eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

“ราชการ  นักวิชาการ ชาวบ้านเห็นพ้องเขื่อนอีสานสร้างผลกระทบ”

รายงานสถานการณ์การเดินทางไกลสมัชชาคนจนรณรงค์ให้เปิดประตูเขื่อนปากมูล-ราษีไศลถาวร

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2544

เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  รายงานจากขบวนเดินทางไกล

            ขบวนเดินเท้าทางไกลรณรงค์ให้เปิดเขื่อนปากมูล และเขื่อนราษีไศลอย่างถาวร เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ ชุมชนลุ่มน้ำมูน ได้เดินทางมาถึงอำเภอท่าตูม จ.สุรินทร์แล้ว โดยได้เดินเข้าพักแรมที่วัดโพธิ์พฤกษาราม ต.ท่าตูม อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ทางองค์กรชาวบ้านต่าง ๆ รวมทั้งกลุ่มนักพัฒนา ศิลปิน นักเขียน ในเขตจังหวัดสุรินทร์ ให้การต้อนรับ

            เมื่อเวลา 9.00 น. ของวันที่ 7 พย. 44 องค์กรเอกชนในเขตจังหวัดสุรินทร์ อาทิเช่น โครงการทามมูน เครือข่ายป่าชุมชนจังหวัดสุรินทร์ ได้จัดเวที “เสียงจากคนลุ่มน้ำมูน” ขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสมัชชาคนจนที่กำลังเดินทางไกล โดยจัดขึ้น ณ ลานวัดโพธิ์พฤกษารามที่พัก ริมฝั่งแม่น้ำมูน โดยมีนายเสรี  จิตเกษม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ อ.บัณฑร  อ่อนคำ นักวิชาการอิสระ อ.มนัส  ธัญญเกษตร อาจารย์สถาบันราชภัฏสุรินทร์ และประธานประชาคมสุรินทร์เสวนา นายสุขี ภูรักษา ตัวแทนชาวบ้านกรณีเขื่อนปากมูล นายไพจิตร  ศิลารักษ์ ตัวแทนชาวบ้านกรณีเขื่อนราษีไศล โดยมีนายสนั่น  ชูสกุล เป็นผู้ดำเนินรายการ เวทีเสวนาครั้งนี้นอกจากสมาชิกที่ร่วมเดินทางไกลกว่า 120 คนแล้ว ยังได้รับความสนใจจากชาวบ้านในเขตอำเภอท่าตูมหลายร้อยคนเข้าร่วมฟังการเสวนาด้วย

            ประเด็นของการเสวนานั้นได้พูดถึง แนวทางการฟื้นฟูแม่น้ำมูน และชีวิตของคนลุ่มน้ำมูน โดยเริ่มจากการบอกเล่าปัญหาและเสนอแนวทางของตัวแทนชาวบ้าน และบอกถึงเหตุผลที่ออกมาเดินเท้ารณรงค์ครั้งนี้ รวมทั้งความคิดความคาดหวังในการฟื้นฟูแม่น้ำมูน

            นายสุขี ตัวแทนชาวบ้านจากกรณีเขื่อนปากมูล ได้กล่าวถึงปัญหาที่ 8 ปีผ่านมา หลังจากที่สร้างเขื่อนปากมูล ทำให้พันธุ์ปลาลดน้อยลงมาก อาชีพประมงจึงทำไม่ได้เหมือนแต่ก่อน แต่พอมีมติ ครม. ให้เปิดเขื่อนเพื่อศึกษา 4 เดือน ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าปลาขึ้นมาจากแม่น้ำโขงได้จริง จึงมีการออกมาเดินรณรงค์ บอกกล่าวกับพี่น้องตามสายน้ำมูลให้มีการสนับสนุนการเปิดเขื่อนถาวร “การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำมูน ก็เท่ากับว่าเป็นการปิดประตูตู้กับข้าวของพี่น้อง ซึ่งหากินปูปลาเหมือนตะก่อนก็หาไม่ได้เป็นเวลา 8 ปี มาแล้วครับ ที่พี่น้องสองฝั่งแม่น้ำมูนหาปลาไม่ได้ จึงออกมาเดินขอความเป็นธรรม จากผู้มีอำนาจ มารณรงค์เพื่อให้ทางรัฐบาลได้พิจารณาเปิดเขื่อนปากมูลอย่างถาวร เปิดเขื่อนเพื่อให้ความอุดมสมบูรณ์กลับคืนมา 4 เดือนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าเปิดเขื่อนแล้วปลาขึ้นมากว่าร้อยชนิด พี่น้องมีความดีอกดีใจ ความขัดแย้งในชุมชนก็ลดลง”

            ทางด้านนายไพจิตร ศิลารักษ์ ตัวแทนชาวบ้านราษีไศล ได้เล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่าเกิดจาก การที่หน่วยงานที่สร้างเขื่อนไม่มีความจริงใจ และปิดบังข้อมูลความจริง ไม่มีการศึกษาผลกระทบก่อนการสร้างเขื่อน ทำให้เกิดปัญหาจนทุกวันนี้  แนวทางเดียวที่จะแก้ปัญหาได้ทั้งดินและน้ำเค็มคือการเปิดเขื่อนอย่างถาวร เพราะการมีเขื่อนก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อยู่แล้ว

            ในส่วนของนักวิชาการและทางรองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ นายเสรี  จิตเกษม  ได้เห็นพ้องกันว่า การพัฒนาที่ผ่านมานั้นไม่มีการบอกความจริงด้านข้อมูลต่าง ๆที่เกี่ยวกับผลกระทบของโครงการ ชาวบ้านไม่มีโอกาสรับรู้ข้อมูลความจริง ทำให้เกิดปัญหาตามมา และแนวทางการฟื้นฟูนั้นได้เสนอแนวไว้สองแนวทางคือ ทั้งรัฐบาลและประชาชนต้องมีส่วนร่วมทั้งสองส่วน ควรให้องค์กรชาวบ้านมีส่วนร่วม มีการจัดตั้งเครือข่ายประสานความร่วมมือกันในการฟื้นฟู ส่วนฝ่ายรัฐบาบนั้นต้องเข้ามาสนับสนุนเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติอย่างจริงจัง

“เขื่อนปากมูล ถ้ารู้ว่าสร้างแล้วกระทบกระเทือนขนาดนี้ ผมคือคนหนึ่งที่จะไม่ให้สร้าง รัฐต้องไม่หลอกลวง ต้องบอกทั้งคุณและโทษของเขื่อน” นายเสรี จิตเกษม รองผู้ว่าฯ กล่าว

            ส่วนทางอาจารย์บัณฑร    อ่อนคำ ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับการแก้ปัญหาของคนอีสานว่า “การแก้ปัญหาให้คนอีสานไม่ใช่การสร้างเขื่อน เพราะทำให้น้ำเค็ม ต้องสร้างป่าถึงจะแก้ปัญหาได้ แม่น้ำคือระบบที่เอื้ออำนวยต่อการมีชีวิตอยู่ของคนหรือระบบการสนับสนุน” และกล่าวว่า “การฟื้นฟูต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน และตอนนี้ประชาชนเริ่มแล้ว แต่รัฐยังไม่เริ่ม”

ภายหลังการเสวนาชาวบ้านท่าตูมยังได้กล่าวให้กำลังใจชาวบ้านที่เดินรณรงค์ต่อสู้ต่อไป อีกทั้งได้สนับสนุนเงินบริจาค อาหารและร่วมจัดเวทีแสดงดนตรีให้กำลังใจ และยังได้ร่วมกันทำพิธีสืบชะตาแม่น้ำมูนเพื่อให้แม่น้ำมูนกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

สำหรับกิจกรรมต่อไปนั้น  นายไพรพิจิตร ศิลารักษ์ได้กล่าวว่า  สมัชชาคนจนยืนยันที่จะเดินรณรงค์ตลอดสองฝั่งแม่น้ำมูนต่อไปเพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของ แม่น้ำและขอการสนับสนุนเพื่อให้เปิดประตูเขื่อนปากมูลและราษีไศลอย่างถาวร  ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับจากพี่น้องลุ่มน้ำมูนเป็นอย่างดี  และว่ากิจกรรมครั้งนี้แม้จะเหนื่อยยากแต่ชาวบ้านก็จะยืนหยัดต่อสู้ต่อไปเพื่อให้คืนความ อุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำมูนให้กลับคืนมาและเป็นมรดกสำหรับคนรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา