eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

รายงานสถานการณ์จากพื้นที่ กรณีการชุมนุมของสมัชชาคนจน

ที่ ลานจอดรถโรงไฟฟ้าเขื่อนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2543

14 สว.ใหม่ รุดเยี่ยมค้นหาข้อเท็จจริง หวั่นเกิดความรุนแรงในการสลายการชุมนุม

 

จากการที่มีกระแสข่าวว่าจะมีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ทางราชการเข้าสลายการชุมนุมของชาวบ้านในนามสมัชชาคนจน ที่ชุมนุมอยู่ที่ ลานจอดรถโรงไฟฟ้าเขื่อนปากมูล มาหลายวันก่อนหน้านี้ นับตั้งแต่ชาวบ้านได้เคลื่อนขบวนไปชุมนุมอยู่ที่ลานจอดรถโรงไฟฟ้า เขื่อนปากมูล มาตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2543 เป็นต้นมา หลังจากที่ชุมนุมอยู่ที่ริมสันเขื่อนปากมูลด้านฝั่งตะวันตกมานานกว่า 1 ปี

เช้าวันที่ 21 พฤษภาคม 2543 เวลาประมาณ 09.00 น. คณะสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ 14 คน ได้รุดเยี่ยมชาวบ้านในพื้นที่ที่ชุมนุมข้างโรง ไฟฟ้าเขื่อนปากมูล ซึ่งมีชาวบ้านชุมนุมอยู่กว่า 1,200 คน โดยคณะ ส.ว. ใหม่ ประกอบด้วย 1. นายโสภณ สุภาพงษ์ ส.ว.กทม. , 2.นายดำรง พุฒตาล ส.ว. กทม. , 3.นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ส.ว. กทม. 4. นายแก้วสรร อติโพธิ ส.ว. กทม. , 5. นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว. กทม. , 6.นายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ สว. อุบลราชธานี , 7.แพทย์หญิงมาลินี สุขเวชชวงสา ส.ว. นครสวรรค์ , 8.นางเตือนใจ ดีเทศน์ ส.ว. เชียงราย , 9.นางมาลีรัตน์ แก้วก่า สว. สกลนคร , 10.นายไสว พราหมณี ส.ว. โคราช , 11.นายประเกียรติ นาสิมมา ส.ว. ร้อยเอ็ด , 12. นายเกษม มาลัยศรี ส.ว. ร้อยเอ็ด , 13.นายสมบูรณ์ ทองบุราณ ส.ว. ยโสธร , 14.พลเอกศิริ ทิวะพันธ์ ส.ว. พิษณุโลก

เมื่อคณะ ส.ว.ใหม่ เดินทางมาถึง ชาวบ้านในนามสมัชชาคนจนที่ชุมนุมอยู่บริเวณลานจอดรถโรงไฟฟ้าเขื่อนปากมูล ได้กล่าวต้อนรับ และจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญต้อนรับคณะ ส.ว.ใหม่ตามประเพณีของชาวบ้านในภาคอีสาน ทำพิธีผูกแขน และทำพิธีพราหมณ์ จากนั้นจึง ได้พาคณะ ส.ว.ใหม่ เยี่ยมชมสภาพการชุมนุมของชาวบ้าน โดยพาชมสภาพบันไดปลาโจนที่อยู่ทางทิศตะวันตกของเขื่อน ซึ่งเห็นได้ ชัดว่าเป็นการยากลำบากมากที่ปลาจะผ่านไปได้ เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดแม่น้ำเดิมที่กว้างกว่า 200 เมตร ขณะที่บันไดปลาโจนกว้าง เพียง 4 เมตร มีความยาวถึง 64 เมตร และสูงถึง 15 เมตร อีกทั้งในวันนี้มีน้ำไหลเพียงข้างเดียวจึงทำให้เกิดข้อกังขาต่อ คณะของ ส.ว. ใหม่เป็นอย่างมาก ถึงกับ อ.แก้วสรร อติโพธิ์ และ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ถึงกับปีนข้ามรั้วลงไปดูอย่างใกล้ชิด

จากนั้นชาวบ้านได้เชิญ คณะ ส.ว.ใหม่เข้าเยี่ยมหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 1 ที่อยู่บริเวณริมสันเขื่อนปากมูลทางด้านทิศตะวันตก ชาวบ้านนำ คณะ ส.ว.ใหม่ เข้าที่ประชุมนั่งเสวนากัน เริ่มจากการแนะนำตัวของคณะ ส.ว. ใหม่จากนั้น นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ส.ว. อุบลราชธานีในฐานะเจ้าภาพได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการมาเยือนในครั้งนี้ว่าคณะสว.ที่มารวมทั้งหมด 14 คนได้ติดตามข่าวสาร และรู้สึกห่วงใยในสถานการณ์ที่จะเกิดความรุนแรงขึ้น เพราะมีกระแสข่าวออกมาว่าจะมีการสลายการชุมนุมจะมีการนำชาวบ้านมา ปะทะกันและยังมีข่าวออกมาอีกว่ากลุ่มผู้ชุมนุมออกมาปิดถนนและทำลายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าจึงอยากทราบข้อเท็จจริงและอยาก ให้เกิดการแก้ไขปัญหาโดยสันติ

นายปรีดา เดชะชมภู ตัวแทนชาวบ้านได้กล่าวชีแจงต่อคณะ ส.ว.ว่าชาวบ้านได้ชุมนุมอยู่ที่หมู่บ้านแม่มูน 1 ริมสันเขื่อนปากมูลนานกว่า 14 เดือนโดยประกอบด้วย 12 กลุ่มปัญหา คือ กรณีปัญหาเขื่อนปากมูลเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดประตูน้ำเพื่อให้ปลาขึ้นวางไข่ เพราะข้อ สรุปของคณะกรรมการเขื่อนโลกไม่จำเป็นแต่ประการใด, กรณีเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี เรียกร้องให้รัฐบาลจัดหาที่ดินให้ครอบ ครัวละ 15 ไร่ เพื่อเป็นการพื้นฟูให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากกการสร้างเขื่อนสิริธร, กรณีเขื่อนห้วยละห้า จ.อุบลราชธานี เรียกร้องให้จ่ายค่าชดเชยให้กับชาวบ้านที่น้ำท่วมที่ดินทำกิน, กรณีเขื่อนลำโดมใหญ่ จ.อุบลราชธานี เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนิน การศึกษาและทำประชาพิจารณ์ตามมติ ครม. เดิมร่วมกับเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ เขื่อนรับร่อ จ.ชุมพร และเขื่อนโป่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ ซึ่งทั้ง 4 เขื่อนยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง, กรณีเขื่อนลำคันฉูเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายค่าชดเชยและค่าสูญเสียโอกาสและจัดทำคูคลอง ระบายน้ำเพื่อชาวบ้านจะได้ใช้น้ำ, กรณีโครงการด่านช่องเม็กเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดการดำเนินการขับไล่ชาวบ้านและให้ออก เอกสารสิทธิรับรองสิทธิในการครอบครองที่ดินที่ชาวบ้านอยู่อาศัย, กรณีปัญหาป่าไม้ที่ดิน คือ กรณีป่าอุทยานแก่งตะนะ กรณีป่า หลังพู กรณีป่าผาแต้ม กรณีป่ากุดชุมพู เรียกร้องให้เลิกการจับกุม และให้รับบาลกันเขตและออกเอกสารสิทธิให้กับชาวบ้าน ส่วนเรื่อง ที่ว่าชาวบ้านออกมาปิดถนนและกล่าวหาว่าชาวบ้านทำลายทรัพย์สินส่วนราชการ เราขอยืนยันว่าเราไม่ได้ทำลายทรัพย์แต่อย่างไร เรื่องกระจกที่เป็นรอยร้าวชาวบ้านก็ไใม่ได้ทำเพราะถ้าหากชาวบ้านจะทำลายก็คงจะไปทำลายไปนานแล้วหากสมัชชาคนจนชุมนุมมา ทั้งปีแล้วไม่ได้สร้างความเสียหายกับกับส่วนราชการมีแต่กฟผ.ที่กล่าวหาและใส่ร้ายเราอยู่ตลอดเวลาและเรายังยืนยันในการต่อสู้แบบ สันติวิธีตลอดมา

จากนั้นนายดำรงค์ พุฒตาล ส.ว. กทม. ได้ซักถามว่าเป็นการดีที่ตนและคณะได้ลงมารับทราบปัญหาจากชาวบ้านโดยตรงเพราะใน เบื้องต้นตนเข้าใจว่ามีเฉพาะเรื่องปากมูลที่เรียกร้องให้เปิดประตูระบายน้ำเท่านั้น แต่เมื่อรับฟังปัญหาจากชาวบ้านแล้วรวมได้ถึง 12 กรณีปัญหา และได้รู้ว่าชาวบ้านไม่ได้มีการปิดถนน ไม่ได้รุนแรงดั่งที่เป็นข่าว

นายแก้วสรร อติโพธิ์ ส.ว. กทม. ซักถามว่า ตนได้ข่าวว่าชาวบ้านเรียกร้องเงินจำนวน 500,000 บาท และที่ดินจำนวน 15 ไร่เป็นความ จริงหรือไม่ นายทวี ทองเทพ ตัวแทนชาวบ้านได้ชี้แจงว่าเดิมทีรัฐบาลสมัยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้กล่าวว่าจะจัดหาที่ดินให้กับชาว บ้านจำนวน 15 ไร่หากจัดหามาให้ไม่ได้จะจ่ายเป็นเงินรายละ 35,000บาทแต่เมื่อถึงรัฐบาลนายกชวน หลีกภัยได้มีมติยกเลิกเรื่องนี้โดย อ้างว่ารัฐบาลไม่มีเงินชาวบ้านก็เข้าใจจึงเรียกร้องให้ฟื้นฟูแม่น้ำมูลเปิดประตูเขื่อนให้ปลาได้มาวางไข่เพื่อที่จะให้ชาวบ้านจะได้หาอยู่ หากินตามธรรมชาติ หากวันนี้รัฐบาลและ กฟผ. เปิดประตูระบายน้ำให้ปลาเข้ามาวางไข่ได้เหมือนเดิมชาวบ้านก็ไม่หวังค่าชดเชยแม้ แต่แดงเดียว

นายไสว พราหมณี ส.ว. นครราชสีมาสรุปประเด็นปัญหาว่า

1. ชาวบ้านยืนยันว่าจะไม่ใช้ความรุนแรงและไม่ปรารถนาจะให้เกิดความรุนแรงขึ้น

2. เจ้าหน้าที่ทางฝ่ายราชการยืนยันว่า จะอำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยให้กับชาวบ้าน ที่จะไม่ให้เกิดความปะทะกัน เกิดขึ้น

3. ทั้ง 2 ฝ่าย เห็นว่าควรจะมีการปรึกษาหารือเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาโดยมีตัวแทนรัฐบาลที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ตัวแทนชาวบ้านและ คนกลางซึ่งชาวบ้านเสนอว่าประกอบด้วย เช่น นักวิชาการที่เป็นกลาง และคณะ ส.ว.ที่ควรเข้ามามีบทบาทให้เกิดเวทีในการเจรจาอัน จะนำไปสู่การหาข้อสรุปต่อไป

ส.ว.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ได้เชิญตัวแทนป้องกันจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจ และตัวแทนชาวบ้านจับมือกัน ร่วมกับ ส.ว. เพื่อร่วมกันเป็น สักขีพยานต่อหน้าสื่อมวลชน ว่าทุกฝ่ายจะร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงในระหว่างงการชุมนุม

จากนั้นคณะ ส.ว. ได้เดินทางไปรับประทานอาหาร แล้วเดินทางไปยังเขื่อนสิรินธรเพื่อรับฟังข้อเท็จจริงจากทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิต และในช่วงเย็นคณะ ส.ว.ได้เดินทางไปรับฟังข้อเท็จจริงจากผู้ว่าจังหวัดอุบลราชธานี และส่วนราชการ ก่อนที่จะเดินทางกลับไปยังกรุงเทพมหานครต่อไป

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา