eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

อำนาจทหารกับมติครม.สั่งปิดเขื่อนปากมูนถาวร

ผู้จัดการออนไลน์     26 มิย 50

“การตัดสินใจกลับไปกลับมาของคณะรัฐมนตรีภายใน 2 สัปดาห์ จึงดูเป็นเรื่องที่รองรับด้วยเหตุผลของอำนาจดิบๆ ที่ขัดแย้งกับการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูนที่ผ่านมา ซึ่งได้อาศัยหลักฐาน ข้อมูลจากงานวิจัย รวมทั้งการตัดสินใจที่ให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาร่วมพิจารณา
       
        “การเข้ามาแทรกแซงการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูนของ กอ.รมน. เป็นการสร้างฐานคิดและมาตรฐานใหม่ด้วยการย้อนยุคไปสู่การมองปัญหาความยากจน คนจน ด้วยการรวบอำนาจและรวมศูนย์การตัดสินใจมาอยู่ที่หน่วยงานด้านความมั่นคงและทหาร” - ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 22 มิ.ย. 2550
       

        มติครม.เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2550 ที่ระบุ ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รักษาระดับน้ำในเขื่อนปากมูนไว้ที่ประมาณ +106 – 108 เมตร/ระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) โดยไม่มีกำหนดว่าจะต้องเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเมื่อใด และการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำให้เป็นไปตามธรรมชาติและสภาพความเป็นจริงของสภาพแวดล้อมในพื้นที่ ซึ่งมีความหมายถึงการปิดเขื่อนปากมูนถาวร กลายเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง
       
        ทั้งนี้เพราะปัญหาเขื่อนปากมูนได้ผ่านกระบวนการต่อสู้ พิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยหลักฐานทางวิชาการ งานวิจัย จากหลายหน่วยงานตั้งแต่ระดับโลกยันชุมชน มายาวนานกว่า 10 ปี จนกระทั่งได้ข้อสรุปว่า เขื่อนปากมูนไม่ได้มีความจำเป็นในแง่ของการผลิตไฟฟ้าหรือระบบชลประทานเพื่อเกษตรกรรม สมควร “เปิดเขื่อนถาวร” เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ วิถีชีวิตและชุมชน
       
        ผลการศึกษาวิจัยและข้อเสนอดังกล่าวนำมาสู่การแสวงหาข้อตกลงร่วม กระทั่ง ครม. ยุครัฐบาลชวน หลีกภัย ต่อเนื่องถึงรัฐบาลทักษิณ มีมติให้เปิดเขื่อน 4 เดือน และปิดเขื่อน 8 เดือน ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ ที่มีมติครม.ให้เปิดเขื่อนดังเคย ก่อนกลับลำในอีก 2 สัปดาห์ถัดมาให้ปิดเขื่อนปากมูนถาวร
       
        ***กว่าทศวรรษปัญหาเขื่อนปากมูล
       
        เขื่อนปากมูล เป็นโครงการที่เสนอในช่วงสมัยรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ แต่มาอนุมัติในสมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ท่ามกลางการคัดค้านจากหลายฝ่ายแม้กระทั่งคณะกรรมการธนาคารโลก ก็มีเสียงไม่เป็นเอกฉันท์ในการอนุมัติปล่อยกู้ให้สร้างโครงการนี้ ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ก็เคลื่อนไหวคัดค้านตั้งแต่ก่อนสร้าง อย่างไรก็ตาม เขื่อนปากมูล ก็สร้างจนเสร็จในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย และก่อให้เกิดหายนะมหาศาลต่อระบบนิเวศน์ วิถีชีวิตและชุมชน
       
        ปัญหาเขื่อนปากมูล กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวางตั้งแต่ชุมชนยันระดับโลกถึงความคุ้มค่าและผลกระทบที่เกิดขึ้น ในปี 2543 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จึงได้ศึกษาประสิทธิภาพของเขื่อนปากมูล ในนามคณะกรรมการเขื่อนโลก สรุปว่า เขื่อนปากมูลไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดรวมถึงเจ้าของโครงการเป็นผู้เสียประโยชน์ ทั้งนี้การคาดการณ์ก่อนการลงทุนผิดไปจากความเป็นจริงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเม็ดเงินลงทุน ผลกระทบ และประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า
       
        การต่อสู้ด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริงอย่างยาวนาน ทำให้รัฐบาลชวน หลีกภัย มีมติให้เปิดเขื่อนครั้งแรกตามข้อเสนอของคณะกรรมกลางแก้ไขปัญหาฯ ซึ่งรัฐบาลและสมัชชาฯ เห็นชอบร่วมกันว่าให้เปิดเขื่อน 4 เดือน เพื่อพิสูจน์ข้อโต้แย้งในเชิงวิชาการ แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษาผลกระทบยังไม่ได้ดำเนินการเพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
       
        ช่วงสมัยรัฐบาลทักษิณ 1 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน ซึ่งกรณีเขื่อนปากมูลคณะกรรมการฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจนกรณีที่เกี่ยวข้องกับกฟผ. และมีข้อเสนอให้เปิดเขื่อนเป็นเวลา 4 เดือน อีกทั้งให้สถาบันวิชาการที่เป็นกลาง ศึกษาผลกระทบ
       
        ต่อมา ครม.มีมติเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2544 ให้เปิดประตูระบายน้ำเป็นเวลา 4 เดือน และสำนักเลขาธิการครม. มอบให้ม.อุบลราชธานี ศึกษาวิจัยแนวทางฟื้นฟูระบบนิเวศน์ วิถีชีวิตและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล ระหว่างนั้น ครม.มีมติเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ขยายเวลาเปิดประตูระบายน้ำให้ครบ 1 ปี เพื่อให้การศึกษาได้ครบรอบวัฎจักรของปลาและการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์
       
        จากผลการศึกษาของม.อุบลฯ สรุปว่า ปัญหาการผลิตกระแสไฟฟ้าของเขื่อนมีทางออกทางเทคนิกหลายทาง แต่ปัญหาเศรษฐกิจชุมชนไม่สามารถแก้ไขด้วยเทคนิก เขื่อนปากมูนส่งผลกระทบด้านลบต่อความอุดมสมบูรณ์ ระบบนิเวศน์
       
        สำหรับการใช้ประโยชน์ด้านชลประทานมีเพียงเล็กน้อย เพราะเครื่องสูบน้ำเดิมที่คาดการณ์ว่าสถานีสูบน้ำ 29 สถานี ในแม่น้ำมูล จ.อุบลฯ ในระยะแรกจะสูบน้ำหล่อเลี้ยงพื้นที่มากถึง 45,000 ไร่ และต่อไปจะขยายเต็มพื้นที่ 160,000 ไร่ แต่ในความเป็นจริง สถานีสูบน้ำให้บริการครอบคลุมพื้นที่ไม่ได้
       
        กล่าวจำเพาะในส่วนพื้นที่ศึกษาจากสถานีสูบน้ำที่มีอยู่ 9 สถานี กรมพัฒนาส่งเสริมพลังงาน คาดว่าจะส่งน้ำได้ 14,757 ไร่ ในปัจจุบันมีเกษตรกรขอใช้น้ำเพียงประมาณ 2,526 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 17 ของพื้นที่คาดการณ์ไว้ในช่วงก่อนการเปิดประตู (2541 – 2542) ส่วนช่วงที่เปิดประตูน้ำ (2544 – 2545) นั้น พื้นที่ขอใช้น้ำลดเหลือประมาณ 2,052 ไร่ หรือร้อยละ 14 เท่านั้น เพราะปัญหาราคาค่าใช้น้ำแพง คือ 80 บาท/ชั่วโมง
       
        การศึกษาของม.อุบลฯ มีข้อเสนอให้เปิดประตูเขื่อนปากมูนตลอดปี
       
        แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการต่อรองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นำไปสู่มติ ครม. เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2545 เห็นชอบให้เปิดปีละ 4 เดือน ตั้งแต่ 1 ก.ค. – 31 ต.ค. ของทุกปี และมติครม.เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2546 เห็นชอบให้มีมาตรการเพิ่มเติมโดยการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงสู่แม่น้ำมูลและจัดทำระบบชลประทาน
       
        ต่อมา ครม. มีมติเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2547 ขยับเวลาเปิดประตูเขื่อนเป็นวันที่ 1 พ.ค.ของทุกปีเพื่อให้ปลาได้อพยพขึ้นมาวางไข่ตามฤดูกาล พร้อมกันนี้ ครม.ทักษิณ ยังแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรและวิถีชีวิตลุ่มน้ำมูล จากไตรภาคี คือตัวแทนหน่วยราชการ นักวิชาการ และตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เพื่อพิจารณาเปิดประตูระบายน้ำและจัดทำแผนฟื้นฟูวิถีชีวิต
       
        นั่นเป็นกระบวนการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูนที่ผ่านการพิจารณา แสวงหาข้อตกลงร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยอาศัยข้อมูล ข้อเท็จจริง ที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย
       
        *** มติครม. เปิดเขื่อน 17 มิ.ย.ก่อนกลับลำ
       
        ในปีนี้ คณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรและวิถีชีวิตลุ่มน้ำมูน ซึ่งมีนายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้ประชุมหารือถึงแนวทางการเปิดเขื่อนปากมูล เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2550 และเห็นชอบให้นำเสนอกระทรวงพลังงานพิจารณาและรายงานนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ทราบแนวทางดำเนินการ
       
        จากนั้น ในวันที่ 25 พ.ค. 2550 นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รมว.กระทรวงพลังงาน นำเสนอเรื่องต่อนายกรัฐมนตรี และ ครม. มีมติ เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2550 รับทราบแนวทางดำเนินการของกระทรวงพลังงานในการกำหนดวันเปิดบานประตูเขื่อนปากมูน ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ดังนี้ 
       
        1) ปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและพื้นที่ใกล้เคียงมีเพียงพอใช้จ่ายให้กับพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง แม้ไม่มีการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนปากมูน ดังนั้น ความสำคัญของเขื่อนปากมูนจึงควรมุ่งเน้นด้านชลประทานและประมงเป็นหลัก ส่วนการผลิตไฟฟ้า ควรพิจารณาเป็นผลพลอยได้
       
        2) โดยที่ข้อเสนอกำหนดการปิด – เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลของประชาชนทั้งสองกลุ่มข้างต้นมีความแตกต่างกันในระยะเวลา 15 วัน คือ ระหว่างวันที่ 1 – 15 มิ.ย. 2550 ประกอบกับจากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า ในขณะนี้ฝนเริ่มตกในพื้นที่ต้นน้ำมูลแล้ว และปริมาณน้ำมีมากกว่าปี 2549 และคาดว่าจะทำให้ปริมาณน้ำบริเวณเหนือเขื่อนปากมูนเพิ่มมากขึ้นในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมิ.ย. 2550 ซึ่งจะทำให้ลำน้ำมีปริมาณน้ำเพียงพอให้ปลาสามารถอพยพขึ้นไปวางไข่บริเวณต้นน้ำเหนือเขื่อนปากมูนได้ และเพียงพอสำหรับการเตรียมกล้าและเตรียมพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร
       
        ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนทั้ง 2 กลุ่ม จึงเห็นควรเริ่มเปิดประตูเขื่อนปากมูนในวันที่ 7 มิ.ย. 2550 และเปิดยกบานขึ้นสูงสุดในวันที่ 17 มิ.ย. 2550
       
        และ 3) กระทรวงพลังงานจะประสานกับกรมชลประทานในการปรับปรุงสถานีสูบน้ำจำนวน 6 แห่งที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ให้สามารถสูบน้ำได้เมื่อระดับน้ำในลำน้ำมูนลดลงหลังจากเปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูน เพื่อให้สามารถสูบน้ำสนับสนุนการเพาะปลูกของเกษตรกรโดยเฉพาะในช่วงฝนทิ้งช่วง
       
        *** อำนาจทหารแทรกสั่งปิดเขื่อนถาวร
       
        มติครม.เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2550 ที่ออกมาทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเปิด-ปิดเขื่อนปากมูล คลายกังวลและเตรียมอุปกรณ์การประมงเพื่อทำมาหากินกันตามปกติดังทุกปี แต่ในช่วงเวลาเพียง 2 สัปดาห์ถัดมา ทุกอย่างกลับตาลปัตร
       
        ในช่วงเวลาที่กลไกแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูนดำเนินไปตามปกติจนมีมติครม.ให้เปิดเขื่อนนั้น ในอีกทางหนึ่ง ก็เกิดกลไกด้านความมั่นคงซ้อนทับขึ้นมา กล่าวคือ รัฐบาลได้ยุบเลิกศูนย์ต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน (ศตจ.) และเป็นไปเป็น “ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนภายใต้แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ขึ้นมา โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ซึ่งมีพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. และประธาน คมช. เป็นผู้อำนวยการ
       
        อาจกล่าวได้ว่า ศจพ. ที่ตั้งขึ้นภายใต้ กอ.รมน. เป็นภารกิจของฝ่ายทหารที่มีเป้าหมายเพื่อแย่งชิงมวลชนที่เคยจงรักภักดีต่อโครงการประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ เป็นสำคัญ
       
        สำหรับกรณีเขื่อนปากมูน ซึ่งเป็นพื้นที่ยากจนที่ต้องแก้ไขปัญหาด้วยนั้น กอ.รมน. ได้มอบหมาย คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาความยากจนด้านที่ดิน ศจพ. ที่มีพล.อ. สุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธาน เข้ามา “จัดการ” กับปัญหา ซึ่งมีการเคลื่อนไหวของมวลชนเรียกร้องให้รัฐบาลมีมติเปิดเขื่อนดังที่เคยปฏิบัติมา
       
        ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราพงศ์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) หนึ่งในคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาความยากจนด้านที่ดิน ให้ข้อมูลว่า การประชุมคณะอนุกรรมการฯ เพื่อทำเรื่องเสนอครม. ตนเองไม่เข้าร่วมเนื่องจากไม่เห็นด้วยเพราะรู้ว่ามีการเมืองที่ต้องการใช้อนุกรรมการฯ เป็นทางผ่านเสนอเรื่องไปยังครม.ให้ออกมติปิดเขื่อนปากมูน
       
        ดร.เพิ่มศักดิ์ เล่าว่า เหตุผลที่ทำให้เรื่องนี้ไปเร็วคือ ผู้ว่าราชการจ.อุบลฯ และกำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่นำเสนอเรื่องมาจากพื้นที่ที่ต้องการให้คงระดับน้ำไว้ การรับฟังความเห็นที่ประกอบการนำเสนอเรื่องเข้าสู่ครม. เป็นการฟังความข้างเดียว และไม่คำนึงถึงกลไกที่แก้ไขปัญหาที่มีอยู่เดิม
       
        สำหรับเหตุผลสำคัญที่ กอ.รมน. เสนอประกอบการพิจารณาเรื่องเสนอต่อครม. ระบุว่า ประชาชนในพื้นที่ 98% ที่เห็นด้วยกับการคงระดับน้ำไว้ที่ 106-108 ม.รทก. และการเปิดเขื่อนและยกบานประตูน้ำสุดบานในวันที่ 17 มิ.ย. 2550 นั้น ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติและสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ จึงสมควรให้ชะลอการเปิดประตูระบายน้ำไปก่อน
       
        ครม. จึงมีมติเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา เห็นชอบให้ดำเนินการตามที่ ผอ.กอ.รมน. และผอ.ศจพ. เสนอ ให้คงระดับน้ำไว้ที่ 106 – 108 ม.รทก. และให้กระทรวงมหาดไทยประสานเร่งรัดจัดตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดเพื่อรักษาระดับน้ำเขื่อนปากมูน ตลอดจนพิจารณาแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ โดยมีผู้ว่าฯ อุบล เป็นประธาน ทั้งนี้คณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือ คณะทำงานชุดใดที่ซ้ำซ้อนกับชุดที่ตั้งนี้ให้ยุบเลิกและให้ใช้คณะกรรมการระดับจังหวัดนี้แทน
       

        มติครม.ดังกล่าว จึงส่งผลให้คณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรและวิถีชีวิตลุ่มน้ำมูล กลไกการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่แต่เดิมล้มเลิกไปโดยปริยาย
       
        ตัวแทนสมัชชาคนจน ชี้ว่า กลุ่มที่สนับสนุนเปิดเขื่อนเป็นการล่ารายชื่อจากกลุ่มมวลชนจัดตั้งของ กฟผ.ผ่านทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นการสำรวจความเห็นที่ฟังความข้างเดียว และไม่ศึกษาข้อมูลจากงานวิจัยศึกษาผลกระทบ
       
        รศ.ดร.สุธี ประศาสน์เศรษฐ์ ตั้งข้อสังเกตว่า มติครม.ให้ปิดเขื่อนปากมูนถาวร เป็นเรื่องของการเมืองความมั่นคงที่มีกอ.รมน.เข้ามาเกี่ยว ซึ่งเวลานี้มีการควบคุมมวลชนผ่านโครงการต่างๆ และแย่งชิงมวลชนที่จงรักภักดีต่อนโยบายประชานิยม
       
        ***คณาจารย์บี้ครม.ทบทวนมติ
       
        ในสัปดาห์นี้ กลุ่มคณาจารย์ นักวิชาการ อดีตข้าราชการ ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชน ที่เคยอยู่ในกระบวนการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูนมาอย่างยาวนาน จะทำหนังสือยื่นเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทบทวนมติครม. 12 มิ.ย. 2550 ใหม่
       
        กลุ่มคณาจารย์ ซึ่งนำโดย ศ.ดร.ประกอบ วิโรจน์กูฎ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลฯ ระบุว่า 1. การกลับมติ ค.ร.ม.ให้ปิดเขื่อนปากมูนมีความไม่โปร่งใส ไม่เปิดเผยให้สังคมได้รับรู้ เพราะสังคมได้รับรู้แต่เพียงว่า นายกรัฐมนตรี รับปากกับชาวบ้านผู้เดือดร้อนว่า จะดำเนินการตามมติ ค.ร.ม. 29 พ.ค. 2550 ให้เริ่มระบายน้ำในวันที่ 7 มิ.ย. 2550 และยกสุดบานในวันที่ 17 มิ.ย. 2550
       
        มติ ค.ร.ม.ให้เปิดเขื่อนจึงมีเหตุผลรองรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจนถึงแนวทางการใช้ประโยชน์ว่าสามารถปฏิบัติได้และเป็นความเห็นร่วมกัน ทั้งยังมีข้อสนับสนุนทางวิชาการ งานวิจัยผลกระทบและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูนซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้ม.อุบลฯ เป็นผู้ศึกษา
       
        2. มติ ค.ร.ม. 12 มิ.ย. 2550 เป็นการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจตามที่ กอ.รมน. โดยผู้อำนวยการ กอ.รมน. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) เสนอ ซึ่งฐานคิดแก้ไขปัญหาความยากจนภายใต้โครงสร้างดังกล่าว มองจากมิติความมั่นคงแบบทหารในการควบคุม กำกับการเคลื่อนไหวของคนจน อีกทั้งมีคำถามว่าผู้ลงชื่อสนับสนุนเป็นกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือเป็นภาคีผู้ที่เกี่ยวข้องหรือไม่
       
        3. ฐานชีวิตและวิถีการทำมาหากินของชาวบ้านปากมูนตั้งอยู่บนอาชีพประมงเป็นด้านหลัก การปิดเขื่อนปากมูนจึงเป็นการทำลายระบบเศรษฐกิจพอเพียงของชาวบ้านตลอดสายลุ่มน้ำมูนอย่างสิ้นเชิง
       
        กลุ่มคณาจารย์ มีข้อเสนอสำหรับการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูนต่อสังคมไทยและรัฐบาลคือ
       
        1. ในการแก้ไขปัญหาระยะสั้น ต้องยกเลิกมติครม. 12 มิ.ย. 2550 และเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูนทั้ง 8 บาน แบบสุดบาน ตามมติ ค.ร.ม. 29 พ.ค. 2550 เพื่อให้ปลาจากแม่น้ำโขงอพยพเข้าสู่แม่น้ำมูน ตามวัฏจักรของธรรมชาติ และให้คงมีคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรและวิถีชีวิตชุมชนลุ่มน้ำมูน เพื่อเร่งจัดทำแผนฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวบ้าน และระบบนิเวศลุ่มน้ำแม่มูน
       
        2. รัฐบาลและสังคมไทยควรร่วมกันพิจารณาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของเขื่อนปากมูน ตามที่ทีดีอาร์ได ได้ศึกษาและสรุปว่าเขื่อนปากมูนไม่คุ้มค่ากับการลงทุน รวมทั้งข้อเสนอของม.อุบลราชธานี ที่ให้เปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูนอย่างถาวร เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านพึ่งพาตนเอง
       
        3. รัฐบาลและสังคมไทย ต้องไม่สร้างวัฒนธรรมแก้ไขปัญหาบนหลักการแบบอำนาจนิยม หรืออ้างเผด็จการเสียงข้างมากด้วยการระดมและจัดตั้งมวลชน รวมศูนย์อำนาจการแก้ไขปัญหาความยากจนมาไว้ยัง กอ.รมน. และละทิ้งหลักธรรมาภิบาล หลักการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง หลักการของเหตุผล และข้อมูลทางวิชาการ
       
        คณะนักวิชาการผู้ร่วมลงนามเบื้องต้น มีดังนี้ 1. ศ.ดร.ประกอบ วิโรจน์กูฎอธิการบดี ม.อุบลราชธานี,2. ผศ.บัณฑร อ่อนดำ อดีตประธานคณะกรรมการกลางแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน 3. นายศุภวิทย์ เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตหัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ 4. รศ.ดร.สุธีร์ ประศาสน์เศรษฐ์ คณะเศรษฐศาสตร์ ฯ และอดีตอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนที่เกี่ยวข้องกับ กฟผ.
       
        5. รศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ 6. รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล 7. ดร.นลินี ตันธุวนิตย์ คณะสังคมวิทยาฯ ม.ธรรมศาสตร์ 8. ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ 9. ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 10. นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ 11. ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ (อดีตเลขานุการคณะกรรมการกลางฯ) ฯลฯ
       
        ///////////////////////////////////
       
        เปรียบเทียบผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง ข้อมูลจากคณะกรรมการเขื่อนโลก ปี 2543
       

        งบประมาณ คาดการณ์ว่าจะลงทุน 3,880 ล้านบาท แต่ความจริง 6,600 ล้านบาท
       
        ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ คาดการณ์ 241 ครอบครัว ความจริง 1,700 ครอบครัว ที่สูญเสียข้าน ที่ดิน หรือสูญเสียทั้งสองอย่ง ยังไม่รวมผลกระทบด้านประมง
       
        การผลิตกระแสไฟฟ้า  คาดการณ์ 136 เมกะวัตต์ ผลเกิดขึ้นจริง 40 เมกะวัตต์
       
        ชลประทาน  คาดการณ์ 160,000 ไร่ ผลเกิดขึ้นจริง ไม่มีผลประโยชน์
       
        ประมง คาดการณ์ 100 กก./ไร่/ปี ความเป็นจริง ผลผลิตปลาที่ได้จริง 1.6 กก./ไร่/ปี พันธุ์ปลาที่ได้รับผลกระทบ 169 ชนิด ปริมาณปลาที่จบได้ลดลง 80% ชาวบ้านสูญเสียอาชีพประมง 9,000 ครอบครัว

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา