eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

14 วัน กับ 156 กิโลเมตร บนเส้นทางสายลุ่มน้ำ ของคนจน

ขบวนคนจนเดินเท้าต่อ เข้าจังหวัดที่สองเร่งสร้างความเข้าใจ ขอความเห็นคนจนในลุ่มน้ำ ขอคืนแม่น้ำมูน ย้ำเดินหน้าแม้ลมหนาวเริ่มโชย เดินไกลไม่หวั่น ความเห็นชุมชนรายทางโหมกำลังใจให้เดินหน้าต่อ

จากการเดินเท้าทางไกลของกลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจนจากเขื่อนปากมูน เขื่อนสิรินธรและเขื่อนราษีไศล ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2544 เพื่อรณรงค์ทำความเข้าใจถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤตปลาในลำน้ำมูนอันเป็นผลให้ชุมชนประมงล่มสลาย โดยมีข้อเสนอต่อการแก้วิกฤตเรื่องนี้คือ “การเปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูนและเขื่อนราษีไศลอย่างถาวร” เพื่อให้ธรรมชาติกลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง

เส้นทางของขบวนรณรงค์เน้นเส้นทางที่เป็นชุมชนริมแม่น้ำสายต่างๆ ในสาขาของแม่น้ำมูน เพื่อจะได้ทำความเข้าใจ บอกกล่าวถึงสิ่งที่เกิดกับแม่น้ำมูนในปัจจุบันและสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหากมีการเปิดเขื่อนอย่างถาวร โดยการเดินทางจะไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนที่ใช้ถนนในการสัญจรไปมา

วันนี้ ขบวนเดินเท้ารณรงค์ได้ล่วงเข้าเป็นวันที่ 14 ด้วยระยะทาง 156 กิโลเมตร เลียบแม่น้ำชีข้ามเขตจังหวัดอุบลราชธานีบริเวณอำเภอเขื่องใน เข้าสู่เขตอำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ ในวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๔ นับเป็นจังหวัดที่ ๒ และอำเภอที่ ๗ ของการเดินเท้าในครั้งนี้

สถานที่พักที่จะเป็น วัด โรงเรียน สถานที่ราชการต่างๆ เช่นที่ว่าการอำเภอ ตามแต่จะประสานได้ตามระยะทางที่กำหนดไว้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากเจ้าของสถานที่ที่ตัวแทนของขบวนเข้าไปประสาน

โดยในวันนี้ขบวนรณรงค์ได้เข้าพักที่วัดบ้านผักขะ ต.ลิ้นฟ้า อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ เมื่อขบวนรณรงค์เดินทางมาถึงผู้ใหญ่บ้านผักขะหมู่ที่ 8 ได้เข้ามาทักทาย พูดคุยอย่างเป็นกันเอง จากนั้นผู้ใหญ่บ้านคนดังกล่าวได้ประกาศผ่านเครื่องกระจายเสียงของหมู่บ้าน ชี้แจงเรื่องเดินทางรณรงค์ของสมัชชาคนจน และให้ชาวบ้านผักขะ ต้อนรับโดยเสมือนญาติคนหนึ่ง

นายบุญมี คำเรือง ตัวแทนขบวน กล่าวว่า “การประสานงานส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหานัก เนื่องจากผู้มีอำนาจตัดสินใจค่อนข้างจะเข้าใจ และเห็นด้วยกับการที่จะมีแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ และส่วนใหญ่ที่ผ่านทางมาเห็นว่าการเปิดเขื่อนจะสามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ในแม่น้ำมูนได้ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องน้ำท่วมหนัก ซึ่งแถวๆ แม่น้ำชีที่พวกเราเดินทางผ่านมาน้ำท่วมหนักชาวบ้านเดือดร้อน ข้าวในนาน้ำท่วมตายหมด นี่ก็เป็นผลหนึ่งจากการกักแม่น้ำไว้ แม้ว่าเขื่อนจะเปิดอยู่แต่หากว่าอย่างไรก็ไม่เป็นธรรมชาติเพราะแม่น้ำมูนบริเวณปากแม่น้ำกว้างน้ำระบายได้สะดวก ขณะนี้มีเพียงช่องเล็กๆ ๘ ช่องเท่านั้น ดังนั้นนี่คือปัญหาผลกระทบหนึ่ง ส่วนเรื่องปลา ถือเป็นเรื่องวิถีชีวิตที่ได้รับผลกระทบโดยตรง หากเปิดเขื่อนปากมูล ปัญหาเหล่านี้ก็จะหมดไป” นายบุญมีกล่าว

ทางด้านการตอบรับจากชุมชนที่ขบวนผ่านทาง นายบุญมีให้ความเห็นว่า “การตอบรับจากประชาชนตามรายทางได้รับเป็นทางบวกมากกว่าลบ ชาวบ้านเข้าใจดีถึงผลกระทบที่พวกเราได้รับอยู่ โดยเฉพาะชุมชนสองริมฝั่งน้ำทั้งแม่น้ำชี แม่น้ำเซ แม่น้ำมูน เพราะปีนี้เขาได้กินปลาจากแม่น้ำมากกว่าปีก่อนๆ บางคนหาปลาขายมีรายได้ดีขึ้น และบางช่วงมีน้ำท่วมหนักชาวบ้านก็เชื่อว่าการปิดเขื่อนยิ่งเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้พวกเขา พวกเราเดินครั้งนี้ได้รับกำลังใจมากพอสมควรไม่ว่าจากคนทั่วไปในหมู่บ้านที่เราผ่าน และที่เราเข้าพัก และจากพระที่เราพัก เพราะการอนุญาตให้พักก็เปรียบเสมือนว่าเราได้รับการตอบรับอย่างดีแล้ว เมื่อวันที่ ๑๙ ที่ผ่านมา ที่วัดสว่างอารมณ์ ในเขตเทศบาลอ.เขื่องใน เจ้าคณะอำเภอเขื่องในได้มาเทศนาเพื่อให้กำลังใจกับพวกเรา ท่านได้ย้ำว่าเมื่อทำในสิ่งที่ถูกต้องก็ไม่ต้องกลัว นอกจากนั้นในหมู่บ้านที่ผ่านกำนันผู้ใหญ่บ้านได้ให้การต้อนรับด้วยการออกมาต้อนรับ พูดคุยด้วยอัธยาศัยไมตรีดี บางหมู่บ้านเช่นบ้านผักขะ ผู้ใหญ่บ้านได้ประกาศทางหอกระจายข่าว กระจายข่าวสารให้ชาวบ้านได้รับรู้ว่าได้มีขบวนรณรงค์มาที่หมู่บ้านและให้ชาวบ้านออกมาต้อนรับพูดคุย พร้อมทั้งหากจะสนับสนุนเสบียงอาหารก็ให้นำไปที่วัดได้ ซึ่งก็ถือว่าทำให้เรามีกำลังใจที่จะเดินรณรงค์ต่อได้” นายบุญมี กล่าวในที่สุด

และในวันนี้เป็นวันที่ครบรอบการเปลี่ยนชุดการเดินของขบวนทั้งชาวบ้านจากเขื่อนราษีไศล เขื่อนสิรินธร และเขื่อนปากมูน ซึ่งแต่ละกรณีปัญหาจะมีข้อตกลงร่วมกันในการผลัดเปลี่ยน ๕วัน ๑๐ วัน หรือ ๗ วันตามแต่สภาพของชาวบ้าน

การสับเปลี่ยนลักษณะดังกล่าวทำให้ขบวนรณรงค์มีเสบียงอาหารไม่ขาดเขินนัก นอกจากนั้นการจัดการเดินวันละไม่เกิน ๑๕ กิโลเมตร และการออกเดินตั้งแต่เช้า(ไม่เกินตีห้า) ทำให้ชาวบ้านไม่เหนื่อยมากขบวนจึงไม่มีปัญหาเรื่องการเจ็บป่วย จะมีบ้างก็เพียงการปวดขาจากการเดิน ซึ่ง ณ ขณะนี้ยังไม่พบปัญหาเรื่องการป่วยหนัก แม้ว่าจะมีคนหลายวัย ตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี ถึงประมาณ ๗๕ ปีก็ตาม

ด้าน น.ส.วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ได้กล่าวต่อกรณีการเดินเท้าทางไกลของกลุ่มสมัชชาคนจนว่า เราต้องการรณรงค์ทำความเข้าใจถึงปัญหาความจริงว่า การสร้างเขื่อนปากมูนที่สร้างปิดปากแม่น้ำมูนได้ส่งผลให้พันธุ์ปลาและจำนวนปลาลดลง ทำลายวิถีชีวิตของชุมชนคนทั้งลุ่มแม่น้ำมูน เพราะปลาไม่สามารถขึ้นมาวางไข่ได้ ภายหลังการทดลองการเปิดเขื่อนปากมูลเป็นเวลาเพียง ๔ เดือน พบว่าในแม่น้ำมูนมีปลาจำนวน 119 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่มากกว่า 95 เป็นปลาอพยพมาจากทะเลสาบเขมรเข้ามาตามแม่น้ำโขง

นายชนะ กิคำ ตัวแทนชาวบ้านบ้านค้อใต้ ต.โพธิ์ศรี อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลฯ หนึ่งในอาสาสมัครเดินเท้าให้ความเห็นเกี่ยวกับการอพยพของปลาว่า ปลาจากแม่น้ำโขงจะเข้ามาวางไข่และหากินในแม่น้ำมูนในช่วงฤดูน้ำแดง คือช่วงเดือนพฤษภาคม-เดือนสิงหาคม หลังจากเพาะฟักจนลูกปลาหากินเองได้พ่อปลาแม่ปลาก็จะเดินทางกลับสู่แม่น้ำโขงและทะเลสาบเขมรในช่วงฤดูน้ำลดคือช่วงเดือนพฤศจิกายน - มกราคม และรอจนถึงฤดูน้ำแดงในปีต่อมาก็จะเดินทางมาวางใข่ในแม่น้ำมูนอีกครั้งหนึ่ง แต่พอมีการสร้างเขื่อนปากมูนวงจรชีวิตปลาก็เปลี่ยนไป ปลาจากแม่น้ำโขงไม่สามารถเดินทางผ่านเขื่อนปากมูนได้ ทำให้ชาวบ้านที่มีอาชีพประมงไม่สามารถจับปลาได้ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาของชาวบ้านปากมูนก็คือการเปิดประตูน้ำอย่างถาวรเพื่อให้ปลาเข้ามาในแม่น้ำมูนได้ ชุมชนประมงก็จะมีปลาจับเพื่อเลี้ยงครอบครัว การเดินเท้าทางไกลครั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจกับชุมชนว่าการเปิดประตูเขื่อนปากคือทางออกที่จะทำให้ชาวบ้านจับปลาได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าขบวนเดินเท้าในครั้งจะมุ่งหน้าไปที่อำเภอราษีไศล ซึ่งจะมีการจัดเวทีเสวนาร่วมกับองกรค์ พันธมิตร และจะมีชาวบ้านเข้าร่วมจำนวนกว่า 15.00 คน

รายงานจาก ขบวนเดินเท้าทางไกล ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๔

สมภาร คืนดี /ไพจิตร ศิลารักษ์

~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

กำหนดเส้นทางรณรงค์ 22 คุลาคม – 2 พฤศจิกายน

วันที่ 22 ตุลาคม 44

เวลา 05.00 น. เดินทางออกจาก ที่พัก ( ศาลาเอนกประสงค์ อำเภอยางชุมน้อย ) เดินทางผ่านบ้านยางชุมใหญ่ และเดินต่อไปเข้าพักที่วัดบ้านผักขะ ( เขตอำเภอยางชุมน้อย ) ระยะทาง 8 กิโลเมตร ( เดินทางตามเส้นทาง อ.ยางชุมน้อย ไป จ.ศรีสะเกษ )

วันที่ 23 ตุลาคม 44

เวลา 05.00 น. เดินทางออกจาก ที่พักบ้านผักขะ อ.ยางชุมน้อย เดินทางผ่านบ้านดอนโก – บ้านค้อ 1 – บ้านค้อ 2 – บ้านเมืองแสน - บ้านกุดเมืองฮาม - บ้านแก้งเดินทางต่อไปยังสถานีสูบน้ำบ้านแสนแก้ว อ.ราษีไศล เข้าพักที่สถานีสูบน้ำบ้านแสนแก้ว ระยะทาง 12 กิโลเมตร ( เดินตามเส้นทางระหว่างหมู่บ้าน )

วันที่ 24 ตุลาคม 44

เวลา 05.00 น. เดินทางออกจาก ที่พักสถานีสูบน้ำบ้านแสนแก้ว เดินทางผ่านบ้านแสนแก้ว – บ้านส้มป่อยใหญ่ – บ้านโง้ง - ไปยังบ้านโก พักค้างคืนที่โรงเรียนบ้านโก ระยะทาง 12 กิโลเมตร ( เดินตามเส้นทางระหว่างหมู่บ้าน )

วันที่ 25 ตุลาคม 44

เวลา 05.00 น. เดินทางออกจาก ที่พัก โรงเรียนบ้านโก เดินทางผ่านบ้านท่า เดินต่อไปบ้านยาง อ.ราษีไศล เข้าพักที่ โรงเรียนบ้านยาง ระยะทาง 10 กิโลเมตร ( เดินตามเส้นทางระหว่างหมู่บ้าน )

วันที่ 26 ตุลาคม 44

เวลา 05.00 น. เดินทางออกจาก ที่พัก โรงเรียนบ้านยาง เดินทางผ่านบ้านโนน – บ้านใหญ่ – บ้านกลาง เดินทางต่อไปยังที่ว่าการอำเภอราษีไศล เข้าพักที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอราษีไศล ระยะทาง 7 กิโลเมตร ( เดินตามเส้นทาง อ.ยางชุมน้อย - ราษีไศล )

เวลา 09.00 น  เดินรณรงค์ในตัวอำเภอราษีไศล

เวลา 10.00 น. พี่น้องผู้เดือดร้อนจากเขื่อนหัวนา / เขื่อนราษีไศล ร่วมสมทบขบวน (ผู้เข้าร่วม 1,500 คน) เวลา 19.00 น. – 21.00 น. เวทีวัฒนธรรม

วันที่ 27 ตุลาคม 44

เวลา 10.00 น. – 13.00 น. เวทีเสวนา “ เปิดประตูเขื่อนปากมูล / เขื่อนราษีไศล คนอีสานได้อะไร”

ผู้เข้าร่วม นายอรุณศักดิ์ โอชารส เลขาธิการองค์กรประชาชนจังหวัดศรีสะเกษ

นายทิวา รุ้งแก้ว ประธาน คปส.จังหวัดศรีสะเกษ / ประธานนักศึกษาปริญญาโทรามคำแหงจังหวัดศรีสะเกษ 

นายประดิษฐ์ ศิลาบุตร ตัวแทนประชาสังคมจังหวัดศรีสะเกษ

นายสำราญ บุญธรรม กลุ่มชอลค์สีเงิน

เครือข่ายลุ่มน้ำจังหวัดศรีสะเกษ

สมาชิกวุฒิสภา

นายพิพัฒนชัย พิมหิน ตัวแทน กป.อพช.

คุณเรวดี ประเสริฐเจริญสุข เลขาธิการ กป.อพช.

นางสุดใจ มหาชัย ตัวแทนชาวบ้านจากเขื่อนปากมูล

นายไพรจิตร ศิลารักษ์ ตัวแทนชาวบ้านจากเขื่อนราษีไศล

นายบุญมี คำเรือง ตัวแทนชาวบ้านจากเขื่อนสิรินธร

นายยงยุทธ นวนิยม ตัวแทนชาวบ้านจากเขื่อนห้วยละห้า

นายสุจินต์ กตะศิลา ตัวแทนชาวบ้านจากเขื่อนหัวนา

ดำเนินรายการโดย นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ผู้อำนวยการเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เวลา 13.00 น. ประกาศเจตนารมย์ มาตรการการฟื้นฟูธรรมชาติ

มาตรการการฟื้นฟูชีวิตชุมชน

เวลา 19.00 น. – 21.00 น. เวทีวัฒนธรรม

วันที่ 28 ตุลาคม 44

เวลา 05.00 น. เดินทางออกจาก ที่พักหน้าที่ว่าการอำเภอราษีไศล เดินทางผ่านบ้านท่าโพธิ์ – บ้านสวนสวรรค์ – บ้านหนองแค – บ้านดอนงูเหลือม – บ้านเพียมาตร เดินต่อไปยังที่พักโรงเรียนบ้านเพียมาตร อ.ราษีไศล ระยะทาง 9 กิโลเมตร ( เดินตามเส้นทาง อ.ราษีไศล – อ.โพนทราย )

วันที่ 29 ตุลาคม 44

เวลา 05.00 น. เดินทางออกจาก ที่พักโรงเรียนบ้านเพียมาตร เดินทางผ่านบ้านผึ้ง – บ้านหนองแห้ว – บ้านดงแดง – บ้านโนนสังข์ เดินทางต่อไปยังวัดบ้านด่าน อ.ราษีไศล เข้าพักที่วัดบ้านด่าน ระยะทาง 13 กิโลเมตร ( เดินตามเส้นทาง อ.ราษีไศล – อ.โพนทราย )

วันที่ 30 ตุลาคม 44

เวลา 05.00 น. เดินทางออกจากที่พักวัดบ้านด่าน เดินทางผ่านบ้านกู่ ( กู่คันธนาม ) - บ้านหนองฝั่งแดง เดินทางต่อไปยังวัดบ้านยางคำ อำเภอโพนทราย จ.ร้อยเอ็ด เข้าพักที่วัดบ้านยางคำ ระยะทาง 10 กิโลเมตร ( เดินตามเส้นทาง อ.ราษีไศล – อ.โพนทราย )

วันที่ 31 ตุลาคม 44

เวลา 05.00 น. เดินทางออกจาก ที่พักวัดบ้านยางคำ เดินทางผ่านบ้านดอนไร่ – บ้านหนองทุ่ม – บ้านหงษ์แก้ว - บ้านกระดิ่งทอง – บ้านสามขา – บ้านดวนสำราญ เดินทางต่อไปยังวัดบ้านสำโรง อ.โพนทราย เข้าพักที่วัดบ้านสำโรง ระยะทาง 13 กิโลเมตร ( เดินตามเส้นทาง อ.โพนทราย – บ้านจานเตย )

วันที่ 1 พฤศจิกายน 44

เวลา 05.00 น. เดินทางออกจาก ที่พักวัดบ้านสำโรง เดินทางผ่านบ้านหมากยาง – เกาะแก้ว – ข้ามแม่น้ำมูน – บ้านโพธิ์ – บ้านทับน้อย ไปยัง วัดบ้านทับใหญ่ อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ เข้าพักที่วัดบ้านทับใหญ่ระยะทาง 12 กิโลเมตร ( เดินตามเส้นทาง ต.ท่าหาดยาว – บ้านทับใหญ่ )

เวลา 19.00 น. – 21.00 น. เวทีวัฒนธรรม

วันที่ 2 พฤศจิกายน 44

เวลา 10.00 น. อ.สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ ปาฐกถา “การต่อสู้ตามแนวทางสันติวิธี”

เวลา 13.00 น. พันธมิตรร่วมให้กำลังใจ

เวลา 13.00 น. – 17.00 น. รณรงค์ บ้านแคน / หนองหัวลิง / บ้านหนองเหล็ก / บ้านโจด / บ้านอ้อ / บ้านหนองบัวทอง / บ้านนกเจ่า / บ้านโนนทราย

วันที่ 3 พฤศจิกายน 44

เวลา 05.00 น. เดินทางออกจาก ที่พักวัดบ้านทับใหญ่ เดินทางไปยังการอำเภอรัตนบุรี เข้าพักที่สนามที่ว่าการอำเภอรัตนบุรี

เวลา 13.00 น. รณรงค์ในเขตอำเภอรัตนบุรี ( เดินตามเส้นทางบ้านทับใหญ่ – อ.รัตนบุรี )

วันที่ 4 พฤศจิกายน 44

เวลา 05.00 น. เดินทางออกจากที่พักที่ว่าการอำเภอรัตนบุรี ไปยังที่พักบ้านหนองบัว อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ( เดินตามเส้นทาง รัตนบุรี – ท่าตูม )

วันที่ 5 พฤศจิกายน 44

เวลา 05.00 น. เดินทางออกจากที่พักบ้านหนองบัว ไปยังที่พักอำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ( เดินตามเส้นทาง รัตนบุรี – ท่าตูม )

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา