eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 
 

ปากเนียม-สงาว อู่ข้าวอู่น้ำของคนริมโขง

โดย จันฑรา ใจคำมี   ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑

เมื่อเลียบเลาะริมแม่น้ำโขงไปตามถนนสาย ๒๑๑ เส้นทางเชียงคาน-หนองคาย มีหมู่บ้านตั้งเรียงรายตามริมฝั่งโขงอยู่เป็นระยะ สองข้างทางเต็มไปด้วยพืชสวนและพืชผักสวนครัว ทั้งมะขาม กล้วย มะม่วง ส้มโอ มะเขือ พริก และอีกมากมายหลายชนิดที่ปลูกผสมผสานกันไป

                บ้านปากเนียมและบ้านสงาว เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ติดต่อกันบนฝั่งโขงในเขตอำเภอปากชม จังหวัดเลย และอยู่เขตรอยต่อระหว่างจังหวัดเลยกับอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ทั้งสองหมู่บ้านใช้พื้นที่ดอนน้ำโขงร่วมกันในการทำเกษตรกรรมในช่วงน้ำลด

                แม่น้ำโขงตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมระดับน้ำจะลดลงเรื่อย ๆ สายน้ำโขงที่กว้างใหญ่แปรสภาพเป็นดอนทรายขนาดใหญ่มีเนื้อที่หลายร้อยไร่สลับกับแอ่งน้ำหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “บุ่ง” เป็นแอ่งน้ำขังที่ลึกประมาณครึ่งถึงหนึ่งเมตร แต่ในช่วงฤดูน้ำมากในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายนบริเวณเหล่านี้จะเป็นร่องน้ำลึกของแม่น้ำโขง ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าในฤดูแล้งจะสามารถย่ำเดินอยู่ในบริเวณนี้ได้

                เมื่อธรรมชาติสร้างปรากฎการณ์นี้มาให้ผู้คนในแถบนี้ ดอนทรายขนาดใหญ่นี้จึงกลายเป็นแหล่งผลิตพืชผลทางการเกษตรที่สำคัญหล่อเลี้ยงผู้คนในถิ่นอีสานและเรื่อยไปถึงภูมิภาคแถบอื่นอีกด้วย พืชผลทางการเกษตรที่ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับชาวบ้านคือ มะเขือเขียวเปราะ  ข้าวโพดหวาน ถั่วดำ และยาสูบ นอกจากนั้นก็ยังมีพืชผักสวนครัว เช่น ผักชี ต้นหอม ผักสลัด ผักกาด คึ่นฉ้าย เป็นต้น

                การใช้ประโยชน์จากดอนทรายขนาดใหญ่นี้เริ่มแรกชาวบ้านมีการแบ่งปันกันปลูกพืชผักและได้พัฒนามาเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ปีหนึ่ง ๆ มีรายได้ต่อครัวเรือนหนึ่งแสนบาทขึ้นไปปัจจุบันได้มีการเข้าถือครอบครองพื้นที่ปลูกแทบไม่มีที่ว่างเปล่า นอกจากนั้นในรายที่ไม่ได้จับจองพื้นที่มาก่อนได้มีการให้เช่าที่ดินทำการเกษตร ในรายที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ชาวบ้านจึงมีรายได้เข้ามาครอบครัวได้หลายทางทั้งลงมือทำเองและรายได้จาการแบ่งปันที่ดินให้เช่าเป็นรายปีไร่ละ ๓,๐๐๐-๕,๐๐๐ บาท

                พืชที่นิยมปลูกกับมากกว่าพืชชนิดอื่นคือมะเขือเขียวเปราะ แม่ละเอียด ยาแก้ว ชาวบ้านปากเนียม เล่าให้ฟังว่า “ ปลูกมะเขือรู้สึกว่ามีรายได้ดีว่าปลูกพืชชนิดอื่น ที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ครั้งเดียวแต่มะเขือปลูกง่าย  โตไว ให้ผลตอบแทนเร็วและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นาน เริ่มปลูกเดือนพฤศจิกายนซึ่งเป็นช่วงที่น้ำลด ท้องน้ำโขงเป็นดอนทรายขนาดใหญ่ ชาวบ้านก็จะพากันลงปลูกมะเขือ โดยสูบน้ำจากแม่น้ำโขงขึ้นมารดอาทิตย์ละครั้งหรือสองอาทิตย์ครั้ง ก่อนปลูกมะเขือก็จะมีการเพาะกล้ามะเขือก่อนประมาณ ๑ เดือน จากนั้นก็นำลงปลูก ได้ประมาณ ๒ อาทิตย์ก็จะให้ปุ๋ย และบำรุงดูแลรักษา ต้นมะเขือใช้เวลาในการเจริญเติบโต ๒ เดือนก็สามารถผลิดอกออกผลให้เก็บขายได้ ราคาขายก็ ๑๒ กิโลหรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า  “หนึ่งหมื่น” ขายราคา ๑๐๐ ถึง ๑๘๐ บาท ราคาก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด ส่วนใหญ่จะส่งไปขายที่ตลาดใหญ่ในตัวเมืองอุดรธานี โดยมีพ่อค้าแม่ค้าในหมู่บ้านที่เป็นปลูกมะเขืออยู่แล้วและรับซื้อจากเพื่อนบ้านไปขายขายต่ออีกทอดหนึ่ง หรือเจ้าของสวนมะเขือที่มีรถสามารถบรรทุกไปขายได้เองก็จะนำไปขายเอง รายได้แต่ละครอบครัวในการปลูกมะเขือปีหนึ่งก็มีรายได้ ๑ แสนบาทขึ้นไป ปลูกกันตั้งแต่ ๑ ไร่ไปจนถึง ๒๐ กว่าไร่ คนที่ไม่มีที่ดอนในน้ำโขงก็จะรับจ้างเก็บมะเขือมีรายได้ทุกวันเหมือนกัน การที่ชาวบ้านิยมปลุกมะเขือมากว่าพืชชนิดอื่นก็เพราะเป็นพืชที่เก็บผลได้หลายครั้ง ปลูกช่วงน้ำลด แล้วเก็บไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงช่วงฤดูฝน ซึ่งน้ำจะมากและท่วมดอน เมื่อนั้นก็จะหยุด เพราะต้นมะเขือจะถูกน้ำท่วมหมด แต่ช่วง ๓-๔ ปีมานี้น้ำไม่ได้ท่วมดอนทั้งหมด ยังมีที่ดอนที่อยู่สูงน้ำจะไม่ท่วม ทำให้สามารถเก็บมะเขือได้นาน จนลักษณะของผลมะเขือไม่สวยเป็นที่ต้องการของตลาดก็จะหยุดเก็บ รอน้ำลดในฤดูต่อไปก็จะพากันลงปลูกมะเขืออีก”

                จากการบอกเล่าของชาวบ้านและภาพบรรยากาศการเก็บมะเขือและการบรรทุกขึ้นรถไปส่งยังตลาดที่จังหวัดอุดรธานี ถือได้ว่าบ้านปากเนียมและบ้านสงาวเป็นแหล่งผลิตพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะมะเขือเขียวเปราะขนาดใหญ่ที่ส่งผลผลิตกระจายไปทั่วหลายจังหวัด ทำให้ชาวบ้านมีงานทำตลอดทั้งปี เนื่องจากมะเขือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลายครั้ง ชาวบ้านจึงมีรายได้เข้าครอบครัวอย่างต่อเนื่องในช่วงฤดูน้ำโขงลดหรือฤดูแล้ง ซึ่งจะทิ้งการทำเกษตรบนภูเขาที่ทำกันในช่วงฤดูฝน มาทำเกษตรดอนโขงกัน ทำให้ชาวบ้านมีงานทำและมีรายได้อย่างต่อเนื่องทุกปี

 
 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา