eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

5 วัน กับ 65 กิโลเมตร คนจนส่งกำลังสับเปลี่ยนสร้างประชามติ

ชุมชนรายทางขานรับการเปิดประตูเขื่อนปากมูนชี้เป็นทางออกเรื่องปัญหาพันธุ์ปลาและน้ำท่วมเมืองอุบลฯ ทักษิณจวก “เอาอะไรอีกประตูเขื่อนปากมูนเปิดแล้ว 4 เดือน ชี้ทำอะไรต้องมีเหตุผล” คนจนแจง ความเสียหายจากเขื่อนเกือบ ๑๐ ปี สุดคณานับ ทดลอง ๔ เดือนคงไม่เป็นผล ไม่ครบวงจรธรรมชาติ ย้ำเดินเท้าไม่ได้กดดันใคร เพียงเพื่อขอประชามติประชาชน ในการเปิดเขื่อนถาวร

                จากการเดินเท้าทางไกลของกลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจนเขื่อนปากมูน เขื่อนสิรินธรและเขื่อนราษีไศล ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2544 โดยการเดินเท้าในครั้งนี้เป้าประสงค์หลักได้แก่การสร้างความเข้าใจ และขอประชามติจากคนอีสานและประชาชนทั่วไปในการฟื้นคืนแม่น้ำมูนสู่ชุมชน โดยเสนอ“การเปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูนและเขื่อนราษีไศลอย่างถาวร” เพื่อให้ธรรมชาติกลับคืนความอุดมสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง

                และวันนี้นายกรัฐมนตรี ได้ออกรายการวิทยุนายกพบประชาชน ซึ่งมีการถ่ายทอดออกอากาศกระจายเสียงไปทั่วประเทศ โดยนายกกล่าวถึงการเดินทางของสมัชชาคนจนว่า รัฐบาลและสมัชชาคนจนได้ตกลงกับแล้วว่าให้มีการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูนเป็นเวลา 4 เดือนเพื่อทำการศึกษาขณะนี้คณะกรรมการกำลังศึกษาอยู่ยังไม่เสร็จ จะมาเรียกร้องอะไรอีก “ผมรู้ว่าผู้นำของท่านต้องการแสดงผลงานจึงออกมาเคลื่อนไหว” แต่อย่าทำอะไรให้คนอื่นเดือดร้อน รัฐบาลยึดหลักเมตรธรรมในการช่วยเหลือ และหากทำให้คนอื่นเดือดร้อนรัฐบาลก็จะใช้หลักกฎหมายโดยไม่ยกเว้น

ขณะเดียวกันขบวนรณรงค์ของกลุ่มสมัชชาคนจนที่ได้เดินเท้ามาเป็นวันที่ 5 ก็ได้เดินทางออกจากที่พักวัดบ้านกุดกั่ว ต.ดอนมดแดง อ.ดอนมดแดง จ.อุบลฯ ในเวลาประมาณ ๐๖.๐๐ น. โดยก่อนออกจากบริเวณวัดชาวบ้านได้ช่วยกันทำความสะอาด และสำรวจความเรียบร้อยของสถานที่ และร่วมกันสวดมนต์ไหว้พระ ซึ่งนับเป็นกิจวัตรประจำวันก่อนออกเดินทางของขบวนนี้      

ขบวนได้เดินทางผ่านกิ่งอำเภอดอนมดแดงเข้าสู่เขตอำเภอเมืองอุบลฯ และเข้าที่พักที่วัดบ้านนาคำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง พอขบวนเดินทางมาถึงก็ได้รับการต้อนรับจากนายสมศรี จำปาศรี ผู้ใหญ่บ้านพร้อมด้วยนายสวน อรการ สมาชิก อ.บ.ต.บ้านนาคำพร้อมด้วยชาวบ้านจำนวนหนึ่ง

                นายสมศรี จำปาศรี อายุ 51 ปี ผู้ใหญ่บ้านนาคำ กล่าวว่า บ้านนาคำมีทั้งหมด 154 หลังคาเรือน ชาวบ้านมีอาชีพทำนาและอาชีพประมง มีชาวบ้านที่ทำประมงเป็นหลักจำนวน 30 หลังคาเรือน และมีอยู่ 10 หลังคาเรือนไม่มีที่นา โดยยึดอาชีพประมงอย่างเดียว ในช่วงที่เขื่อนปากมูนปิดประตูชาวบ้านของผมไม่สามารถจับปลาได้ จนมาถึงช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาชาวบ้านจับปลาได้เยอะขึ้น ปลาที่ชาวบ้านจับได้ก็จะมีทั้งปลาซวย , ปลาอี่ตู๋ ซึ่งปลาชนิดดังกล่าวมีการจับได้เป็นจำนวนมาก “ผมเห็นด้วยที่จะให้เปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูน เพราะชาวบ้านจะได้จับปลาได้ และผมก็จะได้กินปลาด้วย” นายสมศรีกล่าว

                นายสวน อรการ ส.อ.ต.บ้านนาคำ กล่าวว่า “ผมเกิดมาอายุได้ 54 ปี เป็นสมาชิกสภาตำบลหนึ่งสมัยและเป็นสมาชิก อ.บ.ต. 2 สมัย ชาวบ้านนาคำก็หาปลาเหมือนกับทางอำเภอโขงเจียมอำเภอพิบูลย์ฯเหมือนกัน ที่ผ่านมาก็ได้ยินข่าวการเดินขบวนของสมัชชาคนจน บ้านผมก็เดือดร้อนเหมือนกันอย่างรู้ข้อมูลเหมือนกัน ว่าจะทำอย่างไรจึงจะหาปลาได้เหมือนแต่การที่จะสร้างเขื่อนปากมูนอีก”

                ด้าน น.ส.วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ได้กล่าวต่อกรณีการพูดออกรายการวิทยุของนายกรัฐมนตรีว่า ท่านนายกคงได้รับข้อมูลคลาดเคลื่อน เพราะการเดินเท้าทางไกลของสมัชชาคนจนในครั้งนี้ เราต้องการรณรงค์ทำความเข้าใจถึงปัญหาความจริงว่า การสร้างเขื่อนปากมูนที่สร้างปิดปากแม่น้ำมูนได้ส่งผลให้พันธุ์ปลาและจำนวนปลาลดลง เพราะว่าปลาในแม่น้ำมูนที่สำรวจพบจำนวน 119 ชนิดซึ่งส่วนใหญ่มากกว่า  95 เป็นปลาอพยพมาจากทะเลสาบเขมรเข้ามาตามแม่น้ำโขง การเดินเท้าทางไกลครั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจกับชุมชนว่าการเปิดประตูเขื่อนปากมูนคือทางออกที่จะทำให้ชาวบ้านจับปลาได้ 

นายชนะ กิคำ ตัวแทนชาวบ้านบ้านค้อใต้ ต.โพธิ์ศรี อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลฯ หนึ่งในอาสาสมัครเดินเท้าให้ความเห็นเกี่ยวกับการอพยพของปลาว่า ปลาจากแม่น้ำโขงจะเข้ามาวางไข่และหากินในแม่น้ำมูนในช่วงฤดูน้ำแดง คือช่วงเดือนพฤษภาคม-เดือนสิงหาคม หลังจากเพาะฟักจนลูกปลาหากินเองได้พ่อปลาแม่ปลาก็จะเดินทางกลับสู่แม่น้ำโขงและทะเลสาบเขมรในช่วงฤดูน้ำลด คือช่วงเดือนพฤศจิกายน - มกราคม และรอจนถึงฤดูน้ำแดงในปีต่อมาก็จะเดินทางมาวางใข่ในแม่น้ำมูนอีกครั้งหนึ่ง แต่พอมีการสร้างเขื่อนปากมูนวงจรชีวิตปลาก็เปลี่ยนไป ปลาจากแม่น้ำโขงไม่สามารถเดินทางผ่านเขื่อนปากมูนได้ ทำให้ชาวบ้านที่มีอาชีพประมงไม่สามารถจับปลาได้ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาของชาวบ้านปากมูนก็คือการเปิดประตูน้ำอย่างถาวรเพื่อให้ปลาเข้ามาในแม่น้ำมูนได้ ชุมชนประมงก็จะมีปลาจับเพื่อเลี้ยงครอบครัว

และในวันนี้เป็นวันที่ชาวบ้าน จากหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนได้ผลัดเปลี่ยนชุดการเดินทาง โดยมีชาวบ้านจาก ๓๓ หมู่บ้าน จำนวน ๓๓ คน เข้ามาสับเปลี่ยนชุดแรก การสับเปลี่ยนดังกล่าวเป็นข้อตกลงร่วมกันของแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งบางหมู่บ้านก็สับเปลี่ยนใน ๑๐ วัน บางหมู่บ้าน ๑๕ วัน แต่ส่วนใหญ่จะกำหนดภายใน ๕ วัน ซึ่งการเข้าร่วมขบวนของอาสาสมัครต้องอยู่ระเบียบ ข้อตกลงเดียวกันเพื่อการอยู่ร่วมกันในขบวนอย่างสันติสุข

 

รายงานจากขบวนเดินเท้าทางไกล

๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๔

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา