eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

'เสกสรรค์'นำ'ปxป'ย้ำ รับมือยุบสภา กระตุ้นคนไทยอย่าดูดาย

ห่วงรบ.ใหม่แก้'วิกฤต'ไม่ได้ คนจนหวัง'ชวน'ฟัง'แม่ถ้วน'

มติชน 28 ส.ค. 2543

'ปxป'เปิดเวทีสาธารณะ หาความหวังหลังยุบสภา นักวิชาการประสานเสียง เรียกร้องประชาชนมีส่วนร่วม กำหนด นโยบาย-ตรวจสอบรัฐ 'เกษียร'ระบุรัฐบาลไม่ใช่ปูชนียสถาน ละเมิดชาวบ้านต้องไล่ออก ออกแถลงการณ์ประชาชน ต้องเป็นฝ่ายรุก สมัชชาคนจนปรับกลยุทธ์ สัปดาห์หน้าเริ่มเดินสายให้ข้อมูล ด้านตัวแทนม็อบที่เดินไปตรังเดินทาง กลับกรุงแล้ว ฝากความหวัง'ชวน'ฟัง'แม่ถ้วน'

 

ปXป อภิปรายสาธารณะ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 27 สิงหาคม ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มประชาธิปไตย เพื่อประชาชน(ปxป) จัดอภิปรายสาธารณะหัวข้อ "ความหวังหลังยุบสภา รัฐบาลแบบไหนที่คนไทยต้องการ นโยบายแบบไหนที่ประเทศไทยต้องมี" ผู้อภิปรายประกอบด้วย นายรังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ อาจารย์คณะเศรษฐ ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ส.ว.นครราชสีมา และนายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ประธานกลุ่ม ปxป โดยผู้ร่วมอภิปรายทั้ง หมดมีความเห็นทางเดียวกันคือต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนด นโยบายการบริหารประเทศ และ ให้ประชาชนมีอำนาจเสนอกฎหมายและถอดถอนรัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูงที่ทุจริต

โดยนายรังสรรค์กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลชวนไม่เคยเอื้อคนจน แต่มีขันติธรรมต่อการฉ้อราษฎร์บังหลวง ขณะนี้ สังคมไทยในปัจจุบันประกอบด้วย 2 ส่วนคือ 1.โลกานุวัฒน์พัฒนาหรือฉันทามติแห่งวอชิงตัน ที่ต้องการนำเศรษฐ กิจไทยเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก 2.ยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นพัฒนาหรือฉันทามติแห่งกรุงเทพ เน้นการพึ่งพา ตนเอง ผลิตเพื่อยังชีพ

นายรังสรรค์กล่าวอีกว่า ประชาชนต้องตัดสินใจว่าต้องการรัฐบาลเดินเส้นทางเดิมหรือไม่ หรือจะเลือกฉันทามติ กรุงเทพซึ่งเป็นแนวทางใหม่ ทั้งนี้ถ้าประชาชนยังคงเดินทางเดิมอยู่แนวทางฉันทามติกรุงเทพเป็นไปไม่ได้แน่ นอน เพราะอำนาจยังอยู่กับชนชั้นปกครองและนายทุน

นายรังสรรค์กล่าวต่อว่า เราจะเปลี่ยนแปลงมาเป็นฉันทามติแห่งกรุงเทพได้สำเร็จหรือไม่ต้อง กลับมาพิจารณา กระบวนการกำหนด นโยบายเศรษฐกิจ  เพราะที่ผ่านมากลุ่มชนชั้นปกครองและนายทุน ไม่ทำให้เกิดประโยชน์กับ ชนกลุ่มใหญ่ แต่ทำให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มตัวเองเท่านั้น ฉะนั้นจึงตั้งข้อสังเกตได้ คือไม่มีความเป็นกลาง อคติ ให้ประโยชน์กับเศรษฐกิจภาคใดภาคหนึ่งโดยเฉพาะ ดังนั้นเราต้องหาทางกำจัดอคติ คิดว่ารัฐธรรมนูญใหม่ มี กลไกให้ประชาชนกำหนดนโยบายมากกว่าเดิมขึ้นอยู่กับว่าประชาชนจะเข้าร่วมหรือไม่ ที่ผ่านมาผลกระทบที่เกิด กับประชาชนเพราะพ่อค้านายทุนเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่าประชาชน

"และเราควรตระหนักด้วยว่าจะทำอย่างไรให้เกิดกระบวนการยอมรับผิด ดังนั้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 304  ที่ให้ ประชาชน 50,000 คนสอบสวนผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองว่าทุจริตและประพฤติมิชอบหรือไม่ เราจึงต้องตั้งองค์กร ประชาชนเพื่อตรวจสอบรัฐบาลและข้าราชการระดับสูงที่ทุจริต" นายรังสรรค์กล่าว

รัฐบาลไม่ใช่ปูชนียสถาน

ด้านนายเกษียรกล่าวว่า รัฐบาลที่คนไทยต้องการคือ "รัฐบาลแนวร่วมประชาชาติเพื่อกู้ชาติ" นโยบายที่ประชาชน ต้องการคือ 1.กอบกู้อำนาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจและสาธารณะ 2.จัดสรรทรัพยากรเพื่อตลาดในประเทศ ไม่ใช่การ เปิดแบบเสรี 3.เปลี่ยนการใช้อำนาจรัฐแบบศิวิไลซ์มาเป็นของประชาชนให้และเปิดโอกาสให้ประชาชน มีส่วนร่วม ถ้ากลไกรัฐล่วงละเมิดประชาชนควรมีมาตรการตามรัฐธรรมนูญไล่ออกไป รัฐไม่ใช่ปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์  แต่สิ่งที่ ตระหนักก็คือ รัฐบาลแบบที่ตนกล่าวมาไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เพราะในการเลือกตั้งจะมีแต่รัฐบาลผสม มีการปกครอง ของชนชั้นนำ ตลอดจนกลุ่มนายทุน แต่ไม่มีชนชั้นกลางและชั้นล่างเข้าไปเลย ฉะนั้นไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็น รัฐบาลเราต้องกดดันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้นโยบายที่เราปรารถนา

"เราเหมือนเสียอธิปไตยให้กับกลุ่มทุนไปแล้ว แต่คนไม่ค่อยพูดถึง อย่างไรก็ตามประเด็นที่สำคัญอีกทางหนึ่งคือ เมื่อเราสามารถทำให้ประเทศอยู่ในสังคมโลกาภิวัตน์ลดลงแล้วเราจัดการต่อไปอย่างไรเพื่อนำสิ่งที่มีอยู่มา ใช้ป้อง กัน และรับใช้ตัวเอง" นายเกษียรกล่าว

ด้านนายไกรศักดิ์กล่าวว่า แม้ทุกวันนี้กลุ่ม ปxป จะเกิดขึ้นในรัฐบาลประชาธิปไตย แต่ประพฤติตัวเหมือนเผด็จการ นายชวน หลีกภัย และพล.อ.สุจินดา คราประยูร มีวิธีในการดูแลกลุ่มม็อบเหมือนกัน คือไม่ยอมมองที่ปัญหาจริงๆ ไม่กี่ปีที่ผ่านมามีเศรษฐีเพิ่มขึ้นจำนวนมาก มีการอนุญาตให้ลงทุนในภาครัฐอย่างบ้าระห่ำ ถือเป็นแหล่งฉ้อราษฎร์ บังหลวงที่ใหญ่ที่สุด แต่ก็อยู่เหนือการตรวจสอบ ดังนั้นเราต้องตรวจสอบ ด้านอุตสาหกรรมนายทุนมักจะเกร็ง กำไรในรูปอสังหาริมทรัพย์ เช่น การสนับสนุนให้กู้เฉพาะคนที่มีทุนหนา ส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างมาก

สำหรับวิธีแก้ไขปัญหาต้องดูทีละเรื่อง และผลักดันเป็นเรื่องๆ ไป เช่น การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  ยอมรับว่า ก้าวหน้าที่สุด แม้จะบกพร่องบ้าง

'ปXป'รับซักถามนักการเมือง

นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ประธานกลุ่ม ปxป กล่าวสรุปว่า ในแง่ข้อสรุปพบว่าแต่ละคนมีความเห็นคล้ายๆ กัน คือ ถ้าอยากได้นโยบายที่แก้ไขปัญหาประเทศชาติได้ คือ ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย โดย ผลักดันให้มีกระแสสังคมที่ว่า นโยบายที่ดีแก้ไขปัญหาประเทศได้อย่างแท้จริง พรรคการเมืองและนักการเมืองควร ปฏิบัติและขานรับ เพราะถ้าประชาชนไม่มีบทบาทแล้ว ผู้อภิปรายทุกคนมีความคิดคล้ายกันว่าความหวังที่จะได้ นโยบายที่สมดุลเป็นผลต่อประเทศอาจจะไม่เกิดขึ้น

นายเสกสรรค์กล่าวว่า เรื่องการยุบสภาที่ผ่านมา กลุ่ม ปxปเห็นว่าควรยุบสภาโดยเร็วที่สุด แต่ไม่ใช่การขับไล่ ตอนนี้ ยังยืนยันเหมือนเดิมว่าควรยุบสภา เพื่อให้เกิดการขยับเคลื่อนของระบบการเมืองไปข้างหน้า

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการเปิดเวทีให้นักการเมืองมารับทราบความคิดเห็นของประชาชนหรือไม่  นายเสกสรรค์ กล่าวว่า ทางฝ่าย ปxป ยินดีที่จะจัดเวทีให้ประชาชนซักถามจุดยืนของนักการเมืองอาชีพหรือผู้นำพรรคการเมือง แต่ทั้งนี้ยังไม่เคยจัดมาก่อน และยังไม่เคยติดต่อมาก่อน จังยังตอบไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าต้อง การให้เกิดขึ้น ทาง ปxป พร้อมที่จะจัดบุคลากรมาซักถามนโยบายนักการเมืองที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งหน้า

ประชาชนต้องเป็นฝ่ายรุก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการจัดอภิปรายเสร็จสิ้นแล้ว กลุ่ม ปxป ออกแถลงการณ์ว่า เนื่องจากอีกไม่นานรัฐบาลชุด ปัจจุบันก็จะหมดวาระการทำงาน กระทั่งมีความเป็นไปได้อย่างสูงที่รัฐบาลอาจจะยุบสภาภายในเวลาไม่เกินสอง เดือนข้างหน้า ทางกลุ่มประชาธิปไตยเพื่อประชาชนมีความคิดเห็นว่านี่เป็นสถานการณ์ที่ประชาชนไม่ควรนิ่งเฉย ดูดาย

ทางกลุ่มมีทรรศนะว่าประชาชนเองก็ต้องเอาธุระในการกำหนดนโยบายแก้ปัญหาบ้านเมือง โดยเริ่มจากทำความ เข้าใจปัญหาของหมู่ตน และใช้สติปัญญารวมหมู่วางนโยบายที่อยากเห็นรัฐนำมาใช้กับวงการที่ตนสังกัด โดยไม่ ล่วงล้ำผลประโยชน์อันชอบธรรมของเพื่อร่วมชาติกลุ่มอื่นๆ  ถ้าหากมีผู้มีสิทธิลงคะแนนหมู่เหล่าต่างๆ สามารถ ทำเช่นนี้ได้ ก็จะเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นอันสำคัญยิ่งในการผลักดันให้พรรคการเมืองที่กำลัง หาเสียง หันมายอมรับ พันธะเชิงสร้างสรรค์ โดยตอบสนองความเรียกร้องต้องการอันชัดเจนของฝ่ายประชาชน

อย่าลืมว่าการปฏิรูปการเมืองมิได้เป็นเรื่องของการสร้างสถาบันการเมืองใหม่ๆ ไว้เป็นที่พึ่งเท่านั้น หากยังหมาย ถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเมืองของทุกฝ่ายให้รับผิดชอบต่อส่วนรวมมากขึ้น รวมทั้งพฤติกรรมของฝ่าย ประชาชน

นักวิชาการชี้ต้องแก้โครงสร้างสังคม

เมื่อเวลา 14.45 น. วันเดียวกันที่ หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 8 ถนนพระรามที่ 5 หน้าทำเนียบรัฐบาล สมัชชาคนจน จัดการสัมมนาในหัวข้อ "วิเคราะห์ 16 กรณีปัญหาสมัชชาคนจน ปัญหาเชิงโครงสร้าง" โดยมีนายบัณฑร อ่อนดำ ประธานคณะกรรมการกลางแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน นายพิภพ ธงไชย  ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อ ประชาธิปไตย(ครป.) นายจรัล ดิษฐาอภิชัย อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต  และนายสุธี ประศาสนเศรษฐ์ อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยวิทยากรส่วนใหญ่มีความเห็นว่า 16 กรณีปัญหาสมัชชาคนจนเป็นเพียงหนึ่งในหลายปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่กลไกข้าราชการแก้ปัญหาไม่ได้ ทั้งนี้เนื่องมาจาก มีการกำหนดโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจและการเมืองที่มีข้าราชการเป็นใหญ่เหนือประชาชน ภายใต้นักการเมืองและนักธุรกิจ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาคนจนให้ตรงจุด ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของ สังคม ซึ่งไม่ใช่การเปลี่ยนผู้บริหารประเทศ

นายสุธีกล่าวว่า การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างสำหรับประเทศไทยที่มีเกษตรกรเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนั้น ต้อง จัดการโครงสร้างการตลาด ปัจจัยการผลิต ให้เป็นธรรม พร้อมทั้งต้องเสริมส่วนที่เกี่ยวข้อง

"ในสังคมไทยขณะนี้คนชั้นกลาง และคนเมืองไม่เข้าใจปัญหาสมัชชาคนจน  สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ ระหว่างรัฐกับประชาชน ประชาชนไม่ได้รับความสนใจจากข้าราชการ เพราะข้าราชการทำงานรับใช้นักการเมือง และนักธุรกิจ แต่ไม่พัฒนาไปถึงรับใช้ประชาชน คนชั้นกลางและคนเมืองยังถูกหล่อหลอมความคิดโดยรัฐบาล ถูก ล้างสมองเพราะรัฐบาลครอบงำความคิด ดังนั้นการต่อสู้ของสมัชชาคนจนคือให้ข้อมูลกับคนชั้นกลาง คนในเมือง เพื่อให้เป็นข้อมูลในการเปรียบเทียบและตันสินใจ นอกจากนี้นี้ต้องจับกลุ่มเป็นเครือข่าย เคลื่อนไหวในเวลาที่ เหมาะสม ปัญหาจึงจะได้รับการแก้ไขตามที่ต้องการ" นายสุธีกล่าว

สัปดาห์หน้าม็อบปรับกลยุทธ์

น.ส.วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ แกนนำสมัชชาคนจน กล่าวว่า ในวันนี้สมัชชาคนจนได้เข้าร่วมในการสัมมนาของ กลุ่ม ปXป ด้วย เนื่องจากขณะนี้นักวิชาการกำลังพูดถึงการปฏิรูปโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ตนอยากให้ การเรียกร้องของสมัชชาคนจนเป็นบทเรียน เป็นกรณีศึกษาของสังคมที่จะหันมาทบทวนทิศทางการพัฒนา ใน สัปดาห์หน้าจะปรับแนวทาง โดยจะออกรณรงค์ให้ข้อมูลกับสังคมมากขึ้น โดยจะเข้าร่วมเวทีต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้มาติดต่อมาแล้วคือ จ.เชียงใหม่ และจังหวัดทางภาคตะวันออก

นายจาตุรนต์ ฉายแสง ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไม่แก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน เน้นแต่กฎหมายเป็นหลักไม่ เน้นปัญหาคนจน ส่วนเรื่องที่เข้าใจก็ยังบิดเบือนประวัติศาสตร์เหตุการณ์ความเป็นมา ท่าทีของรัฐบาลปล่อยปละ ละเลยปัญหา พยายามให้ผู้เดือดร้อนเป็นคนสร้างปัญหา ก่อความวุ่นวาย และจัดอยู่เป็นชนส่วนน้อย ทั้งๆ ที่ปัญหา คนจนเป็นปัญหาของคนส่วนใหญ่

คนจนฝากความหวังไว้ที่แม่ถ้วน

ที่ จ.ตรัง ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความเคลื่อนไหวของแกนนำสมัชชาคนจน จำนวน 9 คน นำโดย นายภักดี จันทะเจียด และนางไฮ้ ขันจันทรา ที่เดินทางมาจังหวัดตรังเพื่อเข้าพบนางถ้วน หลีกภัย มารดาของนายชวน  หลีกภัย นายก รัฐมนตรี ณ บ้านเลขที่ 183 ถ.วิเศษกุล อ.เมือง จ.ตรัง เพื่อนำปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาของรัฐ มาขอความเมตตาจากนายชวน  ผ่านทางแม่ถ้วน และนายกิจ หลีกภัย พี่ชายนายชวน ว่า ในช่วงเช้าแกนนำ สมัชชาคนจนได้อาศัยและใช้บ้านพักชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง เลขที่ 169/11 ถ.ตรัง-พัทลุง อ.เมือง เป็นที่ พักผ่อน โดยจะเดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยทางรถไฟในเย็นวันนี้

นายภักดีกล่าวว่า ก่อนที่ตนและแกนนำทุกคนจะเดินทางมา จ.ตรัง   มีความรู้สึกกลัวว่าจะไม่ได้รับการต้อนรับ จากประชาชน จ.ตรัง แต่คนตรังเข้าใจและให้การต้อนรับเป็นอย่างดี เฉพาะแม่ถ้วนกับนายกิจ เมื่อได้รับฟังข้อเท็จ จริงก็เข้าใจ และคิดว่าหากนายชวนให้เข้าพบก็จะเข้าใจเหมือนกับแม่ถ้วนและนายกิจเข้าใจแต่ที่ผ่านมานายชวน ไม่เคยเปิดโอกาส ให้ได้เข้าพบ

"ชาวบ้านมีความคิดเหมือนๆ กัน คือนายชวน เป็นคนหัวดื้อ แต่เชื่อว่าน่าจะรับฟังแม่ถ้วน เพราะสังคมไทยยอมรับ ผู้อาวุโส ยอมรับแม่ แม่ถ้วนน่าจะเป็นตัวกลางและเป็นความหวังของสมัชชาคนจนได้" นายภักดีกล่าว

'สลน.สัมพันธ์'แฉม็อบ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้จัดทำวารสาร "สลน.สัมพันธ์" ฉบับ ประจำเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2543 โดยเนื้อหามีการกล่าวถึงพฤติกรรมการชุมนุมของ "สมัชชาคนจน" ที่ชุมนุม อยู่หน้าทำเนียบรัฐบาลอย่างน่าสนใจ โดยในคอลัมน์ข่าวความเคลื่อนไหวใน สลน.และวงราชการครั้งนี้ ได้ระบุ หัวข้อเรื่อง "เมื่อม็อบบุกทำเนียบ" เป็นการรวบรวมเรื่องจากกองรักษาความปลอดภัย ทำเนียบรัฐบาล  (ก.รปภ.) ได้ เสนอว่า ปัจจุบันมักจะมีกลุ่มบุคคลหลายกลุ่มเดินทางมาชุมนุมโดยรอบทำเนียบฯ เช่น สภาเกษตรกร สมัชชา เกษตรกรอีสาน และสมัชชาคนจน

"ยุทธวิธีที่กลุ่มผู้ชุมนุมใช้ คือ การยั่วยุเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยใช้ผู้หญิงและคนชรานำหน้า ด่า  ถ่มน้ำลายใส่เจ้าหน้าที่ ตำรวจ ซึ่งสร้างความหนักใจให้กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นอันมาก เขย่าแผงเหล็กที่ กั้นผู้ชุมนุมและขู่ฆ่าตัวเอง เป็นต้น"

เนื้อหาของ ก.รปภ.ยังระบุว่า ในอนาคตคาดว่าจำนวนกลุ่มผู้ชุมนุมจะไม่ลดลง และจะใช้คนชรา ผู้หญิง และสตรี มีครรภ์ เดินนำหน้าการประท้วง บางครั้งไม่หวังผลตามข้อเรียกร้อง แต่ต้องการลดความเชื่อถือของรัฐบาล เช่น เหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม และเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มีกลุ่มชาย-หญิงใช้บันไดไม้ไผ่พาดปีนข้าม รั้วเข้ามาในบริเวณทำเนียบ ในยามวิกาล

เอกสารยังระบุต่อไปว่า "การที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้ปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลไว้โดยรอบ ย่อมส่งผลกระทบต่อความสง่า งามของทำเนียบรัฐบาล นอกจากนี้ การจราจรโดยรอบทำเนียบยังติดขัด หากทางการเมืองยังไม่สามารถเจรจา แก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมได้ เหตุการณ์ที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะบุกรุกเข้ามาในทำเนียบรัฐบาลจนเกิด ความรุนแรงขึ้นจะเป็นไปได้ทุกเวลา และถ้าจะปฏิบัติต่อกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยความละมุนละม่อม  ตามมติคณะ รัฐมนตรีก็ยังไม่สามารถกำหนดวิธีการปฏิบัติที่ชัดเจนได้ว่า จะสกัดกั้นกลุ่มผู้ชุมนุมที่กำลังปีนข้ามรั้วเข้ามาใน บริเวณทำเนียบรัฐบาลได้อย่างไรบ้าง และมีขอบเขตแค่ไหน"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "สลน. สัมพันธ์"  เป็นเอกสารข่าวเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของข้าราชการสังกัดสำนัก เลขาธิ การนายกรัฐมนตรี และเรื่องอื่นๆ จัดทำเผยแพร่ไปยังข้าราชการและสื่อมวลชนในทำเนียบรัฐบาล โดยมีสำนักโฆษก ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกองบรรณาธิการ

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา