eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

จดหมายถึงธนาคารโลกประจำประเทศไทย (แปล)

ฉบับภาษาอังกฤษ คลิกที่นี่

๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๔

มร.เอียน พอร์ตเตอร์

ผู้อำนวยการสำนักงานธนาคารโลกประจำประเทศไทย

อาคารดีทแฮล์ม

ชั้น ๑๔ อาคารเอ

๙๓/๑ ถนนสายลม

กรุงเทพฯ

ประเทศไทย

เรียน คุณพอร์ตเตอร์

พวกเราชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูลและสมัชชาคนจนเขียนจดหมายนี้ถึงท่านจากหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน ๑ ริมสันเขื่อนปากมูล  พวกเรานับพันคนได้อยู่ที่นี่นับแต่วันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๔๒ เพื่อเรียกร้องให้เปิดประตูเขื่อนปากมูลและฟื้นฟูแม่น้ำมูน  รวมทั้งขอให้ธนาคารโลกรับผิดชอบความเสียหายของสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นเหตุให้ต้องสูญเสียและเกิดความเสียหายต่อปลาในแม่น้ำมูน

            ในปี ๒๕๓๓ ธนาคารโลกและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ทำลายวิถีชีวิตของพวกเราด้วยการสร้างเขื่อนปากมูล  ในขณะนั้นพสกเราได้ส่งจดหมายถึงธนาคารโลกต้องการให้ธนาคารโลกหยุดการสนับสนุนเงินกู้แก่การสร้างเขื่อนปากมูล แต่ธนาคารโลกเมินเฉยต่อข้อเรียกร้องของพวกเราและไม่ได้รับฟังเสียงของพวกเรา  สำหรับพวกเราแล้ว การตัดสินใจสร้างเขื่อนปากมูลเกิดขึ้นโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น

            ระหว่างที่พวกเราประท้วงต่อต้านเขื่อน  พวกเราได้รับการสัญญาว่าพวกเราจะมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม  แต่คำสัญญาดังกล่าวไม่เคยเป็นจริง  ในทางกลับกัน การประมงของพวกเรากลับเสียหายยับเยินและชุมชนของพวกเราได้ถูกทำลาย ตลอด ๑๑ ปีที่ผ่านมาพวกเราได้เรียนรู้ว่าโครงการลดผลกระทบที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาให้กับพวกเรา  พวกเราเชื่ออย่างจริงจังว่าวิธีเดียวที่จะทำให้ชุมชนและวิถีชีวิตของพวกเรามีความยั่งยืนคือการเปิดประตูเขื่อนและฟื้นฟูแม่น้ำ

            คณะกรรมการเขื่อนโลก (WCD) ได้ศึกษากรณีเขื่อนปากมูลและรายงานฉบับสมบูรณ์พบว่าการจับปลาในอ่างเก็บน้ำและลำน้ำมูนเหนือเขื่อนได้ลดลง ๖๐–๘๐% ทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ ๑.๔ ล้านเหรียญต่อปี  รายงานพบว่าพันธุ์ปลา ๕๖ ชนิดได้หายไปจากลำน้ำหลังจากมีเขื่อนและพันธุ์ปลาอย่างน้อยที่สุด ๕๑ ชนิดถูกจับได้น้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญหลังจากเขื่อนสร้างเสร็จ  รายงานของคณะกรรมการระบุว่าพันธุ์ปลาที่อพยพและต้องพึ่งพาแก่งต้องได้รับ ผลกระทบเป็นการเฉพาะจากการที่เส้นทางอพยพถูกกีดขวางในช่วงเริ่มฤดูฝน  และรายงานยืนยันว่าบันไดปลาโจน “ติดตั้งอย่างไม่เหมาะสมและไม่สามารถช่วยให้ปลาอพยพขึ้นไปต้นน้ำได้”

            คณะกรรมการเขื่อนโลกพบว่าเขื่อนปากมูลได้ทำให้เกิดผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อวิถีชีวิตของชุมชน  โดยพบว่า “ก่อนการสร้างเขื่อน ชุมชนประมงที่ตั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนได้รายงานว่าการจับปลาลดลง ๕๐–๑๐๐% และพันธุ์ปลาหลากหลายชนิดไม่ปรากฏให้เห็นอีกเลย….ชาวบ้านที่ต้องอาศัยการประมงเป็น แหล่งรายได้ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านไม่สามารถทำได้อีกต่อไปหลังจากที่เขื่อนเสร็จ  แม้ว่ามีการพยายามจัดให้มีโครงการฝึกอาชีพก็ตาม  เมื่อความมั่นคงทางอหารและรายได้ถูกทำลาย  ชาวบ้านต้องต่อสู้ดิ้นรนซึ่งรวมถึงการอพยพไปหางานทำ” (รายงานคณะกรรมการเขื่อนโลก หน้า  ๖๐)

            ทางด้านเศรษฐศาสตร์  คณะกรรมการเขื่อนโลกพบว่าโครงการเขื่อนปากมูลไม่ได้ดำเนินการที่ดีพอ และแทบผลิตพลังงานไม่ได้  เขื่อนแห่งนี้มีการติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้า ๑๓๖ เมกกะวัตต์ แต่ในความเป็นจริงสามารถผลิตได้ในช่วงเดือนที่มีความต้องการสูงเพียง ๔๐ เมกกะวัตต์ เหตุผลง่ายๆ ก็คือน้ำที่จะหมุนกังหันในฤดูแล้งนั้นไม่เพียงพอ

            ตามรายงานของคณะกรรมการเขื่อนโลก  พลังงานที่สามารถพึ่งพาได้จริงของเขื่อนปากมูลซึ่งคำนวณจากพลังงานที่ผลิตได้ในแต่ละวันในช่วงระหว่างปี ๒๕๓๘–๒๕๔๑ ได้ชี้ว่าพลังงานที่ได้นั้นเป็นเพียง ๒๐.๘ เมกกะวัตต์เท่านั้นหากเทียบกับช่วงที่มีความต้องการสูงสุด ๔ ชั่วโมง  นอกจากนั้นในฤดูฝน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ต้องหยุดเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเนื่องจากระดับน้ำเหนือเขื่อนและทายเขื่อนไม่ต่างกันทำให้ไม่มีแรงดันน้ำพอที่จะปั่นเครื่องกันหัน

            ยิ่งไปกว่านั้น คณะกรรมการเขื่อนโลกยังพบว่าประโยชน์ที่แท้จริงของระบบชลประทานเท่ากับศูนย์  คณะกรรมการเขื่อนโลกสรุปว่า “เขื่อนแห่งนี้จะไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้หากว่ามีการนำเอาผลผลประโยชน์ที่แท้จริงเข้าไปวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์”

            ในปี ๒๕๓๔ หลังจากพวกเราได้ชุมนุมอย่างยาวนานทั้งที่เขื่อนปากมูลและทำเนียบรัฐบาล รัฐบาลไทยจึงได้ตกลงให้เปิดประตูเขื่อนปากมูลเป็นเวลา ๔ เดือน เพื่อให้ปลาเดินทางขึ้นมาเหนือเขื่อน  หลังจากเปิดประตูเขื่อน ๒ เดือน  พวกเราได้ทำรายงานด้วยตัวเองและพบว่าปลา ๑๑๕ ชนิดได้กลับคืนสู่แม่น้ำมูน  จากความรู้ของพวกเรา พบว่ามีปลา ๙๙ ชนิดเป็นปลาอพยพซึ่งรวมถึงปลาตูหนาหูขาวซึ่งอพยพมาจากทะเลจีนใต้

            พวกเรายังพบพันธุ์พืชพื้นบ้าน ๒๓ ชนิดและสมุนไพร ๒๓ ชนิดที่กลับมาเติบโตสองฝั่งแม่น้ำมูนหลังจากที่น้ำลดลง

            พวกเราได้เรียนรู้ว่า การเปิดประตูเขื่อนในปีนี้ไม่เพียงแต่เป็นการฟื้นฟูระบบนิเวศน์แม่น้ำมูนเท่านั้น  แต่ยังนำวิถีชีวิตของพวกเราให้กลับคืนมา  พวกเราสามารถได้มีรายได้จากการทำการประมงอีกครั้ง อีกทั้งยังเพิ่มความมั่นคงทางอาหารของพวกเรา

            ข้อมูลดังกล่าวข้างต้นได้ยืนยันว่าเขื่อนที่องค์กรของท่านได้สนับสนุนได้ทำลายแม่น้ำและชุมชนของพวกเรา และการเปิดประตูเขื่อนเป็นวิธีเดียวที่จะแก้ปัญหาของพวกเรา

            ดังนั้น พวกเราจึงเรียกร้องให้ธนาคารโลกรับผิดชอบต่อความเสียหายต่อชีวิตของพวกเรา ระบบนิเวศน์  และการประมงในแม่น้ำมูนการทำลายซึ่งท่านเป็นผู้สร้างขึ้นมา

            คณะกรรมการเขื่อนโลกได้เสนอในรายงานที่ชื่อว่าเขื่อนกับการพัฒนาให้ธนาคารโลก “ทบทวนการลงทุนในโครงการที่ผ่านมาเพื่อแยกแยะให้เห็นถึงโครงการที่อาจไม่บรรลุผลหรือโครงการที่ยังมีปัญหา ที่ยังไม่ได้แก้ไขที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันและร่วมกับประเทศที่กู้ยืมเพื่อรับภาระในโครงการนั้น  สิ่งนี้อาจรวมถึงการให้การสนับสนุนใหม่เพื่อช่วยประเทศที่กู้ยืมในการแสดงให้เห็นถึงปัญหาที่ยังไม่ได้แก้ไขทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อม

            เขื่อนปากมูลเป็นโครงการที่เข้าข่ายดังกล่าว  ดังนั้น  พวกเราจึงขอเรียกร้องให้ธนาคารโลกทำงานกับรัฐบาลไทยเพื่อยกเลิกการใช้เขื่อนปากมูลโดยการเปิดประตูเขื่อนถาวรและฟื้นฟูแม่น้ำมูน  พวกเราเชื่อว่าการเปิดประตูเขื่อนปากมูลอย่างถาวรไม่เพียงแต่เกิดประโยชน์ต่อชุมชนของพวกเราเท่านั้น  แต่ยังเอื้อประโยชน์ต่อคนรุ่นต่อไปของพวกเรารวมถึงชาวบ้านนับล้านในเขตลุ่มน้ำชี น้ำมูน และน้ำโขงที่ต้องพึ่งพาปลาจากแม่น้ำมูน

            พวกเรายังต้องการให้ธนาคารโลกทำงานร่วมกับพวกเราเพื่อทำโครงการในการฟื้นฟูวิถีชีวิตและชุมชนของพวกเรา

            สิ่งเหล่านี้เป็นหนทางและวิธีการที่จะแก้ปัญหาของพวกเราและพวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านจะตระหนักอย่างจริงจังถึงข้อเรียกร้องของพวกเรา

           

ขอแสดงความนับถือ

 

ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล

หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน ๑ ริมสันเขื่อนปากมูล

อำเภอโขงเจียม  จังหวัดอุบลราชธานี

 

ตู้ ปณ.๒๐

ปทจ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา