eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

15 วัน กับ 169 กิโลเมตร บนเส้นทางสายลุ่มน้ำ ของคนจน

                  เข้าวันที่ 15 แล้ว ที่ขบวนสมัชชาคนจนได้เดินเท้ารณรงค์ เพื่อให้เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูนและ เขื่อนราษีไศลอย่างถาวร วันนี้ขบวนสมัชชาคนจนได้เดินทางออกจากวัดบ้านผักขะ ต.ลิ้นฟ้า อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ เดินทางเลาะฝั่งซ้ายของแม่น้ำมูน เข้าสู่บ้านดอนโก โดยขบวนได้เดินผ่านบ้านค้อ บ้านเมืองแสน และเข้าพักที่บ้านกุดเมืองฮาม ต.คอนกาม อ.ยางชุมน้อย ในคืนวันที่ 23 ต.ค. โดยได้รับการอนุเคราะห์จากเจ้าของพื้นที่ ทั้งเจ้าอาวาสวัดและกำนัน เป็นอย่างดี

 เนื่องจากในช่วงนี้ฝนได้ตกลงอย่างหนัก ทำให้ขบวนต้องเลื่อนเวลาการออกเดินทาง และได้เคลื่อนออกจากวัดบ้านผักขะในเวลาประมาณ ๐๖.๐๐ น.

                ภายหลังขบวนรณรงค์เดินทางออกจากบ้านผักขะ นายมงคล เสาเวียง อายุ ๔๖ ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๖ บ้านผักขะ ให้ความเห็นว่า “ได้ไปดูขบวนที่ได้มาพักค้างแรมที่วัดบ้านผักขะแล้ว ทีแรกสงสัยเหมือนกันว่าเป็นขบวนอะไร แต่เมื่อสอบถามและทราบจุดประสงค์การมาแล้ว ก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี และเข้าใจดีในสิ่งที่ชาวบ้านได้ออกมาบอกกล่าว ซึ่งชาวบ้านทั่วไปก็ต้องการ เรื่องน้ำกินน้ำใช้บ้านเราไม่เคยอดน้ำ ไม่จำเป็นต้องเก็บ หน้าแล้งน้ำก็มี ขนาดในตัวเมืองศรีสะเกษยังต้องเอาน้ำจากแม่น้ำมูนตรงท่าบ้านผักขะไปทำปะปา การสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำทำให้เกิดน้ำท่วม ชาวบ้านเดือดร้อน บ้านผักขะปีนี้ก็ท่วมมาก ข้าวในนาเสียหายหมด ส่วนหนึ่งคิดว่าน้ำระบายไม่ทันเพราะเขื่อนปากมูนปิดปากแม่น้ำไว้”

กับความเห็นของการเคลื่อนขบวนของสมัชชาคนจนนายมงคลให้ความเห็นว่า “เห็นด้วยอย่างมากในแนวทางนี้ หากเป็นไปได้ให้เปิดประตูเขื่อนให้ได้ ทุกวันนี้ประชาชนเดือดร้อนหนัก น้ำท่วมหนัก ความช่วยเหลือได้รับก็เพียงข้าวถุงเดียว ซึ่งช่วยอะไรไม่ได้ มากนัก                ถ้าการเปิดประตูเขื่อนจะทำให้คนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์ หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ต้องยอมรับและลงมือทำ อย่างเช่นทุกวันนี้หากเปิดประตูคนบ้านผมจะได้รับประโยชน์มาก น้ำจะได้ระบายออกได้สะดวกขึ้น การปิดกั้นน้ำ ทำให้น้ำท่วมนาเสียหายมาก การรณรงค์เปิดประตูน้ำ ในลักษณะนี้ตนเห็นด้วยอย่างยิ่ง  แต่ทำให้อยู่ในขอบเขต ไม่ให้ผู้อื่นเดือดร้อน การเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจน บางครั้งคนทั่วไปจะมองเป็นภาพลบแต่ตนไม่มองเช่นนั้น คิดว่าหากไม่เดือดร้อนจริงก็คงไม่มาเดินตากแดดตากลมเช่นนี้ การทำเช่นนี้ต้องมีเหตุผล ไม่ใช่ว่าจะมาก่อกวนสร้างความเดือดร้อนให้ใคร                เนื่องจากเราทำด้วยเหตุด้วยผล ถ้าเราไม่มีปัญหาเราก็ไม่มา คนที่มองเป็นภาพลบเขาไม่รู้ว่าเราเดือดร้อนอะไร เราอยู่เรากินอย่างไร รัฐบาลบอกว่าจะแก้ไขปัญหาให้ก็ได้แต่รับปาก จนหมดวาระตัวเองไป

                คนในหมู่บ้านผักขะ ประมาณ ๒๐% ไม่มีที่ดินทำกิน อาชีพหลักคือการหาปลาขายซึ่งก่อนนี้เคยมีปลามากมายแต่ช่วงหลังที่ผ่านมาปลาในแม่น้ำมูนลดน้อยลงมาก เครื่องมือที่ใช้ก็ลอบ แห มอง จั่น หาไม่ได้เหมือนเมื่อ ๕-๖ ปีที่แล้ว อาจเป็นเพราะปลาไม่สามารถขึ้นมาวางไข่ในแม่น้ำมูนได้

                สำหรับขบวนรณรงค์ นายมงคล ย้ำว่า “การเดินจะต้องไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้ใคร ไม่ไปก่อความวุ่นวายหรือในเรื่องที่ผิดกฎหมาย  ให้เดินทางไปประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรับรู้ข้อเท็จจริง แต่คิดว่าชาวบ้านเข้าใจได้ดีจากเรื่องที่มารณรงค์ในครั้งนี้” นายมงคลกล่าวในที่สุด

 ทางด้านขบวนรณรงค์ ได้เดินทางมาถึงวัดบ้านกุดเมืองฮาม ต.คอนกาม อ.ยางชุมน้อย ประมาณเวลา ๑๐.๐๐ น. และได้เข้าพักที่ศาลาพักศพ และศูนย์เด็กเล็กภายในบริเวณวัด

บรรยากาศหลังจากการเข้าที่พัก ชาวบ้านได้พักผ่อนตามอัธยาศัย บางส่วนได้ลงอาบน้ำ ซักผ้าในกุดที่อยู่ติดกับบริเวณวัด บางคนตระเตรียมอาหารเพื่อกลางวัน

ในช่วงกลางวันฝนได้เทกระหน่ำลงมาอย่างหนัก อย่างไรก็ตามชาวบ้านก็ได้ประชุมปรึกษาหารือ แบ่งสายเพื่อออกรณรงค์ทำความเข้าใจในหมู่บ้านกุดเมืองฮามที่มีประมาณกว่า ๓๐๐ หลังคาเรือน โดยทั้งหมดได้แบ่งเป็น ๔ สาย สายละ ๑๕-๑๗ คน

การออกรณรงค์ลักษณะนี้นับเป็นกิจวัตรของอาสาสมัครในขบวน นับตั้งแต่เริ่มเคลื่อนขบวนรณรงค์ออกจากหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน

ตลอดเส้นทางของวันนี้ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่พื้นที่ทีผ่านจะเป็นพื้นที่ปลูกหอมแดง ชาวบ้านได้ตะโกนให้กำลังใจ บางส่วนคณะแจกใบปลิวก็ได้ออกแจกให้กับชาวสวนที่กำลังปฏิบัติงานซึ่งเสียงส่วนใหญ่ก็ได้รับการ สะท้อนว่าสนับสนุนการเปิดเขื่อนด้วยเห็นว่าจะได้แก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่นาที่สร้าง ความเสียหายหนักอยู่ในขณะนี้ได้

  รายงานจาก ขบวนเดินเท้าทางไกล  ๒๓ ตุลาคม ๒๕๔๔

สมภาร คืนดี /ไพรจิตร ศิลารักษ์

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา