eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

ใบแถลงข่าว

เครือข่ายแม่น้ำเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ตอบโต้ กฟผ.ที่ไม่ยอมรับรายงานคณะกรรมการเขื่อนโลกเขื่อนปากมูล

24 พฤษภาคม 2543

นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ผู้อำนวยการเครือข่ายแม่น้ำเอเซียตะวันออกเฉียงใต้(SEARIN) ได้แถลงตอบโต้ มล.ชนะพันธ์ กฤดากร รองผู้ว่า กฟผ.ที่ออกมาแถลงว่าการที่สมัชชาคนจนนำข้อมูลคณะกรรมการเขื่อนโลกไปเผยแพร่นั้นไม่ถูกต้อง เพราะกรรมการเขื่อน โลกคำนวณไม่ถูกต้อง และธนาคารโลกและคณะกรรมการเขื่อนโลกไม่เกี่ยวกัน

ในประเด็นที่ มล.ชนะพันธ์ กฤดากร รองผู้ว่า กฟผ.ระบุว่าการที่สมัชชาคนจนนำข้อมูลไปเผยแพร่ไม่ถูกต้องนั้น นายไชยณรงค์ ได้ตอบโต้ว่า กฟผ.คงไม่ได้อ่านที่มาของรายงานซึ่งระบุอย่างชัดเจนว่าถอดความและเรียบเรียงจาก Executive Summary, Pak Mun Case Study: Summary for Forum ซึ่งคณะกรรมการเขื่อนโลกจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา ส่วนร่างบทสรุปสำหรับผู้บริหาร ของรายงานฉบับสมบูรณ์ อีกไม่นานก็จะเสร็จสมบูรณ์ แต่เนื้อหาก็จะไม่แตกต่างกับเอกสารที่สมัชชาคนจนแจกไป

นายไชยณรงค์ระบุว่า "การที่ กฟผ.ระบุว่า การนำมาเผยแพร่ไม่ถูกต้องนั้น ตนไม่เข้าใจว่า กฟผ.จะปิดหูปิดตาสังคมไทยไปถึงไหน เพราะรายงานฉบับที่แจกกันนั้นทั่วโลกเขารู้กันหมดแล้วเพราะในช่วงนั้นคณะกรรมการเขื่อนโลกได้เผยแพร่ผ่านเวปไซต์ด้วย ในขณะนี้ร่างรายงานสรุปสำหรับผู้บริหารของรายงานฉบับสมบูรณ์นั้น ทั่วโลกก็รู้กันหมดแล้วเช่นกันเพราะคณะกรรมการเขื่อนโลก ได้ขึ้นเวปไซด์เช่นเดียวกันโดยสามารถเปิดดูได้ที่ www.dams.org"

สำหรับกรณีที่ กฟผ.ระบุว่า ธนาคารโลกและคณะกรรมการเขื่อนโลกไม่เกี่ยวกันนั้น นายไชยณรงค์ แถลงว่า คณะกรรมการเขื่อนโลก (WCD) กับธนาคารโลกนั้นแม้คนละองค์กรกันเนื่องจากคณะกรรมการเขื่อนโลกเป็นองค์กรอิสระ แต่ธนาคารโลกก็ยอมรับคณะ กรรมการนี้เพราะคณะกรรมการเขื่อนโลกตั้งขึ้นมาในปี 2540 ภายหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างธนาคารโลกและสหพันธ์ เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติสากล (IUCN) ซึ่งจัดขึ้นที่แกลนด์ ประเทศสวิทเซอร์แลนด์ โดยที่ธนาคารโลกเป็นสมาชิกสมัชชาและ ธนาคารโลกยังได้บริจาคเงินให้กับคณะกรรมการนี้ในการทำงานด้วย

"ไม่เพียงแต่ธนาคารโลกเท่านั้นที่ยอมรับคณะกรรมการเขื่อนโลก แต่องค์กรคณะกรรมการเขื่อนโลกยังมีสมาชิกสมัชชาที่ประกอบ ด้วยองค์กรต่าง ๆ 56 องค์กร จาก 34 ประเทศ ซึ่งแต่ละองค์กรนั้นมีชื่อเสียงในระดับโลก ที่สำคัญเช่น องค์การอาหารและเกษตรโลก (FAO) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) สมาคมสร้างเขื่อนใหญ่ นานาชาติ (ICOLD) คณะกรรมการนานาชาติเพื่อการชลประทานและการระบายน้ำ (ICID) องค์การพลังงานนานาชาติ (IEA) กองทุนเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเล (OECF) สหพันธ์เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติสากล (IUCN) กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) เครือข่ายแม่น้ำนานาชาติ (IRN) องค์การพัฒนาแหล่งน้ำและที่ดินแห่งสหรัฐอเมริกา (USBR) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตประเทศต่าง ๆ และสถาบันทรัพยากรโลก (WRI) เป็นต้น

ส่วนการที่ มล.ชนะพันธ์ระบุว่า รายงานการศึกษาของคณะกรรมการเขื่อนโลกไม่ถูกต้องนั้น นายไชยณรงค์ระบุว่า ตนไม่แปลกใจที่ กฟผ.ออกมาพูดอย่างนี้ เพราะ กฟผ.ไม่เคยยอมรับความจริงเกี่ยวกับเขื่อนปากมูลมาโดยตลอดถ้าหากว่ารายงานใดก็ตามขัดกับสิ่ง ที่คนใน กฟผ.เชื่อ ในกรณีของคณะกรรมการเขื่อนโลกนั้น ตนอยากให้ กฟผ.ทบทวนความจำด้วยว่า ทีมศึกษาของคณะกรรมการ เขื่อนโลกที่เข้าศึกษากรณีเขื่อนปากมูลนั้นมาจากนักวิชาการจากหลายสถาบันเช่น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กรมประมง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย(AIT) บริษัทที่ปรึกษาเอกชน รวมทั้งอดีตผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทยด้วย ซึ่งการศึกษาแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

"ที่สำคัญก็คือ กฟผ.ก็ได้เสนอรายชื่อนักวิชาการด้วย และได้เข้ามีส่วนในการพิจารณาขอบเขตการศึกษามาตั้งแต่ต้น ซึ่งเท่ากับเป็นการ ยอมรับวิธีการศึกษา แต่ขณะนี้เมื่อผลการศึกษาออกมา ตนเข้าใจว่า กฟผ.อาจจะรู้สึกเสียหน้ามากจึงออกมาตีรวน เพราะรายงานของ คณะกรรมการเขื่อนโลกนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับรายงานก่อนหน้านี้ที่ธนาคารโลกจัดทำทั้งนี้ก็เพราะรายงานของธนาคารโลกที่ ทำก่อนหน้านี้และ กฟผ.มักนำมาอ้างว่าทุกอย่างดีหมดนั้น ล้วนแต่ทำโดยบรรดามือปืนรับจ้าง และไม่เคยถูกตรวจสอบจากสังคม ซึ่งตนเห็นว่างานศึกษาแบบนี้ล้าสมัยแล้ว ควรจะเอาไปเผาทิ้งหรือไม่ก็เก็บไว้เป็นกรณีศึกษาของการบิดเบือนข้อมูลทางวิชาการให้ คนรุ่นต่อไปได้ศึกษากัน"

นายไชยณรงค์สรุปว่า "ในขณะนี้ตนขอฝากบอกไปยังรัฐบาลว่าทั่วโลกเขารู้ข้อมูลเขื่อนปากมูลหมดแล้ว เหลือก็แต่รัฐบาลชวนนี่ แหละที่ไม่ยอมลืมตาดูโลก มัวแต่หลับหูหลับตาฟังแต่ข้อมูลด้านเดียวที่ชงมาจาก กฟผ. สำหรับ กฟผ.นั้นตนเห็นว่าหมดยุคของ การผูกขาดการอธิบายข้อมูลแต่ฝ่ายเดียวแล้ว ดังนั้น กฟผ.จึงไม่ควรดันทุรังปกป้องเขื่อนปากมูลที่เปรียบเหมือนกับการกอดซากศพ และควรที่จะหันมายอมรับความจริงของเขื่อนปากมูลและมองเห็นว่าคุณค่าของชีวิตคนว่าสำคัญกว่าเขื่อนคอนกรีตได้แล้ว ถ้าทำได้ ไม่เพียงแต่เป็นการล้างบาปที่สร้างขึ้นมาเท่านั้น แต่เชื่อแน่ว่าสังคมไทยจะยกย่อง กฟผ.ด้วยซ้ำไป"

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา