eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

"บัณฑร อ่อนดำ" นำทางแก้ปากมูล   รัฐบาลจริงใจ-กฟผ.ไม่ใช่เจ้าของ

ข่าวสด   25 มิถุนายน 2543

เรื่อง / ภาพ - ศรีนิตย์ ศรีอาภรณ์

 

ระหว่างที่ปัญหาเขื่อนปากมูล กลายเป็นประเด็นร้อนของประเทศ เกิดการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายปกครอง กฟผ. และ ชาวบ้านในนามสมัชชาคนจน

ชื่อของนักวิชาการอิสระ วัย 65 ปี อาจารย์บัณฑร อ่อนดำ จากมูลนิธิวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเอเชีย ก็ได้รับการเสนอ ให้เข้ามาเป็นคนกลางเพื่อไกล่เกลี่ยปัญหา

กระทั่งได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลให้เป็นประธานคณะกรรมการกลางเพื่อแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน ซึ่งมีเขื่อนปาก มูลเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญ

ประธานคณะกรรมการกลางเพื่อแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน พร้อมด้วยคณะกรรมการได้ลงมือทำงานอย่างมุ่งมั่น ทุ่มเทมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ความรู้สึกเป็นอย่างไร 'ข่าวสดหรรษา' ได้รับโอกาสจาก อาจารย์บัณฑร อ่อนดำ ที่สละ เวลาเปิดใจให้ฟังดังนี้

ถาม - ความรู้สึกที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าร่วมเป็นกรรมการกลางแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจนครั้งนี้

อ.บัณฑร - ความเป็นมาเรื่องนี้เกิดจากการที่คณะส.ว.ลงมาดูพื้นที่และรับฟังปัญหาจากชาวบ้าน ระหว่างที่มีข่าวเรื่อง การปราบผู้ชุมนุม

คุณโสภณ สุภาพงษ์ ส.ว.กทม. ได้เสนอชื่อผมเข้ามาทำงานประสานงานระหว่างภาครัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาการเผชิญ หน้า ความไม่ไว้วางใจต่อกันในทั้งสองฝ่าย เพราะเกรงเหตุการณ์จะวิกฤต นำไปสู่การเปิดเวที 3 ฝ่ายเจรจากันที่ศูนย์ ฝึกอบรมสาธารณสุขอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

โดยผมได้รับหน้าที่เป็นประธานดำเนินการประชุมรับฟังความทุกข์จากทุกฝ่าย สร้างบรรยากาศที่ดีและความเข้าใจ เกิดขึ้น ทุกฝ่ายก็เห็นตรงกันว่าทุกข์ของแต่ละฝ่ายที่มีมันแก้เองไม่ได้ ต้องให้ข้างบนซึ่งคือรัฐบาลเป็นผู้แก้

ได้ข้อเสนอว่าจะต้องมีคณะกรรมการกลางเข้ามาดูแลปัญหานี้ กระทั่งเกิดเหตุสมัชชาคนจนบุกเข้าทำเนียบเมื่อคืน วันที่ 28 พฤษภาคม เราก็เกรงว่าจะเป็นเหตุอ้างว่าทางสมัชชาคนจนหักหลังแล้วปราบชาวบ้านอีก แต่ด้วยเงื่อนไขการ ต่อรองเป็นไปด้วยดีนำไปสู่การออกคำสั่งของนายบัญญัติ บรรทัดฐาน รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ยืนยันไม่มีการ ทำร้ายประชาชนและความตั้งใจในการตั้งกรรมการกลางมาแก้ไขปัญหา

ตอนนั้นเราก็คิดอยู่ ว่าในฐานะที่เราเป็นแอ๊กติวิสต์ ทำงานตอบสนองสคจ. (สมัชชาคนจน) โดยเป็นที่ปรึกษาอยู่ อีกทั้ง บทบาทของนักวิชาการติดดิน ทำงานอยู่กับองค์กรชาวบ้านระดับฐานราก เราก็เชื่อว่าที่สคจ.เสนอชื่อเราให้มาเข้าร่วม เป็นกรรมการ เพราะอยากให้เรามาเป็นเสียงที่คอยปกป้องประโยชน์ของชาวบ้าน ทำอย่างไรที่จะแก้ไขปัญหาของ พวกเขาได้

ในทางส่วนตัวผมมองว่ากรรมการที่มาต้องเห็นใจคนจน รู้สถานการณ์ คลุกคลีกับเรื่องนี้ สามารถนำเสนอปัญหา เดิม การเสนอรายชื่อคณะกรรมการกลางของสคจ.ครั้งแรก มีชื่อพี่ทองใบ ทองเปาด์ ส.ว.มหาสารคาม ทนายความแมก ไซไซ รับหน้าที่ประธานคณะกรรมการ ซึ่งถือว่าเยี่ยมมากที่อย่างน้อยมีนักกฎหมาย มีนักวิชาการหลากหลายสาขา เป็นผู้สนับสนุนข้อมูล นักแอ๊กติวิสต์ที่เชื่อมโยงกับประชาชน เข้ามาทำงานร่วมกัน

สำหรับผมแม้จะเรียนทางด้านรัฐศาสตร์มาแต่กลับไม่ค่อยสนใจ ถนัดในทางประสานงานกับภาคประชาชน คือเป็น บทบาทนักพัฒนาเต็มตัว เตรียมประชาชนให้ต่อสู้ เรียกว่า 'โซเชี่ยล เอ็นจิเนียร์' แต่ภายหลังรูปแบบของคณะกรรม การกลางที่ออกมาระบุว่ากรรมการ 10 คนมาจากชื่อที่สคจ.เสนอมา 5 คน รัฐบาลเสนอมาอีก 5 คน เมื่อได้เห็นรายชื่อก็ คิดว่าดี สมบูรณ์ที่มีหลากหลายสาขา โครงสร้างที่ออกมาก็ดูเท่าเทียมกัน

ถาม - ความรู้สึกที่ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการกลาง

อ.บัณฑร - ตอนที่มีชื่อในคำสั่งแต่งตั้งออกมายังไม่ทราบว่าใครจะรับหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการกลางชุดนี้ อย่างไรก็ตามจากการประชุมในนัดแรกวันที่ 7 มิถุนาฯ เดิมตามโผคิดแบบการเมืองเชื่อว่าอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ กรรมการที่ฝ่ายรัฐบาลเสนอมาจะรับหน้าที่ประธานเชื่อมให้มีการสั่งการเกิดขึ้นได้

กลายเป็นว่าอาจารย์เอนกกลับเสนอให้ผมเป็นประธานของคณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งกรรมการทุกคนก็เห็นดีด้วยไม่มี เสียงคัดค้าน ท
ั้งที่เดิมเราอยากเป็นแค่กรรมการจะได้เสนอข้อมูลได้เต็มที่ หรือถ้าจะมีตำแหน่งก็ขอเป็นเพียงแค่เลขา นุการที่ประชุม

จนมีการแต่งตั้งผมก็แปลกใจที่รัฐบาลยอมรับ เพราะปกติแล้วจุดยืนของตัวเองนั้นชัดเจนเกินไป ในวงราชการหรือ นักวิชาการต่างก็ไม่ยอมรับบทบาทของผม เพราะที่เล่าเรียนมาทางด้านรัฐศาสตร์ก็ไม่ได้ไปเอาดีในการเป็นผู้ว่าฯ นายอำเภอ เหมือนกับเพื่อนในรุ่นเดียวกัน ในวงวิชาการก็ลงไปทำงานกับชาวบ้านเป็นเหมือนเอ็นจีโอมากกว่า

ถาม - อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้เป็นอย่างไร ขนาดไหน

อ.บัณฑร - เรารู้มาแต่แรกแล้วว่าคณะกรรมการไม่มีอำนาจอะไร แต่ที่เข้ามาทำ

งานส่วนหนึ่งเราคาดหวังว่า เพราะเราไม่อยากให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่าง 2 ฝ่าย กรณีเขื่อนปากมูลเป็นหลัก

นอกจากนี้เรามองเรื่องขององค์ความรู้จากการแก้ไขปัญหาระยะยาว ด้วยเหตุผลที่อยากช่วยต่อจากสิ่งที่ ส.ว. แสดง ความเป็นห่วงในปัญหาที่เกิดขึ้น โดยรับหน้าที่เป็นกรรมการเพื่อดึงข้อมูลเรื่องปากมูลมาเปิดเผย

และภายหลังจากการเข้ามาเป็นกรรมการแล้วเราอยากให้ส่วนกลางเข้ามารับผิดชอบ รัฐบาลโดยเฉพาะนักการเมือง จะปฏิเสธความรับผิดชอบ โดยให้กฟผ.หรือจังหวัดทำไม่ได้

ท้ายที่สุดหากไม่มีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหานี้ เราคงต้องใช้อำนาจทางสังคม นำข้อมูลออกมาเปิดเผยตรงนั้นสังคม ก็จะเคลื่อนจากที่รับข้อมูลข้อเท็จจริงตรงนี้

ถาม - ประชุมคณะกรรมการกลางมาแล้ว 3 ครั้ง พอใจแค่ไหน

อาจารย์บัณฑร - การประชุมคณะกรรมการกลางครั้งแรกที่ได้มา คือทำให้เกิดคำสั่งจากนายบัญญัติที่ให้ทุกฝ่ายยุติ กิจกรรมใดๆ ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งและการเผชิญหน้ากัน เพื่อให้บรรยากาศการทำงานหาข้อสรุปเป็นไปอย่าง

ราบรื่น

ตรงนี้เป็นเรื่องความปลอดภัยที่เกิดขึ้น เราเดินเรื่องจนเป็นตัวคำสั่งออกมาชัดเจน อย่างไรก็ตามข้อผิดพลาดหนึ่งจาก การทำงานคือการประชุมครั้งแรก เราแถลงแต่ไม่มีการทำหนังสืออย่างเป็นทางการเสนอต่อรัฐบาล ครั้งแรกกรรมการก็ เสนอความเห็นว่าน่าจะเปิดประตูระบายน้ำของเขื่อนปากมูล โดยสมมติฐานที่จะให้มีการทดสอบผลกระทบที่เกิดขึ้น ปรากฏว่ามีปฏิกิริยาออกมาจากระดับล่างว่า กฟผ.ขู่จะดำเนินการกับชาวบ้านวันที่ 15 มิถุนาฯ

ตรงนี้มีแต่คนของฝ่ายกฟผ. จังหวัด และส่วนราชการไม่เอาด้วย นำไปสู่การประชุมคณะกรรมการในครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 12 มิถุนาฯ ที่เราเรียกตัวแทนจากกฟผ. และชาวบ้านมาให้ข้อมูล ครั้งนั้นเราซักกันมาก โดยยังคงยืนยันตามมติว่ากรณี ปากมูลต้องเปิดประตูระบายน้ำของเขื่อนทั้ง 8 บาน เพื่อให้ปลาขึ้นไปวางไข่หลังจากที่โยนหินถามทางในการประชุม ครั้งแรก

จากนั้นเราทำหนังสือถึงนายบัญญัติ และกับการประชุมกรรมการครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 21 มิถุนาฯ เรารับฟังข้อมูลเพื่อหา แนวทางสำหรับการแก้ไขปัญหาระยะกลางและระยะยาวกรณี 15 ปัญหา และเร่งสรุปเรื่องการตั้งคณะกรรมการเปิด เขื่อนโดยเฉพาะ กรณีปากมูลซึ่งอยู่ในรูปเฉพาะกิจ เปลี่ยนโครงสร้างให้ผู้ว่าฯเป็นประธานเพื่อการสั่งการ มีโครง สร้างชัดเจนเป็นกรอบไว้

เราจะตามไปชี้แจงด้วยภายหลังจากทำหนังสือให้รัฐบาลใช้อำนาจสั่งการตั้งคณะกรรมการเปิดเขื่อนชุดนี้ ไม่ต้องห่วง ในเรื่องที่เกรงว่ากรรมการที่มาทำงานจะได้คนที่ไม่เหมาะสม เพราะส่วนของคณะกรรมการกลางวางแผนแก้เกมส่วน นี้ไว้

ส่วนการประชุมในวันที่ 29 มิถุนาฯ ซึ่งคาดว่าจะเป็นนัดสุดท้ายก็จะนำเสนอทางแก้ไขปัญหาทั้งระยะกลางและระยะ ยาว โครงสร้างทั้งหมดจะออกมาหมด อย่างไรก็ตามช่วงระยะเวลาที่เหลืออยู่ หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ คณะ กรรมการกลางคงไม่ขอต่อเวลาการทำงาน เราไม่อยากอยู่นาน

เมื่อเสนอรูปธรรมไปแล้วถ้ารัฐไม่นำไปปฏิบัติก็ช่วยไม่ได้ เราจะใช้พลังทางสังคมกดดันจากข้อมูลที่ไหลออกมา อย่างน้อยสังคมก็ได้รับทราบข้อมูลรอบด้าน หูตาสว่าง ไม่ตัดสินใจผิดอย่างเช่นอดีต ที่พิพากษาจากข้อมูลที่เอียง กระเท่เร่

ในทางนามธรรมคนมองสมัชชาคนจนในทางที่ดี ไม่ใช่คิดว่าเป็นผู้ร้าย แต่ถ้ามองจากนามธรรมจากวัตถุมันตีค่าออกมา ไม่ได้ในรูปใดๆ

ถาม - ที่ผ่านมาปัญหาสำคัญที่เกิดกับการทำงานของคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่รัฐบาลตั้งขึ้นก็คือ ไม่มีการทำงานอย่าง ต่อเนื่องให้เป็นรูปธรรม

อ.บัณฑร - เราต้องมองในระยะสั้นก่อนว่าเรื่องการเปิดเขื่อนนั้นต้องใช้กระบวนการพูดคุยกันในเบื้องต้น เพื่อหาทาง ออกคลี่คลายไปในทางที่ดี โดยมีฝ่ายรัฐเข้ามาดูแลปัญหานี้

ส่วนในระยะยาวนั้นรัฐบาลจะต้องเปลี่ยนแปลงนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายด้านการพัฒนาของรัฐที่ก่อให้เกิดปัญหา และผลกระทบตามมา ส่วนในรายละเอียดที่คงนำไปพูดคุยในการประชุมของคณะกรรมการกลางเพื่อแก้ไขปัญหา ระยะยาวครั้งหน้าก็คือ รูปของคณะกรรมการพหุภาคีที่ต้องประกอบด้วยฝ่ายราชการ ชาวบ้าน นักวิชาการ จากสถาบัน การศึกษาที่จะเข้ามาร่วมตรวจสอบและศึกษาผลกระทบจากการสร้างเขื่อน

และการทำงานของคณะกรรมการชุดที่จะนำเสนอนี้จะต้องไม่ผูกโยงกับการเมืองอย่างที่ผ่านมา มีข้าราชการเป็น ตัวหลัก โดยอาจจะเป็นปลัดกระทรวงเพื่อให้ผลการทำงานเป็นไปอย่างต่อเนื่องถาวร มีมติครม.รับรองว่าล้มไม่ได้ รัฐเป็นผู้จัดหางบประมาณการทำงาน

ถาม - มองสภาพปัญหาการจัดการทรัพยากรของบ้านเราเป็นอย่างไร

อ.บัณฑร - ผมมองว่าจากนี้ไปเรื่องการจัดการทรัพยากร จะปล่อยให้รัฐหรือธุรกิจเป็นคนจัดการฝ่ายเดียวไม่ได้ ชาวบ้าน หรือแม้แต่เอ็นจีโอจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในรูปของประชาสังคม รวมทั้งเขื่อนที่จะสร้างต่อไปหรือแม้กระ ทั่งเขื่อนที่สร้างขึ้นมาแล้วก็ตาม

กรณีปากมูลชัดเจนว่ากฟผ.แสดงความเป็นเจ้าของ ด้วยความคิดที่ว่า ประชาชนไม่เกี่ยว แต่อยากถามว่าแล้วเงินที่นำมา สร้างตรงนั้นเป็นของใคร ก็ประชาชน แต่ชาวบ้านกลับอยู่ตรงนั้นไม่ได้

นอกจากนี้กรณีของเขื่อนราษีไศล ที่เดิมระบุว่า จะสร้างเป็นเขื่อนยางลอยน้ำ แต่ที่สุดก็เปลี่ยนแบบเป็นคอนกรีต และ ยังมีความสูงกว่าเดิม ด้วยข้ออ้างว่า คุ้มทุน แต่ชาวบ้านที่อยู่ตรงนั้นไม่ได้รับทราบเรื่องเลย ทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นผู้ได้รับ ผลกระทบ

และจุดมุ่งหมายหนึ่งที่อ้างว่าต้องการสร้างเขื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเค็มหากมีปริมาณน้ำเยอะมาผลักดัน แต่มันก็ไม่ เป็นไปตามวัตถุประสงค์เพราะคิดแค่เชิงเดียว

ประธานคณะกรรมการกลาง กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า "เราเชื่อมั่นเรื่องการที่จะเอาชนะธรรมชาติ โดยไม่นึกถึงการก้าวไปกับ ธรรมชาติ ทำให้ที่ผ่านมาเราจึงมีปัญหาการจัดการเรื่องนี้"

"โดยเฉพาะปัญหาเขื่อน"

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา