eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

เดินเท้าวันที่ ๑๘ คนลุ่มน้ำมูนรวมพล ณ ที่ว่าการอำเภอราษีไศล

ชาวราษีคึกคัก รับขบวนเดินเท้าฯด้วยข้าวตอกดอกไม้กว่า ๑,๕๐๐  คน เปิดเวที หน้าอำเภอ คนแห่ลงประชามติ “คืนแม่น้ำมูน คืนความอุดมสมบูรณ์ให้คนอีสาน”

            เมื่อเวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น.ขบวนเดินเท้าทางไกลของสมัชชาคนจนได้เดินเข้าถึงตัวอำเภอราษีไศล จ.ศรสะเกษ โดยได้ออกจากบ้านยาง ต.ไผ่ เมื่อเวลาประมาณ ๐๘.๓๐ น.มาตามเส้นทางมุ่งเข้าตัวอำเภอราษีฯ ในขณะการเดินเท้าของวันนี้ ได้รับความสนใจจากประชาชนสองข้างทางเป็นอย่างดี

            เมื่อขบวนเดินเข้าที่ว่าการอำเภอซึ่งเป็นสถานที่ที่จะพักแรมของวันนี้ ได้มีขบวนของชาวบ้านสมัชชาคนจนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล และเขื่อนหัวนา จำนวนกว่า ๕๐๐ คน ยืนแถวเรียงหนึ่งยาวรายสองข้างทางเข้าที่ว่าการฯ พร้อมทั้งโปรยข้าวตอกดอกไม้เมื่อขบวนเดินผ่าน สร้างความปิติยินดีให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก

 เมื่อขบวนเดินเข้าในสนามหน้าเวที นายชวลิต ศิลารักษ์ อายุ ๔๐ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๒๒ หมู่ ๒ ต.เมืองคง อ.ราษีไศล สมาชิกเทศบาลตำบลเมืองคง  ได้กล่าวต้อนรับขบวน ใจความสำคัญว่า นับเป็นโอกาสดีที่ชาวราษีไศลได้ต้อนรับขลวนรณรงค์ ที่ได้เดินเท้าทางไกลบอกกล่าวความทุกข์ยากที่เกิดจากการสร้างเขื่อน การดำเนินการของกลุ่มคนเหล่านี้นับได้ว่าเป็นผู้ที่มีจิตใจอันสูงส่ง ที่เสียสละและยอมรับความทุกข์ยาก เพียงเพื่อต้องกาให้พวกเราและชุมชนของเราที่อาศัยพึ่งพาอยู่กับแม่น้ำมูน ให้ได้ตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติและแม่น้ำมูน

            นายชวลิตกล่าวต่อว่า ณ วันนี้ เราจึงกล่าวได้ว่าเผ่าพันธุ์คนราษีไศล คือเผ่าพันธุ์ที่ดำรงชีวิตผูกพันกับแม่น้ำมูนอย่างแยกไม่ออก การกระทำใดๆ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนต่อแม่น้ำมูน ย่อมแสดงให้เห็นว่า เขาเหล่านั้นกำลังลบหลู่ หมิ่นหยามคนเผ่าพันธุ์บรรพบุรุษของเรา

            วันนี้พวกท่านผู้เสียสละ ผู้ยอมรับความทุกข์ยาก พวกท่านทำเพื่อจะปาป้องแม่น้ำ ปกป้องธรรมชาติ ปกป้องชุมชน ให้หลุดพ้นจากการแย่งชิงไป ให้สืบต่อสู่รุ่นลูกหลาน

            ในนามคนราษีไศล ขอกล่าวว่าภารกิจนี้คือการประกาศอิสรภาพ ปลดแอกที่กดคอข่มเหงคนลุ่มน้ำมูน เป็นการปลดปล่อยอิสรภาพของแม่น้ำมูน ให้ชุมชนดำรงอยู่คู่แม่น้ำมูน ให้แม่น้ำมูนอยู่คู่ชุมชนขอให้ภารกิจนี้ดำเนินต่อไปอย่างลุล่วง สัมฤทธิ์ผลทุกประการ นายชวลิตกล่าวในที่สุด

            จากนั้น นางเจริญกองสุข  นายบุญมีคำเรือง ตัวแทนขบวนฯ ได้กล่าวขอบคุณการต้อนรับของชาวราษีไศลในครั้งนี้ ท้ายสุด นางเจริญ ได้ย้ำถึงความร่วมมือร่วมใจกันของคนลุ่มน้ำมูนว่า มีแต่ความสามัคคีร่วมมือร่วมใจกันเท่านั้นที่จะทำให้พวกเราได้แม่น้ำมูนอันอุดมสมบูรณ์กลับคืนมา

            ภายหลังพิธีต้อนรับ ชาวบ้านทั้งหมดได้เข้าที่พักที่ศาลาประชาคม อ.ราษีฯ

            ต่อมาในเวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น.ชาวบ้านทั้งหมดได้เข้ารวมตัวกันหน้าเวทีอีกครั้ง นายไพจิตร ศิลารักษ์ ชาวบ้านกรณีเขื่อนราษีไศล ได้กล่าวผ่านเครื่องกระจายเสียงว่า เพื่อเป็นกำลังใจให้กับอาสาสมัครในขบวนเดินเท้าทางไกลา จึงขอให้อาสมัครเข้าแถวหน้าเวทีทั้งหมด ตัวแทนชาวบ้านจากเขื่อนหัวนาจะได้มอบผ้าขาวม้าเพื่อเป็นกำลังใจให้

            เมื่อทั้งหมดได้เข้ารวมหน้าเวที ในเวลาประมาณ ๑๕.๓๐ น.ตัวแทนชาวบ้านเขื่อนหัวนาก็ได้ผูกผ้าขาวม้าจำนวนกว่า ๑๓๐ ผืนให้กับอาสามัครทุกคน ซึ่งในช่วงเวลานั้น เสียงเพลงมาร์ชสมัชชาคนจนได้ดังกึกก้องไปทั่วบริเวณ

            จากนั้น นายไพจิตรได้ประกาศให้ชาวบ้านที่อยู่หน้าเวทีว่า ต่อไปจะมีการลงประชามติเพื่อฟื้นฟูแม่น้ำ ชีวิตและชุมชนคนลุ่มน้ำมูน โดยเนื้อหาของใบลงประชามติความว่า “เพื่อฟื้นฟูแม่น้ำมูน มรดกของคนอีสาน และเพื่อยืนยันถึงสิทธิของผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ข้าพเจ้าของร่วมเรียกร้องต่อรัฐบาล ธนาคารโลก และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนปากมูลและเขื่อนราษีไศล ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ ๑.เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลและเขื่อนราษีไศลอย่างถาวร ๒.ดำเนินการฟื้นฟูระบบนิเวศน์แม่น้ำมูนที่ได้รับความเสียหายจากการสร้างเขื่อนปากมูลและเขื่อนราษีไศลให้กลับคืนสู่สภาพเดิม และ ๓.ดำเนินการฟื้นฟูวิถีชีวิตและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำมูน บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิ์ของผู้ได้รับผลจากการสร้างเขื่อน

            ขณะเดียวกันได้มีการตั้งโต๊ะเพื่อให้ประชาชนทั่วไป และชาวบ้านที่เข้าร่วมงานในวันนี้ร่วมลงประชามติโดยตั้ง จำนวน ๙ โต๊ะด้านข้างของเวที โดยกลุ่มแรกมีชาวบ้านจากเขื่อนปากมูล เขื่อนสิรินธร เขื่อนราษีไศล และเขื่อนหัวนา รวมถึงนายชัยพันธ์ ประภาสวัต ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ร่วมลงประชามติในวันนี้ด้วย

            นายชัยพันธ์ กล่าวว่า การเดินเท้ารณรงค์ของขบวนอาสาสมัครของสมัชชาคนจนนับ เป็นขบวนที่ใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน ใช้แนวทางประชาธิปไตยตามกระบวนการกฎหมายรัฐธรรมนูญได้อย่าดีที่สุด ซึ่งเป็นแนวทางที่ทางรัฐ และราชการควรที่จะใช้อย่างยิ่ง นี่คือการกระจายอำนาจอย่างแท้จริงโดยประชาชนได้ดำเนินการด้วยตนเอง ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยรัฐธรรมนูญมาตราที่ ๔๖ ว่าด้วยสิทธิชุมชน ซึ่งประชาชนสามารถดูแลทรัพยากรในท้องถิ่นด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่สังคมควรให้ความสำคัญเพราะจะเป็นตัวอย่างการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม  เป็นการเสนอความคิดที่แตกต่างกับรัฐหรือราชการโดยแนวทางแห่งสันติวิธี ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทั้งโลกกำลังเรียกร้องและแสวงหาแนวทางเช่นนี้อยู่  หากสังคมไม่ต้องการความรุนแรงก็ต้องยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง และเคารพความคิดเห็นของประชาชนระดับรากหญ้า ซึ่งเขามีภูมิปัญญาของท้องถิ่นอยู่อย่างมหาศาลมากกว่าความรู้ของนักวิชาการในมหาวิทยาลัย และนักการเมือง ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาลได้เอาใจใส่และรับฟังเสียงเหล่านี้อย่างจริงจัง โดยปราศจากอคติ และอย่ามองความเคลื่อนไหวของประชาชนเป็นเพียงเรื่องของผลประโยชน์หรือการเมืองเท่านั้น เพราะประชาชน คือผู้ที่อยู่กับธรรมชาติและเข้าใจชีวิตของเขาได้ดีที่สุด การเรียกร้องให้เปิดประตูเขื่อนราษีไศลและปากมูลอย่างถาวรนั้น จึงเป็นความชอบธรรมที่คนในลุ่มน้ำมูน และผู้คนในสังคมควรมีส่วนรับผิดชอบในความผิดพลาดในอดีต และฟื้นฟูธรรมชาติให้กับประชาชน นี่จึงเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง นายชัยพันธุ์กล่าวในที่สุด

            อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ ๒๗ ต.ค.ขบวนจะยังคงอยู่ที่ที่ว่าการอำเภอราษีไศลต่ออีก ๑ วัน โดยจะได้จัดเวทีวิชาการ และเปิดให้ประชาชนที่เข้าร่วม ได้ลงประชามติต่อด้วย

รายงานจาก ขบวนเดินเท้าทางไกล ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๔

สมภาร  คืนดี

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา