดำเนินการใดๆ   ทั้งหมดแล้วให้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบด้านสังคม   (EIA,SIA) รวมทั้งตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎรที่คาด ว่าจะเสียหายจากการสร้างเขื่อน โดยให้หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่ใช่เจ้าของโครงการเป็นผู้จัดทำหรือว่าจ้างให้มีการศึกษาฯ และให้ ชาวบ้านและองค์กรเอกชน ร่วมกำหนดกรอบและกำกับการศึกษาฯ

                                ๓.๒.๓  กรณีปัญหาป่าสงวนฯ และป่าอนุรักษ์ทับที่ทำกิน

                                     ๓.๒.๓.๑ กรณีปัญหาป่าสงวนแห่งชาติดงภูโหล่น กรณีปัญหาอุทยานแห่งชาติภูผาแต้ม กรณีปัญหาป่าสงวนแห่ง ชาติดงหินกองและอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ และกรณีปัญหาป่าสงวนแห่งชาติป่าหลังภู  

                                    -ให้รัฐบาลทบทวนมติครม. ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑ และใช้แนวทางที่ยอมรับการมีส่วนร่วม กันแนวเขตที่อยู่อาศัย และที่ทำกินของ ชาวบ้านออกจากเขตป่าฯ โดยดำเนินการต่อเนื่องตามมติครม.เดิมที่ใช้หลักเกณฑ์ร่วมกันระหว่างฝ่ายราชการกับชาวบ้าน ในการแก้ไขปัญหาทั้ง ๔ กรณี

                                      ๓.๒.๓.๒ กรณีปัญหาป่ากุดชมภู -ให้รัฐบาลสั่งการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างราชการกับตัวแทนชาวบ้านใน สัดส่วนที่เท่ากันเพื่อดำเนินการต่อไปนี้

๑.กันแนวเขตป่าชุมชนออกจากที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกินของชาวบ้าน

๒.หากพื้นที่ทำกินของชาวบ้านแปลงใดที่มีเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดินให้คงสิทธินั้นไว้ตามกฎหมาย

๓.หากที่ดินแปลงใดมีการครอบครองทำประโยชน์และไม่มีเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน แต่อยู่ในเกณฑ์ที่จะออก ส.ป.ก. ๔–๐๑ ได้ ให้เร่งดำเนินการออก ส.ป.ก. ๔–๐๑

                                 ๓.๒.๔ กรณีปัญหาที่ดินสาธารณประโยชน์

                                     ๓.๒.๔.๑ กรณีปัญหาที่ดินสาธารณะบ้านตุงลุง    -คณะกรรมการกลางฯ เห็นว่า ต้องพิจารณาช่วยเหลือตาม สภาพปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจริง ให้ยุติการดำเนินคดีชาวบ้านทั้งหมด และให้ชาวบ้านอยู่อาศัยในบริเวณเดิมโดยห้ามการบุกรุก เพิ่มเติม และอนุมัติจัดตั้งให้เป็นหมู่บ้านตามกฎหมาย จัดหาสาธารณูปโภคให้ตามสภาพหมู่บ้านทั่วไป

                                      ๓.๒.๔.๒ กรณีปัญหาที่สาธารณะบ้านวังใหม่  -คณะกรรมการกลางฯ เห็นว่า เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย จังหวัดควรประสานงานกับองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแสงใหญ่ และตัวแทนชาวบ้าน ให้มีการพิจารณาสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน สาธารณประโยชน์แปลงนี้อีกครั้ง

                                  ๓.๒.๕  กรณีปัญหาโครงการพัฒนาของรัฐ กรณีปัญหาโครงการพัฒนาด่านช่องเม็กควรดำเนินการดังนี้                

                                   กรณีชุมชนช่องเม็ก -ให้คณะกรรมการระดับจังหวัดเป็นผู้พิจารณาตามข้อเรียกร้อง โดยให้ชุมชนเข้ามามี ส่วน ร่วมในการใช้ประโยชน์ที่ดินและการวางแผนโครงการพัฒนาด่านช่องเม็ก

 -ในระหว่างที่มีการดำเนินการสอบสวนการครอบครองและการใช้ประโยชน์ที่ดิน ควร ให้ชาวบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินเดิมไปก่อน กรณีบ้าน เหล่าอินทร์แปลง

-ให้ดำเนินการต่อจากเดิมที่ได้มีกระบวนการระหว่างตัวแทนชาวบ้านกับทางราชการเพื่อกันพื้นที่บ้านเหล่าอินทร์แปลง ออกจากโครงการ พัฒนาด่านช่องเม็ก โดยให้หน่วยงานราชการที่รับผิดชอบเร่งรัดในการปฏิบัติ โดยใช้หลักการให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วม

                ๒.๓ มาตรการระยะยาว

                                 ๒.๓.๑ กรณีปัญหากลุ่มเขื่อน

                                ๑.การศึกษาผลกระทบต้องให้ความสำคัญกับการประเมินผลกระทบด้านสังคมมากกว่าเดิม และการประเมินผล กระทบด้านสิ่งแวดล้อม ต้องทำควบคู่ไปกับการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ โดยให้มีหน่วยงานกลางเป็นผู้ว่าจ้างและได้รับงบ ประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเพียงพอ หน่วยงานกลางทำหน้าที่กำกับการศึกษา โดยมีตัวแทนชาวบ้าน องค์กรพัฒนาเอกชน เข้าร่วม เป็นกรรมการ

                                ๒.การประเมินและชดเชยผลกระทบ ต้องครอบคลุมความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง และคำนึงถึงการใช้ประโยชน์จริง เป็นสำคัญ ทั้งความสูญเสียทางเศรษฐกิจ รายได้ และทรัพยากรที่เป็นฐานชีวิตของชุมชนที่เกิดขึ้นในขณะนั้นและในอนาคต

                                ๓.ปรับปรุงคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยให้ตัวแทนฝ่ายต่างๆ ของสังคมทำหน้าที่ในการพิจารณาอนุมัติ รายงานการประเมินผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ก่อนการตัดสินใจดำเนินโครงการ และทำหน้าที่เป็นผู้จัดการเกี่ยวกับการชดเชย ผลกระทบ

                                ๔.แก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕ ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและ ครอบคลุมปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รอบด้านมากยิ่งขึ้น รวมถึงการปฏิรูปกฎหมาย และระเบียบเกี่ยวกับการชดเชยผลกระทบ

                                ๕.จัดตั้งและพัฒนาองค์กรบริหารและจัดการลุ่มน้ำ (คณะกรรมการลุ่มน้ำ) ในลักษณะพหุภาคีที่มีตัวแทนส่วนราช การ องค์กรชุมชนท้องถิ่น  องค์กรพัฒนาเอกชน  และผู้ทรงคุณวุฒิ  ทั้งในระดับลุ่มน้ำขนาดใหญ่ จนถึงลุ่มน้ำขนาดเล็ก โดยเริ่มในลุ่มน้ำที่ มีปัญหาก่อน

                                ๖.มีการวางแผนการจัดการลุ่มน้ำ ทั้งในลุ่มน้ำขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ โดยมีคณะกรรมการแบบพหุภาคีเข้ามามีส่วน ร่วมในการดำเนินการให้แล้วเสร็จทั่วประเทศ

                               ๒.๓.๒ กลุ่มปัญหาป่าไม้-ที่ดิน กลุ่มปัญหาป่าไม้-ที่ดิน เหล่านี้เป็นปัญหาที่สืบเนื่อง ยาวนาน มีข้อเรียกร้อง การเจรจา และมติคณะรัฐมนตรีหลายครั้ง    (เช่น มติครม. ๒๒  เม.ย.๒๕๓๙, มติครม. ๑๗, ๒๙ เมษายน ๒๕๔๐)  โดยมีหลักการในการ แก้ปัญหาที่สำคัญคือ การให้ดำเนินการพิสูจน์สิทธิการครอบครองและการทำประโยชน์ของชาวบ้าน โดยให้มีคณะกรรมการร่วมที่มีตัวแทน จากหลายฝ่าย และไม่ใช้เกณฑ์ภาพถ่ายทางอากาศแต่เพียงอย่างเดียว แต่ให้มีการเดินรังวัดในพื้นที่ การใช้พยานบุคคล ฯลฯ และพิจารณา ออกเอกสารรับรองการครอบครอง การใช้ประโยชน์ตามกรอบกฎหมายและสภาพความเป็นจริง

  กรณีปัญหาส่วนใหญ่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ แต่ได้หยุดลงเมื่อรัฐบาลฯพณฯ

นายชวน หลีกภัยได้มีมติครม. ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑ ยกเลิกมติครม.เดิม ที่ฝ่ายชาวบ้านมักเรียกกันว่า “มติยกเลิกคนอยู่กับป่า” และมีผลสำคัญคือ การพิสูจน์สิทธ์ต้องใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ อำนาจ การดำเนินการอยู่ที่เจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายเดียว ไม่สามารถดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการร่วม

คณะกรรมการกลางฯ มีข้อเสนอแนะเป็นมาตรการระยะยาวดังต่อไปนี้

        ๑.ให้รัฐบาลทบทวนมติครม. ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑ และใช้แนวทางที่ยอมรับให้คนอยู่กับป่า กันแนวเขตที่อยู่อาศัยและที่ทำ กินของชาวบ้านออกจากเขตป่าฯ โดยดำเนินการตามมติ ครม.เดิมที่เคยใช้ในการแก้ไขปัญหา ทั้ง ๔ กรณี ซึ่งชาวบ้านมีส่วนร่วมในกระบวนการการแก้ไขปัญหา 

       ๒.ให้รัฐบาลทบทวนแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในเรื่องการรับรองถึงสิทธิชุมชน การให้ชุมชนเข้ามีส่วนร่วมในการดูแลรักษา การใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ ตามมาตรา 46  ให้บุคคลสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับรัฐในการบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ตามมาตรา 56 ให้รัฐต้องกำหนดแนวนโยบายของรัฐในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายใต้หลักการที่สำคัญ ๒ ประการ คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการจัดการทรัพยากรต้องดำเนิน ไปตามหลักการการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามมาตรา ๗๙

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการตามความเห็น   และข้อเสนอแนะของคณะ

กรรมการกลางฯ

(นายบัณฑร  อ่อนดำ)

ประธานคณะกรรมการกลางเพื่อแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน

หมายเหตุ : ขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติม และเอกสารประกอบ ได้ที่

Prasittiporn Kan-Onsri [NOI]
Friends of the People [FOP.]
99 , 3rd Floor Nakorn Sawan Road
Pomprab Bangkok 10100.
THAILAND.
Tel, Fax ; (662) 2811916 , 2812595

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา