eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

ความจำเป็น 9 ประการที่สมัชชาคนจนต้องยึดทำเนียบรัฐบาล

ประการที่ 1 นับตั้งแต่รัฐบาลภายใต้การนำของนายชวน หลีกภัย เข้าบริหารประเทศ สมัชชาคนจนพยายามที่จะประสาน งาน กับรัฐบาลเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ตามแนวทางที่ได้ตกลงไว้กับรัฐบาลชุดก่อน จนกระทั่งได้มีมติคณะ รัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2540 รับรองแนวทางการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจนตามแนวทางที่เคยปฏิบัติมา โดยแต่งตั้ง คณะกรรมการร่วมระหว่างภาคราชการกับสมัชชาคนจนในระดับต่างๆ

แต่ปรากฏว่าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกัน รัฐบาลได้ทำลายหลักการร่วมในการแก้ปัญหา โดยการออกมติคณะรัฐมน ตรีฉบับต่างๆ เพื่อยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเดิมที่เป็นหลักการในการแก้ไขปัญหา เช่น

1.การออกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2540 ยกเลิกการจ่ายค่าชดเชย ผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนของ สมัชชาคนจนทั้งหมด

2.การออกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ที่รวบอำนาจการจัดการป่าไม้ทั้งหมดกลับมาอยู่ภายใต้การควบคุมของ กรมป่าไม้ และตัดการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในการแก้ไขปัญหา ตลอดจนเป็นการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นแนวทาง การแก้ปัญหากลุ่มป่าไม้ของสมัชชาคนจนทั้งหมด

จนกระทั่งบัดนี้รัฐบาลบริหารประเทศมา 2 ปีกว่า แต่ยังไม่มีท่าทีในการแก้ปัญหาสมัชชาคนจนที่ชัดเจน

ประการที่ 2 การที่นายบัญญัติ บรรทัดฐาน รองนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อแก้ไขปัญหา สมัชชาคนจน ตามบัญชาของนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อคณะกรรมการได้ดำเนินการลุล่วงและเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อ รัฐบาล แต่รัฐบาลกลับไม่มีท่าทีที่จะตอบรับ และพยายามบิดเบือนว่าข้อเสนอแนะของคณะกรรมการกลางฯ เป็นเพียงข้อ เรียกร้องของชาวบ้าน ต้องส่งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาว่าจะทำให้ได้หรือไม่

เท่ากับว่าการแก้ปัญหาของสมัชชาคนจน ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไป ก็เท่ากับว่ารัฐบาลเตะถ่วง ยื้อปัญหาไปที่จุดเริ่มต้น จนไม่ทราบว่าเมื่อใดจะได้รับการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม

ประการที่ 3 สมัชชาคนจนได้เริ่มชุมนุมมาตั้งแต่ วันที่ 23 มีนาคม 2542 โดยตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 1 – 7 ในพื้นที่ปัญหา ต่างๆ แต่รัฐบาลไม่เคยเหลียวแล จนชาวบ้านต้องพยายามกดดัน และรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการกลางฯ เพื่อแก้ไขปัญหา แต่ รัฐบาลก็ยังไม่ยอมปฏิบัติตาม

ที่สำคัญขณะนี้เป็นช่วงที่สภาผู้แทนราษฎร ใกล้จะหมดอายุ ซึ่งหากรัฐบาลไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ในการแก้ไข สมัชชาคนจน ก็เท่ากับว่าสมัชชาคนจนก็จะต้องไปเริ่มต้นร้องเรียนใหม่ ในรัฐบาลหน้า เพราะหลักการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ เดิมถูกรัฐบาลของนายชวน ยกเลิกหมดแล้ว

ประการที่ 4 กรณีเขื่อนปากมูลชาวบ้านจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดให้รัฐบาลสั่งการ ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เปิดประตูน้ำเป็นเวลา 4 เดือนเพื่อทดลองให้ปลาขึ้นวางไข่ ตามข้อเสนอแนะของกรรมการกลาง เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วง เวลาที่ปลาเศรษฐกิจจากแม่น้ำโขงจะขึ้นมาวางไข่ในแม่น้ำมูล หากผ่านช่วงเวลานี้ไปก็เท่ากับชาวบ้านต้องรอคอยไปอีกปี หนึ่ง ซึ่งยังไม่รู้ว่าปีหน้าจะมีการปฏิบัติที่เป็นจริงหรือไม่

ประการที่ 5 กรณีเขื่อนลำคันฉูที่ชาวบ้านร้องเรียนกับรัฐบาลว่า ตัวเขื่อนมีรอยร้าวเป็นอย่างมาก ชาวบ้านไม่มีความมั่นใจ ว่าหากเขื่อนพังลงมา ชาวบ้านที่อยู่ใต้เขื่อนจะต้องเผชิญกับอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างรุนแรงแน่นอน ซึ่งคณะกรรม การกลางฯได้มีมติให้ตั้งกรรมการกลางที่ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งหากรัฐบาลไม่สั่งการตามข้อเสนอของ กรรมการกลางฯ ก็เท่ากับปล่อยชาวบ้านไปเผชิญกับชะตากรรมที่ไม่อาจคาดเดาได้

โดยเฉพาะช่วงนี้อยู่ในฤดูฝน น้ำในเขื่อนมีปริมาณมากความเสี่ยงของชาวบ้านก็สูงขึ้นไปด้วย การเข้าทำเนียบเพื่อกดดันให้ รัฐบาลแก้ปัญหาตามมติกรรมการกลางฯเร็วเท่าไหร่ความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของชาวบ้านก็มีมากเท่านั้น

ประการที่ 6 กรณีปัญหาเร่งด่วนที่คณะกรรมการกลางฯเสนอให้รัฐบาลยุติการดำเนินคดีในระหว่างการแก้ไขปัญหา ซึ่ง ส่วนมากเป็นกรณีพื้นที่ป่าไม้ และที่สาธารณประโยชน์ ทับที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวบ้าน หากรัฐบาลไม่เร่งสั่งการให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติคณะกรรมการกลางฯ ชาวบ้านกลับไปก็ต้องถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นฤดูฝน ที่ชาวบ้านต้องทำไร่ทำนา หากยืดเวลาออกไปอีกก็จะไม่สามารถทำการผลิตในปีนี้ได้

ประการที่ 7 เนื่องจากรัฐบาลโดยเฉพาะนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี มักใช้วิธีการตั้งคณะกรรมการฯแต่ไม่มีการแก้ไข ปัญหา และปล่อยให้คนจนชุมนุมต่อไปโดยไม่สนใจใยดีจนกว่าชาวบ้านจะหมดแรงถอยร่นไปเอง วิธีการเช่นนี้ถูกนำมาใช้ กับคนจนกลุ่มต่างๆตลอดมาตั้งแต่นายชวน หลีกภัย เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัชชาคนจนจึงจำเป็นต้องตัดสินใจบุก เข้าทำเนียบรัฐบาล หลังจากรอคอยมา 16 เดือน

ประการที่ 8 การชุมนุมโดยสงบของชาวบ้านจะถูกละเลยจากรัฐบาลเสมอมา ระยะเวลา 16 เดือนในการตั้งหมู่บ้านแม่มูน มั่นยืนเป็นบทพิสูจน์ที่ชัดเจน ในขณะที่ปัญหาความเดือดร้นที่เกิดขึ้นรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ สมัชชาคนจนจึงจำเป็นต้อง เคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล ซึ่งถ้าใช้วิธีอื่นเช่น ปิดถนน หรือยึดสถานที่ราชการอื่น ก็อาจสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน กลุ่มต่างๆ การบุกเข้าทำเนียบรัฐบาล จึงเป็นการกดดันรัฐบาลโดยตรงและมีผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนน้อยที่สุด

ประการที่ 9 ท่าทีของรัฐบาลที่ไม่ยอมรับข้อเสนอแนะของกรรมการกลางฯในการแก้ไขปัญหา ทั้งที่รัฐบาลเป็นผู้แต่งตั้ง ขึ้นมาเองนั้น คือการที่รัฐบาลไม่ยอมเป็นผู้จัดการปัญหาที่เกิดขึ้น วางบทบาทตัวเองอยู่เหนือปัญหา เป็นเสมือนการยั่วยุให้ มวลชนกลุ่มต่างๆเข้าห้ำหั่นกันเอง ซึ่งเป็นการสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติอย่างมหาศาล เมื่อคนไทยต้องสู้กับคน ไทยด้วยกันเอง สมัชชาคนจนจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการที่เด็ดขาดเพื่อระงับความรุนแรงก่อนเหตุการณ์จะลุกลามบานปลาย

แม้ว่าการที่สมัชชาคนจนบุกเข้าทำเนียบรัฐบาล จะต้องถูกตั้งคำถามว่าทำผิดต่อกฎหมาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิต ครอบครัว และ ชุมชน ของพวกเราในขณะนี้นั้น มันส่งผลที่รุนแรงแสนสาหัสมาตั้งแต่โครงการต่างๆของรัฐที่ไม่มีการศึกษาผลกระทบอย่าง รอบด้านและ ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเริ่มดำเนินการ

การดำเนินการโครงการของรัฐ คือการยึดที่ไร่ที่นา ทำลายทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างของเรา ทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่เป็น พื้นฐานในการเลี้ยงชีพของพวกเรา เป็นสาเหตุให้ครอบครัวต้องแตกแยก นำความอดอยาก ยากจนและสร้างหนี้สินให้กับ พวกเรา

แต่เมื่อพวกเราลุกขึ้นทวงถามกับถูกกล่าวอ้างว่าผิดกฎหมาย ทั้งที่ผลของการพัฒนาที่เราได้รับรุนแรงกว่าบทลงโทษของ กฎหมายใดๆ ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐอ้างมาเพราะมันคือประหาร ชีวิต ครอบครัวและชุมชนของพวกเราทั้งเป็น สมัชชาคนจนจึง จำเป็นต้องยืนหยัดต่อสู้ต่อไปเพื่อชัยชนะ

เชื่อมั่นในพลังประชาชน

สมัชชาคนจน

17 กรกฎาคม 2543

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา