eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 
นานาชาติ จี้รัฐไทยฟังผลวิจัย เปิดเขื่อนปากมูล
 
11 พ.ย. 45 เวลา 9.50 น.

กลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วย “ภาคประชาสังคมกับการจัดการน้ำในระดับภูมิภาค” ซึ่งมีทั้งตัวแทนจากประเทศออสเตรเลีย จีน ลาว กัมพูชา
เวียดนาม และไทย กว่า 100 คน รวมทั้งสื่อมวลชนทั้งไทยและนานาชาติ ได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาของชาวบ้านปากมูลที่หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน

ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลได้เล่าถึงความเดือดร้อนที่ได้รับจากการปิดประตูเขื่อนตลอดระยะเวลา 8 ปีว่า ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำมูลสูญสิ้นไป ซึ่งสิ่งที่ชาวบ้านเรียกร้อง ไม่ใช่เงินค่าชดเชย แต่เป็นการเรียกร้องเพื่อให้คืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับแม่น้ำมูลด้วยการเปิดประตูเขื่อนถาวร โดยเรียกร้องให้รัฐบาลตัดสินใจตามผลการวิจัยของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่ระบุว่า เขื่อนปากมูลต้องหยุดการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างน้อย 5 ปี เพราะการผลิตกระแสไฟฟ้าของเขื่อนปากมูลไม่มีนัยยะสำคัญต่อระบบไฟฟ้าสำรองของประเทศไทย และปัจจุบันชาวบ้านส่วนหนึ่งได้ไปเรียกร้องต่อรัฐบาลที่หน้าทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร

ระหว่างการให้ข้อมูลมีการซักถามจากตัวแทนต่างประเทศในประเด็นที่รัฐบาลจ้างนักวิชาการให้ทำวิจัยด้วยเงิน 10 ล้านบาทแต่รัฐบาลกลับไม่ได้ตัดสินใจบนพื้นฐานงานวิชาการชิ้นนั้น ซึ่งชาวบ้านยืนยันว่ารัฐบาลได้ตัดสินใจบนพื้นฐานทางการเมือง ไม่ใช่งานวิชาการ ซึ่งดร. ทราน ที อุด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮานอย ประเทศเวียดนาม ได้ระบุว่า กรณีเขื่อนปากมูลซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้น้อยมาก ทั้งยังไม่มีความจำเป็นต่อระบบไฟฟ้าสำรองของประเทศไทย แต่กลับก่อให้เกิดผลกระทบกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน โดยเฉพาะความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์ปลามหาศาล อีกทั้งยังมีผลงานวิจัยทางวิชาการมารองรับว่า การเปิดเขื่อนปากมูลน่าจะได้ประโยชน์มากกว่า จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องยากลำบากต่อการตัดสินใจของรัฐบาลไทยต่อการเปิดเขื่อนปากมูล เพราะหากเกิดกรณีเช่นนี้ในเวียดนาม สิ่งที่รัฐบาลเวียดนามเลือกตัดสินใจจะอยู่บนพื้นฐานของผลงานวิจัยทางวิชาการ

จากนั้นคณะทั้งหมดก็ได้เดินทางไปบริเวณสันเขื่อนปากมูล แต่ไม่สามารถเดินทางเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวได้ เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ได้ปิดสันเขื่อนด้วยรั้วลวดหนาม พร้อมว่าจ้างชาวฉกรรจ์จำนวนมากให้คอยเฝ้าระวังและสกัดการชุมนุมใดๆ อย่างไรก็ตาม ทำให้คณะทั้งหมดต้องใช้เส้นทางอื่นเพื่อเข้าไปดูสถานที่ก่อสร้างเขื่อนปากมูล ซึ่งขณะนี้ปิดประตูระบายน้ำหมดทุกบานเรียบร้อยแล้ว ตัวแทนชาวบ้านได้ชี้ให้เห็นความล้มเหลวของบันไดปลาโจนว่า เป็นตัวอย่างที่เลวของนักเทคนิค ทำให้บรรดาผู้ร่วมประชุมจากนานาชาติ ประหลาดถึงความเป็นไปได้ในการทำให้ปลาอพยพข้ามสันเขื่อน จากนั้นทั้งหมดได้ร่วมรับประทานอาหารกับชาวบ้าน และเปิดแถลงข่าวในเวลา 12.10 น.

นางดาม ชานติ ตัวแทนชาวบ้านจังหวัดรัตนคีรี ประเทศกัมพูชาซึ่งได้รับผลกระทบจากการที่เวียดนามสร้างเขื่อนน้ำตกยาลีขวางลำน้ำเซซาน ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง ส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนกับชาวรัตนคีรีในประเทศกัมพูชาในสภาพที่ไม่ต่างจากชาวบ้านปากมูล นางดาม ชานติได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยช่วยแก้ปัญหาให้กับคนยากจน โดยระบุว่า “เราเข้าใจดีว่าชาวบ้านปากมูลเดือดร้อนมากแค่ไหน เพราะเราชาวกัมพูชาตกอยู่ในสภาพเช่นเดียวกัน ปลาลดน้อยลง นาข้าวถูกน้ำท่วม ผู้คนล้มหายตายจากในทันทีที่น้ำจำนวนมหาศาลถูกปล่อยจากเขื่อนโดยรู้เนื้อรู้ตัว รัฐบาลควรตระหนักว่า ความยากจนของคนในชนบทมันแสนสาหัสมากกว่าความยากจนของคนในเมือง เพราะไม่มีทั้งเครื่องอำนวยความสะดวก ไม่มีบริการสาธารณสุข แม่น้ำคือชีวิตเท่านั้น หากรัฐบาลไทยยังยืนยันที่จะปิดประตูเขื่อนปากมูล ก็เท่ากับฆ่าประชาชน”

ทางด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ ฟิลลิป เฮิร์ท ผู้อำนวยการศูนย์ทรัพยากรลุ่มน้ำโขงแห่งออสเตรเลีย มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ได้กล่าวว่าความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในกัมพูชา ไม่ต่างอะไรกับความเดือดร้อนของชาวบ้านปากมูลในประเทศไทย ในประเด็นที่ว่าหาคนรับผิดชอบไม่ได้ ดังนั้นทุกประเทศที่กำลังจะมีโครงการขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำโขง ควรจะตอบคำถามให้ได้ว่า จะแสวงหากลไกในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านที่จะเกิดขึ้นจากโครงการแต่ละแห่งได้อย่างไร “ตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับเขื่อนยาลีและเขื่อนปากมูลซึ่งตั้งอยู่ในประเทศของตนเอง ยังไม่สามารถหาหนทางแก้ปัญหาในประเทศได้ หากจะมีโครงการพัฒนาร่วมกันที่มากกว่าหนึ่งประเทศ หรือที่จะมีผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้าน ควรต้องหาคำตอบให้ได้ก่อนว่ามีกลไกใดในการช่วยแก้ปัญหาเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิด ผลกระทบกับชาวบ้านให้น้อยกว่าที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน”

นอกจากนั้น ผู้อำนวยการศูนย์ทรัพยากรลุ่มน้ำโขงแห่งออสเตรเลีย มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ยังระบุด้วยว่า กรณีเขื่อนปากมูล รัฐบาลผิดตั้งแต่เริ่มต้นที่ไม่รับฟังเสียงสะท้อนถึงผลกระทบจากชาวบ้านและ ในปัจจุบันก็ได้ลงทุนด้วยการนำภาษีของประชาชนทั้งประเทศเพื่อไปทำวิจัยกว่า
10 ล้านบาทแต่ไม่นำผลการวิจัยไปใช้

สนใจข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ กรรณิการ์ 01-7024421
 

สมัชชาคนจน

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา