eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

โครงการฟื้นฟูชีวิตของรัฐบาลฟื้นชีวิตคนลำมูนได้หรือ

 

ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๖ รัฐบาลได้มีมติครม.เกี่ยวกับแผนปฏิบัติงานภายหลังการเปิดเขื่อน ๔ เดือน ดังนี้

เรื่องอนุมัติบรรจุงานโครงการชลประทานปากมูล

                คณะรัฐมนตรีพิจารณาโครงการชลประทานตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอและมีมติดังนี้

๑.เห็นชอบการลงนามของกรมประมงและกระทรวงพลังงาน(การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย)ในบันทึก ความร่วมมือระหว่างกันเกี่ยวกับภาระกิจโครงการชลประทานปากมูล รวมทั้งการกำหนดกรอบแผนปฏิบัติการและงบประมาณเพื่อดำเนินการโครงการศึกษาวิจัยพัฒนาการประมงในลำน้ำมูลตอนล่างประจำปี ๒๕๔๖

๒.อนุมัติบรรจุงานโครงการชลประทานปากมูลตามกรอบแผนงานที่ได้เสอนในระยะเวลาดำเนินการ ๖ ปี โดยแบ่งเป็น ๓ ระยะ มีพื้นที่โครงการชลประทานเพิ่มขึ้น ๑๕๕,๔๔๐ ไร่

๓.สำหรับวงเงินงบประมาณในการดำเนินการในปี ๒๕๔๖ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำความตกลงรายละเอียดในการขอใช้งบกลางกับสำนักงบประมาณอีกครั้ง โดยพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของโครงการให้ชัดเจน สำหรับวงเงินงบประมาณในปีต่อไปของโครงการ ให้ใช้งบปกติของกรมชลประทาน โดยให้กรมชลประทานขอตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป

๔.ส่วนการขอสนับสนุนค่าใช้จ่ายกระแสไฟฟ้าในการสูบน้ำให้แก่ราษฎรได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนปากมูล ให้ใช้หลักเกณฑ์ปกติที่คณะรัฐมนตรีได้กำหนดถือปฏิบัติทั่วไป

ทั้งนี้ กรอบแผนปฏิบัติการและงบประมาณเพื่อดำเนินการโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาการประมงในลำน้ำมูลตอนล่าง ประจำปี ๒๕๔๖ ที่กรมประมงและกระทรวงพลังงาน(การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) ได้ลงนามร่วมกันมีรายละเอียดดังนี้

1.       ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับและติดตามโครงการประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นประธาน มีผู้แทนจากส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมประมง กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นายอำเภอโขงเจียม สิรินธร พิบูลมังสาหาร ผู้แทนเกษตรกรในพื้นที่ ต.โขงเจียม ต.หนองแสงใหญ่ อ.โขงเจียม ต.คำเขื่อนแก้ว ต.คันไร่ อ.สิรินธร ต.พิบูลมังสาหาร ต.ทรายมูล ต.กุดชมภู ต.โพธิ์ศรี อ.พิบูลมังสาหาร ตำบลละ ๒ คน เป็นกรรมการ

2.       ผลิตพันธุ์สัตว์น้ำชนิดต่างๆ เพื่อเพิ่มผลผลิตและความหลากหลายของพันธุ์สัตว์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนปากมูล รวมจำนวน ๕๐.๕ ล้านตัว งบประมาณ ๑๔,๒๑๗,๕๐๐ บาท

3.       ช่วยเหลือเกษตรกรประมงผู้ได้รับผลกระทบจำนวน ๖,๑๗๖ ราย รายละไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท รวมวงเงินงบประมาณ ๓๐,๘๘๐,๐๐๐ บาท โดยเกษตรกรประมงสามารถเลือกได้ใน ๒ แนวทาง คือ

1.1    ขอรับการสนับสนุนเพื่อเปลี่ยนเครื่องมือประมงให้เหมาะสมกับสภาพสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำ

2.2    ขอกู้เงินเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรมอื่นๆ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับธนาคารเพื่อกการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อแบ่งเบาภาระ ดอกเบี้ยเงินกู้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เฉพาะในปีแรก

4.       ฝึกอบรมเกษตรกรประมงจำนวน ๒,๓๐๐ ราย ให้มีความรู้ในการใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งอบรมการแปรรูปสัตว์น้ำเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยมีวงเงินงบประมาณ ๑,๑๐๐,๐๐๐ บาท

5.       กรมประมงร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยทำการศึกษาวิจัยเพื่อติดตามสถานภาพของทรัพยากร และการทำประมงเพื่อวางแนวทางการบริหารจัดการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน โดยมีวงเงินงบประมาณ ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท

6.       มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนินการติดตามและประเมินผลโครงการฯ ภายในวงเงินงบประมาณ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท

สำหรับโครงการชลประทานปากมูลนั้น กรมชลประทานได้พิจารณาสภาพภูมิประเทศประกอบกับแผนการพัฒนา โครงการชลประทานสูบน้ำด้วยไฟฟ้าของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน(ปัจจุบันสังกัดกรมชลประทาน) มีความเห็นว่า การจัดทำคลองชลประทานส่งน้ำเพื่อใช้ประโยชน์จากเขื่อนปากมูล จำเป็นต้องใช้วิธีการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากแม่น้ำมูนและลำน้ำสาขาเข้าสู่ระบบคลองชลประทาน ซึ่งมีพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการชลประทานเพิ่มขึ้น ๑๕๕,๔๔๐ ไร่ และมีการใช้น้ำเพิ่มขึ้นปีละ ๓๑.๕๕ ล้านลูกบาศก์เมตร มีระยะเวลาดำเนินการ ๖ ปี แบ่งเป็น ๓ ระยะได้แก่ ระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว ในวงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น ๘๐๓.๒๐ ล้านบาท โดยมีรายละเอียดโครงการฯดังนี้

1.       วัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ

1.1   เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตด้านการเกษตรของพื้นที่บริเวณสองฝั่งของแม่น้ำมูลตอนล่างและ สาขาซึ่งมีพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำในลำน้ำได้มีโอกาสใช้น้ำ

1.2   เพื่อเป็นหลักประกันในการประกอบอาชีพและดำรงชีวิตได้ตามความจำเป็นเหมาะสม

2.       แหล่งน้ำสำหรับพื้นที่โครงการ แหล่งน้ำที่ใช้เป็นปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับพื้นที่โครงการ ได้แก่ แม่น้ำมูลตอนล่างและลำน้ำสาขา โดยการสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบคลองชลประทานและ อาคารประกอบเพื่อกระจายน้ำไปยังพื้นที่การเกษตรอย่างทั่วถึง

3.       รายละเอียดโครงการ โครงการชลประทานปากมูล มีกรอบแผนการดำเนินงานเป็น ๓ ระยะ ได้แก่

ระยะเวลา

แผนงานการดำเนินงาน

๑.ระยะเร่งด่วน(ภายใน ๑ ปี)

 ๑.ศึกษาสำรวจและออกแบบโครงการชลประทานให้เต็มศักยภาพ ตามผลการศึกษาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(๒๕๒๘) โดยใช้น้ำจากแม่น้ำมูลและสาขาปีละ ๒๐.๓๐ ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับพื้นที่ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ไร่ ในวงเงินงบประมาณ ๑๐ ล้านบาท มีเวลาดำเนินการ ๖ เดือน

๒.ก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบคลองชลประทาน และอาคารประกอบรอบพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนปากมูล ในเขตอำเภอโขงเจียมและอำเภอสิรินธร รวม ๔ แห่ง พื้นที่โครงการ ๑๒,๐๐๐ ไร่ ต้องการใช้น้ำปีละ ๒.๔๔ ล้านลูกบาศก์เมตร ในวงเงินงบประมาณ ๗๖ ล้านลาท ระยะเวลาก่อสร้าง ๑ ปี

๒.ระยะปานกลาง(ปีที่ ๒-๔)

 ปรับปรุงสถานีสูบน้ำที่มีอยู่เดิม รวมถึงระบบคลองชลประทานและอาคารประกอบแต่ยังใช้ประโยชน์ต่ำกว่าศักยภาพจำนวน ๒๙ แห่ง เพื่อให้สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น ๔๓,๔๔๐ ไร่ ปีละ ๘.๘๑ ล้านลูกบาศก์เมตร ในเขตอำเภอพิบูลมังสาหาร สิรินธร เมือง ดอนมดแดง วารินชำราบ ดอนมดแดง ตาลสุม และกิ่งอำเภอสว่างวีรวงศ์ มีระยะเวลาดำเนินการ ๓ ปี แบ่งเป็น ๒ ระยะ ระยะแรกทำการปรับปรุง ๑๖ แห่ง พื้นที่ ๒๕,๗๕๐ ไร่ และระยะหลังอีก ๑๓ แห่ง พื้นที่ ๑๗,๖๙๐ ไร่ ในวงเงินงบประมาณร่วม ๒๑๗.๒๐ ล้านบาท

๓.ระยะยาว(ปีที่ ๒-๖ )

 ก่อสร้างโครงการที่ได้สำรวจ-ออกแบบตามแผนงานระยะแรกในพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ไร่ ในวงเงินงบประมาณ ๕๐๐ ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ ๕ ปี

ในขณะที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูน ได้สะท้อนถึงโครงการที่เป็นการช่วยเหลือของรัฐไว้ในหลายแง่มุม บ้างเห็นว่าเป็นการผลาญงบประมาณเนื่องจาก การแก้ปัญหาให้กับคนปากมูนในลักษณะรูปแบบวิธีการดังกล่าว ได้เคยดำเนินการมามากแล้วภายหลังการสร้างเขื่อนปากมูน แต่ก็ไม่ปรากฏว่าชาวบ้านสามารถลืมตาอ้าปากได้ ปลาที่กรมประมงปล่อยลงในแม่น้ำมูน คนหาปลาให้ความเห็นว่า ปลาจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในแม่น้ำมูนได้เป็นเวลานานได้ เนื่องจากสภาพนิเวศของแม่น้ำมูนแตกต่างจากการถูกอนุบาลของปลาเหล่านั้น เมื่อปล่อยปลาลงไปปลามีโอกาสรอดน้อยมาก ยิ่งโดยเฉพาะในช่วงของการปิดเขื่อน แม่น้ำมูนเน่าเสีย ไม่สะอาด ยิ่งทำให้ปลาไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ รวมทั้ง อาจจะเป็นอาหารของปลาที่อยู่เดิม เช่น ปลาเป้า เป็นต้น นอกจากนั้นแล้ว เขื่อนปากมูนไม่ใช่เขื่อนกักเก็บน้ำ แต่เป็นเขื่อนเก็บและระบายน้ำออกเมื่อปริมาณน้ำมาก ปลาที่ปล่อยลงไปไม่ใช่ปลาว่ายทวนน้ำ แต่จะไหลตามน้ำ และผ่านประตูน้ำ หรือเครื่องปั่นไฟลงไปท้ายเขื่อนได้ง่ายกว่า คนหาปลาส่วนใหญ่บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยจับปลาที่กรมประมงปล่อย ได้เลย ปลาที่ได้เป็นปลาที่ค้างวังอยู่แล้ว ดังนั้นการปล่อยปลาในแม่น้ำมูนแม้จะปล่อยมากมายเพียงใดก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการลดลงของปลาในแม่น้ำมูนได้เลย เป็นบทเรียนที่กรมประมงกับการไฟฟ้าฯไม่เคยสรุปบทเรียนนี้ แต่งบประมาณที่ใช้สำหรับเรื่องนี้จำนวนมหาศาล จึงควรที่ทั้งสองหน่วยงานจะทบทวน

                              กรณีการทำคลองส่งน้ำของกรมชลประทานที่นับเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลกว่าโครงการอื่นๆ นั้น ชาวบ้านได้สะท้อนถึงโครงการที่มีอยู่เดิมว่า โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้ามีมาก่อนการสร้างเขื่อนปากมูน ในเรื่องปริมาณน้ำแม้ว่าจะอยู่ในฤดูใดก็สามารถสูบได้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระดับในแม่น้ำแต่อย่างใด เหมือนดังที่เคยถูกกล่าวอ้างเมื่อครั้งทดลองเปิดเขื่อนปากมูนว่า การเปิดเขื่อนจะส่งผลต่อการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า เพราะปริมาณน้ำในลำน้ำมีน้อย ระดับน้ำต่ำ ซึ่งเป็นเรื่องหลอกทั้งสิ้น ปัญหาใหญ่ของโครงการที่ผู้ได้รับผลกระทบสะท้อนถึงความเป็นไปได้ของโครงการ คือวิถีชีวิตของคนลำน้ำมูนและลำน้ำสาขามีวิถีหลักอยู่กับการหาปลาในแม่น้ำมูน การทำนาดูเหมือนจะเป็นวิถีรองหากจะเปรียบเทียบกัน การทำนาเป็นเพียงการหนุนเสริม หรือเพื่อลดค่าใช้จ่ายของครอบครัวเรื่องการซื้อข้าวสารไม่ได้เพื่อการสร้างรายได้หลัก แต่การสร้างรายได้อยู่ที่ปลาในแม่น้ำ การใช้น้ำจากคลองส่งน้ำเดิมของคนทำนาในบริเวณนี้ มีเพียง ๑๔ % เท่านั้น (จากการศึกษาของม.อุบลฯ)  ดังนั้น การสร้างคลองส่งน้ำให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูนนั้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่สอดคล้องกับวิถีของคนแถบนี้ ไม่เหมาะสมทั้งสภาพพื้นที่ที่เป็นที่สูง ไม่เรียบสม่ำเสมอ รวมทั้งปัญหาการไม่มีที่ดินของชาวบ้านโดยเฉพาะในเขตอำเภอโขงเจียม บริเวณปากมูน และสิรินธรบางส่วน ชาวบ้านส่วนใหญ่หาปลาจากแม่น้ำมูน ดังนั้นจึงไม่มีประโยชน์นักต่อชาวบ้านกลุ่มนี้หากจะมีโครงการคลองชลประทานลงไป หรือหากมีผู้ใช้น้ำ ก็จะต้องมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากต้องจ่ายค่าน้ำรายชั่วโมง

                              ในกรณีโครงการเพื่อการฝึกอบรมชาวประมงให้มีความรู้ในการใช้เครื่องมือประมงให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งอบรมการแปรรูปสัตว์น้ำนั้น ความเห็นของชาวบ้านชี้ว่า เปล่าประโยชน์ที่กรมประมงจะเข้ามาให้ความรู้กับชาวบ้านเรื่องนี้ เพราะตราบใดที่แม่น้ำมูนยังถูกปิดก้นด้วยเขื่อนปากมูน แม่น้ำมูนไม่มีความอุดมสมบูรณ์ ไม่มีปลา น้ำเน่าเสีย คนหาปลาจะมีความชำนาญในการหาปลาเพียงใด ใช้เครื่องมือเก่งเพียงใดก็ไม่สามารถหาปลาได้ และเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะเข้ามาให้ความรู้เรื่องนี้ เพราะชาวบ้านมีภูมิปัญญาในการหาปลามาหลายร้อยปีแล้ว สามารถเลี้ยงลูกหลานสืบเผ่าพันธุ์มาได้กระทั่งบัดนี้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องฝึกอบรมเรื่องนี้ นอกจากจะสิ้นเปลืองงบประมาณมากแล้วยังไม่เกิดประโยชน์ใดต่อผู้ได้รับผลกระทบอีกด้วย

                              นอกจากนั้น ในโครงการยังมีการให้ชาวบ้านกู้เงินรายละไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท ซึ่งยิ่งเป็นการเพิ่มภาระให้กับครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ เพราะเนื่องจากการสำรวจความเห็นทราบว่า ชาวบ้านเกือบทั้งหมดมีหนี้สินเกือบทุกครอบครัว และเริ่มมีในช่วงหลังการสร้างเขื่อนปากมูน ที่ไม่สามารถหารายได้จากแม่น้ำได้ ประกอบกับภาครัฐนำงบประมาณที่เป็นลักษณะของเงินกู้ออกมาให้เป็นจำนวนมาก ทำให้ชาวบ้านต้องรับภาระหนี้สินอย่างล้นพ้นตัว ในโครงการนี้แม้ว่าในปีแรกกฟผ.จะเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ย แต่ก็มิได้เป็นการบรรเทาปัญหาให้น้อยลงได้

                              โครงการทั้งหลายที่กำหนดจากรัฐบาลรวมทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเจ้าของโครงการเกือบทุกโครงการ ไม่ไดสอดคล้องกับความต้องการของผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเลยแม้แต่น้อย การแก้ไขปัญหาจึงเป็นลักษณะของการแก้ไม่ถูกจุด ตลอดมา

                              ล่าสุด คือ ความต้องการฟื้นฟูธรรมชาติของแม่น้ำมูน เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูชีวิตและชุมชนของคนลุ่มน้ำมูน เหตุผลทางวิชาการ และความเป็นจริงที่เกิดขึ้นก็ได้พิสูจน์แล้ว เป็นการบอกรัฐบาลว่าสิ่งที่ชาวบ้านเรียกร้อง และต้องการนั้นถูกต้องที่สุด แต่ท้ายที่สุดรัฐบาลก็ไม่ได้ยี่หระต่อเหตุผลและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ท้ายที่สุดก็ใช้อำนาจบีบบังคับเอาความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำมูนคืนไปจากชาวบ้าน คงเหลือไว้เพียงความทุกข์ยาก เดือดร้อนให้คงอยู่คู่กับคนลุ่มน้ำต่อไป

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา