eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 
นายกฯกร้าว สั่งรื้อ 'แม่มูนมั่นยืน'
 
กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 22 มค 46

ลั่นรัฐบาลตัดสินใจแล้วต้องอยู่ในกรอบก.ม. รัฐบาลส่อเค้าเผชิญหน้าคนจนอีกครั้ง หลังนายกฯเรียกผบช.น.หารือข้อกฎหมาย แก้เกมหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน รัฐยืนกรานไม่ทบทวนมติครม.เปิดเขื่อน 4 เดือน

นายกฯ ขู่ใช้ไม้แข็งคนจน เตือนทำอะไรตามใจเจอมาตรการกฎหมาย ลั่น "แม่มูนมั่นยืน" สร้างถาวรเจอรื้อแน่ ย้ำหากแรงมา-แรงไป ยืนกรานรัฐบาลตัดสินใจไปแล้ว ต้องกลับไปอยู่ในกรอบ "พงศ์เทพ" ยัน ไม่ทบทวนมติ ครม.เปิดเขื่อน 4 เดือน เรียกร้องให้ชาวบ้านคืนถิ่นรอรัฐบาลส่งเสริมอาชีพ ด้านคนจน ชี้แค่เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ ไม่หวังอยู่จนแก่เฒ่า

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มสมัชชาคนจนเตรียมที่จะสร้างบ้านถาวรในพื้นที่การชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากไม่พอใจในการตัดสินของรัฐบาล ว่า ต้องเรียนให้ทุกคนทราบว่า ประเทศไทยมีกติกา ถ้าทุกคนปล่อยให้ประเทศไม่มีกติกา ประเทศก็อยู่ไม่ได้ เรามีรัฐบาลเพื่อกำหนดรักษากติกา ให้คนส่วนใหญ่อยู่ร่วมกันโดยสันติ

"ถ้าคนบางคนจะถือวิสาสะว่าอยากจะทำอะไรก็ทำตามใจชอบ จะเรียกร้องให้เห็นใจมันไม่ได้ เพราะก่อนจะให้คนอื่นเห็นใจก็ต้องเห็นใจคนอื่นด้วยเหมือนกัน เพราะว่าเราอยู่ร่วมกันในประเทศนี้ ฉะนั้นการชุมนุมหน้าทำเนียบซึ่งถือว่าเป็นที่สาธารณะ การจะปักหลักสร้างหมู่บ้านอย่างถาวรนั้นตั้งไม่ได้"

นายกฯ กล่าวต่อไปว่า เขาหนักใจจริงๆ ที่ต้องบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะกับคนยากจน แต่ทุกอย่างต้องมีกติกา ถ้าไม่มีกติกาบ้านเมืองนี้อยู่ไม่ได้ ขอให้เข้าใจและเห็นใจ ถ้าเราจะเอาชนะคะคานในเรื่องที่ไม่มีเหตุผล มันไม่ได้หรอก ไม่เช่นนั้น ไม่รู้ว่าจะมีรัฐบาลทำไม ก็ไม่ต้องมีรัฐบาลแล้วอย่างนั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลหรือไม่อาจจะเกิดเหตุการณ์รุนแรง เขากล่าวว่า ไม่เป็นไร ทุกอย่างมีขอบข่าย มีกฎหมาย ถ้ารุนแรงและถูกกระทำรุนแรง จะมาอ้างเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ได้ อันนี้เป็นเรื่องที่ถ้าไม่บังคับใช้กฎหมายอีกหน่อยใครอยากจะตั้ง หรือคนไหนมาตั้งหมู่บ้านกลางถนนราชดำเนินก็คงทำได้

พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวต่อว่า การชุมนุมในครั้งแรก เราต้องใช้หลักมนุษยธรรมและเมตตาธรรม แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งมันเกินขีดแล้ว ก็ต้องบังคับใช้กฎหมาย ตอนแรกเราถือว่า เขาเป็นผู้เดือดร้อน เราก็ต้องเข้าไปดูแลเขาด้วยหลักเมตตาธรรม เมื่อรัฐบาลตัดสินใจแล้ว ก็ต้องกลับไปอยู่ในกติกาของบ้านเมือง มันจะเกิดความสับสนวุ่นวายในประเทศแน่นอน

"ถ้าจะสร้างบ้านถาวร ก็ได้รื้อแน่นอน ไม่งั้นประเทศอยู่ไม่ได้ ไม่มีทางถ้าปล่อยไว้อย่างนี้ เราก็ไม่รู้ว่าจะเป็นนายกฯ ไปทำไม เลือกรัฐบาลมาทำไม คน 20-30 ล้านคนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เลือกรัฐบาลเข้ามา พอเลือกเสร็จแล้วบอกว่า รัฐบาลไม่มีหน้าที่ เพราะว่ามีกลุ่มคนอยากจะสร้างบ้านอยู่กลางเมือง มันไม่ได้หรอก เราอย่าไปขึ้นป้ายเป็นภาษาอังกฤษ ให้เขาเห็นใจ มันไม่ใช่ เราไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของใคร"

ผู้สื่อข่าวถามว่า สถานการณ์เช่นนี้ เกรงว่าปัญหาจะไม่ยุติ นายกฯ กล่าวว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร ก็ต้องว่ากันตามกติกา

"บางครั้งผมพูดตรงๆ สั่งการอะไร ที่ไปกระทบกับใคร ถึงแม้ว่าเขาจะผิด เราก็มีความรู้สึกที่ไม่ค่อยสบายใจ แต่ก็ต้องทำ เหมือนกับคนเราบางครั้งที่ต้องตีลูก ทั้งๆ ที่ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากตีลูก แต่ถ้าลูกทำผิด มันไม่ได้ ถ้าไม่ตีก็เหมือนไม่รักลูก และลูกคนอื่นอาจจะเรียนแบบว่า ถ้าทำตัวไม่ดีแล้ว พ่อแม่ก็ไม่เห็นว่าอะไร อย่างนี้มันไม่มีกติกา"

ส่วนจะให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไหน เข้าไปดูแลในเรื่องการก่อตั้งบ้านถาวรของผู้ชุมนุมเป็นพิเศษ นายกฯ กล่าวว่า ทุกคนที่ถือกฎหมายอยู่แล้ว ถ้าไม่บังคับใช้กฎหมาย คนนั้นก็มีปัญหาเอง เขาไม่ต้องไปบอก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บ่ายวันเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ได้เรียกพล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ นิลคูหา ผบช.น. เข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาล โดยคาดว่าเป็นการหารือเรื่องการชุมนุมของกลุ่มสมัชชาคนจน และชาวปากมูล ที่อาจเข้าข่ายผิดพ.ร.บ.จราจร

พงศ์เทพชี้ข้อมูลสำนักงานสถิติแค่ส่วนย่อย

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.พลังงาน กล่าวถึงปัญหาเขื่อนปากมูล ที่ชาวปากมูลไม่ยอมรับข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ว่า ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ ครม.ใช้ประกอบการตัดสินใจ ปัญหาเรื่องปากมูลตอนนี้ ต้องถือว่า ครม.มีมติ และเรื่องได้ยุติไปแล้ว จะไม่มีการทบทวนอีก

ซึ่งในวันที่ 21-22 ม.ค. นี้ เขาเรียกประชุมหน่วยงาน กฟผ.กรมชลประทาน และกรมประมง เพื่อพิจารณาแนวทางการปฏิบัติตามมติ ครม. ที่จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในเรื่องการทำคลองส่งน้ำ ด้านชลประทาน การส่งเสริมการประมง ที่ต้องทำให้ชาวบ้าน ซึ่งคุ้นเคยกับการทำประมงน้ำตื้น ให้สามารถทำประมงน้ำลึกได้ รวมถึงการเพิ่มปริมาณพันธุ์ปลาในแม่น้ำ เพื่อให้ผู้ประกอบอาชีพประมงมีรายได้เพิ่มขึ้น

เรียกร้องให้กลับบ้านรอรัฐส่งเสริมอาชีพ

ส่วนกรณีที่ชาวบ้านยืนยันจะเคลื่อนไหว และจัดตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนอย่างถาวร บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลนั้น นายพงศ์เทพ กล่าวว่า คงบอกได้อย่างหนึ่งว่า มติครม. ที่มีมาตรการต่างๆ ในการช่วยเหลือชาวบ้าน ไม่ใช่เฉพาะชาวบ้านที่มาชุมนุมเรียกร้องเท่านั้น แต่รัฐบาลช่วยเหลือชาวบ้านทั้งหมด ที่อยู่ในบริเวณนั้น โดยใครที่เดือดร้อนจากโครงการเขื่อนปากมูล ก็สามารถได้รับประโยชน์จากมาตรการต่างๆ ที่ครม.มีมติไว้

"ผมบอกได้ว่า ระหว่างคนที่ทำมาหากิน กับคนที่อยู่เฉยๆ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า คนที่ทำมาหากินคงจะมีรายได้มากกว่า ดังนั้น จึงอยากสนับสนุนว่า ให้ผู้ชุมนุมกลับไปประกอบอาชีพ และรัฐบาลจะส่งเสริมให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะดีกว่าการจะมาอยู่เฉยๆ แล้วไม่มีรายได้อะไร" นายพงศ์เทพ กล่าว

เปิดหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนข้างก.พ.

ทางด้านกลุ่มชาวบ้านปากมูลได้เปิดหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน อย่างเป็นทางการแล้ว ที่ข้างสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) โดยมีขบวนกลองยาวอย่างสนุกสนาน และเปิดโรงเรียน ร้านจำหน่ายข้าวของ บริการตัดผม นวดแผนโบราณ พร้อมกับออกแถลงการณ์บ้านคนจน เป็นสัญลักษณ์ทวงถามสัญญาประชาคมจากนายกรัฐมนตรี

นายบัณฑร อ่อนดำ นักวิชาการอิสระ ซึ่งเป็นประธานในพิธีเปิดหมู่บ้าน ได้นำคณะช่างภาพ สื่อมวลชน เข้าเยี่ยมชมบรรยากาศภายในหมู่บ้าน ซึ่งได้มีการจัดตั้งโรงเรียนเพื่อทำการสอนลูกสมัชชาคนจน ร้านจำหน่ายเครื่องใช้เท่าที่จำเป็น รวมทั้งมีการเปิดบริการรับตัดผม และนวดแผนโบราณอีกด้วย

ตัวแทนชาวบ้านได้อ่านแถลงการณ์ โดยมีเนื้อหาระบุว่า ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี ที่ผ่านมา ของรัฐบาลทักษิณ ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาคนจนตามที่ได้มีสัญญาประชาคมไว้ ดังนั้นจากกรณีเขื่อนปากมูลชาวบ้านได้รวบรวมกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาประเทศผิดพลาดทั้ง 7 เครือข่าย คือ เครือข่ายปัญหาที่ดิน เครือข่ายปัญหาป่าไม้ เครือข่ายปัญหาเขื่อน เครือข่ายปัญหาสลัม เครือข่ายปัญหาผู้ป่วยจากการทำงาน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและเครือข่ายประมงพื้นบ้าน ทั้งหมด 205 กรณีปัญหา

ในนามสมัชชาคนจน ประกาศจัดตั้งหมู่บ้านคนจนแม่มูนมั่นยืน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการทวงถามสัญญาประชาคมที่นายกฯ เคยได้ให้ไว้ และหมู่บ้านนี้จะเป็นศูนย์กลางในการนำเสนอวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ และผลกระทบที่ได้จากการพัฒนาโครงการของรัฐ ให้ชาวกรุงเทพฯ ได้เข้าใจ

น.ส.วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กล่าวถึงการตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนว่า เป็นการรวมตัวให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อต่อสู้ด้วยสันติ และจะรณรงค์ให้ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ เข้าใจปัญหา และร่วมกันเป็นพยานในการตัดสินใจที่ผิดพลาดของรัฐบาลด้วย แต่จะไม่ใช่ลักษณะการปลูกที่อยู่อาศัยอย่างถาวร

"สิ่งหนึ่งที่สมัชชาคนจนมีความวิตกคือ กรณีที่รัฐบาลใช้กลไกของรัฐผ่านทางหัวคะแนนและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมทั้งข้าราชการปกครองท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน ไปปลุกระดมชาวบ้านมาโจมตีกลุ่มสมัชชาคนจน ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าจะเกิดความรุนแรงขึ้น" น.ส.วนิดา กล่าว

ด้าน นายจรัล ดิษฐาภิชัย กรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงการจัดตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนของสมัชชาคนจนที่บริเวณด้านข้างสำนักงานก.พ.ว่า รัฐบาลไม่มีสิทธิที่จะเอาผิดกับชาวบ้าน นอกเสียจากชาวบ้านจะไปทำอะไรที่ผิด เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 ได้ให้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของประชาชน และตราบใดที่ยังไม่ประกาศภาวะฉุกเฉิน รัฐบาลก็ไม่สามารถทำอะไรได้

"การจัดตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนในครั้งนี้ เป็นเพียงรูปแบบการชุมนุมอย่างหนึ่ง ซึ่งคิดว่าไม่มีใครตั้งใจที่จะตั้งรกรากหรือทำมาหากินเป็นการถาวร ดังนั้นรัฐบาลไม่ควรวิตก" นายจรัล กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันเดียวกันนี้ศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 6 สำนักงานอนามัยกรุงเทพมหานครได้ส่งทีมพยาบาลมายังบริเวณที่ชุมนุมเพื่อทำการหยอดยาวัคซีนป้องกัน โรคโปลิโอให้กับลูกหลานสมัชชาคนจนซึ่งเป็นโครงการรณรงค์ป้องกันเชื้อโปลิโอของกระทรวงสาธารณสุข

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา