eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

ชาวบ้านพบปลาบึกขนาดใหญ่หลังเปิดเขื่อน

 

เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2545 เวลาประมาณ 14.30 น. ชาวประมงปากมูลสามารถจับปลาบึกน้ำหนัก 148 กก.ได้ โดยจับได้ที่ขุมบกซึ่งเป็นลวงปลาในแม่น้ำมูน ระหว่างบ้านท่าช้างและบ้านหนองโพธิ์ อ.พิบูลมังสาหาร  จ.อุบลราชธานี  ปลาบึกตัวนี้ติดอวนของชาวบ้าน เมื่อจับได้ก็นำขึ้นรถกระบะจากบ้านท่าช้าง ไปขายพ่อค้าปลาทื่บ้านแก่งเจริญ อ.พิบูลมังสาหารในราคากิโลกรัมละ 100 บาท รวมแล้วได้ 14,800 บาท  

การจับปลาบึกขนาดใหญ่ได้ครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีหลังจากมีการสร้างเขื่อนปากมูล แม้ว่าก่อนหน้านี้จะจับปลาบึกได้แต่มีขนาด เล็กซึ่งเชื่อว่าอาจจะเป็นปลาบึกที่หลุดจากบ่อเลี้ยง แต่สำหรับปลาบึกตัวนี้เป็นปลาธรรมชาติจากแม่น้ำโขงแน่นอน  เนื่องจากไม่เคยปรากฏมาก่อนว่าปลาบึก ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงจะมีน้ำหนักเกินร้อยกิโลกรัม  คาดว่าปลาบึกดังกล่าวเดินทางอพยพมาจากแม่น้ำโขง หลังการเปิดประตูเขื่อนปากมูลเมื่อปีที่แล้ว และค้างวังเนื่องจากอพยพลงแม่น้ำโขงไม่ทัน

อนึ่ง ปลาบึกเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนังหรือไม่มีเกล็ด ที่ใหญ่ที่สุดของโลก  มีแหล่งกำเนิดเฉาะแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา ปลาบึกเป็นหนึ่งในปลาอพยพระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำสาขา  โดยแหล่งอาศัยของปลาบึกจะอยู่บริเวณทะเลสาบเขมร เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์จะเดินทางอพยพไปยัง ต้นน้ำรวมทั้งแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงเพื่อ วางไข่และผสมพันธุ์ก่อนที่จะพากันอพยพกลับไปยังทะเลสาบเขมร  ก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนปากมูล ชาวบ้านรายงานว่าสามารถจับปลาบึกในแม่น้ำมูนได้ซึ่งแสดง ให้เห็นว่าแม่น้ำมูนเป็นส่วนหนึ่งของวงจรชีวิตของปลาบึก

นอกจากนั้น ปลาบึกยังเป็นปลาที่อยู่ใน Red lists หรือบัญชีรายชื่อสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ของ สหพันธ์เพื่อการอนุรักษ์สากล (IUCN) ดังนั้นจึงการที่มีปลาบึกในแม่น้ำมูนจึงหมาย ถึงว่าการเปิดประตูเขื่อนปากมูลมีผลดีต่อการอนุรักษ์สัตว์ ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ด้วย  

ที่สำคัญอีกประการก็คือ ตามคติความเชื่อของชาวบ้านปากมูนนั้น เชื่อว่าปลาบึกเป็นปลามีบุญ  ใครจับปลาบึกที่ได้จะต้องทำบุญให้ปลา  หากผู้ใดไม่ทำ ครอบครัวก็จะมีอันเป็นไป ดังนั้น ภายหลังจับปลาตัวนี้ได้ ชาวประมงบ้านจึงได้ทำบุญให้ปลาบึกตัวดังกล่าวโดยในเย็นวันที่ 5 ชาวบ้านได้นิมนต์พระสงฆ์ 8 รูปมาสวดมงคล  และเช้าวันที่ 6 ยังได้ทำบุญตักบาตรและหงายพาข้าวซึ่งเป็นพิธีกรรมพื้นบ้าน ก่อนที่พระสงฆ์จะสวดอนิจจา และนำทำพิธีเผารูปวาดปลาบึก  หลังเสร็จพิธีทางสงฆ์  ชาวบ้านยังร่วมกันผูกข้อมือให้กับผู้ที่จับปลาบึก 

พิธีดังกล่าวนี้ได้แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านปากมูน มีพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับปลาที่ยิ่งใหญ่เช่นเดียวกับชาวบ้านที่อื่นๆ ในลุ่มน้ำโขงเช่นกัน เพียงแต่พิธีกรรมเหล่านี้ไม่มีใครศึกษาและ ยังได้หายไปนานหลังจากมีการสร้างเขื่อนปากมูล  

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา