eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

๑๑    พฤศจิกายน   ๒๕๔๕

 

เรื่อง      การปลด ศ.ดร.ประกอบ  วิโรจนกูฏ  อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีออกจากตำแหน่ง

 

เรียน     ฯพณฯรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  นายปองพล   อดิเรกสาร 

 

สิ่งที่ส่งมาด้วย    เอกสารข้อเสนอสำหรับผู้บริหาร โครงการศึกษาวิจัยแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศ วิถีชีวิต

และชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล จำนวน ๑ ฉบับ

 

            ตามที่ รัฐบาลได้มอบหมายให้ ม.อุบลฯศึกษาผลจากการเปิดประตูระบายน้ำ เขื่อนปากมูล โดย อนุมัติงบประมาณ จำนวน ๑๐.๒ ล้านบาท สนับสนุนโครงการศึกษาวิจัยแนวทางการฟื้นฟู ระบบนิเวศ  วิถีชีวิต และชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล โดยเมื่อนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษามาพิจารณาถึงข้อดี ข้อเสีย คณะนักวิจัยได้เสนอทางเลือก ๔ แนวทางคือ ๑.ปิดประตูน้ำตลอดปี ๒.เปิดประตูน้ำ ๕ เดือน ๓.เปิดประตูน้ำ ๘ เดือน ๔.เปิดประตูน้ำตลอดปี โดยข้อเสนอแต่ละข้อมีคำอธิบายต่อท้ายถึงผลดีผลเสีย พอสรุปสาระสำคัญได้ว่า ทางเลือกที่ ๑ - ๓ จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชน มีเพียงทางเลือกที่ ๔  ที่จะเกิดประโยชน์ในการฟื้นสภาพนิเวศ เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตชุมชน และไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของกระแสไฟฟ้า นอกจากนี้ผลการวิจัยของ ม.อุบลฯยังระบุว่า “ การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะที่มาจากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพลังงานไฟฟ้ายังไม่ได้พัฒนาไปตาม ที่คาดการณ์ไว้และเขื่อนก็ยังไม่ได้มีบทบาททางการชลประทานอย่างเต็มศักยภาพ สมควรมุ่งประโยชน์ของลำน้ำมูลเพื่อเศรษฐกิจพื้นฐานชุมชนด้วยการพักใช้เขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ก่อนการเปิดประตูน้ำ ตลอดปีในเบื้องต้นนี้ อาจจะอยู่ในช่วงเวลา ๕ ปีตามการพยากรณ์ทางเศรษฐกิจที่พอเล็งเห็นได้ว่าความต้องการพลังงานไฟฟ้าจะไม่สู้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก “รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วยแล้วนี้

            แต่เมื่อวันที่   ๒๐  กันยายน ๒๕๔๕ ระหว่างที่คณะนักวิจัยกำลังจัดทำรายงานผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ ศ.ดร.ประกอบ  วิโรจนกูฏ  อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  ได้รายงานผลการศึกษาวิจัยต่อ ฯพณฯรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ที่กำกับดูแลการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ฯ ว่าข้อเสนอจากผลการศึกษาของ ม.อุบลฯ คือ การเปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูลเป็นเวลา ๔ เดือน เป็นสาเหตุให้การพิจารณาของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน ในการประชุมวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๔๕ มีมติเห็นชอบให้เปิดประตูน้ำ ๔ เดือนตั้งแต่ ๑ กรกฎาคม –  ๓๑ ตุลาคม โดยมติที่ประชุมคณะกรรมการ ฯ ได้เสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๕

นอกจากนั้น ศ.ดร.ประกอบ   วิโรจนกูฎ ยังได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ ว่า “กรณีสมัชชาคนจนระบุว่ารัฐบาลไม่ได้ดำเนินการตามข้อเสนอของมหาวิทยาลัยที่เสนอให้เปิดประตูเขื่อน    ปี ว่าไม่ใช่ข้อเท็จจริงนักวิชาการที่พูดไม่ใช่อาจารย์ของมหาวิทยาลัยเพราะมหาวิทยาลัยเสนอการเปิดประตูเขื่อน ๓ แนวทางคือ เปิดหรือปิดตลอดปีหรือแนวทางที่ ๓ ซึ่ง ครม.เลือกคือเปิดประตูน้ำ๔ เดือน ปิด ๘ เดือน มหาวิทยาลัยไม่ได้เสนอเปิดประตูน้ำ ๕ ปีอย่างที่นักวิชาการและสมัชชาคนจนบิดเบือนข้อมูล ทางเลือกที่ ๓ เป็นทางสายกลางเปิดประตูน้ำหน้าฝนเพื่อให้ปลาขึ้นไปวางไข่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคมและปิดประตูเดือนพฤศจิกายน เพื่อกักเก็บน้ำและผลิตกระแสไฟฟ้า”

พฤติกรรมของ ศ.ดร.ประกอบ  วิโรจนกูฏ เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงทางวิชาการ ใส่ร้ายบุคคลอื่นเพียงเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ฯ นอกจากจะแสดงถึงความไร้จรรยาบรรณทางวิชาการและทำให้เสื่อมเสียเกียรติภูมิของ ม.อุบลฯ แล้ว ยังทำให้รัฐบาลตัดสินใจแก้ไขปัญหากรณีเขื่อนปากมูลผิดพลาด ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ และระบบนิเวศของแม่น้ำมูน ที่เป็นฐานในการดำรงชีวิตของชาวบ้านสองฝั่งแม่น้ำมูลและลำน้ำสาขาทั่วภาคอีสาน ที่สำคัญยังเป็นการสร้างปมปัญหาให้เกิดความขัดแย้งในสังคม   

สมัชชาคนจน เห็นว่าหากบุคคลดังกล่าว ยังดำรงตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีต่อไป จะเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อสถาบันการศึกษา และปฏิเสธการใช้กระบวนการทางวิชาการในการแก้ปัญหาในที่สุด เพื่อเป็นการรักษาเกียรติภูมิของสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะ ม.อุบลฯ

จึงเรียนมายัง ฯพณฯ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  ได้โปรดปลด ศ.ดร.ประกอบ วิโรจนกูฏ

ออกจากตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยทันที

            จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ

 

ขอแสดงความนับถือ

 

( นายสมเกียรติ  พ้นภัย )

ตัวแทนสมัชชาคนจน

กรณีเขื่อนปากมูล

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา