eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

จดหมายเปิดผนึก สมัชชาคนจน

กฟผ. จูงจมูกอดีตแกนนำชาวบ้านขายตัว แถลงข่าวใส่ร้ายกลุ่มผู้ชุมนุม

25 พฤษภาคม 2543

เรียนพี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนทุกท่าน

ในวันนี้ กฟผ. ได้ปฏิบัติการโจมตี ใส่ร้ายป้ายสีสมัชชาคนจน อีกครั้ง โดยการนำนายเที่ยง บรรเทา อดีตแกนนำชาวบ้าน ที่ขายตัวไป อยู่ฝ่าย กฟผ. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แถลงข่าวที่ สำนักงานการไฟฟ้า บางกรวย ซึ่งก่อนหน้านี้ ก็ได้มีการไปขอออกรายการสายตรง ไอทีวี ในช่วงเช้า ซึ่งทางสมัชชาคนจนได้ประสานไปยัง ไอทีวี เพื่อขอออกรายการแสดงความคิดเห็นแล้วเช่นกัน

สมัชชาคนจนขอชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้

1.ต่อข้อกล่าวหาที่ว่าชาวบ้านที่ออกมาเรียกร้องเพราะอยากได้เงิน และไม่มีความเดือดร้อนจริงนั้น

สมัชชาคนจนขอชี้แจงว่า เขื่อนปากมูลได้สร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน และสภาพแวดล้อม ตลอดสองฝั่งลำน้ำมูล โดยเฉพาะผล กระทบที่เกิดขึ้นจากพันธุ์ปลา ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นนั้น 5 ปี ที่ผ่านมา ชาวบ้านได้ประจักษ์ในข้อเท็จจริงว่าปลาหายไปจากแม่น้ำ ชาวบ้านไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตตามวิถีปกติได้ จึงต้องมาเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐ และ กฟผ. ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบเขื่อนปากมูล ได้แสดงความรับผิดชอบ โดยการเปิดประตูน้ำเพื่อที่จะให้ปลาขึ้นไปวางไข่ ข้อเรียกร้องดังกล่าวยืนอยู่บนผลประโยชน์ของคนอีสาน ทั้งภาคอีสานที่จะได้มีโปรตีนจากปลาเป็นอาหาร ณ วันนี้ชาวบ้านกรณีปัญหาเขื่อนปากมูลเรียกร้องให้เปิดประตูระบายน้ำเพื่อให้ แม่น้ำกลับสู่สภาพแม่น้ำเดิม มีระบบนิเวศน์แม่น้ำแบบเดิม เพื่อให้ปลากลับขึ้นมาวางไข่ในแม่น้ำมูลได้เหมือนในอดีตที่ผ่านมา เพราะ ฉะนั้นจึงไม่มีข้อเรียกร้องอื่นใดที่จะบอกว่าสมัชชาคนจนมาเรียกร้องเรื่องเงิน

2.ต่อข้อกล่าวหาที่ว่าผู้ประท้วงที่อยู่ที่สันเขื่อนปากมูลนั้นไม่ใช่คนอุบลฯ เป็นคนมาจากต่างจังหวัดนั้น

สมัชชาคนจนขอชี้แจงว่า สมัชชาคนจนเป็นเครือข่ายของผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ จากการชุมนุม 99 วัน ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อ พ.ศ.2540 สมัชชาคนจนได้ระดมกำลัง 20,000 – 30,000 คน เพื่อชุมนุมกดดันรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ในการแก้ไขปัญหา ในครั้งนั้นผู้เข้าร่วมจาก 38 จังหวัด มีผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีปัญหาต่างๆ 121 กรณีปัญหา มีเครือข่ายปัญหาทั้งหมด 7 เครือข่ายปัญหา ดังนั้นสมัชชาคนจน จึงไม่ได้เป็นผู้เดือดร้อนจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง หรือเพียงปัญหาใด ปัญหาหนึ่ง การรวมตัวกันที่สันเขื่อนปากมูลนั้นมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 12 กรณีปัญหา ซึ่งเป็นปัญหาเรื่องเขื่อน ปัญหาเรื่องป่าไม้ ปัญหา เรื่องที่ดินทำกิน และเรื่องโครงการพัฒนาด่านช่องเม็กทับที่ชาวบ้าน ดังนั้นตัวแทนที่เข้าร่วมในการชุมนุมจึงมาจากหลายกรณีปัญหา ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้ได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลมาตั้งแต่รัฐบาลชวน หลีกภัยเข้ารับตำแหน่งในปี 2540 แล้ว แต่ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา สมัชชาคนจนจึงมีการชุมนุมใน 5 พื้นที่จังหวัด คือ จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น อุบลราชธานี สงขลา และบางส่วนเดินทางมาชุมนุม ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ดังนั้นคนที่อยู่ในที่ชุมนุมจึงมาจากหลายกรณีปัญหาและหลายจังหวัด แต่กล่าวได้ว่าเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากการพัฒนาของรัฐ ดังที่สมัชชาคนจนเคยเรียกร้องมาอย่างต่อเนื่อง

3.ต่อข้อกล่าวหาที่ว่าสมัชชาคนจนจับปลาหน้าบันไดปลาโจน จึงทำให้ปลาไม่สามารถขึ้นไปวางไข่ได้

สมัชชาคนจนขอชี้แจงว่า ข้อเท็จจริงของคณะกรรมการเขื่อนโลกได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าจำนวนพันธุ์ปลา และปริมาณปลาได้ลดลง ภายหลังจากสร้างเขื่อนปากมูลมา 5 ปี ได้ลดลง 60-80% และปัจจัยสำคัญก็คือเขื่อนปากมูล ซึ่งเป็นคอนกรีตขวางทางแม่น้ำมูล กว้าง กว่า 200-300 เมตร บันไดปลาโจนเป็นเพียงข้ออ้างของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่อ้างว่าจัดทำขึ้นมาเพื่อเยียวยาให้ปลาขึ้นไปวางไข่ได้ แต่ข้อ เท็จจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เมื่อคณะกรรมการเขื่อนโลกได้ศึกษาอย่างละเอียดแล้วเห็นว่ามีจำนวนพันธุ์ปลาไม่ถึง 1 ใน 10 ที่สามารถ ข้ามไปได้ และในจำนวนที่ข้ามไปได้ก็มีขนาดเล็ก เกือบทั้งหมดเป็นปลาอีแตบ ตัวขนาด 2 นิ้ว และไม่ได้เป็นปลาเศรษฐกิจ จึงเกิดผล กระทบรุนแรงต่อการลดลงของพันธุ์ปลาและปริมาณปลาในแม่น้ำมูลอย่างมหาศาล

4.ต่อข้อกล่าวหาที่ว่าชาวบ้านได้ชดเชยการทำประมงไปแล้ว แล้วมาเรียกร้องอีก

สมัชชาคนจนขอชี้แจงว่า ค่าชดเชยที่รัฐบาลได้จ่ายให้กับชาวบ้านประมาณ 4,000 กว่าครอบครัว เป็นเงิน สด ครอบครัวละ 30,000 บาท และจ่ายเป็นหุ้นสหกรณ์ 60,000 บาทนั้น เป็นค่าชดเชยที่รัฐบาลและ กฟผ. ได้ทำสัญญาเป็น มติ ครม. ไว้กับสมัชชาคนจน ว่าเป็น การชดเชยในช่วง 3 ปี ที่มีการระเบิดแก่งในช่วงที่มีการก่อสร้างเขื่อน ซึ่งพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าปลาหายไป ซึ่ง กฟผ. และ รัฐบาล ยังได้ ให้คำมั่นสัญญาว่าเมื่อสร้างเขื่อนเสร็จแล้วจะมีปลาเพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านจะอยู่ดีมีสุข ในปัจจุบันนี้เป็นที่พิสูจน์ชัดแล้วว่าไม่มีปลาใน แม่น้ำมูลเหมือนอย่างเคย ชาวบ้านจึงเรียกร้องให้เปิดประตูเขื่อนเพื่อที่ให้ปลากลับขึ้นมาวางไข่ เพื่อที่จะได้ดำรงชีวิตอยู่ได้ตามอัตภาพ หาอยู่หากินกับธรรมชาติ กับแม่น้ำได้ดั่งเดิม เพราะเขื่อนปากมูลสามารถผลิตไฟได้น้อยนิด ไม่มีความจำเป็นในด้านการผลิตกระแส ไฟฟ้าแล้วเพราะประเทศไทยมีกำลังการผลิตสำรองเหลือเฟือ

5.ต่อข้อถามที่ว่าชาวบ้านที่ชุมนุมอยู่เป็นชาวบ้านที่เป็นพวกมาใหม่

สมัชชาคนจนขอชี้แจงว่า ผู้ได้รับผลกระทบจากอาชีพประมงนั้นแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.กลุ่มที่เข้าร่วมเรียกร้องกับสมัชชาคนจน กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มชาวบ้านที่ไม่ได้ออกมาเรียกร้องร่วมกับสมัชชาคนจนในช่วงแรก คือในกลุ่มของกำนันผู้ใหญ่บ้าน แต่ปัจจุบันนี้ทั้งสอง กลุ่มได้ร่วมกันเรียกร้องให้ได้มาซึ่งสิทธิและความเป็นธรรม เพื่อชุมชนเพื่ออนาคตของลูกหลานของตน จึงมีจำนวนมากขึ้น

สมัชชาคนจน ขอยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว และขอยืนยันการต่อสู้ในแนวทางสันติวิธีต่อไป จนกว่าจะได้มาซึ่งความถูกต้องและ เป็นธรรม

ขอแสดงความนับถือ

สมัชชาคนจน

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา