eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

แถลงการณ์สมัชชาคนจน ฉบับที่ ๒

ขบวนเดินเท้าทางไกลเพื่อฟื้นธรรมชาติ และชีวิตชุมชนคนลุ่มน้ำมูน

            นับเวลากว่า ๘ ปี มาแล้วที่แม่น้ำมูนเปลี่ยนแปลงไป ด้วยการสร้างเขื่อนปากมูปิดปากแม่น้ำมูน ทำให้ปลาจากแม่น้ำโขงไม่สามารถเดินทางผ่านประตูเขื่อนเข้ามาวางไข่และแพร่พันธ์ในแม่น้ำมูนได้ เป็นผลให้ชุมชนที่มีอาชีพประมงต้องล่มสลาย เขื่อนที่สร้างขึ้นนั้นก็แทบจะไร้ประโยชน์ ขณะที่หน่วยงานราชการพยายามที่จะแก้ไขปัญหาผลกระทบต่างๆ เช่น การสร้างบันไดปลาโจน การนำลูกปลาและลูกกุ้งมาปล่อยในแม่น้ำมูน การกำหนดเขตห้ามจับปลา  และการจัดตั้งสถานีประมงน้ำจืดขึ้น  แต่การดำเนินการดังกล่าว ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ทำให้ชาวบ้านในชุมชนต้องอพยพไปขายแรงงานในต่างถิ่น ในหมู่บ้านเหลือแต่เด็กและคนแก่เฝ้าบ้าน   

ความล้มเหลวของเขื่อนปากมูลได้รับการยืนยันชัดเจนจากคณะกรรมการเขื่อนโลก (WCD) ได้ศึกษากรณีเขื่อนปากมูลและรายงานฉบับสมบูรณ์พบว่าการจับปลาในอ่างเก็บน้ำและลำน้ำมูนเหนือเขื่อนได้ลดลง ๖๐–๘๐% ทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ ๑.๔ ล้านเหรียญต่อปี  รายงานพบว่าพันธุ์ปลา ๕๖ ชนิดได้หายไปจากลำน้ำหลังจากมีเขื่อนและพันธุ์ปลาอย่างน้อยที่สุด ๕๑ ชนิดถูกจับได้น้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญหลังจากเขื่อนสร้างเสร็จ  รายงานของคณะกรรมการระบุว่าพันธุ์ปลาที่อพยพและต้องพึ่งพาแก่งต้องได้รับผลกระทบเป็นการเฉพาะจากการ ที่เส้นทางอพยพถูกกีดขวางในช่วงเริ่มฤดูฝน  และรายงานยืนยันว่าบันไดปลาโจน “ติดตั้งอย่างไม่เหมาะสมและไม่สามารถช่วยให้ปลาอพยพขึ้นไปต้นน้ำได้”

            คณะกรรมการเขื่อนโลกพบว่าเขื่อนปากมูลได้ทำให้เกิดผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อวิถีชีวิตของชุมชน  โดยพบว่า “ก่อนการสร้างเขื่อน ชุมชนประมงที่ตั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนได้รายงานว่าการจับปลาลดลง ๕๐–๑๐๐% และพันธุ์ปลาหลากหลายชนิดไม่ปรากฏให้เห็นอีกเลย ชาวบ้านที่ต้องอาศัยการประมงเป็นแหล่งรายได้ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านไม่สามารถทำได้อีกต่อไปหลังจากที่เขื่อนเสร็จ  แม้ว่ามีการพยายามจัดให้มีโครงการฝึกอาชีพก็ตาม  เมื่อความมั่นคงทางอหารและรายได้ถูกทำลาย  ชาวบ้านต้องต่อสู้ดิ้นรนซึ่งรวมถึงการอพยพไปหางานทำ” (รายงานคณะกรรมการเขื่อนโลก หน้า  ๖๐)

            ทางด้านเศรษฐศาสตร์  คณะกรรมการเขื่อนโลกพบว่าโครงการเขื่อนปากมูลไม่ได้ดำเนินการที่ดีพอ และแทบผลิตพลังงานไม่ได้  เขื่อนแห่งนี้มีการติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้า ๑๓๖ เมกกะวัตต์ แต่ในความเป็นจริงสามารถผลิตได้ในช่วงเดือนที่มีความต้องการสูงเพียง ๔๐ เมกกะวัตต์ เหตุผลง่ายๆ ก็คือน้ำที่จะหมุนกังหันในฤดูแล้งนั้นไม่เพียงพอ

            ตามรายงานของคณะกรรมการเขื่อนโลก  พลังงานที่สามารถพึ่งพาได้จริงของเขื่อนปากมูลซึ่งคำนวณจากพลังงานที่ผลิตได้ในแต่ละวันในช่วงระหว่างปี ๒๕๓๘–๒๕๔๑ ได้ชี้ว่าพลังงานที่ได้นั้นเป็นเพียง ๒๐.๘ เมกกะวัตต์เท่านั้นหากเทียบกับช่วงที่มีความต้องการสูงสุด ๔ ชั่วโมง  นอกจากนั้นในฤดูฝน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ต้องหยุดเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเนื่องจากระดับน้ำเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนไม่ต่างกันทำให้ไม่มีแรงดันน้ำพอที่จะปั่นเครื่องกันหัน

            ยิ่งไปกว่านั้น คณะกรรมการเขื่อนโลกยังพบว่าประโยชน์ที่แท้จริงของระบบชลประทานเท่ากับศูนย์  คณะกรรมการเขื่อนโลกสรุปว่า “เขื่อนแห่งนี้จะไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้หากว่ามีการนำเอาผลผลประโยชน์ที่แท้จริงเข้าไปวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์”

            ขณะเดียวกัน บริเวณตอนกลางของแม่น้ำมูนก็ได้มีการสร้างเขื่อนราษีไศล ทำให้น้ำท่วมพื้นที่ป่าบุ่ง-ป่าทามจำนวนกว่า ๕๐,๐๐๐ ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ที่ชาวบ้านที่ใช้ประโยชน์ด้วยการทำนาทาม ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ เป็นแหล่งสมุนไพร แหล่งอาหารที่เปรียบเสมือนตู้กับข้าวใบใหญ่ของชาวบ้านต้องสูญเสียไปกับการเก็บน้ำของเขื่อนราษีไศล

อ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศลยังท่วมทับบ่อเกลือสินธ์เทาธ์ของชาวบ้านที่มีมากกว่า ๑๕๐ บ่อ และน้ำเค็มจากแม่น้ำเสียว ห้วยก้ากว้าก ห้วยน้ำเค็ม ห้วยแก้วที่มีความเค็มตลอดลำน้ำ ทั้งหมดไหลลงรวมกันในอ่างเก็บน้ำของเขื่อน
ราษีไศล ทำให้เกิดการแพร่กระจายของน้ำเค็ม ดินเค็มอย่างรุนแรง จนชาวบ้านไม่สามารถนำน้ำมาใช้ในการทำการเกษตรได้ ขณะที่น้ำในเขื่อนเน่าเสียจนไม่สามารถทำน้ำประปาป้อนเทศบาลราษีไศลจนต้องใช้เงินมหาศาลในการปรับปรุงระบบประปาใหม่

             เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากเขื่อนทั้งสอง  พวกเราได้ต่อสู้อย่างยาวนาน จนในที่สุดรัฐบาลก็ยอมรับความจริงและตกลงให้เปิดประตูเขื่อนราษีไศลจนกว่าจะแก้ปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ และหลังจากนั้นก็เห็นด้วยให้เปิดเขื่อนปากมูลเป็นเวลา ๔ เดือน เพื่อให้ปลาเดินทางขึ้นมาเหนือเขื่อน 

หลังจากเปิดประตู ๒ เขื่อน เราพบว่าการเปิดประตูเขื่อนราษีไศล ทำให้ป่าบุ่ง-ป่าทามแหล่งสมุนไพร ตู้กับข้าวใบใหญ่ ไร่นาที่ทำกินของชาวบ้านกลับมาอีกครั้งหนึ่ง จำนวนวัว-ควายในหมู่บ้านเพิ่มจำนวนมากขึ้น  เราพบว่าวิธีการหาปลาที่เป็นภูมิปัญญาของชุมชนคือ “การตีปลาฮอง” ก็มีการนำมาใช้อีกครั้งหนึ่ง

ยิ่งไปกว่านั้น การเปิดประตูเขื่อนราษีไศลได้เป็นการแก้ปัญหาการกระจายของดินเค็มซึ่งเป็นปัญหาที่นับว่าสำคัญยิ่งของแผ่นดินอีสาน

ขณะที่ที่ปากมูน หลังจากเปิดเขื่อน ๒ เดือน  พวกเราได้ทำรายงานด้วยตัวเองและพบว่าปลา ๑๑๙ ชนิดได้กลับคืนสู่แม่น้ำมูน  จากความรู้ของพวกเรา พบว่ามีปลา ๙๙ ชนิดเป็นปลาอพยพซึ่งรวมถึงปลาตูหนาหูขาวซึ่งอพยพมาจากทะเลจีนใต้            พวกเรายังพบพันธุ์พืชพื้นบ้านและสมุนไพรนับร้อยชนิดที่กลับมาเติบโตสองฝั่งแม่น้ำมูนหลังจากที่น้ำลดลง

พวกเราได้เรียนรู้ว่า การเปิดประตูเขื่อนทั้งสองแห่งไม่เพียงแต่เป็นการฟื้นฟูระบบนิเวศน์แม่น้ำมูนเท่านั้น แต่ยังนำวิถีชีวิตของพวกเราให้กลับคืนมา  พวกเราสามารถได้มีรายได้จากการทำการประมงอีกครั้ง อีกทั้งยังเพิ่มความมั่นคงทางอาหารของพวกเรา และของชุมชนลุ่มน้ำมูนทั้งลุ่มน้ำ

ที่สำคัญก็คือ ปลาที่เข้ามาในแม่น้ำมูน ยังได้เดินทางขึ้นไปตามลำน้ำตอนบนและลำน้ำสาขาและได้หล่อเลี้ยงชีวิตของคนอีสานอีกครั้ง

ประสบการณ์นี้ได้ทำให้พวกเราเห็นว่า การแก้วิกฤติลุ่มน้ำมูนและแผ่นดินอีสานเพื่อให้ชุมชนสามารถดำเนินวิถีชีวิตอยู่ได้คือ  

๑.  การฟื้นฟูธรรมชาติและระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำมูน

๑.๑  การเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูนและเขื่อนราษีไศลอย่างถาวร

๑.๒ ฟื้นฟูเกาะแก่ง ป่าบุ่ง-ป่าทาม ที่เสียหายไปในระหว่างการก่อสร้างและเก็บกักน้ำ

๑.๓ การปราบไมยราบยักษ์

๒. ฟื้นฟูอาชีพและชีวิตชุมชนที่เสียหาย ในระหว่างเก็บกักน้ำของเขื่อนทั้งสองแห่งที่ผ่านมา 8 ปี 

๒.๑   ชดใช้ความเสียหายที่เกิดจากการเขื่อนทั้งสองแห่งอย่างยุติธรรม

สมัชชาคนจนได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงอาสาเป็นแนวหน้าในการชี้แจงความจริงด้วยการเดินทางด้วยเท้า เพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจในแนวทางการฟื้นฟูธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตชุมชนคนลุ่มน้ำมูนอย่างยั่งยืน โดยได้เดินทางด้วยเท้าจากหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน ( สันเขื่อนปากมูน ) เขตอำเภอโขงเจียม ในวันที่ ตุลาคม ๔๔และได้เดินทางผ่าน อำเภอพิบูลมังสาหาร – อำเภอตาลสุม – และเดินทางข้ามแม่น้ำเซบกเข้าเขตอำเภอดอนมดแดง -  อำเภอเมือง – และเดินทางข้ามแม่น้ำเซบายเข้าสู่อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี และเดินทางข้ามแม่นำชีเข้าสู่เขตอำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ และเดินเลียบฝั่งซ้ายแม่น้ำมูน มุ่งหน้าตรงไปยังอำเภอราษีไศล และเดินเลาะตามแนวแม่น้ำมูนไปเรื่อยๆ โดยจะใช้เส้นทางเดินเลาะเลียบแม่น้ำมูนเป็นหลัก

สมัชชาคนจนซึ่งตระหนักถึงภารกิจสำคัญ ของการฟื้นฟูธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำมูน ซึ่งได้รับความเสียหายมาแล้วภายหลังการสร้างเขื่อน และภารกิจนี้คงมิใช่เป็นภาระของคน คนใดคนหนึ่ง หากแต่เป็นหน้าที่ของคนทั้งลุ่มน้ำ ในการฟื้นฟูธรรมชาติสิ่งแวดล้อมให้มีความอุดมสมบูรณ์ไว้ให้ลูกหลานสืบทอดต่อไป

 

ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน

สมัชชาคนจน

๒๗  ตุลาคม  ๒๕๔๔  ณ.            สนามหน้าที่ว่าการอำเภอราษีไศล

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา