eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

งานบุญ 100 วัน "พี่มด" 

โดย ประภาส ปิ่นตบแต่ง  มติชนรายวัน   09 มีค 51

ช่วงหลังการก่อตั้งสมัชชาคนจนในปี 2538 และมีการชุมนุมใหญ่ยกที่ 1 ยุครัฐบาลบรรหาร และยกที่ 2 คือ การชุมนุม 99 วันสมัชชาคนจน ยุครัฐบาลพลเอกชวลิต ซึ่งบางคนบอกเป็นการชุมนุมที่มี "พี่มด" (วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์) เป็นแม่ทัพใหญ่

พวกเรานักวิชาการ เอ็นจีโอ (NGO) ที่เข้าไปทำงานกับสมัชชาคนจนเป็นที่ปรึกษา พี่เลี้ยง เหมือนกับพี่มดมาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสมัชชาคนจน เพียงแต่บทบาท ความรับผิดชอบแตกต่างกัน ห่างไกลกันอย่างมาก เทียบไม่ได้กับความทุ่มเทของพี่มดให้กับสมัชชาคนจน

พี่น้องสมัชชาคนจนมักจะบอกว่า การเมืองแบบที่เป็นอยู่ คือประชาธิปไตยแบบตัวแทน เป็นการเมืองที่ไม่เห็นหัวกูเลย เส้นทางการต่อสู้ของพี่มดและพี่น้องคนจนจึงเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองภาคประชาชน การเมืองที่คนเล็กๆ ในสังคม คนจนทั้งผองได้มารวมพลัง สร้างพลังทบทวีผ่าน "การเมืองบนท้องถนน"

การเมืองภาคประชาชนของสมัชชาคนจนก็คือ การสร้างสรรค์และจรรโลง "ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน" โดยอาศัยการปักหลักชุมนุมประท้วง การเปิดเวทีเจรจาต่อรองกับรัฐบาลและผู้มีอำนาจตัดสินใจทางการเมือง เพื่อให้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และทำให้การเมืองเห็นหัวคนจนโดยเปิดพื้นที่กลไกการมีส่วนร่วมในกระบวนนโยบายสาธารณะ รับรองสิทธิชุมชน

คงไม่เกินเลยที่จะกล่าวว่า พี่น้องสมัชชาคนจนและพี่มดได้ช่วยกันนิยามการเมืองใหม่มาสู่ทิศทางการเมืองภาคประชาชน ที่มุ่งให้ถ่ายโอนอำนาจรัฐจากนักเลือกตั้งและระบบราชการ มาสู่การจัดการชีวิตสาธารณะกันเองของชาวบ้าน

แม้คุณค่าและผลสะเทือนจากการต่อสู้ร่วมกับคนจนจะยิ่งใหญ่เพียงใด แต่สิ่งที่ผู้คนอาจจะเรียนรู้จากพี่มดกันน้อยไปก็คือ พี่มดในฐานะผู้ยืนหยัดรักษาโลกทรรศน์ ความศรัทธาในพลังของคนเล็กๆ ในสังคม ซึ่งสอดคล้องกับชีวทัศน์ การปฏิบัติตนอย่างสม่ำเสมอผ่านชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวตลอดมา

ในชีวิตการทำงานกับชาวบ้าน พี่มดได้ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมองค์กรโดยให้

กระบวนการตัดสินใจอยู่ที่แกนนำชาวบ้านจากเครือข่ายปัญหาต่างๆ ส่วนนักเคลื่อนไหว NGO นักวิชาการ เป็นเพียงพี่เลี้ยงและที่ปรึกษา

ในด้านส่วนตัว จะเห็นได้ชัดว่า พี่มดไม่สร้างชื่อเสียงและความเป็นสถาบันให้กับตัวเอง ไม่ค่อยให้สัมภาษณ์สื่อ ไม่รับรางวัล หรือเกียรติยศใดๆ

เรายังไม่เห็นผู้นำยุคนี้นำชาวบ้านล้างรถส้วม ล้างห้องน้ำ เก็บกวาดขยะในที่ชุมนุม ฯลฯ เพื่อนๆ ที่ปรึกษาในสมัชชาคนจนได้ข้อสรุปว่า แกเป็นทั้งแม่ทัพใหญ่ และแม่บ้านไปพร้อมๆ กัน แม่ทัพผู้กุมภาพรวมของการเคลื่อนไหวต่อสู้ได้ ในขณะเดียวกันก็ดูแลรายละเอียดในมิติการจัดการ

ไม่สร้างนิสัยแบบท่านผู้นำผู้สั่งการให้ชาวบ้านซ้ายหัน ขวาหัน แล้วขอตัวไปหาข่าวลึกๆ บนโต๊ะอาหาร และจิบไวน์ของท่านผู้มีอำนาจทางการเมือง

แกเคยพูดในที่ชุมนุมบ่อยๆ ว่า "ถ้ารถส้วมสกปรก อีกหน่อยไปขอเขา เขาก็จะไม่ให้มา ถ้าขยะท่วมที่ชุมนุม พวกคนในเมืองเขาจะด่าเอา เขายิ่งอยากจะหาเรื่องด่าพวกเราอยู่แล้ว"

หลังการชุมนุม เราจะเห็นพี่มดเป็นคนที่กลับเป็นคนสุดท้ายเสมอ แกมักจะส่งพี่น้องที่เดินทางกลับบ้านขึ้นรถคนสุดท้าย เมื่อรถคันสุดท้ายเคลื่อนออกจากที่ชุมนุมนั่นแหละถึงจะกลับบ้าน ซึ่งมักจะดึกดื่น เพราะกว่าจะติดต่อขอรถ...กว่ารถจะมารับก็กินเวลาเนิ่นนาน พอวันรุ่งขึ้นก็จะเห็นภาพพี่มดยืนโทรศัพท์ไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อตรวจสอบว่า รถเหล่านั้นได้พาพี่น้องถึงบ้านกันหรือเปล่า

พี่มดยังเป็นเพื่อนและพี่ผู้เอื้ออาทร ห่วงใย ใส่ใจกับทุกข์สุขของพี่น้องรอบข้างด้วยเช่นกัน แกเคยบอกผมว่า "เอ็งรู้มั้ย ทำงานกับพี่น้องมันยากขนาดไหน...ผัวเมียตีกันก็เรา...ปัญหามันสากกะเบือยันเรือรบจริงๆ"

พี่มดสนิทกับชาวบ้านมากๆ เพ็ชร (ขันจันทรา) ลูกสาวแม่ใหญ่ไฮเรียกพี่มดว่า "แม่" จนแกพูดติดตลกว่า "พวกเอ็งเรียกข้าฯว่า แม่มด พวกการไฟฟ้าฯ ได้ยินเข้าจะคิดว่าเป็นพวกแม่มด หมอผีจริงๆ"

สิ่งสะท้อนที่สำคัญในเรื่องนี้ที่เราเห็นได้ชัดมากก็คือ จดหมายที่พี่มดเขียนถึงพี่หน่อย (คุณจินตนา แก้วขาว) ลงวันที่เมื่อ 15 ตุลาคม 2550 ก่อนเสียชีวิตไม่ถึงสองเดือน พี่มดกลับเขียนไปให้กำลังใจพี่หน่อย ให้ดูแลสุขภาพ "อย่าละเลยเหมือนพี่...ร่างกลายเปรียบเหมือนวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องดูแล..."

พี่มดให้กำลังใจการต่อสู้ของชาวบ้านบ่อนอก-บ้านกรูด และฝากความระลึกถึงพี่กระรอก (คุณกรณ์อุมา พงษ์น้อย) พี่มดยังพูดถึงว่า ความเจ็บป่วยครั้งนี้ถือเป็นการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในชีวิต

ในช่วงที่ป่วยหนัก ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมที่บ้านร่วมกับเพื่อนๆ อยู่บ้าง แกกลับบอกว่า "นี่พวกเอ็งที่มาเยี่ยมข้าฯ อย่าเพิ่งหมดกำลังใจกันซะก่อนนะ..." กำลังใจที่ว่าไม่ใช่เป็นเรื่องการทำงานของพวกเรานะ แต่เป็นกำลังใจที่จะหวังว่าแกจะอยู่กับเราต่อไป เราตั้งใจจะไปให้กำลังใจ แต่กลับได้รับกำลังใจกลับมาจากพี่มดกลับมาแทน

สิ่งที่พี่มดบอกเรามาตลอดชีวิตการทำงานกับพี่น้องคนจนก็คือ เธอไม่ใช่วีรบุรุษ เธอไม่ใช่วีรสตรี หรือสตรีเหล็ก แม้ว่าพวกเราจะเห็นว่าถ้อยคำเหล่านี้เหมาะสมกับนักสู้ที่ยิ่งใหญ่อย่างพี่มดก็ตาม

พี่มดยืนยันเสมอว่า ไม่ได้สู้เพื่อคนจน แต่สู้ร่วมกับคนจน ให้คนจนได้ลุกขึ้นมาเพื่อปากเพื่อท้อง เพื่อสิทธิอันพึงมีพึงได้ของตนเอง สู้ด้วยความเชื่อมั่นว่า คนเล็กๆ ซึ่งถูกมองว่า เกียรติก็ไม่มี ศักดิ์ศรีก็ไม่มี เงินทองก็ไม่มี จะสามารถรวมกันเพื่อสร้างพลังในการเปลี่ยนแปลงได้

พี่มดจากไปจนถึง "งานบุญ 100 วัน" ที่จะจัดในช่วง 14-16 มีนาคม 2551 ณ ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้าน อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี พี่น้องสมัชชาคนจนบอกว่า จะไม่เป็นงานรำลึกเพื่อยกย่องพี่มดเยี่ยงวีรสตรี หากมีเจตนาเพื่อทบทวนบทเรียน และมองสู่หนทางการเคลื่อนไหวต่อสู้ข้างหน้าของพี่น้องคนจน

นอกจากเวทีวิชาการซึ่งประกอบไปด้วย นักวิชาการด้านอุตสาหกรรมคนจนและความยากจน (ตามสำนวนของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล) จะมีขบวนธรรมชาติยาตราเพื่อรวมพลังในวันหยุดเขื่อนโลก (14 มีนาคม) โดยเริ่มต้นจากแก่งสะพือ

เวทีวัฒนธรรมยามค่ำคืน จะประกอบไปด้วยดนตรี และหมอลำของพี่น้องที่จะมาขับขานบทเพลงที่ได้ร่วมกันแต่งเติมเอาไว้ท่ามกลางการเคลื่อนไหวต่อสู้ รวมทั้งบทเพลงที่เพื่อนพ้องน้องพี่ได้เขียนให้กับพี่น้องคนจน

นอกจากงานบุญ 100 วัน ได้ทราบว่า อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี และสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ จะจัดให้มีทุนวิทยานิพนธ์ดีเด่น (ทุนละ 50,000 บาท) ที่ผลิตองค์ความรู้เกี่ยวกับคนจน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ โดย รศ.สุริชัย หวันแก้ว มีดำริให้มีปาฐกถา "วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์" ในเดือนธันวาคมของทุกปี เพื่อนพ้องคนเดือนตุลาฯ จะจัดงานมหกรรมดนตรีเพื่อคนจนที่จะจัดในเดือนพฤษภาคม ฯลฯ

นี่จึงเป็นโอกาสหนึ่งที่ผู้คนในสังคมจะร่วมกันการสืบสานเจตนารมณ์ของพี่มด ด้วยการทำให้เรื่องราวของคนจนมีพื้นที่ทางสังคม

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา