eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

อดีตกรรมการเขื่อนโลกรุดให้กำลังใจชาวปากมูน-ราษี

SEARIN รายงานจาก อำเภอสะตึก จังหวัดบุรีรัมย์

เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ นางสาวเมธา ปัตคาร์ หนึ่งในอดีตกรรมาธิการ (Commissioner) ของคณะกรรมการเขื่อนโลก (World Commission on Dams) และแกนนำกลุ่มเพื่อนนาร์มาดา (Narmada Bachao Andolan) ได้เดินทางไปเยี่ยมชาวบ้านปากมูนและราษีไศลที่กำลังเดินเท้าทางไกลรณรงค์ให้เปิดประตูเขื่อนปากมูลและราษีไศลอย่างถาวร 

เมธาร่วมเดินขบวนจากอำเภอสะตึกมุ่งหน้าไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๒๒๖ เป็นระยะทาง ๑๒ กิโลเมตร และได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การต่อสู้เพื่อปกป้องแม่น้ำกับชาวบ้านที่กำลังเดินขบวน

“การต่อสู้เพื่อปกป้องแม่น้ำมูนและนาร์มาดาเป็นหนึ่งเดียวกัน” เมธากล่าวกับชาวบ้านปากมูนและราษีไศล

เมธาอธิบายว่าการเดินทางเข้าเยี่ยมชาวปากมูนและราษีไศลครั้งนี้ก็เพื่อให้กำลังใจและแสดงความนับถือต่อขบวนการต่อสู้ ของชาวปากมูนและราษีไศลที่ต่อสู้คัดค้านเขื่อนอย่างเข้มแข็งยาวนาน

เธอกล่าวว่า ชาวนาร์มาดาก็เช่นเดียวกับชาวปากมูล-ราษีไศลที่ได้ต่อสู้กับเขื่อนมานาน “ชาวนาร์มาดาได้ต่อสู้กับน้ำจากเขื่อนโดยการทำ“สัตยาเคราะห์” ไม่ย้ายออกจากหมู่บ้านเช่นเดียวกับที่ชาวราษีเคยยืนหยัดสู้กับน้ำที่สูงขึ้นจากการปิดประตูเขื่อนเมื่อปีที่แล้ว พวกเราได้เดินขบวนหลายครั้งเช่นเดียวกับท่าน”

เมธา คือ นักต่อสู้คัดค้านเขื่อนที่มีชื่อเสียงระดับโลก เธอเป็นอดีตนักวิจัยและได้เข้าไปสำรวจข้อมูลเพื่อทำวิทยานิพนธ์ในเขตลุ่มน้ำนาร์มาดาซึ่งเป็นลุ่มน้ำที่ใหญ่ที่สุด ที่ไหลไปทางทิศตะวันตกของอินเดีย แต่พบข้อมูลจากชาวบ้านว่าที่นั่นกำลังมีโครงการเขื่อนมากมายที่จะทำลายทรัพยากรและวิถีชีวิตของคนพื้นถิ่นซึ่ง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง เธอจึงทิ้งวิทยานิพนธ์และร่วมต่อสู้คัดค้านเขื่อนต่างๆ ในลุ่มน้ำนาร์มาดา

แนวคิดการสร้างเขื่อนบนลุ่มน้ำนาร์มาดามีมาตั้งแต่ยุคที่อินเดียเพิ่งได้รับเอกราชจากอังกฤษ และเนรูห์ซึ่งเป็นผู้นำประเทศขณะนั้นก็เช่นเดียวกับผู้นำชาติเกิดใหม่ทั้งหลายที่ต้องการสร้างเขื่อน เพื่อแสดงให้เห็นว่าอินเดียมีความทันสมัยเช่นเดียวกับนานาอารยะประเทศ ภายใต้คำขวัญที่ว่า “การสร้างเขื่อนคือการสร้างวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ของอินเดียยุคใหม่”

ลุ่มน้ำนาร์มาดาไหลผ่านรัฐใหญ่ๆ ของอินเดีย ๓ รัฐ คือ มัธยประเทศ กุจราช และมหาราชตะ รัฐบาลอินเดียมีแผนการสร้างซึ่งส่วนใหญ่จะทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำนาร์มาดาและแม่น้ำสาขาในเขตรัฐมัธยประเทศ  โดยมีแผนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่มากหรือเขื่อนขนาดยักษ์ ๓๐ เขื่อนบนแม่น้ำสายหลัก และเขื่อนขนาดใหญ่อีกนับร้อยเขื่อนบนแม่น้ำสาขา การสร้างเขื่อนเหล่านี้ทำให้ต้องอพยพผู้คนมากกว่า ๒ ล้านคน เฉพาะเขื่อนซาร์ดา ซาร์โวา เพียงแห่งเดียวจะต้องอพยพคนถึง ๒๐๐,๐๐๐ คน

เพื่อปกป้องลุ่มน้ำและวิถีชีวิตของชนพื้นถิ่นในปี ๑๙๘๕ กลุ่มเพื่อนนาร์มาดารหรือ NBA ถูกก่อตั้งขึ้นจึงเข้าร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ในลุ่มน้ำนี้คัดค้านเขื่อน ทำให้การสร้างเขื่อนซาร์ดา ซาร์โรวา(Sardar Sarovar) ที่สูงกว่าเขื่อนปากมูลถึง ๘ เท่าต้องถูกระงับการก่อสร้างในระหว่างปี ๑๙๙๔–๑๙๙๙ เขื่อนซาร์ดาซาโวาร์ปัจจุบันสร้างไปเพียง ๙๐ เมตรจากที่ออกแบบไว้ ๑๓๙ เมตรก็เนื่องมาจากการต่อสู้ที่เข้มแข็งของชาวนาร์มาดา นอกจากนั้นยังทำให้ธนาคารโลกถอนตัวออกจากการสนับสนุนการลงทุนในเขื่อนแห่งนี้  รวมทั้งทำให้แหล่งทุนต่างประเทศถอนตัวออกจากเขื่อนมาเชสวาร์ในปี ๑๙๙๙–๒๐๐๑

ทุกวันนี้ชาวนาร์มาดายังคงต่อสู้กับเขื่อนอย่างหนักและในฤดูมรสุมของทุกปีชาวนาร์มาดาจะทำ สัตยาเคราะห์โดยการยืนหยัดต่อสู้ในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนมาน (Maan Dam) เป็นต้น (ค้นข้อมูลเรื่องนาร์มาดาเพิ่มเติมได้จาก www.narmada.org )

“การชดเชยใดๆ ให้กับสิ่งที่สูญเสียจากเขื่อนนั้นเป็นไปไม่ได้ นักสร้างเขื่อนอาจจะชดเชยที่ดินต่อที่ดินได้ แต่ไม่สามารถชดเชยวิถีชีวิตและชุมชนที่สูญเสียไปจากเขื่อนได้... แม้ว่าเราจะไม่มีเงินทุน แต่เรามีทุนทรัพยากร พวกเราไม่ซื้อขาย แต่เราแลกเปลี่ยนและแบ่งปัน…ดังนั้นขอให้พวกเราต่อสู้อย่าให้ปิดเขื่อน หากวันใดที่พี่น้องแห่งลุ่มน้ำมูนต้องการความช่วยเหลือของพี่น้องขอให้บอกมา และเราพร้อมที่จะร่วมต่อสู้กับท่าน” เมธากล่าวกับพี่น้องปากมูน-ราศี

ก่อนที่จะเดินทางกลับ  เมธาได้ร่วมทำพิธีบูชาพระแม่คงคากับปากมูลและราษีไศล ก่อนที่จะร่วมกันประกาศว่า “เอาเขื่อนออกไป เอาธรรมชาติคืนมา”

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา