eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

ใบแจ้งข่าวสมัชชาคนจน ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๔

"สมัชชาคนจนเปลี่ยนแผนเดินทางไกล 2000 กิโลเมตรหลัง ครม.ให้เปิดเขื่อนครบปี”

เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รายงานจากบ้านท่อค้อใต้ จ.อุบลราชธานี

จากการที่เมื่อวานนี้คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ กฟผ.เปิดประตูเขื่อนปากมูลให้ครบ ๑ ปี ปรากฏว่าได้สร้างความยินดีแก่ชาวประมงปากมูน เป็น อย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม สมัชชาคนจนยังคงเดินหน้ารณรงค์ให้เปิดประตูเขื่อนถาวรโดยเปลี่ยนจากการเดินเท้าเข้ากรุงเทพฯ เป็นเดินเท้าทั่วอีสานเป็นระยะทางกว่า ๒,๐๐๐ กิโลเมตร

นายสุนทร หอมศิลป์ พรานปลาแห่งบ้านท่าค้อใต้ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งใกล้แก่งสะพือ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี และเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนบ้านกล่าวว่า ชาวบ้านพอใจมากที่ทราบข่าวว่ารัฐบาลสั่งเปิดประตูเขื่อนออกไปให้ครบหนึ่งปี เพราะจะทำให้การทำมาหากินไม่ลำบาก การหาปลาก็ไม่ลำบาก อย่างเช่นวันนี้ชาวบ้านเหนือแก่งสะพือถึงตาลสุมได้วันละ 500 ปลาที่จับได้ก็เช่น ปลาจอก ปลาโจก ปลานาง ปลาน้ำเงิน ปลา อีตู๋ และปลาสะกาง เป็นต้น บางคนมีรายได้ถึงวันละ ๑,๐๐๐ บาท ส่วนทางตอนล่างก็เริ่มจับได้มากขึ้น อีกไม่เกินอาทิตย์หลังจากนี้ไปชาวบ้านจะลงหาปลากันมากเพราะเป็นช่วงที่ปลาเริ่มอพยพกลับลงไปในแม่น้ำโขง อยากให้มาดูกันตอนที่ชาวบ้านจับปลาว่าการเปิดประตูเขื่อนนั้นมีผลดีต่อชีวิตชาวประมงอย่างไร

“เมื่อรัฐบาลเปิดประตูเขื่อนออกไปอีก นอกจากชาวบ้านจะได้กลับมาหาปลาแล้ว พวกเรายังดีใจที่จะได้กลับมาทำเกษตรริมน้ำมูน ตอนนี้หลายคนได้เริ่มปลูกกันแล้ว และเราจะปลูกกันมากขึ้นตลอดสองฝั่งแม่น้ำมูนที่แต่เดิมเคยจมอยู่ใต้น้ำนับสิบปี แล้วก็จะเห็นได้ว่าวิถีชีวิตเดิมๆ ก่อนการสร้างเขื่อนนั้นอุดมสมบูรณ์อย่างไร”

“อย่างไรก็ตาม เรายังยืนยัน ให้เปิดประตูเขื่อนปากมูลถาวร ถ้าเป็นไปได้ให้เอาเขื่อนออกไปเลย ค่าชดเชยเราก็ไม่เอา ขอให้แม่น้ำมูนกลับมาเหมือนเดิมก็ดีใจแล้ว” นายสุนทรกล่าว

ขณะที่ น.ส.วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจนกล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลจะสั่งให้เปิดประตูเขื่อนให้ครบหนึ่งปี แต่ขบวนเดินเท้าของสมัชชาคนจนซึ่งประกอบด้วยชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนปากมูล และเขื่อนราษีไศลยังยืนยันในข้อเรียกร้องเดิมคือให้มีการเปิดประตูเขื่อนปากมูลและราษีไศลอย่างถาวร อย่างไรก็ตามเราก็เคารพต่อรัฐบาลโดยไม่กดดัน แต่จะเปลี่ยนแผนการเดินเท้าจากแต่เดิมที่กำหนดไว้ว่าจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เป็นการเดินเท้าทั่วอีสานเพื่อรณรงค์ให้ชาวอีสานสนับสนุนให้เปิดเขื่อนถาวร โดยชาวบ้านตั้งใจว่าจะเดินเท้ากันรวมเป็น ๒,๐๐๐ กิโลเมตร ให้ผ่านลุ่มน้ำที่สำคัญของอีสานตอนล่างคือ แม่น้ำมูนและแม่น้ำชี และเดินทางไปยังอีสานเหนือเพื่อรณรงค์ในเขตลุ่มน้ำสงคราม ก่อนที่จะเดินเท้าเลียบตามแม่น้ำโขงลงมา ซึ่งคาดว่าอาจจะใช้เวลาระหว่าง ๘ ถึง ๑๒ เดือน

“สมัชชาคนจนเห็นว่าการเปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูนและเขื่อนราษีไศลอย่างถาวรนั้น ไม่เพียงแต่เป็นการฟื้นฟูระบบนิเวศน์แม่น้ำมูน แม่น้ำ ชี และชุมชนสองฝั่งแม่น้ำนี้ แต่แม่น้ำมูนเป็นแม่น้ำสาขาที่ใหญ่ที่สุดของแม่น้ำโขง ดังนั้นการฟื้นฟูแม่น้ำมูนจึงเท่ากับเป็นการฟื้นชีวิตของคนอีสานรวมทั้งคนในเขตลุ่มแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาด้วย นอกจากนั้น การเดินเท้าของสมัชชาคนครั้งนี้ยังต้องการบอกต่อคนอีสานให้รับรู้ถึงความผิดพลาดของโครงการพัฒนาที่ผ่านมา โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ทำลายชุมชนและวิถีชีวิตของชาวบ้าน ขณะที่โครงการเหล่านี้แทบจะไร้ประโยชน์จนถึงขั้นที่สามารถรื้อทิ้งไปก็ไม่เสียหาย ดังนั้นจึงอยากขอร้องให้พี่น้องชาวอีสานและสังคมไทยให้การสนับสนุนการเดินเท้าทางไกลในครั้งนี้ ตามแต่จะสนับสนุนได้” น.ส.วนิดา กล่าว

ด้านนายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ผู้อำนวยการเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศไทย ได้กล่าวว่า การสั่งให้เปิดประตูเขื่อนออกไปให้ครบหนึ่งปีนั้นล่าช้ามาก ทำให้พลาดโอกาสในการที่จะเห็นวิถีชีวิตเดิมๆ ที่แท้จริงของชาวบ้าน เพราะชาวบ้านไม่กล้าที่จะลงทุนไม่ว่าในเรื่องของเครื่องมือประมงและการทำเกษตรสองฝั่งแม่น้ำมูน

“การเปิดประตูเขื่อนครบหนึ่งปียังไม่สามารถที่จะตอบคำถามได้ทั้งหมดเนื่องจากการศึกษาต่างๆ โดยเฉพาะด้านนิเวศวิทยา เช่น เรื่องปลานั้นจะต้องใช้เวลาถึง ๒ ปี จึงจะมีโอกาสได้ข้อมูลที่รอบด้าน แต่อย่างไรก็ตาม การที่ ครม.มีมติให้เปิดประตูเขื่อนครบ ๑ ปีนั้น ก็ยังมีผลดีอยู่บ้างเพราะจะทำให้ปลามีโอกาสเดินทางกลับมาวางไข่ได้อีกครั้งและทำให้ธรรมชาติมีการฟื้นฟูตนเอง รวมทั้งจะทำให้เห็นวิถีชีวิตของชุมชนชาวปากมูลในระดับหนึ่งแม้จะไม่ทั้งหมด ดังจะเห็นได้ว่าขณะนี้ชาวบ้านซึ่งทำวิจัยด้วยตนเองที่เรียกว่างานวิจัยชาวบ้านนั้นก็พบพันธุ์ปลาเพิ่มขึ้นเป็น ๑๓๐ ชนิด และช่วงที่ปลาเดินทางกลับแม่น้ำโขงในช่วงนี้ก็คาดว่าจะพบพันธุ์ปลาเพิ่มขึ้นอีกมาก”

“สิ่งที่ต้องกังวลในขณะนี้ก็คือ การที่จะต้องช่วยกันปราบไมยราพย์ยักษ์ซึ่งระบาดอย่างหนักในช่วงสิบปีที่มีการกักเก็บน้ำเขื่อนปากมูล รวมทั้งเขื่อนราษีไศล ปัญหานี้ตนเสนอว่ารัฐบาลจะต้องรีบสนับสนุนให้ชาวบ้านเข้าไปปราบพืชชนิดนี้อย่างเร่งด่วน เพราะพืชนี้เป็นพืชต่างถิ่นที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศน์โดยเฉพาะอุปสรรคในการ ทำเกษตรกรรมสองฝั่งแม่น้ำมูนที่สำคัญต่อการดำรงชีพของชาวบ้าน และการรุกรานพืชท้องถิ่นที่อาจจะทำให้พืชที่เป็นทั้งพืชอาหารและยาสมุนไพรของชาวบ้านสูญหายไป” นายไชยณรงค์ กล่าว

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา