eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

ใครโกหกเรื่องเขื่อนปากมูล?

หน้าแรกผู้จัดการ Online | ทัศนะ

โดย สิริอัญญา

ปัญหาการปิดหรือเปิดเขื่อนปากมูลเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อเรื้อรัง และเป็นปัญหาที่มีการประท้วงทั้งในพื้นที่และที่หน้าทำเนียบรัฐบาลต่อเนื่องยาวนานมาหลายรัฐบาลแล้ว และถึงวันนี้ปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่มีข้อยุติ ยังคงมีการประท้วงกันอยู่ ยังมีการโต้เถียงกันอยู่ และยังไม่เห็นว่าจะสิ้นสุดยุติลงได้
       ฝ่ายหนึ่งต้องการให้เปิดเขื่อนปากมูล ฝ่ายหนึ่งต้องการให้ปิดเขื่อนปากมูล ต่างฝ่ายต่างเสนอข้อมูลมากหลายเพื่อสนับสนุนความคิดเห็นของตน แต่เป็นข้อมูลที่ไม่ตรงกัน ซึ่งจะต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโกหก ดังนั้น ในวันนี้จึงควรทำความจริงให้ปรากฏเพื่อให้ปัญหาเรื่องนี้ได้ยุติลงไปเป็นการถาวรสักปัญหาหนึ่ง ทั้งอาจจะนำไปสู่การเปิดเผยโฉมหน้าผู้รับผิดชอบซึ่งเป็นต้นตอของการก่อเกิดปัญหานี้ขึ้น
       ลำน้ำมูลนั้นเป็นลำน้ำธรรมชาติที่มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ หล่อเลี้ยงพืชพันธุ์ธัญญาหารให้แก่ชีวิตทั้งหลายที่อยู่สองริมฝั่งแม่น้ำ เป็นธรรมชาติที่ยืนยงคงอยู่กับภาคอีสาน เป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อชาวอีสานในการกินการอยู่และในการทำอาชีพอย่างยาวนาน เป็นแม่น้ำที่ชาวอีสานถือว่าเป็นเส้นใยชีวิตที่เชื่อมโยงระหว่างคนกับธรรมชาติและสรรพชีวิตทั้งปวงที่เกี่ยวข้องอยู่กับลำน้ำแห่งนี้
       หากธรรมชาติที่เป็นมาเช่นนี้ยังดำเนินต่อไปโดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงก็คงไม่มีปัญหาโต้เถียงและขัดแย้งเกิดขึ้น ทั้งย่อมไม่มีปัญหาพิพาทระหว่างรัฐกับราษฎรให้ปรากฏดังที่เห็นอยู่ในวันนี้
       ดังนั้น ในภาพรวมจึงอาจกล่าวได้ว่า ปัญหาโต้แย้ง ปัญหาพิพาทบาดหมางและการเกิดการประท้วงที่ปรากฏอยู่ในวันนี้นั้นเป็นผลิตผลโดยตรงของ การเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติของลำน้ำมูลโดยแท้


       ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์ นั่นคือเมื่อหลายปีมาแล้วได้มีคนสมองใสในการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ได้คิดอ่านตั้งโครงการสร้างเขื่อนปากมูลขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าในภาคอีสาน เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องลงทุนนับหมื่นล้านบาท นับเป็นการลงทุนโครงการขนาดใหญ่โครงการหนึ่งของประเทศ
       ข้ออ้างของการตั้งโครงการนี้อยู่ที่ว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีกระแสไฟฟ้าสำรองเพื่อรองรับกับปริมาณการใช้สอยไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต และเมื่อทำเขื่อนปากมูลแล้วก็จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ที่คุ้มค่าแก่การลงทุน จะทำให้ราคาค่ากระแสไฟฟ้าที่ประชาชนใช้สอยลดลง เป็นผลดีทั้งแก่ชาติและประชาชน ซึ่งโครงการอย่างนี้ฟังเผินๆ แล้วใครๆ ก็ต้องเห็นด้วย ใครๆ ก็ต้องเห็นชอบ และพากันเห็นดีเห็นงามไปตามคำโฆษณาที่ได้กระทำกันอย่างกว้างขวาง เพื่อให้เห็นคุณูปการและประโยชน์ของโครงการนี้
       ยิ่งเมื่อมีการอ้างเหตุผลด้วยว่า การทำโครงการเช่นนี้จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน เพราะไม่มีผลกระทบต่อประชาชน ก็ยิ่งทำให้โครงการนี้มีความสมเหตุสมผล ซึ่งนำไปสู่การอนุมัติให้มีการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงการนี้
       พอเริ่มต้นโครงการ เสียงคัดค้านก็ดังกังวานขึ้น เพราะการทำเขื่อนปากมูลได้ทำให้เกิดสภาพน้ำท่วม ทำให้ราษฎรที่ทำมาหากินอยู่ตามลำน้ำมูลมาแต่ครั้งบรรพบุรุษไม่สามารถทำมาหากินต่อไปได้ เพราะที่อยู่ ที่อาศัยถูกน้ำท่วม ต้องอพยพโยกย้ายราษฎรเหล่านั้น โดยรัฐต้องจ่ายค่าชดเชยเป็นเงินจำนวนมาก ส่วนเงินจะถึงราษฎรที่แท้จริงหรือไม่ย่อมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องเงินชดเชยนี้ผ่านมานานวันแล้ว จึงไม่มีประโยชน์ที่จะกล่าวถึงอีก
       ยังต้องตัดไม้ทำลายป่าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่วมของน้ำและในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำเขื่อนอีกเป็นจำนวนมาก แต่เรื่องนี้เมื่อผ่านวันเวลามานานแล้วก็ย่อมไม่จำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงอีกเช่นเดียวกัน
       เมื่อสร้างเขื่อนเสร็จได้ปรากฏผลที่ชัดเจนขึ้นสองประการ และเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งและเหตุการณ์ที่มีการประท้วงกันในวันนี้ กล่าวคือ


       ประการแรก ปริมาณของการผลิตกระแสไฟฟ้าว่าเป็นไปตามที่ตั้งโครงการไว้หรือไม่
       ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ก็คือ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาคอีสานซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนเมษายน ปรากฏตัวเลขล่าสุดในเดือนเมษายน 2545 ว่าภาคอีสานได้ใช้กระแสไฟฟ้า 1,838 เมกะวัตต์ ในการนี้จะต้องผลิตกระแสไฟฟ้าที่ระดับ 1,900 เมกะวัตต์
       ทั่วทั้งภาคอีสานผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียง 437 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออีก 1,500 เมกะวัตต์ นั้นต้องซื้อจากประเทศลาวส่วนหนึ่งจำนวน 300 เมกะวัตต์ รับมาจากภาคกลาง 400 เมกะวัตต์เศษ และที่เหลือส่งมาจากภาคเหนือ 700 เมกะวัตต์
       ในจำนวนกระแสไฟฟ้าที่ผลิตในภาคอีสาน 437 เมกะวัตต์นั้น เป็นกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนปากมูลเพียง 136 เมกะวัตต์ ยังไม่ถึง 10% ของปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าในภาคอีสาน ซึ่งกล่าวได้ว่าปริมาณการผลิตและการใช้กระแสไฟฟ้าจากเขื่อนปากมูลนั้นไม่ได้มีผลกระทบที่เป็นนัยสำคัญต่อค่า FT ในภาพรวม และขีดความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าของเขื่อนปากมูลก็หาได้เป็นนัยสำคัญต่อการเพิ่มกระแสไฟฟ้าในภาคอีสานแต่ประการใดไม่
       จึงเป็นปัญหาว่าการตั้งโครงการนี้มีข้อมูลที่ถูกต้องและคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่
       จำนวนกระแสไฟฟ้า 136 เมกะวัตต์ ที่ผลิตจากเขื่อนปากมูลนี้ ถ้าหากไม่มีการตั้งโครงการเขื่อนปากมูลแล้วก็ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยหรือภาคอีสานไม่มีไฟฟ้าใช้ เพราะสามารถส่งไปจากภาคเหนือหรือภาคกลางได้ ดังนั้นการอ้างถึงความจำเป็นในการตั้งโครงการจึงเป็นที่น่าสงสัยว่าจะเป็นข้อมูลที่ถูกต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงแล้วหรือไม่
       ในปัญหาความคุ้มค่ากับการลงทุนนั้น หากถือเกณฑ์ร้ายแรงที่สุด คือต้องซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาวมาทดแทนในกรณีที่ไม่มีเขื่อนปากมูล ในกรณีนี้มีผู้คำนวณว่าถ้าไม่ตั้งโครงการเขื่อนปากมูล และจำเป็นต้องซื้อกระแสไฟฟ้าจากลาวซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ร้ายแรงที่สุด และคิดจำนวนที่ใช้สูงสุดในเดือนเมษายนเป็นเกณฑ์ ก็จะใช้เงินซื้อกระแสไฟฟ้าสูงสุดเพียง 570 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น
       นั่นคือคิดเฉลี่ยเพียงเดือนละ 48 ล้านบาท แต่ทั้งปีหาได้ใช้กระแสไฟเท่ากับเดือนเมษายนซึ่งเป็นเดือนที่ใช้กระแสไฟฟ้าสูงสุดไม่ เพราะในฤดูฝนและฤดูหนาวการใช้กระแสไฟฟ้าก็น้อยลง ดังนั้นหากจะเฉลี่ยโดยยุติธรรม ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่หากจะต้องซื้อจากประเทศลาวก็จะตกอยู่ไม่เกินเดือนละ 25 ล้านบาท
       เพียงเท่านี้ก็ทำให้ประเด็นการเสนอโครงการในส่วนของความจำเป็นและความคุ้มค่าของ โครงการมีปัญหาน่าสงสัยว่าเป็นการตั้งโครงการโดยสุจริต โดยคิดถึงผลประโยชน์ของชาติ โดยคิดถึงผลตอบแทนจากการลงทุนว่าเป็นไปโดยถูกต้องหรือไม่ และน่าเสียดายว่ายังไม่เคยมีการตรวจสอบถึงความถูกต้อง สุจริต หรือความโปร่งใส ในปัญหาเหล่านี้เลย


       ประการที่สอง เป็นปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและประชาชนที่ได้อาศัยลำน้ำมูลเป็นเส้นใยชีวิต เพราะเมื่อมีการสร้างเขื่อนและปิดเขื่อนปากมูลเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว ได้เกิดผลกระทบที่สำคัญคือ


       (1) การตั้งประมาณการรายได้จากการใช้น้ำในการชลประทาน ที่ตั้งประมาณการไว้เดิมว่าสถานีสูบน้ำ 29 สถานี จะช่วยเหลือเกษตรกรเป็นพื้นที่ถึง 14,757 ไร่ แต่พอเอาเข้าจริงมีการใช้น้ำเพียง 2,500 ไร่เท่านั้น เหตุผลเพราะว่าส่วนใหญ่ไม่มีใครใช้น้ำเพราะได้คิดค่าใช้น้ำแพงถึงชั่วโมงละ 80 บาท ไม่คุ้มค่ากับการลงทุนในการทำสถานีสูบน้ำทั้ง 29 สถานี ตามลำน้ำมูลนั้นเลย
       (2) ก่อนการทำเขื่อนปากมูล ราษฎรริมฝั่งแม่น้ำมูลมีรายได้จากการทำอาชีพประมง มีรายได้เฉลี่ยครอบครัวละ 25,000 บาทต่อปี หลังจากการทำเขื่อนปากมูลแล้วสัตว์น้ำลดลงอย่างผิดหูผิดตา ชาวประมงจับปลาไม่ได้ตามที่เคยเป็น และมีรายได้เฉลี่ยลดลงเหลือเพียงปีละ 3,000 บาทต่อครอบครัวเท่านั้น
       ในช่วงระหว่างทดลองเปิดเขื่อนปากมูล 8 เดือนเพื่อทดลองผลกระทบ ปรากฏว่าชั่วเวลาอันสั้นเท่านั้นสัตว์น้ำได้เพิ่มขึ้น รายได้ของชาวประมงพื้นบ้านได้เพิ่มขึ้นเป็นครอบครัวละ 10,000 บาท
       (3) ก่อนทำเขื่อนปากมูลเคยมีการสำรวจพันธุ์ปลาในลุ่มน้ำมูลว่ามีอยู่กว่า 265 ชนิด หลังจากการทำเขื่อนปากมูลแล้ว ปลาเวียนว่ายขยายพันธุ์ไม่ได้ ทำให้พันธุ์ปลาสูญหายไปเหลืออยู่เพียง 45 ชนิดเท่านั้น
       ในช่วงระหว่างทดลองเปิดเขื่อนปากมูล 8 เดือน ปรากฏว่าพันธุ์ปลาได้เพิ่มขึ้นเป็น 156 ชนิด และยังมีพันธุ์ปลาต่างถิ่นเพิ่มขึ้นอีก 8 ชนิด นอกจากนี้ตามแก่งน้ำธรรมชาติ พันธุ์พืชน้ำได้ฟื้นคืนขึ้นถึง 35 แห่ง กว่า 300 ชนิด
       ผลการศึกษาของการทดลองเปิดเขื่อน 8 เดือน ได้ใช้งบประมาณไปกว่า 10 ล้านบาท แต่กลับไม่มีใครสนใจไยดี และนำมาใช้ประโยชน์ เสียงของประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนที่เสนอความจริงในเรื่องนี้ถูกปิดบังด้วยเสียงของเงินตราที่มีอำนาจเหนือกว่า
       ความจริงก็ยังคงดำรงอยู่ ประชาชนสองฝั่งแม่น้ำมูลก็รู้เห็นกันอยู่ แต่อย่างว่านั่นแหละในยุคที่ผู้คนนับถือเงินตราเป็นพระเจ้า ก็มีผู้ขายตัวก่อตั้งเป็นขบวนการขัดขวางการเรียกร้องหาความเป็นธรรมของประชาชน พลิกดำเป็นขาว พลิกขาวเป็นดำ จึงทำให้ปัญหาเขื่อนปากมูลสับสนว่าความจริงเป็นอย่างไร ควรเปิดหรือควรปิดเขื่อนปากมูลอย่างไร


       ประชาชนสองฝั่งแม่น้ำมูลย่อมรู้ย่อมสัมผัสได้เป็นอย่างดีถึงผลกระทบของการปิดหรือเปิดเขื่อนลำน้ำมูล โดยที่เสียงของเงินตราไม่สามารถลบเลือนความจริงที่พวกเขาสัมผัสและซึ้งอยู่แก่หัวใจของทุกคนให้เลือนหายไปได้ เมื่อความจริงยังคงดำรงอยู่เช่นนี้การปิดเขื่อนปากมูลจึงไม่อาจทำให้ความขัดแย้งสูญสลายหายไปได้ จนกว่าประชาชนเหล่านั้นจะล้มหายตายจากไปจนหมดสิ้น

       กระแสแห่งสัจจะกำลังถูกบิดเบือนและถูกโจมตีจากยุคสมัยที่สินค้าคนล้นตลาด ดังที่กวีประชาชนท่านหนึ่งได้ประพันธ์ไว้ว่า
       “เงินซื้อใครได้จริงทุกสิ่งหรือ ค่าเงินซื้อได้จริงเพียงสิ่งของ
       ใครยอมตัวขายตนให้เงินทอง เป็นผู้มองไม่เห็นความเป็นคน
       ถึงกระนั้นวันนี้เท่าที่รู้ ยังมีผู้ขายตัวยอมชั่วฉล
       เงินซื้อคนพ้นจากความยากจน ใครจะทนหยิ่งได้แทบไม่มี
       สินค้าคนล้นตลาดอนาถไฉน คนพอใจเป็นทาสเงินกว่าเดินหนี
       โลกจึงวุ่นคุณธรรมถูกย่ำยี แต่กูนี้ยอมตายไม่ขายตัว”

       แต่หยาดน้ำตาประชาราษฎร์จะไม่มีวันเหือดหายสลายไปไหน ทุกหยดหยาดที่ไหลรินลงบนปฐพีแห่งนี้จะเหมือน หนึ่งดังคำสาปให้เหล่าทรชนที่ปล้นชาติปล้นแผ่นดินต้องรับผลแห่งวิบากกรรม ที่ได้ทำไว้กับบ้านเมืองและประชาชนในสักวันหนึ่งโดยไม่ต้องสงสัย หาไม่แล้วกฎแห่งกรรม หลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนาก็จะหาคุณค่าอันใดไม่ได้เลย

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา