eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 
เปิดเขื่อน "ปากมูน" เวลาที่ คน-ปลา รอคอย

ข่าวสด หน้า 5    10 มิย  47     คอลัมน์ สดจากประชาสังคม    เมธาวี มัชฌันติกะ

http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod.php?day=2004/06/10&s_tag=03pub21100647&sectionid=0321&show=1&sk=2&searchks=''

นับตั้งแต่รัฐบาลสร้างเขื่อนปากมูลขึ้น ที่อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เมื่อปี 2534 ปัญหาหลายเรื่องก็ก่อตัวขึ้น ผ่านมากว่า 10 ปี ปัญหาส่วนใหญ่ก็ไม่มีทีท่าว่าจะได้รับการแก้ไข

ประเด็นหนึ่งที่มีการเรียกร้องก่อนหน้านี้คือ การขอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เลิกใช้เขื่อนปากมูล และเปิดประตูระบายน้ำทั้งหมด เพื่อฟื้นสภาพลุ่มน้ำมูน เนื่องจากเห็นว่าประโยชน์ที่ได้รับจากเขื่อนแห่งนี้น้อยมาก แม้แต่กระแสไฟฟ้าที่ได้รับเพียงไม่กี่เมกะวัตต์

ชาวบ้านใช้เวลาต่อสู้อยู่ระยะหนึ่ง จนรัฐบาลยินยอมให้เปิดเขื่อนชั่วคราวเป็นเวลา 1 ปี ในปี 2544-2545 เพื่อศึกษาถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ และสภาพแวดล้อมของสองฝั่งลุ่มน้ำ

ซึ่งผลการวิจัยที่สรุปออกมาว่า "ได้ไม่คุ้มเสีย" เนื่องจากเขื่อนปากมูลนั้นสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียง 40 เมกะวัตต์ ซึ่งกระแสไฟเพียงเท่านี้สามารถใช้ได้เพียง 1 วันในห้างสรรพสินค้าเท่านั้น

หลังจากเปิดเขื่อนเพื่อศึกษาผลกระทบแล้ว 1 ปี เขื่อนปากมูลปิดลงอีกครั้ง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและจะเปิดเฉพาะเดือน ก.ค.-ส.ค. ซึ่งเป็นช่วงน้ำมาก อย่างไรก็จำเป็นต้องเปิดเขื่อนเพื่อระบายน้ำไม่ให้เกิดน้ำท่วม แต่ชาวบ้านไม่สามารถทำประมงได้ เนื่องจากกระแสน้ำเชี่ยวมาก เท่ากับชาวบ้านไม่สามารถหาประโยชน์จากเขื่อนปากมูลได้เลย

นายยุงยุทธ จรรยารักษ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การใช้ประโยชน์จากธรรมชาตินั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องเข้าใจธรรมชาติและใช้ประโยชน์โดยทำให้ธรรมชาติเป็นปกติที่สุด คือการใช้ส่วนเกินจากธรรมชาติไม่ใช่การทำลายเพื่อให้ได้มายังสิ่งที่ต้องการ แต่เมื่อสร้างเขื่อนขึ้นมาแล้ว ก็จำเป็นต้องให้ทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์จากเขื่อนเท่าเทียมกัน

ธรรมชาติของแม่น้ำมูลจะต่างจากแม่น้ำอื่น ระยะเวลาการขึ้นลงของน้ำจะมี 2 ช่วงด้วยกันคือ ช่วงแรกจะเป็นน้ำที่หนุนมาจากแม่โขง ช่วงหิมะจากทางตอนเหนือของจีนเริ่มละลาย และช่วงที่ 2 คือ ช่วงดีเพรสชั่นในประเทศไทย ทำให้มีปลาอพยพขึ้นลง 2 ชุดด้วยกัน

นายยงยุทธกล่าวต่อว่า จากการที่รัฐบาลกำหนดการเปิดเขื่อนในช่วงดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ ทำให้ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานไปทำงานที่อื่น เหมือนกับรัฐบาลนี้กำลังทำให้ทุกคนกลายเป็นทาส ไม่สามารถทำอาชีพอิสระหาเลี้ยงตัวเองได้ นอกจากการผลักดันให้มีพ.ร.บ.ป่าชุมชนเกิดขึ้น ยังต้องมีการผลักดัน เรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อให้ชุมชนสามารถมีอำนาจในการจัดการทรัพยากรชุมชนได้อย่างเต็มที่

ด้านดร.ชวลิต วิทยานนท์ หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ทะเลและแหล่งน้ำจืด กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) กล่าวว่า การเปิดเขื่อนในช่วงเดือนพ.ค.- ส.ค. ถือเป็นช่วงที่เหมาะสม ทั้ง 2 ฝ่ายจะเสียประโยชน์น้อยที่สุด ซึ่งเป็นแนวทางที่รอมชอมที่สุดแล้ว เพราะรัฐคงไม่ยอมให้เปิดเขื่อนตลอดทั้งปี ซึ่งความจริงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

ที่ผ่านมาไม่มีเขื่อนชาวบ้านก็ไม่เดือดร้อน แต่เมื่อสร้างเขื่อนขึ้นมา กลับสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน และระบบนิเวศน์มากมาย ทั้งนี้ในลุ่มน้ำมูลมีพันธุ์ปลาทั้งหมด 256 ชนิด มีปลา 80 ชนิดที่จำเป็นต้องอาศัย แก่ง วัง เวินต่างๆเพื่อวางไข่

หากปิดเขื่อนช่วงปลาวางไข่ ก็เท่ากับเป็นการสกัดทางของปลา ซึ่งเป็นต้นเหตุของการสูญพันธุ์ตามมา

พ่อฟอง ภูเขาทอง ชาวบ้านริมมูล อายุ 60 ปี กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลปิดเขื่อนก็ไม่มีอาชีพ ทำมาหากินอะไรไม่ได้ หนุ่มสาวในหมู่บ้านต้องอพยพไปทำงานต่างถิ่น แต่ละคนบ้านแตกสาแหรกขาด จากเคยหาปลาได้มีรายได้พออยู่พอกินไม่เดือดร้อน ไม่มีหนี้สิน ลูกหลานอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน ก็ต้องระเหเร่ร่อนต่างคนต่างไป

ตอนนี้ต้องมากวาดขยะที่ตลาดราชวัตรได้เงินวันละ 160 บาท อาศัยอยู่เพิงเล็กๆ เป็นหนี้เป็นสิน ต้องส่งเงินไปเลี้ยงหลานเล็กๆที่บ้านก็ไม่เคยพอกิน ถ้าหากรัฐบาลยอมเปิดเขื่อนให้ ก็อยากกลับบ้านไปอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันอีกครั้ง

"ข้อเรียกร้องของชาวบ้านที่ให้เลื่อนการเปิดเขื่อนจากเดือนก.ค. ถึงต.ค. เป็นช่วงเดือน พ.ค.- ส.ค. สำหรับคนไม่เคยสัมผัส อาจมองเป็นเพียงเรื่องเรียกร้องที่หยุมหยิม แต่สำหรับชาวบ้านถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ที่ความหวังและโอกาสการทำมาหากินจะได้กลับมาอยู่ในมืออีกครั้ง ซึ่งไม่ใช่เพียงโอกาสของชาวบ้านเท่านั้น แต่รวมไปถึงระบบนิเวศน์ด้วย"

แล้วที่สุดประชุมครม.วันที่ 8 มิ.ย. ก็มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ให้เปลี่ยนช่วงเวลาเปิดปิดเขื่อนปากมูน จากเดิม วันที่ 1 ก.ค.-31 ต.ค. เป็น 1 พ.ค.-31 ส.ค.

อาจจะมองเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับคนในเมือง แต่สำหรับชาวบ้านริมมูน เวลาไม่มากเพียง 4 เดือน ที่บานระบายน้ำเปิดออก โขงสีปูน-มูนสีครามมาบรรจบกัน

ชีวิตเกือบทั้งหมดก็กลับมาพบกันอีก ทั้งลูกหลาน เพื่อนบ้าน ญาติมิตร และฝูงปลา!!

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา